พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี
เพื่อนเก่าที่จะต้องเข้าใจกันให้ดี

เมื่อพิจารณาวิเคราะห์ออกไปอีก ก็จะเห็นว่า ส่วนของวิทยาศาสตร์ที่มาเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เปลี่ยนโลกธรรมชาติให้เป็นโลกวิทยาศาสตร์หรือโลกเทียมอะไรต่างๆ นี่ ส่วนที่เป็นตัวกระทำสำคัญก็คือ เทคโนโลยี แต่มนุษย์ก็อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั่นแหละประดิษฐ์เทคโนโลยีขึ้นมา แล้วมนุษย์ก็ใช้เทคโนโลยีนี้เป็นช่องทาง หรือเป็นเครื่องมือไปจัดการกับธรรมชาติ เพื่อจะหาความสุขสบายให้แก่ตนเอง

มนุษย์ได้อาศัยเทคโนโลยี หาความสะดวกสบายให้แก่ตนเอง เสร็จแล้วก็ปรากฏว่า ภัยอันตรายทั้งหลาย ตลอดจนความพินาศที่อาจจะมีขึ้น ก็อาศัยเทคโนโลยีนั่นแหละเป็นช่องทางย้อนกลับเข้ามาทำร้ายมนุษย์อีกทีหนึ่ง กลายเป็นว่า เทคโนโลยีนี้เป็นทั้งเครื่องมือหาความสุขของมนุษย์ และเป็นเครื่องมือที่เปิดช่องทางให้ภัยอันตรายย้อนเข้ามาทำร้ายมนุษย์ด้วย อันนี้ก็เป็นปมปัญหาที่เราจะต้องหาทางแก้ไข

ทีนี้สำหรับเรื่องที่ว่ามาทั้งหมดนี้ วิทยาศาสตร์ก็ย่อมเถียงอย่างที่กล่าวข้างต้นแล้ว วิทยาศาสตร์ซึ่งในที่นี้คือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ก็บอกว่า ฉันมีหน้าที่เพียงบอกความจริงให้ทราบเท่านั้น ฉันค้นคว้าความรู้ในธรรมชาติออกมาแล้ว ใครจะเอาไปใช้อย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา ฉันไม่เกี่ยวด้วยนี่ วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์มักจะปัดความรับผิดชอบอย่างนี้

ถึงตอนนี้วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ก็จะเตือนเราว่า อย่าเอาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ไปสับสนกับวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยี แล้วก็มักจะโทษเทคโนโลยีว่า เทคโนโลยีนี้เอาความรู้ของตนไปหาประโยชน์

แต่ที่จริง เทคโนโลยีนั้น ไม่ได้เอาความรู้วิทยาศาสตร์ไปหาประโยชน์อย่างเดียว ว่าโดยพื้นฐานเดิมนั้นเทคโนโลยีต้องการเอาความรู้จากวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ไปทำประโยชน์ แต่ตอนนี้มันกลายเป็นว่า เทคโนโลยีนี่มี ๒ อย่างแล้ว คือ เทคโนโลยีที่เอาไปทำประโยชน์อย่างหนึ่ง และเทคโนโลยีที่เอาไปหาประโยชน์อย่างหนึ่ง สิ่งที่เราต้องการคือ เทคโนโลยีชนิดไปทำประโยชน์ แต่ตอนนี้มันเกิดปัญหาขึ้นมาเพราะกลายเป็นว่าเอาเทคโนโลยีไปหาประโยชน์ และคนนี่แหละที่เป็นตัวการ แทนที่จะเอาเทคโนโลยีไปทำประโยชน์ ก็เอาไปหาประโยชน์

ถ้าตราบใดเรายังจำกัดตัวอยู่ในคำว่า ทำประโยชน์ ก็จะเกิดโทษพิษภัยแก่มนุษย์ได้น้อย และได้ยาก แต่ถ้าเมื่อไรมันกลายเป็นเทคโนโลยีเพื่อหาประโยชน์ขึ้นมาแล้ว ปัญหาก็เกิดขึ้น อย่างที่เราประสบอยู่ในปัจจุ­บัน เพราะฉะนั้น ก็จะต้องแยกให้ดีระหว่าง เทคโนโลยีเพื่อทำประโยชน์ กับ เทคโนโลยีเพื่อหาประโยชน์ และเน้นที่เทคโนโลยีเพื่อทำประโยชน์

เมื่อปัญหาอยู่ที่การใช้หรือเอาไปใช้ ตั้งแต่นำเอาความรู้ทางวิทยา­ศาสตร์ไปใช้ผิดๆ ตลอดจนเอาเทคโนโลยีไปใช้เพื่อหาประโยชน์ หรือแม้แต่เอาไปใช้ทำลายกันก็ตาม ทั้งหมดนั้น ก็เป็นปัญหาที่เกิดจากมนุษย์ทั้งสิ้น เมื่อปัญหาเกิดจากมนุษย์ ก็มาลงที่เรื่องจริยธรรม หรือศีลธรรมเท่านั้นเอง วิธีแก้ปัญหาทั้งหมดก็มีคำตอบที่ตรงไปตรงมา แน่นอนและง่ายที่สุด คือ เมื่อคนมีศีลธรรมหรือมีจริยธรรมแล้ว ปัญหาก็หมดไป วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็จะถูกใช้ในทางที่เป็นคุณ เพื่อเสริมสร้างประโยชน์สุขแก่ชีวิตและโลกทั้งหมด แม้จะมีโทษที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เกิดขึ้นบ้าง การป้องกันและการแก้ไข ก็จะเป็นไปอย่างดีที่สุด

มนุษย์ย่อมคาดหวังว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมา จะอำนวยคุณประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมมนุษย์ แต่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ก็ไม่มีหลักประกันอะไรในตัวของมัน ที่จะช่วยให้ตัวมันอำนวยแต่คุณประโยชน์ตามที่มนุษย์คาดหวังอย่างนั้นได้ มันจึงเปิดตัวอ้าเต็มที่อย่างช่วยตัวเองไม่ได้ ทั้งต่อการที่จะก่อคุณหรือก่อโทษ สุดแต่ใครจะเอามันไปใช้อย่างไร

ผลปรากฏว่า ถ้ามนุษย์ขาดศีลธรรมหรือจริยธรรมเสียอย่างเดียว แทนที่จะก่อคุณอย่างที่คาดหวัง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมักจะกลายเป็นช่องทางและเป็นเครื่องมือเสริมกำลังสำหรับทวีโทษภัยให้แก่มนุษย์และโลกทั้งหมด โดยเป็นตัวเอื้อโอกาสแก่การผลิตและการบริโภคสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรออินทรีย์อย่างฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย มักมาก มุ่งแต่จะกอบโกยและแย่งชิงกัน (โลภะ และราคะ) เปิดทางสะดวกและเสริมพลังอำนาจในการที่จะทำลายล้างและก่อความพินาศแก่กัน (โทสะ) และเพิ่มพลังพร้อมทั้งปริมาณของสิ่งที่จะล่อเร้าชักจูงให้เกิดความหลงใหลมัวเมาประมาท (โมหะ) ทั้งทำลายคุณภาพชีวิตของมนุษย์เอง และก่อความเสื่อมโทรมแก่ธรรมชาติแวดล้อม มีแต่จริยธรรมอย่างเดียวที่ได้ช่วยบรรเทาผลร้าย และจะแก้ไขปัญหาได้ถ้าจริยธรรมที่แท้แพร่กระจายไปในสังคมมนุษย์

โดยนัยนี้ เมื่อขาดจริยธรรมเสียแล้ว ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ผ่านทางเทคโนโลยีแม้แต่ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ก็กลายเป็นการเพิ่มช่องทางแห่งภัยอันตรายที่จะเข้ามาถึงตัวมนุษย์ให้มากขึ้น จนเกิดภาวะที่เหมือนกับว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียิ่งเจริญ ภัยอันตรายของมนุษย์ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นและร้ายแรงยิ่งขึ้น หรืออาจถึงกับเกิดเป็นความหมายใหม่ขึ้นมาว่า ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือการเพิ่มภยันตรายแก่โลกมนุษย์

ขอยกตัวอย่างเช่น ในกาลเวลาที่ผ่านมา ถ้าคนผู้ใดไม่มีทรัพย์สมบัติภายนอกติดตัว มีแต่ตัวคือร่างกายของตนอย่างเดียว จะอยู่ไหนไปไหน โอกาสที่จะเกิดอันตรายจากการทำร้ายของผู้อื่นก็มีน้อย แต่มาถึงปัจจุบันนี้เมื่อศัลยกรรมปรับเปลี่ยนอวัยวะ หรือ plastic surgery เจริญก้าวหน้ามากขึ้น มีการเปลี่ยนหัวใจเปลี่ยนซี่โครงและอวัยวะอื่นๆ ได้ ปัญหาใหม่ๆ ก็เริ่มเกิดขึ้น มีการซื้อขายอวัยวะกัน และเกิดภัยอย่างใหม่ คือการทำร้าย ลักพา และฆ่าคน เพื่อปล้นอวัยวะ ดังได้ยินข่าวปล้นลูกตาเด็กในบางประเทศ ต่อไปภายหน้า คาดหมายกันว่า ศัลยกรรมปรับเปลี่ยนอวัยวะนี้จะเจริญไปอีกไกลมาก พร้อมกันนั้นความวิตกกังวลเกี่ยวกับภัยอันตรายที่กล่าวข้างต้น ก็ทวีขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น ยิ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญขึ้นเท่าใด จริยธรรมก็ยิ่งทวีความจำเป็นมากขึ้น และสวัสดิภาพของมนุษย์ก็ยิ่งต้องการจริยธรรมมากขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องโยงมาถึงจริยธรรม แม้จะเป็นความจริงง่ายๆ ที่ตรงไปตรงมาที่สุด ก็มาจี้จุดที่มนุษย์ยุคนี้ดูเหมือนจะพยายามหันหน้าหนีมากที่สุด พูดง่ายๆ ว่า อยากไม่มีปัญหา แต่ไม่อยากแก้ปัญหา เมื่อไม่อยากแก้ปัญหา ไม่อยากพูดถึงเรื่องจริยธรรม ก็ต้องยอมรับและเจอกับปัญหาต่อไป จึงจะขอผ่านไปพูดเรื่องอื่น

ทีนี้เราจะต้องให้ความยุติธรรมแก่เทคโนโลยีบ้าง นอกจากที่กล่าวเบื้องต้นว่า ชาวบ้านเขามองวิทยาศาสตร์ในความหมายว่ารวมถึงวิทยา­ศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีด้วยแล้ว แม้แต่จะแยกตัวออกมาได้อย่างชัดเจนเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ล้วนๆ ก็ตาม เมื่อพูดถึงโทษภัยที่เกิดขึ้นมานี้ วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เองก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะว่ากันไปแล้ว เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และในประวัติศาสตร์ที่เป็นมาอย่างน้อยในช่วงเป็นร้อยๆ ปีนี่ วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เองก็ไม่บริสุทธิ์แท้ ที่ว่าไม่บริสุทธิ์แท้นั้นเป็นอย่างไร ก็คือมันมีคุณค่าที่ซ่อนอยู่ข้างหลัง ซึ่งกำหนดทิศทางแก่วิทยาศาสตร์ บางทีวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ก็ไม่รู้ตัวว่า มันมีคุณค่าอะไรซ่อนอยู่ข้างหลัง ที่มากำหนดทิศทางของวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ซึ่งถ้าไม่รู้ตัวก็กลายเป็นไม่เป็นตัวของตัวเอง ถูกเขากำหนดทิศทางให้

อีกอย่างหนึ่ง เวลาคนพูดถึงคุณค่าของวิทยาศาสตร์นั้น คนเขามองเห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของวิทยาศาสตร์ ผ่านทางเทคโนโลยีแทบทั้งสิ้น อย่างที่กล่าวมาเมื่อกี้ เท่าที่ได้พูดถึงประโยชน์ของวิทยาศาสตร์มาทั้งหมดนั้น ที่จริงเป็นเรื่องของเทคโนโลยีแทบทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นจึงบอกว่า การที่คนเขาเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์นั้นเขาเห็นจากเทคโนโลยี ในตอนที่เขาเห็นคุณของวิทยาศาสตร์ผ่านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ยอมรับว่า เออ ใช่ นี่แหละ วิทยาศาสตร์ได้ทำคุณแก่มนุษย์มากมายอย่างนี้ ทีนี้พอถึงตอนที่เขากล่าวโทษบ้างก็ต้องรับเหมือนกัน เมื่อถึงตอนที่เป็นคุณ ตัวยอมรับ ตอนนี้มาถึงโทษแล้วจะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ นี้เป็นประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีนี้ได้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในความเจริญก้าวหน้ามาด้วยกัน ไม่ใช่ว่าวิทยาศาสตร์เป็นผู้ให้กำเนิดแก่เทคโนโลยีสมัยใหม่ แล้ววิทยาศาสตร์จะเป็นผู้ช่วยให้เทคโนโลยีมีโอกาสเจริญก้าวหน้าอย่างเดียว ที่จริงนั้นเทคโนโลยีก็เป็นปัจจัยที่ทำให้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้ามาได้มากมาย

อะไรเล่า ที่ทำให้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้ามาได้ สิ่งนั้นก็คือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญก็คือ การสังเกต และการทดลอง ในการสังเกตทดลองเบื้องต้น จะใช้ประสาททั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยเฉพาะก็ตาคือดู แล้วก็หูคือฟัง แล้วก็กายคือสัมผัส สามอย่างนี้สำคัญอย่างยิ่ง ในการสังเกตทดลองทางวิทยาศาสตร์

แต่อินทรีย์ของมนุษย์ หรือประสาทอย่างที่ว่าเมื่อกี้ (ทางพระใช้คำว่าอินทรีย์) มันมีขีดขั้น มีวิสัยจำกัด เราใช้ตาดูดาวไปได้ไม่ไกลเท่าไร เห็นจักรวาลไม่กว้าง ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้น มีกล้องโทรทรรศน์ กล้องส่องดูดาว นั่นแหละจึงทำให้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าไปได้ ของเล็กๆ มองไม่เห็น เราก็ใช้เทคโนโลยี คือประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ขึ้นมาวิทยาศาสตร์ก็ก้าวหน้าต่อไป เพราะฉะนั้นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์จึงอาศัยเทคโนโลยีมาก ในการที่จะเจริญก้าวหน้า

เราต้องมองในทางกลับกันด้วยว่ามันพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทดลองอะไรต่างๆ นี่ เจริญมาก็ในฐานะที่เป็นส่วนของเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นจึงบอกเมื่อกี้ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาศัยซึ่งกันและกันในการที่ได้เจริญก้าวหน้ามาด้วยกัน จนกระทั่งถึงยุคปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็กำลังมองไปที่คอมพิวเตอร์ ว่าจะเป็นอุปกรณ์เทคโนโลยีอันสำคัญ ที่จะมาช่วยสร้างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทำให้วิทยาศาสตร์สามารถขยายขีดความสามารถ ในการที่จะเข้าถึงความจริงของโลกแห่งธรรมชาติมากขึ้น เป็นที่แน่นอนว่า คอมพิวเตอร์นี่จะมาช่วยรวบรวมประมวลข้อมูล ในขอบเขตที่กว้างขวางและปริมาณที่มากมาย จนกระทั่งสมองมนุษย์ไม่สามารถจะบันทึกไว้ไหว อันนี้คอมพิวเตอร์ทำได้ และการที่มันมีความสามารถในการที่จะประมวลสรุปอะไรต่างๆ นี่แหละ ต่อไปข้างหน้า การตั้งสมมติฐาน และการวางทฤษฎีต่างๆ คงจะได้อาศัยคอมพิวเตอร์ช่วยเป็นอันมาก

ในที่สุดก็เป็นอันสรุปได้ว่า การที่วิทยาศาสตร์ปรากฏคุณค่าแก่โลกมนุษย์ ทำให้คนทั่วไปยอมรับเกียรติของวิทยาศาสตร์ดีเด่นขึ้นมาได้นั้น ก็โดยอาศัยมีเทคโนโลยีมาช่วยทำให้ปรากฏขึ้นเป็นอันมาก เป็นแต่ว่าเราจะต้องแยกให้ถูก แล้วก็ใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้อง อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ว่า ควรสนับสนุนเทคโนโลยีที่ทำประโยชน์ ไม่ใช่เทคโนโลยีเพื่อหาประโยชน์

เอาละ นี่เป็นการทำความเข้าใจกันในบางส่วน ที่พึงรู้เพื่อจะได้วางท่าทีให้ถูกต้องในการที่จะพูดกันต่อไป

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.