พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จริยธรรม: ด่านหน้าที่รอประลอง
ของแดนนามธรรมแห่งจิต

จริยธรรมเป็นแดนหนึ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องของคุณค่า คือเป็นเรื่องของความดีและความชั่ว ความดีและความชั่วนี้ถือว่าเป็นเรื่องของคุณค่า จริยธรรมก็เป็นเรื่องใหญ่ซึ่งตามปกติเราถือว่าเป็นแดนของศาสนา แต่ตอนนี้เราจะต้องเอามาพิจารณาโยงกับเรื่องวิทยาศาสตร์ด้วย

บางคนถึงกับพูดทำนองว่า ความดีความชั่วเป็นเรื่องของสังคมมนุษย์บัญญัติกันขึ้นเอง คล้ายๆ ว่ากันเอาตามใจชอบ หมายความว่า มนุษย์อยากจะว่าอันไหนดีอันไหนไม่ดี ก็ว่ากันไป บัญญัติกันไป ซึ่งก็จะเห็นคล้ายๆ ว่าเป็นความจริงอย่างนั้น เพราะเราก็เห็นกันอยู่ว่า สิ่งที่สังคมนี้ว่าดี แต่สังคมโน้นบอกว่าไม่ดี กลายเป็นชั่วไป ส่วนอันที่สังคมโน้นว่าดี สังคมนี้ว่าชั่ว แต่ที่จริงการที่เข้าใจอย่างนี้แสดงว่ายังมองความจริงในกระบวนการของเหตุปัจจัยไม่ออก จุดสำคัญคือ

หนึ่ง แยกไม่ออกระหว่างจริยธรรมกับบัญญัติธรรม บัญญัติธรรมคือสิ่งที่มนุษย์บัญญัติขึ้น จริยธรรมคือตัวความประพฤติที่ดีที่ควร ซึ่งเป็นเรื่องของความดีและความชั่ว แล้วลึกกว่านั้นอีกคือ

สอง มองไม่เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงจากสัจจธรรมสู่จริยธรรม เพราะจริยธรรมนั้นต้องโยงลึกลงไปอีก คือโยงไปหาสัจจธรรมอีกทีหนึ่งในกระบวนการของเหตุปัจจัยทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ในที่นี้เรามีข้อพิจารณา ๓ อย่าง คือ สัจจธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรม จะต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างสามข้อ และสามขั้น แล้วตรวจดูความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างสามอย่างนั้น ให้เห็นความสืบทอดตามกระบวนการของเหตุปัจจัย

กระบวนการของเหตุปัจจัยในเรื่องนี้จะสัมพันธ์ต่อเนื่องกันเป็นระบบ จากความดีความชั่ว ที่เป็นตัวภาวะซึ่งเป็นความจริง เป็นสภาวะในฝ่ายสัจธรรม โยงออกมาเป็นความประพฤติดีชั่ว พูดดี พูดชั่ว เป็นต้น ที่เป็นจริยธรรม แล้วก็โยงต่อมาหากฎเกณฑ์ที่ชุมชนและสังคมกำหนดวางขึ้นเป็นแนวทางให้เกิดความมั่นใจว่าคนจะประพฤติดีมีจริยธรรม ซึ่งเรียกว่าเป็นบัญญัติธรรม รวมเป็นสามขั้น

อันนี้เพื่อให้ง่ายขึ้นจะเทียบกับทางฝ่ายวิทยาศาสตร์ เพราะเรื่องสัจจธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรมนี่ก็เป็นระบบที่คล้ายๆ กับแนวของวิทยาศาสตร์ ฐานคือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เป็นตัวสัจจธรรม ต่อมาก็เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีซึ่งยังอาศัยสัจจธรรม คือ อาศัยตัวความจริงขั้นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นั้น ถ้าวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ไม่จริง เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ก็พลอยเสียไปด้วย ต่อจากวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีก็ถึงชั้นที่สามคือ รูปแบบของเทคโนโลยี ซึ่งอาจปรากฏเป็นต่างๆ กันมากมาย ไม่เหมือนกัน แล้วก็มีประสิทธิภาพต่างๆ กันในการที่จะให้กฎเกณฑ์วิทยาศาสตร์นั้นทำงานได้ผลดีแค่ไหน

สัจจธรรม เทียบได้กับวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์

จริยธรรม เทียบได้กับวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยี

บัญญัติธรรม เทียบได้กับรูปแบบที่ปรากฏตัวของเทคโนโลยี

อันนี้อาจจะเป็น oversimplification คือ พูดเอาง่ายเข้าว่า แต่ไม่เป็นไร เป็นวิธีพูดอย่างหนึ่ง

สังคมวางข้อบัญญัติหรือวินัยหรือกฎหมายเป็นข้อบังคับขึ้นมา อันนั้นเป็นบัญญัติ ทำได้ตามใจชอบ ตามพอใจ เช่น เมืองไทยบัญญัติว่าให้รถวิ่งชิดซ้าย เมืองอเมริกาบอกให้วิ่งชิดขวา อย่างนี้ก็ต่างคนต่างบัญญัติสิ แล้วใครดีใครชั่วล่ะ ไทยจะบอกว่าของอเมริกาวิ่งชิดขวาชั่ว ของไทยวิ่งชิดซ้ายดี หรือของอเมริกาจะบอกตรงข้ามได้ไหม ก็ไม่ได้ ต้องว่าไปตามกฎระเบียบของประเทศนั้นๆ อย่างนี้เป็น บัญญัติธรรม

แต่ที่จริง บัญญัตินั้นก็ไม่ใช่เป็นเพียงการว่าเอาตามใจชอบ มันมีอะไรอยู่เบื้องหลัง ในการที่เราบัญญัติอย่างนั้น แม้แต่เรื่องง่ายๆ เช่น บัญญัติให้รถวิ่งชิดขวาหรือชิดซ้ายก็ตาม มันมีสิ่งที่ต้องการซ้อนอยู่ สิ่งที่ต้องการนั้นคืออะไร คือความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่เกื้อกูลต่อการอยู่ร่วมกัน เอื้อต่อสันติสุขของสังคมมนุษย์ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องการทั้งสองฝ่าย นี้คือสิ่งที่เรียกว่า จริยธรรม สังคมอเมริกันก็ต้องการอันนี้ สังคมไทยก็ต้องการอันนี้ เขาไม่ใช่บัญญัติส่งเดช เพราะฉะนั้น แม้จะบัญญัติต่างกัน แต่ตัวจริยธรรมที่ต้องการ คืออันเดียวกัน ในกรณีนี้เราเห็นความต่างของบัญญัติธรรม แต่ตัวแท้หรือสาระคือจริยธรรมเป็นอันเดียวกัน

ทีนี้ก็มีปัญหาว่า บัญญัติธรรมของใครจะได้ผลดีกว่าในการที่จะเป็นหลักประกันให้เกิดมีจริยธรรม ปัญหามันอยู่ที่นี่เท่านั้น เพราะฉะนั้น คนจึงอาจจะเถียงกันว่า บัญญัติธรรมชิดขวาของอเมริกากับบัญญัติธรรมชิดซ้ายของไทยนี้อย่างไหนจะได้ผลให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยได้ดีกว่ากัน นี่เป็นตัวอย่างกรณีหนึ่ง กรณีอื่นก็เช่นเดียวกัน คนจะเถียงกันในแบบนี้ แต่นั่นไม่ใช่หมายความว่า เป็นเรื่องที่สังคมบัญญัติเอาตามใจชอบ

[caption id="attachment_18730" align="aligncenter" width="450"] การประชุมจริยธรรมสากล (Universal Ethics Summit) ครั้งที่ ๑
๑๒ เมษายน ๒๕๔๓ ณ สําานักงานสหประชาชาติ กรุงนิวยอร์ค[/caption]

เอาละ นี้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบัญญัติธรรมกับจริยธรรม คือ วางบัญญัติธรรมเพื่อต้องการจริยธรรม หรือทางภาษาพระพูดได้สั้นๆ ว่า วินัยเพื่อศีล วินัยเป็นบัญญัติกฎเกณฑ์ทางสังคม แต่สิ่งที่ต้องการ คือ ศีล ได้แก่ จริยธรรม

มีข้อยกเว้นว่า อาจจะมีการวางกฎเกณฑ์หรือออกกฎหมายตามใจชอบ เพื่อผลประโยชน์ของบางกลุ่มบางคนก็มี เช่น บางครั้งเราวิจารณ์กันว่า กฎหมายนี้บัญญัติขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มโน้นกลุ่มนี้อะไรทำนองนี้ อย่างนี้ก็ถือว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในกระบวนการของบัญญัติ­ธรรม ซึ่งจะพลอยให้จริยธรรมไม่ได้ผลไปด้วย เพราะมันเสียตั้งแต่ระบบการวางบัญญัติธรรมแล้ว จริยธรรมก็ได้ผลได้ยาก แต่สังคมไม่น้อยก็วางกฎ ระเบียบ กฎหมาย หรือวินัยโดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อต้องการจริยธรรม

เมื่อต้องการจริยธรรมอันเดียวกัน แต่วางบัญญัติธรรมผิดแผกกันไป มันก็เป็นเรื่องที่ว่าเราจะต้องแยกให้ถูกระหว่างบัญญัติธรรมกับจริย­ธรรม เราจะพบเห็นมากในเรื่องความแตกต่างหลากหลายของบัญญัติธรรมในประเพณีของสังคม เช่น ประเพณีเกี่ยวกับครอบครัว ในสังคมนั้นผู้หญิงมีสามีได้เท่านั้น ผู้ชายมีภรรยาได้เท่านี้อะไรต่างๆ นี้เป็น บัญญัติธรรม ของสังคม ซึ่งว่ากันไปต่างๆ นานา แต่ในจุดรวมเขาต้องการอะไร ก็ต้อง​การความเรียบร้อยของสังคม หรือความเป็นระเบียบในเรื่องครอบครัว นี้เป็นสิ่งที่ต้องการ และนั่นคือตัว จริยธรรม

แต่ในการบัญญัติของสังคมนั้น เพราะเหตุที่มนุษย์มีสติปัญญาไม่เท่ากัน มีความคิดที่รอบคอบมากน้อยกว่ากัน มีเจตนาที่สุจริตไม่สุจริตไม่เท่ากัน สังคมมีสภาพแวดล้อมและพื้นเพภูมิหลังไม่เหมือนกัน เมื่อตัวแปรมีมาก มันก็ทำให้ผลในทางที่จะเป็นหลักประกันจริยธรรมนั้นต่างกันไป ได้ผลมากบ้างได้ผลน้อยบ้าง เดี๋ยวก็แก้ไขกันใหม่หรือจัดวางกันใหม่ บัญญัติธรรมจึงขึ้นต่อสภาพแวดล้อมแห่งกาละและเทศะด้วย ปัญหาเกี่ยวกับกาลเทศะเป็นเรื่องในระดับบัญญัติธรรมเป็นสำคัญ โดยที่ว่าสาระก็คือเราต้องการจริยธรรมอันเดียวกัน

เพราะฉะนั้น โดยวิธีมองที่ถูกต้อง แม้ว่าบัญญัติธรรมจะต่างกันไปอย่างไรก็ตาม นั่นก็คือ ความเพียรพยายามของมนุษย์ทั้งหลายที่จะเข้าถึงความดีงามแท้ที่เป็นจริยธรรม หมายความว่า บัญญัติธรรมไม่ใช่ตัวสำเร็จ สิ่งที่มนุษย์ได้พยายามบัญญัติกันขึ้นมานั้น เป็นความเพียรพยายามของเขาที่จะเข้าถึงตัวจริยธรรม ซึ่งได้ผลมากบ้างน้อยบ้าง จะได้ผลแค่ไหนก็ตามสติปัญญา และเจตนาที่สุจริตหรือทุจริตเป็นต้นของมนุษย์ในกาลเทศะนั้น

ถ้ามองอย่างนี้แล้วเราจะมองภาพความจริงไปอีกอย่างหนึ่ง เราจะไม่มาหลงว่าความดีความชั่วเป็นเรื่องที่สังคมบัญญัติเอาเองตามชอบใจ ซึ่งเป็นเพราะเราแยกไม่ถูกเองอย่างที่ว่ามาแล้ว ก็เป็นอันว่า จะต้องมองบัญญัติธรรมทั้งหลายว่าเป็นความเพียรพยายามของมนุษย์ที่จะเข้าถึงความดีงามแท้ ซึ่งเดี๋ยวนี้เราก็ยังพยายามกันอยู่ และจะพยายามต่อไป และเมื่อพยายามวางบัญญัติธรรมขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะได้ผลแค่ไหน หรือไม่ได้ผลแค่ไหน เราก็ยังต้องการจริยธรรมอยู่นั่นเอง พร้อมกันนั้น การที่เราวางบัญญัติธรรมขึ้นมา แล้วจะได้ผลให้เกิดจริยธรรมได้จริงแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับจริยธรรมของคนที่วางบัญญัติธรรมนั้น เช่น การมีความสุจริตใจหรือไม่ และการที่ได้ใช้สติปัญญาอย่างจริงจังเพียงใด เป็นต้น เป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งด้วย

ทีนี้ สำหรับปัญหาต่อไปว่าจริยธรรมนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ ก็ต้องโยงต่อไปอีกว่า จริยธรรมต้องมีสัจจธรรมเป็นฐาน คือต้องสอดคล้องกับกระบวนการของเหตุปัจจัยจึงจะถูกต้อง ในขั้นบัญญัติธรรมนั้นเราบอกว่า บัญญัติธรรมถ้าบัญญัติขึ้นมาแล้วเกิดจริยธรรม ก็นับว่าได้ผล หมายความว่า ถ้าเราบัญญัติให้วิ่งรถชิดซ้ายหรือชิดขวาแล้วมันเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นมาก็ได้ผล จะได้ผลมากหรือน้อยก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ในขั้นจริยธรรมมันจะจริงแค่ไหน ก็ต้องขึ้นต่อรากฐานคือตัวสัจจธรรม ได้แก่ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

เป็นอันว่า กระบวนการของสัจจธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรมนี้ เป็นแดนของนามธรรม และในเมื่อจริยธรรมต้องขึ้นอยู่กับสัจจธรรม ระบบคุณค่าจึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน แต่เพราะเหตุที่มีเหตุปัจจัยซับซ้อน จึงได้พูดเมื่อกี้ว่ามันคงจะยากกว่าการพยากรณ์อากาศ เพราะว่าเหตุปัจจัยมันซับซ้อนกว่า ถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องนี้ คือ ยังมองไม่เห็นความสัมพันธ์เนื่องกัน ระหว่างสัจจ­ธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรม ก็จะเข้าสู่เรื่องคุณค่าที่เป็นด่านหน้าของแดนแห่งจิตใจไม่ได้ นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นตัวอย่างของเรื่องทางด้าน​จิตใจ ซึ่งอยู่ในกฎธรรมชาติ มีความเป็นไปตามเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.