พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ทำท่าจะเหมือน แต่ก็ไม่เหมือน

ขอย้อนกลับไปพูดถึงศรัทธาระดับที่สอง ที่แยกเป็น ๒ ด้าน อย่างที่แสดงไว้ข้างต้น ในเรื่องนี้ มีข้อสังเกตว่า แท้จริงนั้น ศรัทธาของวิทยาศาสตร์ก็มีเค้าว่าจะแยกเป็น ๒ อย่างตรงกับของพระพุทธศาสนาเหมือนกัน คือ เชื่อในกฎธรรมชาติ และเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ขอให้พิจารณาดูศรัทธาของวิทยาศาสตร์นั้น ซึ่งถ้าพูดให้เต็มความก็จะบอกว่า (ศรัทธาของวิทยาศาสตร์) ได้แก่ ความเชื่อมั่นว่า ในธรรมชาตินี้มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ซึ่งสามารถเข้าถึงหรือรู้เข้าใจได้ด้วยปัญญาของมนุษย์

จะเห็นว่า ศรัทธาของวิทยาศาสตร์นี้ ก็แยกได้เป็น ๒ ตอน และมีจุดที่เป็นเป้า ๒ จุด เช่นเดียวกัน คือ ช่วงแรก เชื่อในกฎธรรมชาติ ช่วงที่ ๒ เชื่อในปัญญาของมนุษย์ที่สามารถรู้เข้าใจกฎธรรมชาตินั้นได้ คือเชื่อในศักยภาพของมนุษย์นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ความเชื่อหรือศรัทธาอย่างที่สองที่เป็นช่วงหลังนี้ วิทยาศาสตร์ไม่ได้ยกขึ้นมาเน้นให้เด่นชัด เป็นเพียงความเชื่อที่ซ่อนแฝงอยู่เท่านั้น ดังนั้น ในทางวิทยาศาสตร์ นอกจากมีศรัทธาที่เชื่ออย่างนั้นแล้ว ก็ไม่ได้ก้าวต่อไปในศรัทธาข้อที่สองนี้ คือไม่ได้เอาใจใส่ในเรื่องกระบวนการพัฒนามนุษย์ว่ามีธรรมชาติอย่างไร จะพึงดำเนินการอย่างไร มุ่งแต่จะสนองศรัทธาข้อแรก คือการที่จะรู้เข้าใจเข้าถึงหรือค้นให้พบกฎธรรมชาติอย่างเดียว

ข้อนี้ ต่างจากพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่า ศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์นี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และได้ขยายเรื่องนี้ออกไปสู่ภาคปฏิบัติการ มีการจัดตั้งเป็นระบบและกระบวนการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ จนกระทั่งเรื่องการพัฒนามนุษย์นี้เป็นเนื้อหาส่วนใหญ่ของพระพุทธศาสนา

เมื่อมองดูแต่ต้น จะเห็นชัดว่า ศรัทธาของพระพุทธศาสนาโยงกันตลอดทั้ง ๓ ตอน กล่าวคือ มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ที่สามารถพัฒนาปัญญาให้รู้เข้าใจกฎธรรมชาติได้ โดยมีความเชื่อมั่นเป็นฐานรองรับอยู่ว่า ธรรมชาติมีความเป็นไปอย่างมีกฎเกณฑ์แน่นอนที่เรียกว่าเป็นกฎธรรมชาติ และพร้อมกันนั้นก็มีความเชื่อมั่นด้วยว่า การเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาตินั้นจะทำให้มนุษย์เข้าถึงความดีงามสูงสุดมีชีวิตที่ไร้ทุกข์ด้วย โดยโยงกลับไปหาความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่ว่ามนุษย์สามารถพัฒนาตนให้เข้าถึงความดีงามสูงสุดนั้นได้ ด้วยการรู้เข้าใจกฎธรรมชาติ และนำเอาความรู้นั้นมาใช้แก้ปัญหาและปฏิบัติต่อโลกและชีวิตให้ได้ผลดี ในกระบวนการพัฒนาตนของมนุษย์

การมีศรัทธาอย่างนี้ ทำให้เกิดความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ คือ ในพระพุทธศาสนา การแสวงหาความรู้เพื่อเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ จะดำเนินควบคู่พร้อมไปด้วยกันกับการพัฒนาตนของมนุษย์ และการพัฒนามนุษย์นั้นจะเป็นตัวบอกขอบเขตของการนำความรู้ในกฎธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ด้วย ซึ่งเมื่อเป็นไปตามหลักการนี้ ก็จะปิดทางมิให้มีการนำความรู้ในกฎธรรมชาติไปใช้ในทางของการสนองโลภะ โทสะ โมหะของมนุษย์ ที่ทำให้เกิดการเบียดเบียนทำลายชีวิตสังคมและธรรมชาติ แต่ให้ใช้ในทางที่เป็นคุณอย่างเดียว โดยที่ทั้งเป้าหมายของการแสวงหาความรู้และทั้งการพัฒนาตนของมนุษย์เองที่ควบคู่กันไปกับการแสวงหาความรู้นั้น ล้วนแต่ปิดกั้นช่องทางที่จะเกิดโทษภัยเหล่านี้ทั้งสิ้น

ส่วนทางฝ่ายวิทยาศาสตร์ ศรัทธาด้านเดียวที่เป็นความเชื่อมั่นในกฎธรรมชาติ อาจทำให้การแสวงหาความรู้เป็นไปอย่างเรื่อยเปื่อยเลื่อน​ลอย โดยไม่มีการพัฒนาตนเองของมนุษย์ควบคู่กันไป และก็มิได้มีเป้าหมายเพื่อจะนำเอาความรู้ในกฎธรรมชาติไปใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ การแสวงหาความรู้ความจริงในธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ จึงไม่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์หรือใครๆ ที่เกี่ยวข้อง มีความสุข ผ่อนทุกข์ คลายเครียด มีจิตใจสงบมั่นคงเจริญงอกงามขึ้น (นอกจากบางคนที่วางใจถูกต้องพอดีในปฏิบัติการแสวงความจริง จึงทำให้คุณค่าในระหว่าง ที่สอดคล้องเกิดขึ้นมา) และพร้อมนั้นก็เปิดช่องอย่างเต็มที่แก่คุณค่าอันไม่พึงประสงค์ที่จะเข้ามาชี้นำการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ให้เป็นไปในทางสนองโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งก่อให้เกิดการเบียดเบียน และการผลาญทำลายเป็นต้น ดังที่แนวความคิดในการพิชิตธรรมชาติและแนวความคิดในการปรุงแต่งวัตถุปรนเปรอให้พรั่งพร้อมได้เข้ามาครอบงำการพัฒนาวิทยาศาสตร์ในยุคที่ผ่านมาทั้งหมด ดังกล่าวข้างต้น และนี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของลักษณะความคิดแบบแยกส่วนของตะวันตก

ขอย้ำว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีจิตใจ หรือพูดให้กระชับตรงยิ่งขึ้นไปอีกว่า เป็นสัตว์มีเจตจำนง คือเป็นสัตว์ที่ทำกรรม มีการคิดเป็นต้น และกรรมทุกอย่างมีการคิดเป็นต้นนั้น ต้องอาศัยเจตจำนงทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงเป็นสัตว์ที่มีสำนึกในคุณค่า เมื่อเขามีศรัทธาในกฎธรรมชาติและคิดที่จะแสวงหาความรู้ในความจริงของกฎธรรมชาตินั้น เขาจะต้องมีความรู้สึกที่เป็นคุณค่าอยู่ในจิตใจหรือในเจตจำนงด้วย จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม และคุณค่าที่อยู่ในความรู้สึกนั้นก็จะเป็นปัจจัยที่กำหนดรูปแบบและทิศทางของปฏิบัติการในการแสวงหาความรู้กฎธรรมชาติของเขา ตลอดจนแง่มุมและลักษณะของความจริงที่เขาค้นพบด้วย

ถ้าความสำนึกในคุณค่าของเขาไม่หยั่งลงไปถึงคุณค่าพื้นฐานที่บรรจบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความจริงของธรรมชาติ คือความดีงามสูงสุดที่พ่วงอยู่กับความรู้แจ้งในความจริงของกฎธรรมชาติอย่างสมบูรณ์แล้ว การแสวงหาความรู้ในความจริงของธรรมชาติ นอกจากจะไม่มีทางครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะละเลยแดนแห่งความจริงไปด้านหนึ่งแล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็จะถูกคุณค่าปลีกย่อยกระเส็นกระสายเข้ามาครอบงำ ทำให้การแสวงหาความรู้เปะปะอยู่ครึ่งๆ กลางๆ เรื่อยไป

ในการแสวงหาความรู้นั้น คุณค่าในจิตใจที่แฝงอยู่จะมีอิทธิพลในการชี้ทิศทางของการแสวงหาความจริง มีส่วนปั้นแต่งรูปร่างของความจริงที่ค้นพบ ลักษณะการเห็นความจริง และแง่ด้านของความจริงที่มองเห็น พูดง่ายๆ ว่า ความรู้ความจริงของนักวิทยาศาสตร์ไม่เป็นอิสระจากคุณ​ค่าในจิตใจของนักวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างง่ายๆ ของคุณค่าปลีกย่อยเหล่านี้ เช่น ความสุข ความพอใจในการแสวงหาความรู้และในการได้ค้นพบความจริงต่างๆ ซึ่งอยู่เบื้องหลังความก้าวหน้าในการแสวงหาความรู้นั้น

แม้แต่ความใฝ่รู้ความจริงอย่างบริสุทธิ์ใจ ซึ่งเป็นคุณค่าที่ประเสริฐนั้น ถ้าวิเคราะห์และสืบค้นให้ลึกลงไป ก็อาจจะมีคุณค่าอะไรอื่นบางอย่างซ้อนอยู่เบื้องหลังอีกก็ได้ เช่น อาจจะเป็นความปรารถนาจะสนองเวทนาในการที่จะได้ความสุขอย่างประณีต ดังนี้เป็นต้น

พูดไปพูดมา ชักจะยาว เดี๋ยวก็จะพร่า ขอรวมความว่า เราได้พูดมาถึงคุณค่า ๒ ระดับ คือ คุณค่าสูงสุด กับคุณค่าสอดคล้องในระหว่าง คุณค่าสูงสุดนั้นเป็นภาวะของความจริงที่จะเข้าถึง ไม่ใช่เป็นความรู้สึกที่จะเอามาตั้งขึ้นในใจของเรา นักวิทยาศาสตร์มีศรัทธาในกฎธรรมชาติอยู่แล้ว ศรัทธานั่นแหละเป็นคุณค่าอยู่ในตัวแต่แรกเริ่ม เพียงแต่ขยายศรัทธานั้นให้กว้างออกไป ให้ครอบคลุมธรรมชาติทั้งหมดรวมทั้งในตัวมนุษย์เองด้วย คือศรัทธาในความดีงามสูงสุด เพียงด้วยความตระหนักรู้ หรือสำนึกถึงความจริงที่ว่า กฎธรรมชาตินั้นโยงไปสู่ความมีชีวิตที่ดีงามด้วย

เมื่อมีคุณค่าคือศรัทธาที่ถูกต้องแล้ว คุณค่าในระหว่างที่สอดคล้องก็จะเกิดมีขึ้นมาได้เอง หรือจะตั้งใจสำนึกขึ้นมาเป็นการเน้นสำทับก็ได้ ซึ่งจะเป็นการปิดกั้นไม่ให้คุณค่ากระเส็นกระสายที่ไม่พึงประสงค์ แทรกตัวเข้ามาครอบงำจิตใจ ความคิดและปฏิบัติการของผู้แสวงหาความรู้ การปฏิบัติในเรื่องคุณค่าพื้นฐานก็มีเพียงเท่านี้

จากศรัทธาที่เป็นคุณค่าเริ่มแรก คุณค่าในระหว่างหรือคุณค่ารองที่สอดคล้องก็จะเกิดตามมา โดยเฉพาะคือความใฝ่รู้ จากศรัทธาในความจริงของธรรมชาติ ก็เกิดความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ หรือความใฝ่รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งในพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ และจากศรัทธาในความดีงามสูงสุด และในศักยภาพของมนุษย์ ก็นำสู่คุณค่าคือความใฝ่ปรารถนาที่จะเข้าถึงภาวะไร้ทุกข์ และการที่จะแก้ปัญหา และพัฒนาตนเองของมนุษย์

ได้พูดไปแล้วว่า ความใฝ่หรือปรารถนาในพุทธศาสนานั้นมี ๒ ส่วน มาบรรจบกัน เมื่อกี้นี้ยังไม่ได้แสดงความบรรจบ เพียงแต่พูดทิ้งไว้ว่า

อย่างที่หนึ่ง คือ ความใฝ่รู้ความจริงในธรรมชาติ

และอีกอย่างหนึ่งคือ ความใฝ่ปรารถนาความไร้ทุกข์

สองอย่างนี้จะต้องมาบรรจบกัน พอมาบรรจบกันแล้วก็จะทำให้ความใฝ่รู้นั้นมีขอบเขตและเป้าหมายที่ชัดเจน คือกลายเป็นความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ เพื่อนำมาแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ให้ไร้ทุกข์ ตรงนี้แหละคือจุดสมบูรณ์ของพุทธศาสนาเมื่อความใฝ่ปรารถนาสองอย่างมาบรรจบกัน ซึ่งทำให้เกิดวงจร แล้วก็เกิดความสมดุล คือความพอดี มีขอบเขตที่ชัดเจนคือการที่จะต้องรู้ความจริงของธรรมชาติและการที่จะต้องเอาความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาของมนุษย์ หรือพัฒนามนุษย์ หรือจะใช้สำนวนอื่นก็อาจจะบอกว่า เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่ดีงาม ที่บรรลุประโยชน์สุข หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งก็มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ทั้งหมดนั้นจะมีความหมายที่โยงเข้ามาหาตัวมนุษย์ด้วย ซึ่งทำให้มีขอบเขตว่าเราจะใช้ความรู้นั้นแค่ไหนและอย่างไร

โดยเฉพาะภาวะที่เรียกว่ามีความสมดุลในการกระทำต่อธรรมชาติ กับการกระทำต่อตนเองคือการพัฒนาตนของมนุษย์ ทำให้การแสวงหาความรู้ในธรรมชาติ ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนาตนของมนุษย์ และความรู้ในธรรมชาติที่ได้มา ก็ถูกเอามาใช้ในการพัฒนามนุษย์ยิ่งขึ้นไป

ส่วนทางฝ่ายวิทยาศาสตร์นั้น เดิมมีแต่ความใฝ่รู้ความจริง อย่างที่ว่าแล้วว่าลอยตัวอยู่ลำพัง เมื่อเป็นความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาติลอยๆ มันก็จะได้แต่คอยแสวงเนื้อหาข้อมูลของความรู้เรื่อยๆ ไป อยากรู้ความจริงที่อยู่เบื้องหลังธรรมชาติ โดยมองออกไปเรื่อยๆ มีแต่หาความรู้ไปก็แล้วกัน ซึ่งเราก็จะเห็นว่าการหาความรู้ของนักวิทยาศาสตร์นี่ปลายเปิด

ทีนี้เพราะความใฝ่รู้แบบปลายเปิดนี้ไม่มีเป้าหมายชัดเจน ก็เลยเป็นการเปิดช่องให้มีการนำเอาเป้าหมายอื่นมาเติมต่ออย่างที่ว่ามาแล้ว เป้าหมายอื่นที่มาเติมต่อก็ได้พูดไปแล้ว อย่างที่หนึ่งคือความใฝ่ปรารถนาที่จะพิชิตธรรมชาติ แล้วต่อมาก็ความใฝ่ปรารถนาที่จะมีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อม แล้วสองอย่างนั้นก็มาบรรจบกันอีก เกิดเป็นวงจรที่ว่า ความใฝ่รู้ของวิทยาศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายของการพิชิตธรรมชาติ เพื่อหาวัตถุมาบำรุงบำเรอปรนเปรอตนเองสนองความเห็นแก่ตัวของมนุษย์

ขอย้ำความหมายของวงจรนี้ว่า เป็นการใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ เพื่อเอาชนะธรรมชาติ แล้วจะได้จัดการปรุงแต่งธรรมชาติให้สนองรับใช้ความต้องการของมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์มีความสุขด้วยการมีสิ่งบำเรอพรั่งพร้อมเต็มที่ แล้ววงจรนี้ก็ได้กลายเป็นต้นเหตุที่นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ทั้งปัญหาจิตใจ ปัญหาสังคม และโดยเฉพาะที่กำลังเน้นกันมากคือปัญหาธรรมชาติแวดล้อมอย่างที่เป็นอยู่

นี้คือการที่แนวความคิดในยุคอุตสาหกรรมได้เข้ามาครอบงำวิทยาศาสตร์ ซึ่งเกิดจากช่องโหว่ ในการมีปลายเปิดของความใฝ่รู้ของวิทยาศาสตร์นั่นเอง ที่เป็นการกระทำของมนุษย์แต่ไม่มีจุดเชื่อมโยงมาถึงตัวเองของมนุษย์ และปัจจุบันนี้เราก็กำลังประสบปัญหาจากจุดอ่อนหรือช่องโหว่นี้ นี่คือข้อสรุปที่บอกว่า เดี๋ยวนี้การที่เรากำลังประสบปัญหาธรรมชาติแวดล้อม และอะไรต่ออะไรนี้ ก็สืบเนื่องมาจากแนวคิดที่จะพิชิตธรรมชาติเพื่อจะปรุงแต่งสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอตนของมนุษย์ให้พรั่งพร้อม เพราะเข้าใจว่าความสุขของมนุษย์อยู่ที่นี่

แนวความคิดแบบนี้ทำให้ไม่มีขอบเขตของการกระทำที่ชัดเจน การกระทำที่ไม่พอดีก็จึงเกิดขึ้น เพราะไม่รู้จะเอาแค่ไหน การหาความสุขพรั่งพร้อมก็ไม่มีที่สิ้นสุด การพิชิตธรรมชาติก็ไม่มีที่สิ้นสุด ก็เลยจัดการกันเรื่อยไป จนโทรมหรือสลาย ตลอดจนพินาศไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นปัญหาก็ต้องเกิดขึ้นแน่นอน อันนี้คือจุดแยกจุดหนึ่งระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.