พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ศาสนาแห่งการเพียรแก้ปัญหา
ด้วยการพัฒนาปัญญาของมนุษย์

ข้อที่ ๔ หลักการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในท่ามกลางความเชื่อตามหลักศาสนาพราหมณ์ ที่ถือว่า พระพรหมเป็นผู้สร้างโลก เทพเจ้าเป็นผู้บันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง มนุษย์จะต้องบวงสรวงอ้อนวอนด้วยพิธีกรรม ซึ่งคิดจัดสรรกันหลากหลาย ให้เทพเจ้าถูกอกถูกใจ มีความใหญ่โตพิสดาร จนกระทั่งถึงกับมีวิธีบูชายัญแบบต่างๆ มากมาย เพื่อเอาใจเทพเจ้าให้โปรดปรานแล้วจะได้บันดาลผลที่ต้องการให้แก่ตน

คัมภีร์พระเวทของพราหมณ์ กำหนดว่า คนเกิดมาแยกเป็นวรรณะสี่ เพราะว่าพระพรหมท่านสร้างมาอย่างนั้น เกิดมาในชั้นวรรณะไหน ก็ต้องเป็นอย่างนั้นตลอดชาติ แก้ไขไม่ได้ ทุกอย่างถูกครอบงำกำหนดด้วยการดลบันดาลของเทพเจ้า

เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น สิ่งแรกที่ถือว่าเกิดขึ้นพร้อมกับการอุบัติของเจ้าชายสิทธัตถะ คือ การประกาศอิสรภาพของมนุษย์ ถ้าใครสังเกตจะนึกได้ว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ มีเหตุการณ์ที่เป็นสัญลักษณ์ว่า ได้เสด็จย่างพระบาทไป ๗ ก้าว ทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก เราคือผู้เป็นใหญ่แห่งโลก”1

พระดำรัสนี้ ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะเข้าใจผิด ว่าทำไมเจ้าชายสิทธัตถะมาอวดตัวว่ายิ่งใหญ่ แต่พึงทราบว่านี่คือการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ เพราะหลักการต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงต่อมา จะบอกเราว่า มนุษย์มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองได้สูงสุด เมื่อมนุษย์พัฒนาตนเองแล้วก็เป็นผู้ประเสริฐสุด ดังมีพระองค์เป็นตัวอย่างในฐานะที่เป็นตัวแทนของมนุษย์คือการที่ทรงเป็น “พุทธะ” ซึ่งทุกคนก็เป็น “พุทธะ” ได้ทั้งนั้น เมื่อมนุษย์มีศักยภาพอย่างนี้ จะได้ไม่มัวไปอ้อนวอนหวังพึ่งเทพเจ้าหรืออำนาจดลบันดาลจากภายนอก จะได้หันมาเอาใจใส่พัฒนาตัวเอง และทำการต่างๆ ด้วยความเพียรพยายามของตน เมื่อเป็น “พุทธะ” แล้ว แม้แต่เทพเจ้า แม้แต่พระพรหมก็น้อมนมัสการ

คำสอนแบบนี้ในพุทธศาสนามีมากมาย ถ้าอ่านพระไตรปิฎก และรู้จักสังเกตจะเห็นว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นทำนองนี้ อย่างที่อ้าง​บ่อยๆ ว่า

“มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนฺตํ สมาหิตํ

… … ... เทวาปิ นมสฺสนฺติ”2

ซึ่งบอกว่า “พระพุทธเจ้า แม้จะเป็นมนุษย์ แต่เป็นผู้ที่ได้ฝึกฝนพัฒนาตนแล้ว . . . แม้เทพทั้งหลาย (ไม่ว่าชั้นเทพหรือชั้นพรหม) ก็น้อมนมัสการ”

หลักการข้อนี้เป็นการเปลี่ยนท่าทีของมนุษย์เสียใหม่ ท่าทีของจิต​ใจที่มองไปข้างนอกในแบบที่คอยหวังพึ่งเทพเจ้า คอยรอการดลบันดาลของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ถูกกระตุกกลับอย่างแรง แล้วคนก็ถูกปลุกเร้าให้หันมามองดูที่ตัวเองว่า ภายในตัวของเขาเองนี้มีธรรมชาติแห่งความเป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ ถ้าเธอฝึกฝนพัฒนาตน เธอจะเป็นผู้ประเสริฐ โดยไม่ต้องไปฝากชะตาชีวิตไว้กับเทพเจ้าเหล่านั้น แม้แต่เทพเหล่านั้นก็ต้องยอมรับในคุณค่าความประเสริฐของเธอ แล้วเขาก็จะมาน้อมนมัสการเอง

หลักนี้ก็คือ การมีความเชื่อหรือศรัทธาพื้นฐานว่า มนุษย์มีศักย­ภาพในการพัฒนาตนได้สูงสุด และให้มองพระพุทธเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นองค์แทน เป็นตัวอย่างของมนุษย์ที่พัฒนาตนเองแล้วได้สูงสุด นี้คือ หลักที่เรียกว่า “อาสภิวาจา” หรือ การประกาศอิสรภาพของมนุษย์

ข้อที่ ๕ หลักการแก้ปัญหาด้วยการกระทำของมนุษย์ ตามเหตุผล ไม่หวังผลจากการอ้อนวอนพึ่งพาปัจจัยภายนอก

หลักนี้ จะเห็นได้จากตัวอย่างคำสอนในคาถาธรรมบท ซึ่งถือเป็นการประกาศหลักการใหญ่ภาคปฏิบัติของพุทธศาสนา คาถานั้นว่า “พหุํ เว สรณํ ยนฺติ . . .”

เริ่มต้น คาถานี้ก็บอกให้ทราบว่า วิถีชีวิตของมนุษย์ก่อนพระพุทธ­ศาสนาเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ดังข้อความว่า “มนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามแล้ว” นี่ตรงกับเรื่องการเกิดขึ้นของศาสนาทั้งหลายที่พูดไว้เมื่อกี้นี้เลย ท่านเล่าไว้แล้วในพุทธพจน์ที่ตรัสว่า

“มนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามแล้ว พากันถึงเจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าภูผา ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่ง แต่สิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่สรณะอันเกษม เมื่อยึดเอาสิ่งเหล่านั้นเป็นสรณะ ย่อมไม่หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงไปได้”

“แต่ชนเหล่าใดมาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ รู้เข้าใจอริยสัจ ๔ เห็นปัญหา เหตุเกิดของปัญหา ภาวะไร้ปัญหา และวิธีปฏิบัติให้ถึงความสิ้นปัญหา ก็จะหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”3

นี่คือ จุดหักเหที่เบนจากการอ้อนวอนหวังพึ่งเทพเจ้า มาสู่การ​กระทำของมนุษย์ ถ้าเราไม่รู้หลักนี้ เราอาจจะเผลอนับถือพระรัตนตรัยแบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาทั่วๆ ไป ทั้งหลาย

พระรัตนตรัยเริ่มจากพระพุทธเจ้า คือ ตัวอย่างของมนุษย์ที่พัฒนาตนได้สูงสุดและใช้ปัญญาแก้ปัญหาได้เสร็จสิ้น ซึ่งเป็นการเตือนใจมนุษย์ทุกคนว่า เรามีศักยภาพนี้อยู่ในตัว และจึงมีหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาตนเอง การถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะนั้น คือ เป็นการเตือนใจตัวเรา พอระลึกถึงพระรัตนตรัย นึกถึงพระพุทธเจ้าปั๊บ ก็ต้องเกิดความสำนึกที่จะใช้ปัญญาแก้ปัญหาและพัฒนาตนทันที นี่คือการเตือนจิตสำนึกในศักยภาพของตัวเราเอง

พอนึกถึงพระธรรม ก็เตือนใจเราให้ระลึกว่า อ้อ.. การที่จะพัฒนาตนได้นั้น ก็ต้องทำให้เป็นไปตามหลักเหตุปัจจัย เราจะต้องรู้เข้าใจกฎธรรมชาติ ต้องมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย ต้องหยั่งถึงและปฏิบัติให้ถูกต้องตามความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

เสร็จแล้วก็ระลึกถึงพระสงฆ์ว่า อ๋อ.. ชุมชนที่ประเสริฐ สังคมมนุษย์ที่ประกอบด้วยมนุษย์ที่พัฒนาตนได้โดยใช้กฎเกณฑ์แห่งเหตุปัจจัยนี้ เอาความรู้นี้มาใช้ประโยชน์ พัฒนาตนได้สำเร็จนั้นเป็นจริง ทำให้มีให้เป็นได้ และเป็นที่ปรากฏของการเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติในทางปฏิบัติ หรือในเชิงประยุกต์ เราจะต้องเข้าร่วม เข้าสังกัด ร่วมสร้างสรรค์ชุมชนประเสริฐนี้

นี่คือ หลักพระรัตนตรัย พอเราเชื่อในหลักการนี้ เราก็ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีการของมนุษย์ที่เพียรทำการด้วยปัญญาที่รู้เหตุปัจจัย หลักการมันบังคับอยู่ในตัวเอง วิธีการแก้ปัญหาด้วยปัญญาของมนุษย์ ก็คือ

หนึ่ง ทุกข์ คือ เริ่มด้วยปัญหา ต้องรู้ปัญหาก่อน เสร็จแล้ว

สอง สมุทัย สืบสาวหาสาเหตุของปัญหา แล้ว

สาม นิโรธ กำหนดจุดหมายที่ดับปัญหา จากนั้น

สี่ มรรค ก็ปฏิบัติตามวิธีการให้ถึงความดับปัญหาได้

นี่คือ หลักการที่ว่า เป็นการแก้ปัญหาตามแนวเหตุผล ด้วยการ​กระทำของมนุษย์เอง

ข้อที่ ๖ หลักการสอนแต่ความรู้หรือความจริงที่เป็นประโยชน์ ขยายความว่า ความรู้หรือความจริงที่รู้อาจจะมีมากมาย แต่หลายอย่างอาจจะเป็นความรู้ที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาของมนุษย์ พระพุทธเจ้าไม่สอนความรู้เหล่านั้น และก็ไม่รอด้วย เอาแต่ความจริงที่เป็นประโยชน์เท่านั้นมาสอน เราจะเห็นหลักการเหล่านี้จากพุทธพจน์เอง เช่นในข้ออุปมาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เมื่อครั้งที่ประทับอยู่ในป่า ที่เรียกว่าสีสปาวัน ซึ่งบางทีก็เรียกว่าป่าไม้สีเสียด หรือป่าไม้ประดู่ลาย4

ณ ที่นั้น พระพุทธองค์ประทับอยู่กับพระสงฆ์ ตอนหนึ่งพระองค์ทรงหยิบใบไม้ประดู่ลายขึ้นมากำพระหัตถ์หนึ่ง แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ใบไม้ในกำมือเราที่นี่ กับใบไม้เบื้องบนในป่านี่ ไหนจะมากกว่ากัน คำถามง่ายๆ พระก็ตอบได้ทันที พระสงฆ์ก็ทูลตอบว่า ใบไม้ในพระหัตถ์ของพระองค์นิดเดียว ใบไม้ในป่ามากกว่ามากนัก

พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า นี่ฉันใด สิ่งที่เราสอนก็ฉันนั้น ความจริงที่รู้มีมากมาย แต่ความจริงส่วนใหญ่นั้นรู้แล้วไม่ได้สอน เหมือนใบไม้ในป่า ส่วนที่สอนเหมือนใบไม้ในกำมือเท่านั้น ทำไม ก็ตรัสแสดงเหตุผลว่า เพราะความจริงเหล่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความเข้าใจความจริงถ่องแท้ ไม่เป็นไปเพื่อการแก้ปัญหา ไม่เป็นไปเพื่อความไร้ทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อจุดหมายของพุทธศาสนา คือ นิพพาน แต่สิ่งที่ทรงสอนก็เพราะว่า มันเป็นประโยชน์ นำไปสู่การแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ เกี่ยวกับชีวิตที่ดีงาม พูดง่ายๆ ว่าเป็นไปเพื่อถึงความไร้ทุกข์ อันนี้ก็เป็นหลักการอย่างหนึ่งของพุทธศาสนา

อุปมาอีกคราวหนึ่งที่สำคัญ คือ ครั้งหนึ่งมีผู้มาถามปัญหาอภิปรัชญากับพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่วิทยาศาสตร์กำลังพยายามตอบในปัจจุบันว่า เอกภพนี้มีจุดตั้งต้นหรือไม่ มีจุดสิ้นสุดหรือไม่ หรือมีอยู่ตลอดไป อะไรทำนองนี้ มี ๑๐ อย่าง คำถามประเภทนี้มีมาตั้งนานแล้ว ก่อนพุทธกาล คนพวกที่สนใจอย่างนั้น เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นก็มาถามอีก พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราไม่ตอบ ทำไมจึงไม่ตอบ พระองค์ได้ทรงแสดงเหตุผลด้วยข้ออุปมาว่า5

บุรุษผู้หนึ่งถูกคนเขาเอาลูกศรอาบยาพิษมายิง ลูกศรอาบยาพิษก็เสียบตัวอยู่ พวกญาติมิตรก็ไปตามหมอมาผ่าตัด หมอผ่าตัดก็จะผ่าตัดเอาลูกศรอาบยาพิษออก บุรุษผู้นี้ก็บอกว่า “อย่าเพิ่ง อย่าเพิ่ง เดี๋ยวก่อน ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้ท่านผ่าตัดเอาลูกศรออก จนกว่าข้าพเจ้าจะรู้ว่าใครเป็นคนยิงข้าพเจ้า คนที่ยิงข้าพเจ้านั้นชื่ออะไร อยู่ที่ตำบลไหน หมู่บ้านไหน เป็นคนวรรณะใด ใช้ลูกศรชนิดใดยิง เป็นเกาฑัณฑ์หรือว่าเป็นธนู และทำด้วยวัสดุอะไร คันธนูทำด้วยไม้อะไร สายทำด้วยวัสดุอะไร ขนนกที่ผูกปลายทำด้วยขนนกอะไร ถ้ายังไม่รู้ความจริงเหล่านี้ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้ถอนลูกศรออก”

จะเห็นชัดว่า ถ้ารออย่างนี้ บุรุษนั้นก็จะต้องตายเสียก่อนเป็นแน่ ทั้งไม่มีทางได้รู้ด้วยและตัวเองก็ต้องตายด้วย เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะต้องทำคืออะไร สิ่งที่ต้องทำเรื่องแรกก่อนสิ่งอื่น คือถอนลูกศรออก แล้วเรื่องที่จะให้รู้ว่าใครหรืออะไรต่างๆ ก็ว่ากันอีกที อันนี้ฉันใด สิ่งที่เราสอนก็คือปัญหาของมนุษย์และการแก้ปัญหานี้แหละ ส่วนปัญหาที่ท่านถามมานั้นไม่เป็นประโยชน์ ถึงตอบไป ท่านก็พิสูจน์ไม่ได้ และจะรอพิสูจน์ก็ไม่ได้ เรื่องที่จำเป็นต้องรีบทำมีอยู่จะมัวเสียเวลาอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและมัวเถียงกันอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ตอบ นี้คือหลักที่เรียกว่าการสอนความจริงที่เป็นประโยชน์

ที่กล่าวมานี้เป็นการยกตัวอย่างบางข้อมาแสดงให้เข้าใจลักษณะทั่วไปของพุทธศาสนา ฟังแล้วก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเหมือนวิทยาศาสตร์หรือไม่เหมือน เพราะบางข้ออาจจะเหมือน แต่ในความเหมือนนั้นอาจจะมีความไม่เหมือนอยู่ด้วย

 

1มหาปทานสูตร, ที.ม. ๑๐/๒๖/๑๗
2นาคสูตร, องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๑๔/๓๘๖; อุทายิเถรคาถา, ขุ.เถร. ๒๖/๓๘๔/๓๖๗
3พุทธวรรค, ขุ.ธ. ๒๕/๒๔/๔๐-๔๑
4สีสปาสูตร, สํ.ม. ๑๙/๑๗๑๒-๓/๕๔๘-๙
5จูฬมาลุงกโยวาทสูตร, ม.ม. ๑๓/๑๕๐-๑๕๒/๑๔๗-๑๕๓
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.