พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ส่งเสริมเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์และไม่สร้างปัญหา

ในระดับชีวิตประจำวัน หรือในระดับการสนองความต้องการของมนุษย์ในชีวิตประจำวัน วิทยาศาสตร์มีบทบาทอย่างสำคัญในการเปิดช่องทางให้แก่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พร้อมทั้งส่งเสริมการผลิตการพัฒนาและการบริโภคเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นหนักไปด้านใดด้านหนึ่ง และในทางกลับกัน เมื่อคนนิยมเทคโนโลยีด้านใดประเภทใด ก็เป็นการสนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่จะมาส่งเสริมการผลิต การพัฒนา และการบริโภคเทคโนโลยีด้านนั้นประเภทนั้นให้รุดหน้าก้าวไกลมากยิ่งขึ้น

เท่าที่ผ่านมา วิทยาศาสตร์ที่มีแนวความคิดในการพิชิตธรรมชาติและสร้างเสริมความสุขด้วยความพรั่งพร้อมทางวัตถุอยู่เบื้องหลัง ได้ผลักดันให้การผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและมากมาย ในทิศทางที่สนองต่อแนวความคิดที่กล่าวนั้น จนมาถึงจุดที่ก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงแก่มนุษย์ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดสภาพที่กลายเป็นว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาจจะสร้างปัญหามากกว่าสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่มนุษย์

ลักษณะการผลิต การพัฒนา และการบริโภคเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดปัญหานั้น เมื่อว่าโดยสรุปก็คือ เป็นการผลิต การพัฒนา และการบริโภคเพื่อสนองโลภะ (บำรุงบำเรอความสุขทางประสาทสัมผัสแบบเห็นแก่ตัวอย่างฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ไม่รู้จักประมาณ) เพื่อสนองโทสะ (ทำให้เกิดการเบียดเบียน ทำร้าย การแสดงอำนาจคุกคาม และการทำลาย เช่นในการสงคราม) และเพื่อสนองโมหะ (ส่งเสริมความลุ่มหลงมัวเมาประมาท เช่นติดเพลินหรือมั่วสุมกันอย่างผลาญเวลา เสียงานเสียการ หรือบั่นทอนสุขภาพ และไม่รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ตลอดจนใช้และบริโภคเทคโนโลยี โดยไม่เข้าใจเหตุผล ไม่รู้เท่าทันต่อคุณและโทษของมัน) ดังที่เคยกล่าวมาแล้ว

ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ระดับล่าง คือในระดับที่เกี่ยวกับการส่งเสริมเทคโนโลยีนี้ นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนแนวความคิดในการพิชิตธรรมชาติ และแนวความคิดในการที่จะมีความสุขต่อเมื่อมีวัตถุพรั่งพร้อมแล้ว ก็จะต้องเน้นและอุดหนุนการผลิต การพัฒนา และการบริโภคเทคโนโลยี ในลักษณะที่ไม่ก่อปัญหา แต่ให้เป็นไปในแนวทางของการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขที่แท้จริง ภายในขอบเขตของหลักการต่อไปนี้ คือ

๑. เทคโนโลยีที่รู้จักประมาณ

๒. เทคโนโลยีเพื่อทำประโยชน์

๓. เทคโนโลยีที่เสริมปัญญาและพัฒนามนุษย์

ขอขยายความเล็กน้อย

๑. เรายอมรับความต้องการของปุถุชนในขอบเขตหนึ่ง ว่าเขาย่อมต้องการสนองความอยากที่จะหาความสุขด้วยการบำรุงบำเรอประสาทสัมผัสบ้าง ไม่ใช่มุ่งแต่จะไปบีบกดปิดกั้นกามสุขของเขา จุดสำคัญเพียงแต่ให้พฤติกรรมของเขาอยู่ในขอบเขตที่จะไม่ก่อความเสียหาย ไม่ให้กลายเป็นความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย หรือมักมาก โดยให้มีความเหนี่ยวรั้งหรือยับยั้งชั่งใจ ให้เป็นไปอย่างพอดี ซึ่งรวมอยู่ในคำว่ารู้จักประมาณ โดยเฉพาะให้มีหลักการในการผลิต การพัฒนาและการบริโภคเทคโนโลยีที่มุ่งเพื่อคุณค่าแท้แก่ชีวิต เป็นไปเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต ไม่มุ่งสนองการแสวงหาคุณค่าเทียม เรียกสั้นๆ ว่า เทคโนโลยีที่รู้จักประมาณ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ควบคุมโลภะ

๒. พร้อมกับความเห็นแก่ตัวและความโลภ มนุษย์ก็มีความโน้มเอียงที่จะต้องการอำนาจเพื่อครอบงำบีบคั้นผู้อื่น และคุกคามหรือทำลายผู้ที่กีดกั้นขัดขวางความปรารถนาของตน ศักยภาพของมนุษย์ถูกพัฒนาไปในทางที่จะสนองความต้องการด้านโทสะนี้เป็นอันมาก เป็นเหตุให้การผลิตการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีเป็นไปในทางทำลายกันระหว่างมนุษย์มากกว่าในทางร่วมมือและช่วยเหลือเกื้อกูล มนุษย์จะต้องหันเหทิศทางการพัฒนาแบบนี้ โดยตั้งเจตจำนงและความมุ่งหมายพร้อมทั้งวางแผนอย่างหนักแน่นมั่นคงที่จะส่งเสริมการผลิต การพัฒนา และการบริโภคเทคโนโลยีที่เป็นไปเพื่อการช่วยเหลือเกื้อกูล ทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ และเอื้ออำนวยประโยชน์แก่สังคม เทคโนโลยีเพื่อทำประโยชน์อย่างนี้จะช่วยลดทอนผ่อนเบาและยับยั้งเทคโนโลยีเพื่อโทสะ

๓. ตามสภาพที่เป็นมา การผลิตการพัฒนาและการบริโภคเทคโนโลยีได้เป็นไปในทางที่จะชักพาคนให้ลุ่มหลงมัวเมา ประมาท และเพิ่มโมหะเป็นอย่างมาก ยิ่งเวลานี้ สังคมโลกหลายส่วนได้ย่างก้าวเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูล ถ้ามนุษย์ปฏิบัติต่อเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการสื่อสารและข้อมูลไม่ถูกต้อง แทนที่เทคโนโลยีจะส่งเสริมความรู้และสติปัญญา ก็กลับจะเป็นเครื่องมอมเมาทำให้คนลุ่มหลงประมาทยิ่งขึ้น ดังเช่น เทคโนโลยีที่เอามาใช้เล่นการพนันและเกมส์ไร้ประโยชน์ผลาญเวลาที่เกลื่อนกลาดอยู่ในปัจจุบันเป็นต้น

ที่กล่าวนี้รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีโดยไม่ใช้ปัญญา ขาดความรู้เท่าทันต่อคุณและโทษของมัน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธรรมชาติแวดล้อมเป็นต้น ทั้งลดคุณค่าของความเป็นมนุษย์และทำลายสภาพแวดล้อม จึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างจงใจในเรื่องนี้ โดยหันมาเน้นการผลิต การพัฒนา และการบริโภคเทคโนโลยี ที่มุ่งเพื่อเสริมปัญญาและพัฒนามนุษย์ โดยให้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ข่าวสารความรู้ที่เป็นประโยชน์ ช่วยให้มนุษย์ใช้เวลาไปในทางสร้างสรรค์ และให้มีการใช้เทคโนโลยีด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันต่อเหตุผลพร้อมทั้งคุณและโทษของมัน เพื่อให้เทคโนโลยีเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยส่งเสริมคุณค่าของความเป็นมนุษย์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และให้ตัวเทคโนโลยีนั้นเองก็เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาจิต­ปัญญาด้วย ข้อนี้เรียกสั้นๆ ว่า เทคโนโลยีที่เสริมปัญญาและพัฒนามนุษย์ ตรงข้ามกับเทคโนโลยีเพื่อเสริมโมหะ

ถ้าการผลิต การพัฒนา และการใช้เทคโนโลยีเป็นไปในแนวทางที่กล่าวมานี้ และถ้าวิทยาศาสตร์ช่วยเปิดทาง รองรับ และช่วยหนุนให้เทคโนโลยีดำเนินไปในแนวทางนี้ การพัฒนาแบบที่เรียกร้องกันในปัจจุบัน ซึ่งมีชื่อว่า sustainable development คือการพัฒนาแบบที่จะพากันไปรอด โดยให้ทั้งมนุษย์ก็อยู่ดี และธรรมชาติก็อยู่ได้ ก็จะสำเร็จขึ้นมาอย่างแน่นอน

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.