ตอนนี้ประเทศไทยของเรายังมีปัญหาที่ถ่วงการพัฒนาวิทยาศาสตร์หลายอย่าง ปัจจุบันนี้เราค่อนข้างจะมีความพรั่งพร้อมด้านเทคโนโลยีมาก แต่วิทยาศาสตร์เองกลับไม่ค่อยเจริญ จนถึงกับว่าคนจำนวนมากหรือประชาชนทั่วไปเข้าใจเอาเทคโนโลยีเป็นวิทยาศาสตร์ กลายเป็นปัญหาของเมืองไทยที่สำคัญ คือการที่คนไม่รู้จักวิทยาศาสตร์ เข้าใจว่าเทคโนโลยีเป็นวิทยาศาสตร์ และเมืองไทยชักจะมีวัฒนธรรมเทคโนโลยี ไม่มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ถ้าเราต้องการจะเจริญก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์ จะต้องพยายามพัฒนาวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ขึ้นมาให้ได้
ที่ว่ามีวัฒนธรรมเทคโนโลยี คือมีวิถีชีวิตที่เน้นเทคโนโลยี โดยเฉพาะในด้านการบริโภค หาความสะดวกสบาย ปล่อยให้ชีวิตขึ้นต่อเทคโนโลยี โดยที่ด้านจิตปัญญา จะเป็นตัวความรู้ก็ตาม ความใฝ่รู้ก็ตาม หรือนิสัยในการศึกษาค้นคว้าก็ตาม หาได้พัฒนาขึ้นมาด้วยไม่ บางทีใช้เทคโนโลยีที่แสนจะพัฒนาก้าวหน้าแต่จิตใจยังเชื่อสิ่งเหลวไหลงมงายอย่างตรงกันข้ามสวนทางกับวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้น จึงยังมีปัญหามาก และจะต้องพัฒนาวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ขึ้นมาให้คนมีวิถีชีวิตแห่งการแสวงหาความรู้ ชอบสืบค้นหาความรู้ มองตามเหตุปัจจัย คิดอะไรเป็นเหตุเป็นผล
การมีวัฒนธรรมเทคโนโลยี (เชิงบริโภค) และขาดวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์นี้อาจจะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้ในเมืองไทยนี้คนเลือกเรียนวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์หายาก โดยมากจะไปเรียนวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีเสียมากกว่า เพราะว่าทั้งความเข้าใจและความพอใจตามแบบวัฒนธรรมเทคโนโลยีมามีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง คนมีค่านิยมเทคโนโลยีมาก แต่ไม่มีค่านิยมวิทยาศาสตร์
สภาพต่อไปที่จะต้องแก้ คือ การมองความเจริญแบบนักเสพผล ไม่มองความเจริญแบบนักสืบสาวสร้างเหตุ ข้อนี้เมื่อพูดตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ หรือกระบวนธรรมตามหลักพุทธศาสนา ก็เป็นตัวหนุนวัฒนธรรมเทคโนโลยี และส่งเสริมวัฒนธรรมบริโภคซึ่งนำไปสู่ความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย เวลาเรามองประเทศอเมริกาว่าเจริญ ขอให้ลองทดสอบคนไทยดูว่ามองอย่างไร คนไทยมองความเจริญด้วยท่าทีแบบนักเสพผล หรือด้วยท่าทีแบบนักสร้างเหตุ
ถ้าเป็นผู้มองความเจริญในความหมายแบบนักเสพผล ก็จะแสดงท่าทีและแนวความคิดออกมาว่า ถ้าเราเจริญอย่างอเมริกา ก็คือ เรามีกินมีใช้อย่างคนอเมริกัน หมายความว่า ถ้ามีกินมีใช้อย่างคนอเมริกันก็คือเจริญอย่างอเมริกา แต่ถ้ามองความเจริญแบบนักสืบสาวสร้างเหตุ เขาจะตอบอีกแบบหนึ่งว่า ถ้าเราเจริญอย่างอเมริกา ก็คือเราทำได้อย่างอเมริกา
ขณะนี้คนไทยทั่วไปตอบแบบไหน ถ้าเขาตอบว่าจะต้องมีกินมีใช้อย่างอเมริกา นั่นคือมองความเจริญแบบนักเสพผล แล้วจะนำไปสู่วัฒนธรรมบริโภค และวัฒนธรรมเทคโนโลยีเชิงบริโภค จะไม่สนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นจะต้องเปลี่ยนท่าทีของจิตใจแม้แต่ในการมองความเจริญนี้ใหม่ ให้มองความเจริญแบบนักสืบสาวสร้างเหตุ พอเห็นอะไรก็ให้คิดที่จะทำให้ได้อย่างเขา พอคิดจะทำให้ได้อย่างเขา ก็จะสืบสาวหาเหตุปัจจัยในกระบวนการของเหตุผลทันที
ลึกลงไปกว่านั้น การเลี้ยงดูอบรมเด็ก โดยเฉพาะตั้งแต่ก่อนวัยเรียน มีความสำคัญมาก เรามักมาจ้องดูเด็กตอนเข้าโรงเรียนแล้ว แต่ที่จริงเราอบรมปลูกฝังท่าทีวิทยาศาสตร์หรือไม่เป็นวิทยาศาสตร์มาก่อนหน้านั้นนานแล้วตั้งแต่ในครอบครัว ให้มีท่าทีแบบนักบริโภค ที่ทางพระเรียกว่าท่าทีแบบตัณหา หรือท่าทีแบบวิทยาศาสตร์ที่ใฝ่รู้และมองตามเหตุปัจจัย ซึ่งเรียกว่าท่าทีแบบฉันทะ
ในเมืองไทยนี้เราเลี้ยงดูอบรมเด็กกันอย่างไร เคยยกตัวอย่างบ่อยๆ เวลาพ่อแม่พาลูกไปตลาด ไปศูนย์การค้า ไปหาซื้อสิ่งของ ทั้งๆ ที่เด็กมีความใฝ่รู้อยู่ในตัว เด็กชอบถามโน่นถามนี่ แต่ผู้ใหญ่กลับไม่ชักจูงนำหรือเสริมในด้านฉันทะคือความใฝ่รู้ความจริง หรือความใฝ่ที่จะทำหรือสืบสาวหาเหตุปัจจัย แต่ผู้ใหญ่มักจะส่งเสริมตัณหาคือความอยากบริโภค พอเด็กถามว่าอันนี้อะไรอันนั้นอะไร แทนที่จะตอบในเชิงของปัญญาความรู้ความเข้าใจที่เป็นตัวองค์ความรู้ กลับชักนำไปในเชิงว่า โอ อันนั้นสวย อันนี้ดี น่ากิน น่าใช้ อย่างนั้นอย่างนี้ นี่น่าเอาน่าได้ ไปสนับสนุนอย่างนั้น ทำให้ความคิดเชิงเจตคติวิทยาศาสตร์จบเท่านั้น สะดุดหยุดไปเลย เพราะฉะนั้น กว่าเด็กจะเติบโตมา ก่อนเข้าโรงเรียนก็หมดฉันทะไปเสียแล้ว เหลือแต่ตัณหา ไม่มีความใฝ่รู้ที่จะเอามาใช้พัฒนา
เพราะฉะนั้น สภาพที่ว่านี้จึงเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง คือการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่ไปส่งเสริมตัณหาหรือดึงไปหาตัณหา ปิดกั้นกดทับฉันทะ ทำลายความใฝ่รู้ แล้วเบนออกไปนอกทางเสีย เพราะฉะนั้น จึงจะต้องเตือนกันให้มากเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ให้ส่งเสริมฉันทะ คือ ความใฝ่รู้และใฝ่ที่จะทำ ไม่ใช่ส่งเสริมความใฝ่ที่จะเอาหรือจะได้
ข้อต่อไปคือความอ่อนในอุเบกขา การอบรมเลี้ยงดูเด็กไทยนี่อ่อนในอุเบกขา คือ ไม่ส่งเสริมให้เด็กรู้จักรับผิดชอบในการที่จะพัฒนาตน แต่มักใช้เมตตามากเกินไป เรียกว่าโอ๋มาก จะปล่อยบ้าง หรือจะให้เด็กทำอะไรๆ ก็กลัวเด็กจะลำบากจะไม่สบาย คอยแสดงความรักจนเกินไป จนกระทั่งเด็กทำอะไรไม่เป็น และไม่รู้จักโต ขัดกับหลักในพระพุทธศาสนา ที่ท่านสอนว่าพ่อแม่จะต้องมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา พร้อมบริบูรณ์ได้สมดุลกัน
อุเบกขา คือการมีปัญญารู้จักวางท่าทีเฉยดูไปก่อน รู้จักปล่อย รู้จักให้โอกาส ให้เขารู้จักรับผิดชอบตนเอง รู้จักทำอะไรๆ ด้วยตนเองเพื่อเป็นการพัฒนาตน
หลักปฏิบัติในการอบรมเลี้ยงดูเด็กโดยใช้ธรรม ๔ ข้อนั้น ก็คือ
๑. ในยามปกติ อยู่กันตามธรรมดา ก็มีเมตตา คือหวังดีปรารถนาดี แสดงน้ำใจ เอาใจใส่ด้วยไมตรี ให้ความรู้สึกอบอุ่นร่มเย็น
๒. เมื่อใดเขาเกิดความเดือดร้อน มีทุกข์ เช่น เจ็บไข้ไม่สบาย ก็ใช้กรุณา คือ สงสาร เห็นใจ ขวนขวายช่วยเหลือ หาทางปัดเป่า ปลดเปลื้องความทุกข์ยาก
๓. เมื่อใดเขาประสบความสำเร็จ ก้าวหน้าหรือก้าวไปด้วยดีในทางที่ถูกต้อง เช่น สอบได้ ทำงานสำเร็จ ก็มีมุทิตา คือพลอยยินดี รื่นเริงบันเทิงใจด้วย และส่งเสริมสนับสนุน
๔. แต่เมื่อใด เด็กจะต้องรับผิดชอบตัวเอง เช่น ฝึกปฏิบัติหัดทำ เพื่อให้รู้จักทำอะไรด้วยตนเอง หรือช่วยตัวเองได้ หรือทำอะไรผิดพลาดไปจะต้องแก้ไข ก็ต้องวางอุเบกขา คือวางทีเฉยคอยดู เอาความถูกต้องและผลดีเป็นหลัก รู้จักปล่อยให้เขาทำด้วยตนเอง ให้หัดแก้ปัญหา และรู้จักแก้ไขความผิดพลาดของตน ไม่ใช่คอยแต่เอาใจ หรือตามใจ และไม่ใช่กลัวว่าเด็กจะลำบากแล้วเลยไปทำแทนเสียหมด
ในสี่ข้อนี้ ข้อสุดท้ายสำคัญและทำได้ยากที่สุด เพราะสามข้อแรก มองดูและปฏิบัติต่อตัวคน คือเด็กอย่างเดียว แต่ข้อที่สี่ ต้องมองดูคนโดยเอาธรรมเข้ามาวัด คือต้องเอาความถูกต้องชอบธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสินอีกชั้นหนึ่ง และเพราะฉะนั้น จึงต้องใช้ปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาก็อุเบกขาไม่เป็น กลายเป็นเฉยโง่ เลยกลายเป็นโทษไป แต่ถึงจะยากก็ต้องพยายามใช้ เพราะเด็กจะรู้จักรับผิดชอบตัวเอง รู้จักช่วยตัวเอง รู้จักทำอะไรเป็น พัฒนาได้ หรือพูดง่ายๆ ว่า เด็กจะรู้จักโต ก็เพราะผู้ใหญ่รู้จักอุเบกขา ต่อยอดธรรมสามข้อต้น
อุเบกขาคือองค์ธรรมเอกที่เป็นฐานแห่งการพัฒนาตนของเด็ก คือการทำให้คนรู้จักรับผิดชอบ แต่ในเมืองไทยเรานี้ นอกจากไม่รู้จักใช้อุเบกขาแล้ว ยังแถมไปเข้าใจอุเบกขาผิดเสียอีก ไม่รู้จักว่าอุเบกขาคืออะไร ไปนึกว่าวางเฉยคือเฉยไม่รู้เรื่องและเฉยไม่เอาเรื่อง ก็เลยเฉยไม่ได้เรื่อง คือไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่ควรจะมีจะได้
ทีนี้ต่อไป คนไทยมีปัญหาอย่างหนึ่งที่เราพูดกันอยู่เสมอคือ ขาดความใฝ่รู้ อย่างที่พูดมาแล้วว่าความใฝ่รู้นั้นเป็นแหล่งที่มาของความเจริญก้าวหน้าในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ถ้าขาดความใฝ่รู้เสียแล้ว วิทยาศาสตร์จะเจริญได้อย่างไร นอกจากนั้นพอมีความใฝ่รู้ขึ้นมา ความใฝ่รู้นั้นก็กลับไปสนองรับใช้ความปรารถนาแอบแฝงข้ออื่น เช่น การหาวัตถุปรนเปรอให้พรั่งพร้อม ก็เลยเฉออกไปเสียอีก เพราะฉะนั้นเราจะต้องหันกลับมาสร้างสรรค์ความใฝ่รู้ที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น
ถ้าพิจารณาดูกันให้ดีจะเห็นว่า นักวิทยาศาสตร์ยิ่งใหญ่ที่สร้างความเจริญก้าวหน้าสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์นั้น ล้วนทำงานด้วยความใฝ่รู้อย่างบริสุทธิ์ใจทั้งสิ้น ไม่มีแม้แต่ความใฝ่รู้เพื่อจะพิชิตธรรมชาติ มีแต่ความซาบซึ้งในกฎธรรมชาติ มุ่งมั่นเพียรค้นคว้าโดยไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ใดๆ อันนี้เองแท้ๆ ที่เป็นที่มาของความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์
นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ เมื่อค้นคว้าหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไป เพื่อสนองความใฝ่รู้อย่างบริสุทธิ์ ก็จะมีความสุขในการได้ค้นพบความจริง เพราะฉะนั้นความสุขของเขาก็จึงไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอกมาสนอง ความสุขจากการได้ค้นพบความจริงคืบหน้าไปในการหาความรู้นั้น จะเห็นได้ชัดในข้อเขียนของไอน์สไตน์
ไอน์สไตน์นี้ ตามถ้อยคำที่ได้ยกมาอ้าง จะเห็นว่า เป็นผู้ที่เน้นมากเกี่ยวกับเรื่องความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาติ เน้นเรื่องสำนึกทางศาสนา เน้นเรื่องความเชื่อในกฎธรรมชาติ แต่ ไอน์สไตน์ไม่เคยพูดเลยถึงเรื่องการที่จะพิชิตธรรมชาติ เพราะเมื่อรักธรรมชาติแล้วจะไปพิชิตมันทำไม ในเมื่อไอน์สไตน์รักธรรมชาติ ไอน์สไตน์จะไปคิดพิชิตธรรมชาติได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่า นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่เองก็มีความใฝ่รู้ที่บริสุทธิ์ อย่างไรก็ตามในแง่ของพุทธศาสนาถือว่าจะต้องโยงความใฝ่รู้นั้นมาสู่การเข้าถึงความดีงามสูงสุด และการแก้ปัญหาพัฒนามนุษย์ด้วย
เมืองไทยเรามีปัญหากับเรื่องการขาดความใฝ่รู้ทั่วไปหมด เพราะฉะนั้นวงการวิทยาศาสตร์จะต้องช่วยในเรื่องนี้ ซึ่งก็จะกลายเป็นการก้าวเข้ามาสู่แดนแห่งคุณค่าและจริยธรรม คือในการสร้างความใฝ่รู้นั้น จะต้องให้มีความใฝ่รู้อย่างบริสุทธิ์ใจ แล้วเราก็จะมีความก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์อย่างแน่นอน เพราะเราไม่ค่อยมีคนใฝ่รู้ความจริงอย่างบริสุทธิ์ใจ ก็จึงเป็นเหตุให้มีคนสมัครเรียน pure science น้อย ถ้าคนมีความใฝ่รู้อย่างบริสุทธิ์ใจกันมาก ก็จะต้องมีคนเรียน pure science มากพอ และที่ควรจะทำได้อีกอย่างก็คือ เอาความใฝ่รู้อย่างบริสุทธิ์ใจนี้ไปบรรจบกับความใฝ่ปรารถนาสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์
ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือการสั่งสมลักษณะจิตใจแบบผู้ตามและผู้รับมาสนิทจนไม่รู้ตัว เมืองไทยเรานี่รับความเจริญแบบตะวันตกมาประมาณศตวรรษหนึ่ง จนกระทั่งได้เกิดความรู้สึกแบบคอยตามมองหาความเจริญของตะวันตก รอว่าตะวันตกมีอะไรก้าวหน้าทางวัตถุ ทางผลิตภัณฑ์บริโภค ทางอุตสาหกรรม และแม้แต่ทางวิชาการ เราก็รอรับคอยตามจนกระทั่งเคยชินไม่รู้ตัวเลย กลายเป็นจิตสำนึกหรือลักษณะจิตใจแบบผู้ตามและผู้รับ
การที่จะแก้ไขเรื่องนี้ จะต้องทำในทางตรงข้าม คือ
๑. เกิดความสำนึกตื่นตัวรู้ว่า โอ พลาดไปแล้ว เราจะต้องแก้ลักษณะจิตใจแบบผู้ตามและผู้รับ เปลี่ยนให้ตรงข้าม เราจะต้องเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ โดยเฉพาะจะต้องทำตนให้เป็นผู้ให้ และสามารถที่จะให้ (โดยมีอะไรที่จะให้) เมื่อเป็นผู้ให้แล้วก็จะเป็นผู้นำได้เอง บางทีอยากจะเป็นผู้นำ แต่จะไปนำเขาอย่างไร ในเมื่อไม่มีอะไรจะให้เขา สองอย่างนี้ต้องคู่กันมา คือทั้งนำและให้
บางทีเราไปคิดแค่ว่าตามกับนำ จะแก้ปัญหาที่เป็นผู้ตามโดยจะเป็นผู้นำ มันจะไปนำได้อย่างไร ก็ต้องแก้ทั้งตามและรับ เพราะตามกับรับนี่มันคู่กันมา เพราะจะรับนี่แหละก็เลยคอยตามอยู่เรื่อย ทีนี้ถ้าจะแก้ ถ้าจะเป็นผู้นำ ก็ต้องหาอะไรไปให้ ต้องมีที่จะให้ก่อน เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีทั้งความคิด วิชาการ ทั้งผลสำเร็จต่างๆ คือมีความเจริญที่จะให้แก่ผู้อื่นบ้าง ต้องสำรวจตรวจสอบภูมิปัญญาของตัวเอง ต้องสร้างตัวขึ้นมาให้มีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่น เมื่อมีอะไรที่จะให้แล้วเราก็จะเป็นผู้นำ อย่างน้อยก็นำในแดนหนึ่ง ช่องทางหนึ่ง หรือส่วนหนึ่ง ฉะนั้นจะต้องสร้างจิตสำนึกนี้ขึ้นมา คือการที่จะต้องตั้งเป้าหมายให้เด่นชัดว่า จะเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้โดยการมีสิ่งที่จะให้แก่ผู้อื่น
๒. การตามทันในเชิงความคิด ได้พูดมาแล้วว่า นักวิทยาศาสตร์ที่สร้างผลสำเร็จ ค้นพบความจริงที่สำคัญในทางวิทยาศาสตร์นั้น ในจิตใจของเขาจะเริ่มต้นด้วยการมีความหยั่งรู้เล็งเห็น เป็นความคิดล่วงหน้า การพัฒนาก้าวหน้าตลอดถึงการที่จะนำเขาจะต้องใส่ใจด้านความคิดนี้ให้มาก คือจะต้องมองเชิงความคิดด้วยว่า นักวิทยาศาสตร์ตะวันตกในระดับผู้นำที่สุดมีความคิดอย่างไร ไม่ใช่มองแต่ผลสำเร็จทางวิชาการที่ทำออกมาเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เราเป็นผู้ตามอย่างเดียว คอยตามเรื่อยไป และอาจจะตามห่างๆ ด้วย เพราะบางที text ที่ทำมาหรือตำราวิทยาศาสตร์นั้น ไม่ใช่ผู้ค้นคิดหรือค้นพบนั้นเองเป็นผู้ทำ กลายเป็นคนอื่นมาเขียนอีกต่อหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าเราคอยมองดูอยู่แต่ระดับนี้ เราจะได้แต่คอยตาม และตามไม่ทัน
อนึ่ง ตัวนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบความจริงนั้น เมื่อตอนที่เขาค้นพบความจริงได้ผลสำเร็จออกมานั้น เขาไม่ใช่คิดแค่นั้น ความคิดของเขาที่แท้จริงนั้น ยังแล่นเลยกว่านั้น ล้ำหน้าออกไปอีกและมีความคิดอะไรดีๆ อื่นๆ ประกอบกันอยู่ด้วย เราต้องตามดูว่าความคิดของเขาต่อจากเรื่องที่ค้นคิดได้นั้นไปจบตันที่ไหน หมายความว่า เขาอาจจะยังมีความคิดอะไรบางอย่างค้างอยู่ที่ยังไม่ลงตัว นอกจากนั้นเมื่อปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ตามวิธีวิทยาศาสตร์จนเป็นผลสำเร็จแล้ว เขาคิดอะไรต่อที่ยังค้างจะทำต่อไป
ความคิดย่อมมีอะไรเกินเลยออกไปกว่าเสมอ เพราะแดนความคิดย่อมล้ำเลยสิ่งที่ทำได้ เพราะฉะนั้นความคิดนี้ จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องตามให้ทัน นี่คือ การตามให้ทันเชิงความคิด วงการวิทยาศาสตร์ของเราหรือวงการทางวิชาการอะไรก็ตามจะต้องเน้นอันนี้ให้มาก คือ การตามทันในเชิงความคิด อย่างน้อยก็ต้องให้รู้เต็มที่ที่เขาคิดได้ ขณะนี้เราตอบได้ไหม แม้แต่แค่ว่าเรารู้เต็มที่ที่เขาคิดได้
๓. รู้ส่วนล้ำหน้าที่เขาคิดเลยไป ที่เขายังตอบไม่ได้เอง ที่เขาคิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ยังไม่มีเวลาพิสูจน์เช่นอาจจะสิ้นชีวิตไปเสียก่อน เป็นต้น แม้อย่างน้อยก็ควรรู้ว่าเขาคิดอย่างไรต่อผลงานของเขาเอง ผลงานของเขาเองที่ออกมา เราไม่ดูว่าเขาคิดอย่างไรด้วยซ้ำ ถ้าดูแล้วเราอาจจะได้แง่คิดอะไรเพิ่มเติมมาใช้ประโยชน์ นี้แหละเป็นทางที่จะนำไปสู่การมีอะไรที่จะให้จะนำเขา
ต่อไปอีกอย่างหนึ่งคือ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตวิทยาศาสตร์นั้น คงจะต้องมองว่า ความเป็นบัณฑิตในวิชาวิทยาศาสตร์นั้น ไม่ใช่มีความหมายแค่เพียงว่า เป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี หรือแม้แต่เป็นมหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต ได้ปริญญาโท ปริญญาเอก ในทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งหมายความว่าจบ requirements หรือข้อกำหนดที่จะได้ปริญญา พอได้ไปแล้วก็เรียกว่าเป็นบัณฑิต คือผู้จบการศึกษาสายนั้น แต่ที่จริงจะต้องมีความหมายว่า เป็นผู้จบวิชาวิทยาศาสตร์โดยเป็นบัณฑิตด้วย หมายความว่า เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และเป็นบัณฑิต หรือเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นบัณฑิต เพราะคำว่าบัณฑิตนี้มีความหมายต่างหากจากการจบวิชาเฉพาะ
วิทยาศาสตร์นั้นถือกันว่าเป็นวิชาชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน เราก็จบวิชานั้น แต่ผู้จบวิทยาศาสตร์อาจจะไม่เป็นบัณฑิตก็ได้ ในความหมายที่แท้จริงในเชิงนามธรรม หรือความหมายเดิมแท้ ความเป็นบัณฑิตก็คือ ความเป็นผู้ที่ได้พัฒนาแล้วทั้งทางกาย ทางสังคม ทางจิตใจ และทางปัญญา หรือตามภาษาพระเรียกว่า เป็นผู้ได้พัฒนาแล้วทั้งกาย ศีล จิต และปัญญา พร้อมที่จะดำเนินชีวิตที่ดีงามด้วยตนเอง และรับผิดชอบช่วยสร้างสรรค์พัฒนาสังคมได้ด้วยดี
บัณฑิตวิทยาศาสตร์ ก็คือ ผู้ที่เป็นบัณฑิต ซึ่งพร้อมที่จะดำเนินชีวิตที่ดีงามและรับผิดชอบสังคมไปด้วย โดยมีอุปกรณ์คือวิชาวิทยาศาสตร์ที่ตัวมีความรู้ชำนาญพิเศษไปใช้ปฏิบัติการ
ถ้ามีแต่ความรู้ที่จะปฏิบัติการ แต่ตัวไม่เป็นบัณฑิต ก็จะเกิดปัญหา คือไม่สามารถนำความรู้ที่จบไปใช้ หรือนำไปใช้ในทางที่ผิด ก่อให้เกิดโทษ การเป็นบัณฑิตคือ การทำตัวคนที่จะใช้อุปกรณ์ให้พร้อม ส่วนวิชาเฉพาะนั้นก็เป็นอุปกรณ์ที่จะนำไปใช้ประโยชน์
บัณฑิตทุกสาขามีสิ่งหนึ่งที่ร่วมกันคือ ความเป็นบัณฑิต เราต้องการให้ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตทุกคน จากทุกมหาวิทยาลัย จากทุกสาขาวิชา ทุกคนเป็นบัณฑิต คือเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีความพร้อมที่จะดำเนินชีวิตที่ดีงาม และรับผิดชอบสร้างสรรค์สังคม แต่บัณฑิตแต่ละคนนั้นก็มีความต่างกัน กล่าวคือ แต่ละคนมีอุปกรณ์เฉพาะตัวที่จะทำอะไรได้พิเศษกว่าคนอื่นๆ ได้แก่วิชาเฉพาะชำนาญพิเศษด้านนั้นๆ เช่น มีวิทยาศาสตร์เป็นอุปกรณ์ประจำตัว เป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง
ถ้าเราผลิตบัณฑิตในลักษณะที่กล่าวมานี้ได้ ผลจะส่งย้อนกลับมาเป็นปัจจัยเชิงวงจรในทางสังคม ให้เราพัฒนาสร้างสรรค์คนไทยที่มีความใฝ่รู้อย่างบริสุทธิ์ใจได้ด้วย เพราะวงจรนี้มาจากจุดเริ่มได้หลายทาง จะมาจากปลายก็ได้ มาจากต้นก็ได้ เนื่องจากตัวแปรด้านโน้นด้านนี้ การผลิตบัณฑิตต้องมีความมุ่งหมายหรือเป้าหมายอย่างหนึ่ง คือ การที่จะสร้างบุคคลอย่างนี้ที่เป็นบัณฑิตในความหมายที่แท้ และเมื่อบัณฑิตพวกนี้จบไปแล้ว วงจรก็จะผวนให้เขามีลูก และลูกศิษย์เป็นต้น ที่มีความใฝ่รู้บริสุทธิ์แบบที่จะพัฒนา pure science ได้ รวมความว่า นักวิทยาศาสตร์ที่เป็นบัณฑิตก็จะมีความเป็นผู้นำในสังคมไทย ที่จะนำสังคมนั้นไปสู่การพัฒนาก้าวหน้า โดยมีวิชาวิทยาศาสตร์เป็นอุปกรณ์ในการทำงานของตนเองไปพร้อม
องค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งก็คือรัฐ รัฐจะต้องเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ในฐานะที่เป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยี จะต้องส่งเสริมให้ถูกทิศทาง โดยไม่เห็นแก่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า เช่น เห็นแก่ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ได้มาทางอุตสาหกรรม จะมุ่งแต่ผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมไม่ได้
ถ้าไม่ได้สร้างวิทยาศาสตร์เป็นฐานไว้ให้ดี แล้วจะพัฒนาอุตสาหกรรมระยะยาวได้อย่างไร เพราะวิทยาศาสตร์เป็นฐานแก่เทคโนโลยี ตัวเองอยากจะเป็นนิกส์ อยากจะเจริญด้วยอุตสาหกรรม ถ้าไปมุ่งพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ก็จะต้องไปรับเทคโนโลยีสำเร็จรูปจากเขามาโดยไม่ได้เป็นผู้ผลิตสักที เป็นแต่ผู้บริโภคเทคโนโลยี ถ้าจะผลิตเทคโนโลยี ก็ต้องส่งเสริมวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ขึ้นมา แล้วต่อจากนั้น เมื่อวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เจริญก้าวหน้าขึ้นมา ก็จะเป็นฐานให้เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปด้วย
แต่ทั้งนี้เราก็คงจะต้องเข้าสู่หลักของพระพุทธศาสนาที่ว่า การพัฒนาทั้งหมดนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ คือเพื่อส่งเสริมและสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่ดีงาม เพราะปัญหาในปัจจุบันนี้ได้ฟ้องแก่มนุษยชาติแล้วว่า ถ้าเราขืนปล่อยตัวไปตามวิถีของการใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติเพื่อจะไปพิชิตธรรมชาติ และหาผลประโยชน์สร้างวัตถุมาบำรุงบำเรอตัวเรื่อยไป ธรรมชาติแวดล้อมของโลกนี้ ก็จะดำรงอยู่ไม่ไหว
ตอนนี้ก็ได้เกิดความตระหนักรู้กันขึ้นทั่วไป และพูดกันไปทั่วว่าปัญหาของโลกเวลานี้จะต้องแก้ด้วย sustainable development คือการพัฒนาแบบที่จะพากันไปรอดได้ คือโลกมนุษย์ก็อยู่ดี โลกธรรมชาติก็อยู่ได้ แต่ sustainable development นั้น จะแก้ปัญหาของโลกได้ ก็ต้องเข้าถึงการแก้ปัญหาในขั้นรากฐานนี้ด้วย ซึ่งได้บอกมาจนถึงรายละเอียดที่ว่า แม้แต่ความใฝ่รู้บริสุทธิ์อย่างเดียว ก็ยังไม่เพียงพอตามแนวทางของพุทธศาสนา จะต้องมีความใฝ่รู้เพื่อเอาความรู้นั้นมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ดังที่กล่าวมาแล้วด้วย
อาตมาได้กล่าวเรื่องนี้มามากมาย เป็นเวลายาวนานเหลือเกิน เกินเวลาไปนักหนาแล้ว ก็คิดว่าควรจะหยุดได้ เท่าที่บรรยายมานี้ก็ได้พูดไปในฐานะบุคคลที่อยู่นอกวงการวิทยาศาสตร์ มีความรู้วิทยาศาสตร์เพียงในขั้นที่ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่าเป็น layman ที่จริงตัวเองเป็นพระ แต่ในแง่ของวิชาการ เขาเรียกคนที่ไม่ได้เรียนรู้จริงในทางนั้น ซึ่งเขาถือเป็นคนนอก ว่าเป็น layman หมายความว่าเป็นเหมือนชาวบ้านในหมู่ของนักวิทยาศาสตร์ จะพูดผิดพูดถูกก็ขอประทานอภัยด้วย แต่ก็ถือตัวว่ามีหลักอยู่อย่างหนึ่งคือความหวังดีต่อกัน
พร้อมนี้ก็ขออนุโมทนาที่ท่านคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ได้ให้โอกาสนิมนต์มาพูด มาแสดงข้อคิดเห็น เหมือนกับให้มาช่วยกันมอง มาช่วยกันให้ข้อคิดเห็น เพื่อความเจริญงอกงาม ในการที่จะทำงานของเราด้วยความสุขุมรอบคอบ รอบด้านยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์เดียวกันอันเป็นการมุ่งผลสุดท้าย คือความดีงาม และประโยชน์สุขของสังคมไทย พร้อมทั้งมนุษยชาติส่วนรวม อาตมาขออนุโมทนาทุกท่าน และขอยุติการปาฐกถาครั้งนี้ไว้เพียงเท่านี้ ขอเจริญพร