พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สุดแดนวิทย์ เข้ามาจ่อแดนจิต

 

ก้าวยิ่งใหญ่สู่ความตระหนักรู้
ในขีดวิสัยของวิทยาศาสตร์

ทีนี้หัวข้อต่อไป จะพูดเรื่องขอบเขตหรือขีดจำกัดของความรู้ หรือขอบเขตของการเข้าถึงความจริงทางวิทยาศาสตร์

ขอโยงกลับไปที่พูดเมื่อกี้ ได้บอกแล้วว่า เมื่อธรรมชาติที่เป็นจุดเป้าของความรู้ต่างกัน กว้างแคบหรือครอบคลุมกว่ากัน ก็มีข้อพิจารณาตามมาหลายอย่าง เมื่อกี้นี้ได้พูดว่าทางพุทธศาสนานั้นศึกษาที่ตัวมนุษย์ เอาตัวมนุษย์เป็นแดนของการพิสูจน์ความรู้ และบอกว่าถ้ารู้ความจริงของมนุษย์หมดก็ได้ความรู้หมดจักรวาล แต่วิทยาศาสตร์เอาโลกภายนอกมาสุดแค่ชีวิตด้านวัตถุ หมายความว่าศึกษาโลกภายนอกมาจนจบแค่ตัวชีวิตที่เป็นด้านวัตถุ อย่างมากก็มาจ่อที่จุดเชื่อมกับจิต ในลักษณะที่เป็นอิทธิพลต่อกัน ซึ่งอยู่ในขอบเขตที่จำกัด

ทีนี้เมื่อกี้ก็ได้พูดว่า วิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะฟิสิกส์ ได้เจริญก้าวหน้ามามากจนเรียกได้ว่าจะสุดพรมแดนของความรู้ที่วางขอบเขตไว้แล้ว เดิมวิทยาศาสตร์ก็คิดว่าจะเข้าถึงความจริงทั้งหมดสมบูรณ์ จบสิ้นจักรวาล ด้วยการรู้โลกภายนอกนั้น ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์ทางอินทรีย์ทั้ง ๕ เพราะมีความเข้าใจตั้งแต่เดิมติดมาว่า โลกที่เป็นแดนของจิตทั้งหมดก็เกิดจากวัตถุด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าจิตเกิดจากวัตถุ เมื่อเข้าใจวัตถุถึงที่สุด ก็ย่อมรู้แจ้งแดนของจิตด้วย และก็ได้บอกแล้วว่าปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์น้อยคนจะเชื่ออย่างนั้น เพราะการรู้ความจริงทางวัตถุที่เข้าถึงอย่างแทบจบสิ้นนี้ ไม่ทำให้เข้าใจหยั่งรู้แจ้งถึงแดนแห่งจิตได้

เวลานี้ความเข้าใจเกี่ยวกับสัจจภาวะแห่งโลกวัตถุกับแดนของจิตนั้น โดยมากจะมองกันอยู่ระหว่างสองแบบว่าจะเป็นอย่างไหน โดยมี models เกี่ยวกับความจริง ๒ แดนว่า ความจริงทางด้านโลกวัตถุภายนอกกับแดนของจิตทั้งหมดนั้น

๑. เป็นสองด้านของเหรียญกลมอันเดียวกัน หมายความว่าแต่ละด้านก็เป็นอิสระจากกัน แต่มาเสริมกัน รู้ทั้งสองด้านจึงจะรู้ครบ พวกที่หนึ่งนี้ถือว่าความจริงแต่ละด้านเป็นส่วนต่างหากจากกัน เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน ต้องรู้ทางโน้นกับรู้ทางนี้มาเสริมกัน พวกนี้จะแยกว่าแดนของจิตกับแดนของวัตถุนั้นคนละแดน ต้องรู้ทั้งสองและเอาความรู้นั้นมาเสริมเติมกัน แล้วก็ประกอบกันให้สมบูรณ์

๒. เป็นวงเล็กและวงใหญ่ของวงกลมอันเดียวกัน แบบที่สองนี้เป็นการพิจารณาแดนของความรู้ในลักษณะที่มีวงกลมใหญ่อันเดียว แต่มีวงในและวงนอกซ้อนกันอยู่ วงในเป็นวงเล็กมีขีดจำกัดอยู่แค่ตัววงของมัน ส่วนวงนอกคือวงใหญ่ คลุมทั้งตัวมันเองด้วย และคลุมวงในด้วย หมาย​ความว่าแดนหนึ่งคลุมอีกแดนหนึ่ง ถ้ารู้แดนใหญ่นั้นหมดก็รู้ทั่วทั้งหมด แต่ถ้ารู้แดนในที่เป็นวงเล็ก ก็รู้แค่ขอบเขตจำกัดของตัวเอง ไม่สามารถรู้แดนนอก

ทีนี้ถ้าหากว่าความรู้ทางด้านโลกวัตถุนั้นเหมือนวงใน ถึงจะรู้จบโลกวัตถุ ก็จะรู้แค่วงใน และไม่สามารถรู้วงนอกที่ครอบคลุมถึงเรื่องจิตด้วย แต่ถ้าวงนอกเป็นวงวัตถุ เมื่อรู้วัตถุหมดก็รู้จิตที่เป็นวงในหมดด้วย แล้วอันนี้จะเป็นแบบไหน ในที่นี้จะไม่ตอบ เพราะยังเป็นเรื่องความเห็นของคนที่จะต้องมาถกเถียงกันไป

อย่างไรก็ตาม นักฟิสิกส์ใหญ่ๆ หลายท่านได้พูดทำนองว่าความรู้วิทยาศาสตร์ถึงอย่างไรก็เป็น partial คือเป็นบางส่วนอยู่ในระดับต้น ถ้าเทียบอย่างเมื่อกี้ก็คล้ายรอบในของวงกลม เพราะขึ้นกับ senses คืออินทรีย์ทั้ง ๕ ไม่ครบอินทรีย์ ๖ โดยเฉพาะจะอยู่แค่การเห็น การสัมผัสด้วยกาย และการได้ยินหรือฟัง คือ ตา หู และกายสัมผัส เมื่อพ้น senses เหล่านี้แล้วก็ไปสู่เรื่องของ symbol คือสัญลักษณ์ ได้แก่การพิสูจน์ด้วยกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเมื่อกี้นี้ได้พูดทีหนึ่งแล้วว่า Sir Arthur Eddington ก็ได้ยกเอาความจริงข้อนี้มาพูดว่า ถึงอย่างไรก็ตาม วิธีการทางวิทยาศาสตร์ก็จะไม่อาจให้เข้าถึงความจริงแท้โดยตรงได้ อาตมาขออ่านข้อความตอนนี้ของแกให้ฟัง แกบอกว่า

“We have learnt that the exploration of the external world by the methods of physical science leads not to a concrete reality but to a shadow world of symbols, . . .”1

นี้เป็นคำของ Sir Arthur Eddington เขาบอกว่า เราได้เรียนรู้แล้วว่า การสำรวจโลกภายนอกด้วยวิธีการของวิทยาศาสตร์ทางฟิสิกส์ จะไม่นำเราให้เข้าถึงสัจจภาวะหรือความจริงที่เป็นตัวแท้ได้ แต่นำให้เข้าถึงได้เพียงแค่โลกเงาๆ แห่งสัญลักษณ์เท่านั้น อันนี้เป็นความเห็นของ Eddington ที่ว่าเป็นผู้เข้าใจทฤษฎีสัมพัทธภาพสมบูรณ์และพิสูจน์ได้เป็นคนแรก

นักฟิสิกส์ใหญ่อีกท่านหนึ่ง คือ แมกซ์ แพลงค์ (Max Planck) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี ๑๙๑๘ (พ.ศ. ๒๔๖๑) และถือกันว่าเป็นบิดาแห่งทฤษฎีควอนตัมยุคใหม่ (the father of modern quan­tum theory) ก็ได้ยอมรับความจริงนี้ไว้ในทำนองเดียวกัน ด้วยถ้อยคำที่ชัดเจนยิ่งกว่านี้อีกว่า

“ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ ก็คือ พอเราคิดว่าได้ไขปัญหาพื้นฐานเสร็จแล้วเรื่องหนึ่ง ก็เจอกับความลึกลับใหม่เข้าอีกเรื่องหนึ่ง."

“. . . วิทยาศาสตร์ไม่สามารถไขความลี้ลับขั้นสุดท้ายของธรรมชาติได้ (Science cannot solve the ultimate mystery of nature.) และที่เป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่า เมื่อวิเคราะห์ลงไปจนถึงที่สุดแล้ว ตัวเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเพราะฉะนั้น จึงเป็นส่วนหนึ่งแห่งความลี้ลับที่เรากำลังพยายามจะไข”2

แล้วก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งเขียนถึงอย่างนี้ว่า

“ความก้าวหน้าที่สำคัญที่สุดของฟิสิกส์ในศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ดีเด่น มิใช่ทฤษฎีสัมพัทธภาพ มิใช่ทฤษฎีควอนตัม หรือการตัดผ่าอะตอมได้ แต่ได้แก่การตระหนักรู้ถึงความจริงที่ว่า วิทยาศาสตร์จะไม่สามารถนำมนุษย์เข้าถึงความจริงขั้นสุดท้ายได้”3

อ้าว กลายเป็นอย่างนั้นไป นี่คือความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือการมารู้ความจริงว่า ตัวเองจะไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้ จะเข้าถึงได้แต่โลกแห่งเงาที่ว่าเมื่อกี้ อันนี้ก็เป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์เอง ที่อาตมาเอามาพูดให้ฟัง

ถ้าวิทยาศาสตร์ยอมรับท่าทีที่ว่านี้ ก็ถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ มีทางออก ๒ ประการ ได้แก่ จะจำกัดขอบเขตของตน หรือจะขยายวงความรู้ของตนออกไปให้เข้าถึงความจริงทั้ง​หมดของธรรมชาติ

ถ้าพอใจจำกัดตัวอยู่ในขอบเขตเดิม วิทยาศาสตร์ก็จะเป็นวิชาชำนาญพิเศษเฉพาะอย่าง ที่ไม่สามารถให้ทราบภาพรวมความจริงที่ครอบคลุมของธรรมชาติ หรือสัจจธรรมทั้งหมดได้ แต่ถ้าต้องการเข้าถึงความจริงที่สมบูรณ์ นำมนุษย์เข้าถึงตัวสัจจภาวะทั้งหมดของธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ก็จะต้องขยายกรอบความคิดของตน โดยเปลี่ยนความหมายพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และก้าวออกนอกขอบเขตจำกัดของตนออกไป อันนี้ก็เหมือนกับเป็นทางเลือก ๒ อย่าง ที่ว่าจะเอาอย่างไหน

 

1Sir Arthur Stanley Eddington, The Nature of the Physical World (New York: Macmillan, 1929), p. 282.
2Max Planck, "The Mystery of Our Being," in Quantum Questions, ed. Ken Wilber (Boston: New Science Library, 1984), p. 153.
3Sir James Jeans, The Mysterious Universe (Cambridge University Press, 1931), p. 111.
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.