พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สู่การยอมรับคุณค่าและประสบการณ์ทางอินทรีย์ที่ ๖

ที่ควรกำหนดคุณค่าเป้าหมายในระหว่างให้ชัดก็เพราะว่า ถ้าวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์จะไม่เอาคุณค่ามันก็หนีไม่พ้น ถ้าวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ไม่กำหนดคุณค่าเอง มันก็จะตกเป็นเหยื่อของพวกอื่นเข้ามากำหนดคุณค่าให้อย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือมีพวกที่มาเติมเป้าหมายให้ว่าใฝ่ปรารถนาพิชิตธรรมชาติ และใฝ่ปรารถนาวัตถุให้พรั่งพร้อม อย่างที่เคยเป็นมา จนวิทยาศาสตร์ถูกเรียกว่ารับใช้อุตสาหกรรม ถ้ารับใช้อุตสาห­กรรมนี่มันไม่ใช่รับใช้มนุษย์ด้วยซ้ำ รับใช้มนุษย์นี่ยังสูงขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง เดี๋ยวนี้เราพูดกันว่าอุตสาหกรรมบางทีมันทำลายมนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันให้มาก ถ้าเราไม่กำหนดคุณค่าของเรา เราอาจจะตกเป็นเหยื่อของผู้อื่นอย่างที่ว่ามานั้น

นอกจากนั้น มนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่มีเจตจำนง ลักษณะของมนุษย์อย่างหนึ่งคือ มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเจตจำนง ทำให้การแสวงหาความรู้ไม่อาจปราศจากคุณค่า แต่ในเวลาเดียวกัน มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐซึ่งจะเข้าถึงความจริงและความดีงามสูงสุดด้วยการฝึกฝนพัฒนา เพราะฉะนั้นก็จึงควรมุ่งเอาความรู้เพื่อคุณค่าในแง่ของประโยชน์ในการแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์อย่างที่ว่าเมื่อกี้

ถ้าวิทยาศาสตร์ไม่มีความชัดเจนของตนเองในเรื่องคุณค่า แต่วิทยา­ศาสตร์ก็อยู่ในโลกและสังคมแห่งคุณค่า ก็จะถูกคนอื่นกำหนดทิศทาง แล้วก็จะต้องมีการน้อยใจท้อใจในการปฏิบัติกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ ในเมื่ออุตสาหกรรมเป็นพระเอกของสังคมอย่างที่เป็นอยู่หรือเป็นมา อุตสาหกรรมนี้ก็จะเข้ามามีอิทธิพลต่อวงการวิทยาศาสตร์ได้ โดยเป็นตัวกำหนดผ่านทางรัฐ เป็นนโยบายของรัฐบ้าง เป็นตัวกำหนดผ่านมาทางธุรกิจการพาณิชย์บ้าง ให้ส่งเสริมการวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านนั้นด้านนี้ เช่น นโยบายของรัฐอาจจะบอกมาว่า ถ้าเธอวิจัยเรื่องอย่างนี้ละก็ฉันจะให้เงินมาก ถ้าวงการวิทยาศาสตร์เสนอไปทางรัฐขอให้วิจัยเรื่องนี้แต่ไม่สนองประโยชน์ของอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมมีอิทธิพลอยู่ไม่เอาด้วย นักวิทยาศาสตร์ก็น้อยใจ แล้วก็เกิดท้อใจ เดี๋ยวจะเป็นอย่างนิวตัน

นิวตันก็ถูกเรื่องคุณค่านี่มาเล่นงานเรื่องการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์อย่างเหลือเกิน กล่าวคือนิวตันนี่แกคิดเรื่อง the law of gravitation มาตั้งแต่อายุดูเหมือนจะ ๒๔ หรือราวๆ นั้น ตั้งแต่หนุ่มก็แล้วกันละ ทีนี้ความคิดบางอย่างของแกนี่มันไปฝืนประเพณีของวงการวิทยาศาสตร์สมัยนั้น ซึ่งยังไม่เจริญเท่าใด พวกนักวิทยาศาสตร์รุ่นเก่าก็ตีแก ว่าแก แกก็น้อยใจ คือนิวตันนี่เป็นคนเจ้าอารมณ์ แล้วก็ขี้น้อยใจ ไม่ชอบสุงสิงกับใคร พอใครว่าอะไรหน่อย แกก็น้อยใจ แกเลยเลิก ไม่เอาละวิทยาศาสตร์ แล้วเลยไม่สนใจ ไม่ยุ่งกับวิทยาศาสตร์ แล้วก็ไม่นำความคิดนั้นออกมาเขียนด้วย เป็นเวลาถึง ๒๒ ปี

กล่าวฝ่ายนายฮัลเลย์ ที่เป็นคนค้นพบดาวหางฮัลเลย์ซึ่งนานๆ ก็โผล่มาที ฮัลเลย์นี่เห็นคุณค่าความคิดของนิวตันมาก ก็เลยไปเกลี้ยกล่อมพูดจาปลอบประโลม เร้าใจปลุกใจจนกระทั่งว่านิวตันเกิดมีกำลังใจขึ้นมา ก็เขียนหนังสือตำราเล่มสำคัญเป็นภาษาละติน ชื่อว่า Philosophiæ Naturalis Principia Mathematica

แต่พอเขียนไปได้สักสองในสาม ก็เกิดมีนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ซึ่งในระหว่าง ๒๒ ปีที่แกไม่เอากฎมาเขียนนั้นเขาก็ได้เข้าใจเรื่องของกฎ gravitation ตลอดจน calculus ที่แกคิดขึ้นมาแล้ว ทีนี้คนนั้นก็อ้างว่าฉันรู้ก่อนนิวตัน คนนี้อ้างว่าฉันรู้ gravitation ก่อน คนนี้บอกว่าฉันคิด calculus ได้ก่อน นิวตันได้ยินอย่างนั้นก็น้อยใจ จะไม่เขียนละ เขียนไปได้สองในสามเลยไม่เขียนต่อ หยุด ก็ร้อนถึงฮัลเลย์ต้องไปปลุกปลอบประโลมใจอีกตั้งพักใหญ่ จึงเขียนต่อจนจบ

อันนี้ก็แสดงถึงการที่ระบบคุณค่านี่ไปครอบงำจิตใจของนักวิทยาศาสตร์ และมีผลกระทบต่อความเจริญทางวิทยาศาสตร์ ถ้านิวตันซึ่งเป็นผู้มีสติปัญญา เป็น genius นี้ ถ้าแกมีกำลังใจ ไม่มาน้อยใจด้วยเรื่องอย่างนี้ แกอาจจะให้ความรู้ความจริงทางวิทยาศาสตร์ได้เพิ่มอีกมากมายก็ได้ แต่เพราะน้อยใจแกเลยทิ้งวิทยาศาสตร์ไปตั้งเป็นเวลานาน เรื่องก็เป็นอย่างนี้

ปัจจุบันนี้ ระบบผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมและธุรกิจเข้ามามีอิทธิพลมาก ซึ่งวิทยาศาสตร์จะต้องมีกำลังของตัวเองในระบบคุณค่า ไม่ให้ระบบคุณค่าของฝ่ายอื่นเข้ามาครอบงำได้ โดยเฉพาะในยุคธรรมชาติแวดล้อมเสียในปัจจุบันนี้ ความจริงบางอย่างที่วิทยาศาสตร์รู้ก็ไปกระทบผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมบางพวก เราจึงได้ยินว่า ในประเทศอเมริกา บางทีมีนักวิทยาศาสตร์บางพวกให้ข้อมูลที่ค้านกับนักวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์พวกอื่น เป็นทำนองว่า โอ๊ย ไม่จริงหรอก ที่ว่า greenhouse effect จะทำ​ให้โลกร้อน มีปัญหาอุณหภูมิสูงขึ้น อะไรต่างๆ นั้นไม่จริง มีนักวิทยา­ศาสตร์บางคนออกผลวิจัยมาทำนองนั้น ซึ่งต่อมาก็มีพวกบอกว่า นักวิทยาศาสตร์พวกนี้ไปถูกพวกนักอุตสาหกรรมอุด อะไรทำนองนี้ มันก็เลยกลายเป็นเรื่องของความซับซ้อน มีการหวังผลประโยชน์เข้ามาแทรกแซง ก็เลยไม่ปราศจากคุณค่า เพราะฉะนั้นอย่างน้อยทางด้านจิตใจ จริยธรรมก็เข้าไปบอกให้นักวิทยาศาสตร์มีความใฝ่รู้ต่อความจริงอย่างบริสุทธิ์ใจ อันนี้เป็นตัวพลังยิ่งใหญ่ที่จะนำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาให้

แต่ปัจจุบันนี้เราอยู่ในท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยระบบคุณค่า และเป็นคุณค่าในทางลบเสียมาก อย่างที่ว่ามาแล้ว ในยุคก่อนนี้ วิทยาศาสตร์กับอุตสาหกรรมนั้นเหมือนกับว่าแต่งงานเป็นคู่ครองอยู่ด้วยกันมา ทำให้เกิดความเจริญมากมาย เพราะอุตสาหกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ก็ช่วยให้อุตสาหกรรมเจริญ แต่ในยุคต่อไปนี้ เพราะเหตุที่ผลประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมบางอย่าง มันมาเป็นปัญหากับธรรมชาติแวดล้อม และวิทยาศาสตร์จะต้องให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก แล้วคำตอบที่บอกความจริงเหล่านี้ก็ไปกระทบผลประโยชน์ของอุตสาหกรรม มันก็จะเป็นเหตุที่อาจจะทำให้วิทยาศาสตร์ต้องแยกทางกันเดินกับอุตสาหกรรม หรือมีความขัดอกขัดใจกัน แล้วบางทีวิทยาศาสตร์อาจจะต้องหาเพื่อนใหม่ ก็อาจจะเป็นได้ คือหาเพื่อนดีๆ ที่จะช่วยสนับสนุนให้วิทยาศาสตร์ให้ความรู้ที่บริสุทธิ์แก่สังคม ซึ่งก็คือ เพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติในการแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ อย่างที่ว่ามาแล้ว

ตอนนี้วิทยาศาสตร์ก็กำลังเข้ามาจ่ออยู่กับแดนทางจิตใจ ก็จะมีคำถามว่า “วิทยาศาสตร์จะยอมรับอินทรีย์ที่หก และประสบการณ์ตรงของอินทรีย์ที่หกหรือไม่?” วิทยาศาสตร์จะพิสูจน์อารมณ์ ความคิดในสมองในจิตใจผ่านทางสารที่หลั่งออกมาจากสมอง หรือจากคลื่นสมอง โดยถือว่านั้นเป็นตัวความจริงได้ หรือว่ามันก็จะเป็นเพียงเงาของความจริงอย่างที่ว่ามาแล้ว

ขอย้ำอีกครั้งหนึ่ง เหมือนกับว่าเราเรียนรู้ก้อนหินจากเสียง “ป๋อม” ในน้ำ หรือจากคลื่นที่เกิดในน้ำเพราะก้อนหินกระทบ พอนักวิทยาศาสตร์ได้ยินเสียงก็ไปวัดกัน คำนวณกัน ได้ยินเสียง “ป๋อม” ครั้งนี้ เสียงขนาดนี้ ก้อนหินขนาดเสียงเท่านี้ ต่อไป “ป๋อม” ขนาดนั้น เสียงอย่างนั้น ก้อนหินก็จะต้องขนาดเสียงเท่านั้น ก็บอกด้วยสูตรคณิตศาสตร์ทำเป็นสมการคณิตศาสตร์ออกมา อันนั้นจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ มันจะต้องต่างกันด้วยผลพิสูจน์ครั้งก่อนกับครั้งนี้ต่างกันเท่านั้นเท่านี้ พอเสียง “ป๋อม” คราวนี้มาก็บอกได้ว่า เอ้อมันต้องต่างกะคราวก่อน ถ้าขนาดคราวก่อนเท่าโน้น คราวนี้มันต้องใหญ่กว่าเท่านั้น หรือไม่อย่างนั้นก็ไปวัดเอาคลื่น เวลาก้อนหินลงไปในน้ำแล้วมันก็มีคลื่นขึ้นมา ก็วัดคลื่นในน้ำ เพื่อจะรู้ขนาดมวลสารอะไรทำนองนี้

ในการเรียนรู้ความจริงของธรรมชาติ มันจะเป็นทำนองที่ว่ามานี้หรือเปล่า คือ เราไม่ได้จับต้องเห็นก้อนหินตัวจริงสักที เพราะฉะนั้น อาจจะเป็นได้ว่า วิทยาศาสตร์อาจจะต้องมาลองดูการสังเกตทดลองในแบบของพวกอื่นบ้าง เช่นอย่างในทางพุทธศาสนาที่ถือว่าการสังเกตทดลองจากประสบการณ์ตรงในทางจิตใจก็ถือว่าเป็นการสังเกตทดลองหาความจริงของกฎธรรมชาติเช่นเดียวกัน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.