การพัฒนาจริยธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สภาพที่ชี้บ่งถึงความต้องการของสังคมไทย

สภาพสังคม และลักษณะสังคมไทยของเรานี่เป็นอย่างไร อย่างที่ได้บอกเมื่อกี้นี้ว่า การเข้าใจลักษณะสังคมของเราหรือสภาพสังคมของเรา ก็รวมไปถึงเข้าใจความต้องการของสังคมด้วย

เริ่มแรกเราลองมาดูหน้าของสังคมไทยว่า หน้าตาของเราเป็นอย่างไร หน้าตานี้ก็บอกถึงสภาพและลักษณะ

หน้าตาของสังคมไทยนั้น แสดงออกได้สองด้าน หน้าตาด้านแรกที่เห็นชัดๆ ก็คือ สังคมของเรามีชื่ออยู่แล้วว่าเป็นสังคมที่กำลังพัฒนา นี่แหละหน้าตาด้านที่หนึ่งของสังคมไทย คือเป็นสังคมที่กำลังพัฒนา

อย่างไรก็ดี สังคมที่กำลังพัฒนาก็ไม่จำเป็นต้องมีหน้าตาเหมือนกันทีเดียว คนเราเกิดมา แม้แต่พี่น้องครอบครัวเดียวกันก็มีหน้าตาไม่เหมือนกัน เรียกชื่อว่าเป็นเด็กชายนั่น เด็กหญิงนี่ สมมติว่าเราแบ่งโลกทั้งโลกนี้เป็นประเทศพัฒนา กำลังพัฒนา และด้อยพัฒนา ครอบครัวของพวกกำลังพัฒนานี่ ก็อาจจะเป็นครอบครัวหนึ่ง เป็นสังคมที่อยู่ในประเภทเดียวกัน แต่ไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกันหรอก แต่ละสังคมที่แม้กำลังพัฒนาด้วยกัน หรือประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยกัน ก็มีลักษณะหน้าตา มีสภาพไม่เหมือนกัน เหมือนกับเด็กท้องเดียวกันหน้าตาไม่เหมือนกัน แต่จะอย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับกันไว้ก่อนว่า หน้าตาที่ไม่เหมือนกันนี่มันก็มีอะไรคล้ายๆ คลึงๆ กันอยู่บ้าง ทีนี้ เราจะพูดถึงเฉพาะหน้าตาของสังคมที่กำลังพัฒนา ที่ได้ชื่อว่าประเทศไทย

พูดอย่างกว้างๆ หน้าตาของสังคมไทยในลักษณะด้านที่หนึ่งนั้น เป็นอาการของสังคมที่กำลังพัฒนา ที่กำลังมีปัญหาต่างๆ ซึ่งจะต้องแก้ไข มีความต้องการที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้า สร้างความสมบูรณ์พูนสุข สร้างความมั่นคงทางวัตถุ เร่งรัดความเจริญทางอุตสาหกรรม ทางเทคโนโลยีที่ยังล้าหลังเขาอยู่ อันนี้เป็นลักษณะอาการอย่างหนึ่งที่ว่าเป็นสังคมที่กำลังพัฒนาและไม่ทันเขา ก็เลยจะต้องมาเร่งพัฒนาด้านเหล่านี้ขึ้นไป

ที่ทำอย่างนี้ เพราะอะไร ก็เพราะเรามองในด้านลบ เห็นว่าประเทศมีปัญหามาก เช่น ปัญหาความยากจนขาดแคลน ปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ รวมไปถึงเรื่องการขาดอาชีพ การว่างงานอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่รวมๆ กันอยู่ ปัญหาของสังคมที่กำลังพัฒนานี้พรรณนาไปได้ไม่รู้จักจบสิ้น

ลักษณะสังคมที่กำลังพัฒนา ซึ่งเป็นหน้าตาของเราด้านหนึ่งนั้น ก็คือสภาพที่มีปัญหา ดังได้พรรณนากันมาแล้วนั้นแหละ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไข แต่โดยมากเราจะมองกันไปในแง่ที่ว่า เป็นเรื่องของการที่จะทำให้เจริญทันสมัยขึ้นมา มีความพรั่งพร้อมสมบูรณ์พูนสุข และก็เพ่งไปทางอุตสาหกรรม ไปทางเทคโนโลยีอะไรพวกนั้น เป็นเรื่องที่ว่าเราล้าหลังเขา และพยายามเร่งตัวเองขึ้นไป

อันนี้นับว่าเป็นความต้องการด้านที่หนึ่ง คือความต้องการที่จะแก้ไข ที่จะกำจัดปัญหาเพื่อทำตัวเองให้พ้นไปจากความด้อยพัฒนา คือกำลังพัฒนาตัวเองขึ้นไป หรือแสดงอาการว่ากำลังพยายามทำให้พัฒนาขึ้นไป

เมื่อพัฒนาไป ถ้าทำไม่ถูกต้อง เกิดการปฏิบัติผิดพลาดในการพัฒนานี้ แทนที่จะออกผลให้การพัฒนาสำเร็จ ก็จะเกิดเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นมา

นี้คือหน้าตาด้านที่หนึ่งของสังคมไทย ได้แก่ หน้าตาของประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีลักษณะความต้องการที่จะแก้ไข ปัญหาของประเทศ ที่กำลังพัฒนา เพื่อจะให้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

ต่อไป หน้าตาด้านที่สอง ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของเรื่องเดียวกัน ก็คือ ในการที่เราจะพัฒนาตัวเองนี้ เราก็ตามหรือมองดูประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว เรามองดูว่า อ้อ! ประเทศที่เขาเจริญก้าวหน้า เขาพัฒนาแล้วเป็นอย่างไร เราก็หันไปนิยม หันไปเอาเป็นแบบอย่าง ซึ่งเราจะมองเห็นภาพว่า ประเทศไทยของเรา หรือสังคมไทย ตลอดจนคนในสังคมนี้ มีความนิยม และมองประเทศที่เจริญ หรือประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นแบบอย่าง เราเห็นประเทศไหนที่เจริญมากๆ เราก็จะเอาประเทศนั้นเป็นแบบอย่าง อย่างสังคมไทยนี้เท่าที่เป็นมาจะมองไปที่สังคมอเมริกันมาก

ลักษณะนี้ก็คือ หน้าตาด้านที่สองของสังคมไทย ได้แก่ การนิยมคอยตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ในการตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วนี่ เราตามถูกไหม ถ้าเราตามถูกเราก็ได้ความพัฒนานั้น ถ้าเราตามไม่ถูกเราก็ได้ปัญหาเพิ่มเข้ามาอีก ทั้งปัญหาในการตามอย่างผิดพลาด และปัญหาของประเทศพัฒนาที่เขามีอยู่แล้ว ซึ่งเราเอาติดเข้ามา ผสมซ้ำเข้ากับปัญหาของตัวเองที่มีอยู่เดิม

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง