การพัฒนาจริยธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

มองปัญหาจริยธรรม
โดยสัมพันธ์กับความต้องการของบุคคลและสังคม

ในการพูดนี้ ทางท่านผู้จัดดำเนินการได้พูดเกริ่นคล้ายๆ เสนอแนะว่า นอกจากจะพูดเรื่องว่าจะทำให้บุคคลมีคุณธรรมจริยธรรมได้อย่างไรแล้วก็ขอให้พูดในหัวข้อแทรกเข้ามาด้วยว่า สังคมที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร แสดงว่าท่านมองเรื่องจริยธรรมของบุคคลนี้โดยสัมพันธ์กับสังคม คือไม่ได้มองบุคคลเป็นส่วนต่างหากจากสังคม มองบุคคลในฐานะเป็นส่วนประกอบของสังคม แล้วก็มองถึงการที่จะแก้ไขปัญหาของบุคคลนี้ โดยสัมพันธ์พร้อมกันไปกับการแก้ปัญหาของสังคมด้วย จึงได้ตั้งปัญหาขึ้นมาว่า สังคมที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร

ก่อนที่เราจะทราบว่า สังคมที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร เราคงจะต้องพูดกันบ้างว่า สังคมของเราที่เป็นอยู่นี้ มันไม่พึงประสงค์อย่างไร การที่เราปรารภขึ้นมาอย่างนี้ เราคงจะมีความรู้สึกอยู่บ้าง คล้ายๆ กับว่า ขณะนี้สังคมของเราไม่ค่อยเป็นที่น่าสบายใจ ไม่เป็นที่พึงประสงค์ ก็จึงอยากจะหาสังคมที่พึงประสงค์

เพราะฉะนั้น ถ้าจะรู้ว่าสังคมที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร ก็ต้องรู้ว่าเดี๋ยวนี้สังคมของเราเป็นอย่างไร มันจึงไม่พึงประสงค์ ก็คือ ต้องรู้สภาพที่เป็นอยู่ ต้องรู้ปัญหาสังคมของเรา และลักษณะต่างๆ ของปัญหา แล้วเราจึงจะมีความเข้าใจในเรื่องนี้ได้ ตลอดกระทั่งว่า จะต้องรู้ความต้องการที่แท้จริงของสังคมของเราด้วย ทั้งนี้ เพราะว่าเราอาจจะพูดถึงสังคมที่พึงประสงค์ชนิดที่เป็นอุดมคติ แต่ก็ไม่แน่ว่าสังคมที่พึงประสงค์ที่เป็นอุดมคตินั้น เข้ากับความต้องการที่แท้จริงของสังคมของเราหรือไม่

เพราะฉะนั้น ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือว่า ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ความต้องการของสังคมนี้ได้

เมื่อรู้ความต้องการของสังคมแล้ว ก็รู้ละเอียดเข้ามา ย่อยเข้ามา ถึงความต้องการของบุคคลในสังคมอีกชั้นหนึ่ง แล้วเราก็จะมาพิจารณารายละเอียดของปัญหา โดยสัมพันธ์กับความต้องการของสังคมและความต้องการของบุคคลที่อยู่ในสังคมนั้น นี้ก็เป็นเรื่องทางจริยธรรมที่สำคัญด้วยเหมือนกัน

หมายความว่า เรื่องปัญหาทางจริยธรรมนี้ มันมาเกี่ยวข้องพัวพันกับเรื่องความต้องการของสังคม และความต้องการของบุคคลในสังคม คือ พูดในแง่หนึ่งก็คล้ายๆ จะเป็นไปในทำนองว่า สังคมของเราและบุคคลในสังคมนั้น มีความต้องการในทิศทางหนึ่ง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในการปฏิบัติเพื่อสนองความต้องการ หรือทำให้สำเร็จตามความต้องการนั้น ปฏิบัติไม่ถูก เมื่อปฏิบัติไม่ถูกต้องในการสนองความต้องการของตนเอง หรือของสังคมของตน ก็เลยเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา

ถ้าเราจับเจ้าตัวความต้องการนี้ไม่ได้ ก็เรียกว่าไม่เข้าใจตัวเอง เมื่อไม่เข้าใจตัวเอง ก็เรียกว่าศึกษาปัญหาไม่ถูกที่ จับไม่ถูกจุด ก็แก้ปัญหาไม่ได้

เป็นอันว่า เรื่องเหล่านี้โยงกันไปหมด เรื่องบุคคล เรื่องสังคม เรื่องปัญหาของสังคมที่เป็นรายละเอียด ที่ไปสัมพันธ์กับความต้องการของสังคม และทิศทางเดินของสังคมนั้น

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง