ทีนี้ อีกหัวข้อหนึ่งที่ยังคงค้างอยู่ก็คือ การฝึกฝนในทางจริยธรรมนี้ ต้องทำที่องค์ประกอบต่างๆ ให้ครบถ้วนด้วย คราวนี้ เราจึงต้องมาพูดถึงเรื่ององค์ประกอบต่างๆ ในการฝึกฝนหรือปฏิบัติการในทางจริยธรรมว่า องค์ประกอบเหล่านี้มีอะไรบ้าง
ที่จริง องค์ประกอบในการฝึกฝนทางจริยธรรม ก็คือองค์ประกอบในการศึกษานั่นเอง เพราะว่า จริยธรรมนั้น ว่าที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องของการศึกษาทั้งหมด หรือแทรกอยู่ในทุกส่วนของการศึกษา แทบจะเป็นตัวการศึกษาเลยทีเดียว
จริยะในทางพุทธศาสนานั้น แปลว่าการดำเนินชีวิต การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องนั้นคือ จริยธรรม ทีนี้ เราจะฝึกฝนคนอย่างไรให้รู้จักการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง นี้ก็เป็นจริยศึกษา องค์ประกอบต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในจริยศึกษานี้ ขอแบ่งออกเป็นสองด้าน คือ องค์ประกอบภายนอก กับองค์ประกอบภายใน
องค์ประกอบภายนอก ก็คือสิ่งที่แวดล้อมตัวบุคคลนั้นอยู่ หรือ องค์ประกอบด้านสภาพแวดล้อม ซึ่งมีทั้งฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม ทางฝ่ายรูปธรรมนั้นก็ชัดเจนอยู่แล้ว ปัญหาทั่วๆ ไป สถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม สภาพเศรษฐกิจ การเมือง เป็นต้น ที่เป็นอยู่นี้ ล้วนมีอิทธิพลต่อจริยธรรมของบุคคลทั้งสิ้น
องค์ประกอบภายนอก ที่เป็นสภาพแวดล้อม เช่น สื่อมวลชนเป็นต้นนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่า ตัวบุคคลนี้ ด้านหนึ่งก็เป็นไปตามองค์ประกอบภายนอกที่มาหล่อหลอม พูดอีกนัยหนึ่งว่า สภาพแวดล้อมนั้นมาหล่อหลอมคน สังคมมีอิทธิพลในการหล่อหลอมคนได้มาก อย่างที่เรารู้กันอยู่แล้ว
ฉะนั้น ในการแก้ปัญหาทางจริยธรรมด้านหนึ่ง ต้องแก้ที่องค์ประกอบภายนอกด้วย จะละทิ้งไม่ได้ หมายความว่า องค์ประกอบที่อยู่ภายนอกนั้น เราก็ต้องแก้ปัญหา หรือเกี่ยวข้องจัดการด้วย
อย่างไรก็ตาม การแก้ไของค์ประกอบบางอย่าง ก็อาจจะเกินวิสัยของเรา จึงต้องหาทางเชื่อมโยงร่วมมือประสานกัน เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาทางจริยธรรม จึงต้องมีการร่วมมือกันของบุคคลในสถาบันต่างๆ หรือทั้งระบบ
ที่ว่านี้รวมไปถึงบุคคลที่เป็นตัวอย่างด้วย เช่น ถ้าผู้ใหญ่ประพฤติไม่ดี ก็เป็นธรรมดาที่ว่า จะมีแนวโน้มให้เด็กประพฤติในทางที่ไม่ดีด้วย แต่ถ้าเรามีตัวอย่างในทางสังคมที่ดี ผู้ใหญ่ประพฤติดีงาม ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดอิทธิพลต่อเด็ก ในการที่จะประพฤติดีงามด้วย
เดี๋ยวนี้องค์ประกอบบางอย่าง เราแก้ไขได้ง่ายกว่า ก็ต้องรีบแก้ไข หรือบางอย่างต้องเน้น เราก็ต้องเน้นกัน เช่นสื่อมวลชนนี้ เป็นองค์ประกอบที่มีอิทธิพลมากในฝ่ายภายนอก เป็นสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เราจะต้องพยายามแก้ไข และส่งเสริมให้ถูกต้อง
พร้อมกันนั้น องค์ประกอบทางด้านสภาพแวดล้อมหรือองค์ประกอบภายนอก ทางฝ่ายรูปธรรมนี้ ก็โยงไปถึงฝ่ายนามธรรมด้วย สภาพแวดล้อมในฝ่ายนามธรรมนี้ ก็เช่นค่านิยม
ค่านิยมทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมชอบบริโภค ค่านิยมชอบโก้ หรือชอบอะไรก็ออกมาจากคน เมื่อแต่ละคนเป็นอย่างใด ก็ออกมาทางสังคมเป็นอย่างนั้น และกลายเป็นค่านิยมทางสังคม แล้วก็กลับไปมีอิทธิพลต่อคน ทำให้คนซึ่งอยากได้รับเกียรติ ได้รับความยกย่องในทางสังคม ได้รับการยอมรับจากสังคม พากันประพฤติให้สอดคล้องกับแนวลักษณะค่านิยมของสังคมนั้น
ถ้าสังคมมีค่านิยมผิดพลาด การปฏิบัติที่เป็นจริยธรรมก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้ แต่กลับจะเกิดปัญหาทางจริยธรรมขึ้น
เป็นอันว่า องค์ประกอบภายนอก มีทั้งฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งเราจะต้องแก้ไขส่งเสริม ทั้งด้านสถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม สภาพเศรษฐกิจ การเมือง และโยงมาอีกด้านหนึ่งถึงค่านิยม ซึ่งเป็นนามธรรมอย่างที่กล่าวแล้ว จะขอพูดเพียงว่าให้เราคำนึงใส่ใจ แต่จะคำนึงกันอย่างไรนั้นก็เป็นส่วนรายละเอียด จะขอข้ามไปก่อน