การพัฒนาจริยธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การศึกษาที่ถูกต้อง มองให้ตลอดสาย
พัฒนาไปให้จบกระบวน

ต่อไปก็องค์ประกอบด้านที่สอง คือ องค์ประกอบภายใน หรือ ปัจจัยภายในของตัวบุคคล องค์ประกอบภายในตัวบุคคล หรือ ปัจจัยภายใน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการศึกษาและเป็นพื้นฐานของตัวจริยธรรมนี่ จะต้องจับให้ได้ และจะต้องสร้างให้มีขึ้นในคน มิฉะนั้นแล้ว การฝึกฝนทางจริยธรรมจะสำเร็จได้ยาก ตัวปัจจัยภายในที่เป็นหลักอยู่นี่ ในที่นี้มีสามอย่าง

ประการที่หนึ่ง จิตสำนึกในการศึกษา เราให้การศึกษา แต่คนมีจิตสำนึกในการศึกษาหรือไม่ ถ้าคนไม่มีจิตสำนึกในการศึกษาแล้ว ยากที่การศึกษาจะสำเร็จผล หรือการศึกษาที่ไม่สร้างจิตสำนึกในการศึกษาก็ยากที่จะสำเร็จผลได้

จิตสำนึกในการศึกษาคืออะไร การศึกษา คืออะไรล่ะ ถ้ารู้ความหมายและเห็นคุณค่าของการศึกษาแล้วจิตสำนึกในการศึกษาก็จะตามมา

การศึกษาคืออะไร การศึกษานี้พูดกันง่ายๆ หมายถึงการฝึกฝนพัฒนาคน เราอาจจะบอกว่าพัฒนาด้านกาย พัฒนาด้านอารมณ์ พัฒนาด้านสังคม พัฒนาด้านปัญญา รวมเป็นสี่ด้าน ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเราก็มีศัพท์เรียกว่า กายภาวนา ฝึกอบรมด้านกาย ศีลภาวนา ฝึกอบรมด้านศีล (ทางสังคม ในการเป็นอยู่ร่วมกัน) จิตภาวนา ฝึกอบรมด้านอารมณ์ก็คือด้านจิต แล้วก็ปัญญาภาวนา ฝึกอบรมด้านปัญญา

การศึกษานั้น หมายถึง การฝึกฝนพัฒนาคน เพื่อให้มีความเจริญงอกงามในด้านต่างๆ แต่คนเรานี้มีจิตสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตนไหม จิตสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตัวเองจะต้องมีขึ้น เรียกว่าเป็นจิตสำนึกในการศึกษา คือต้องมีความใฝ่ที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นไป ใฝ่ที่จะพัฒนา คือต้องการให้ตนเอง มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น มีชีวิตจิตใจที่เจริญงอกงามยิ่งขึ้น

การใฝ่ศึกษาคือการใฝ่ฝึกฝนตนเอง ความสำนึกที่จะทำตัวเองให้ดีขึ้น ถ้าเขามีจิตสำนึกอันนี้ รักที่จะฝึกฝนตัวเอง ทำตัวให้ดีขึ้นแล้ว ก็จะมีความรักดี ใฝ่ดีเกิดขึ้น แล้วก็เกิดความพร้อมที่จะรับและพร้อมที่จะปฏิบัติตามหลักจริยธรรม แต่ถ้าไม่มีจิตสำนึกในการศึกษานี้เป็นตัวนำ ไม่ต้องการที่จะพัฒนาตัวเองแล้ว เขาจะไปพัฒนาตัวทำไม จะไปรับปฏิบัติข้อปฏิบัติต่างๆ ทำไม

จิตสำนึกในการศึกษา ที่ว่าเป็นความใฝ่ที่จะฝึกฝนพัฒนาตัวเอง ทำชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้นนี้ โยงไปถึงการใฝ่รู้หรือความต้องการที่จะเรียนรู้ เพราะฉะนั้น คนที่มีจิตสำนึกในการศึกษา ต้องการฝึกฝนพัฒนาตน ก็จะใฝ่เรียนรู้ และมีจิตใจที่มองอะไรด้วยความรู้สึกที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ

แต่ปัญหามีว่า คนของเรานี้มีการมองโลกด้วยความรู้สึกที่จะเรียนรู้หรือไม่ มีเจตคติหรืออะไรทำนองนี้ในทางที่จะเรียนรู้ไหม ถ้าเป็นคนที่มีจิตสำนึกในทางการศึกษา ก็จะมีลักษณะจิตใจที่มองอะไรๆ ในลักษณะของการเรียนรู้

เป็นธรรมดาว่า คนทุกคนย่อมจะมีทัศนคติ หรือท่าทีต่อสิ่งต่างๆ ถ้าเป็นคนที่ไม่มีการฝึกฝน ไม่มีการศึกษา ก็จะมีปฏิกิริยาต่อประสบการณ์ในลักษณะหนึ่ง กล่าวคือ ตามปกติจิตของคนทั่วไปที่ไม่มีการศึกษา เมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบ (ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าอารมณ์ ปัจจุบันเรียกว่าประสบการณ์) คือ มีประสบการณ์ที่เราต้องเกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามากระทบ ก็จะมีปฏิกิริยา คือ ชอบหรือชัง ภาษาพระเรียกว่า ยินดียินร้าย พออารมณ์เข้ามา ถ้าถูกใจก็ชอบทันที ถ้าไม่ถูกใจ ก็ชัง ไม่ชอบ หรือยินร้าย สภาพจิตของคนทั่วไป จะเป็นอย่างนี้เสมอ เพราะฉะนั้น คนทั่วไปจึงรับรู้ต่ออารมณ์ หรือประสบการณ์ในลักษณะของการที่ชอบหรือไม่ชอบ ยินดีหรือยินร้าย

ในการรับรู้แบบนี้ จะไม่มีการพัฒนาตัวเองเกิดขึ้น จะมีแต่ปัญหา คือถ้าเป็นเรื่องชังหรือยินร้ายก็จะโกรธ เกลียด ขัดแย้งกัน ถ้าชอบก็ไปสนับสนุนความเห็นแก่ตัว ทำให้มองแต่ในแง่ที่จะเอามาให้แก่ตัว มุ่งที่จะเอาผลประโยชน์ ทั้งยินดีและยินร้ายนี้ไม่มีการเรียนรู้ ไม่มีการฝึกฝนพัฒนาตัวเอง

แต่พอเปลี่ยนมา เป็นคนที่มีจิตสำนึกในการศึกษา การรับรู้ประสบการณ์ต่างๆ หรือท่าทีในการเกี่ยวข้องกับประสบการณ์จะเปลี่ยนไป คือจะมีลักษณะที่มองในแง่ของการเรียนรู้ว่า ได้อะไรเพื่อมาฝึกฝนพัฒนาชีวิตของตนให้ดีขึ้นบ้าง

โดยนัยนี้ การที่จะฝึกฝนพัฒนาตนจึงคลุมไปในตัวเองถึงการที่จะต้องเรียนรู้ เราจะเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมจากสิ่งที่เข้ามา ซึ่งเราได้ประสบทุกอย่าง เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้อง พบเห็นสถานการณ์อันใดก็ตามคนที่มีจิตสำนึกในการศึกษาจะได้เรียนรู้ว่า อันนี้มีอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตนบ้าง แล้วนำมาฝึกฝนพัฒนาตนเอง ปรับปรุงชีวิตของตนเองให้ดียิ่งขึ้น

จิตสำนึกในการศึกษา จะเปลี่ยนแปลงลักษณะจิตใจ และท่าทีต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมด จากลักษณะท่าทีสนองตอบต่อสิ่งแวดล้อม หรือประสบการณ์ในแบบชอบชัง มาสู่การเรียนรู้ และการเรียนรู้ก็คือ แก่นของการศึกษา ซึ่งสร้างขึ้นด้วยจิตสำนึกในการศึกษานี้ ซึ่งทำให้มองทุกอย่างเป็นการเรียนรู้

ถ้าคนเรามองทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ ไม่ว่าประสบการณ์นั้น ตามปกติจะน่ายินดีหรือไม่น่ายินดีก็ตาม ก็จะไม่เกิดปฏิกิริยาที่กระทบต่อตนเองในทางที่เป็นปัญหา คนพวกนี้จะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะได้เรียนรู้เสมอ สิ่งที่ดีมีประโยชน์ ก็ได้เรียนรู้ในแง่ดีมีประโยชน์ สิ่งที่เป็นโทษไม่ดี ก็ได้เรียนรู้ในแง่ที่ว่า อันนี้เป็นโทษอย่างไร เกิดความรู้ความเข้าใจ แทนที่จะเกิดปัญหา ก็จะเกิดปัญญา ไม่ว่าในแง่ลบที่ว่าจะไม่ทำตามอย่างนี้ หรือในแง่บวกที่จะเอามาใช้ประยุกต์ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เขาจะได้ประโยชน์ทั้งนั้น

การมองทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ นี่คือลักษณะจิตใจที่ใฝ่รู้หรือมีการศึกษา นี่เป็นการพูดอย่างสั้นๆ เราจะต้องสร้างองค์อันนี้ขึ้นมา พอสร้างอันนี้ได้ คนก็พร้อมที่จะฝึกฝนปฏิบัติในเรื่องจริยธรรมทุกอย่าง

ประการที่สอง ก็โยงมาถึงแรงจูงใจ จิตสำนึกในทางการศึกษาหรือการใฝ่เรียนรู้นี้โยงมาถึงแรงจูงใจในทางจริยธรรมด้วย แรงจูงใจทางจริยธรรมนี้ เป็นตัวส่งเสริมการพัฒนา เพราะว่า พอใฝ่เรียนรู้ ก็ต้องการเอามาฝึกฝนพัฒนาตัวเอง การที่จะพัฒนาตัวเองให้เกิดความดีงามขึ้นก็ต้องการปัญญาหรือความรู้ ตัวแรงจูงใจนี้ก็คือใฝ่ดีและใฝ่รู้ หรือใฝ่ความดีงามและใฝ่ความรู้

ความใฝ่รู้และใฝ่ดีนี้ ทางพระเรียกอย่างเดียวว่าใฝ่ธรรม แต่เดี๋ยวนี้คำว่าใฝ่ธรรมอาจจะมีความหมายเปลี่ยนแปลงไปก็ได้ ใฝ่ธรรมนี้เรียกว่า ฉันทะ คือตัวแรงจูงใจนี้เรียกว่า ฉันทะ เป็นคู่ตรงข้าม หรือเป็นปฏิปักษ์กับตัณหา คือ ถ้าเป็นคนมีลักษณะจิตใจ ที่สนองตอบต่อประสบการณ์แบบชอบชัง ก็จะมีแรงจูงใจแบบตัณหา คือแสวงหาสิ่งที่บำเรอความสุขส่วนตัว(ชอบ) พร้อมกันนั้นก็เกิดความขัดใจต่อสิ่งที่ไม่ชอบ และดิ้นรนเพื่อจะออกไปจากสิ่งที่ขัดใจ(ชัง) ปฏิกิริยาแบบนี้เรียกว่าแรงจูงใจแบบตัณหา

ทีนี้ พอมีการศึกษาขึ้นมา ท่าทีของจิตใจก็เปลี่ยนไป เลิกสนองตอบต่อประสบการณ์แบบชอบชัง เมื่อท่าทีแบบชอบชังหายไป ก็เปิดโอกาสให้การสนองตอบต่อประสบการณ์แบบการเรียนรู้เกิดขึ้น คือ เปลี่ยนมาเป็นการรับรู้ด้วยท่าทีของการเรียนรู้ ซึ่งก็จะมาด้วยกันกับแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่แสวงความรู้ ซึ่งต้องการทำชีวิตของตนให้ดีงามขึ้น เมื่อใฝ่ความดีงามและใฝ่แสวงความรู้จริง หรือใฝ่ปัญญา ก็กลายมาเป็นฉันทะ ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ตรงข้ามกับตัณหา

ในทางพระพุทธศาสนา ท่านต้องการให้สร้างแรงจูงใจที่เรียกว่า ฉันทะ นี้ขึ้นมา ซึ่งจะแก้ปัญหาเรื่อง ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่ว่ามาแล้วได้ ไม่ต้องใช้กิเลสเหล่านั้นเป็นแรงจูงใจอีกต่อไป

ถ้าคนมีฉันทะ มีความใฝ่ดี ใฝ่ต้องการให้ชีวิตพัฒนา ตลอดจนใฝ่ดีต่อสังคม ต้องการให้สังคมดีงาม ให้คนในสังคมมีความสุข อยู่ร่วมกันด้วยความเรียบร้อย มีความสงบ ต้องการให้สังคมนี้มีความสะอาด มีระเบียบวินัย ต้องการเสริมสร้างความดีงามต่างๆ ให้เกิดขึ้น ก็จะทำให้คนศึกษาเล่าเรียน และทำอาชีพการงานด้วยแรงจูงใจที่ถูกต้อง ซึ่งนำไปสู่ผลที่ดีงาม

แต่ถ้าไม่มีฉันทะ เราก็ต้องไปกระตุ้นที่กิเลส เช่นกระตุ้นมานะว่า เธอจงตั้งใจเรียนไปนะ ศึกษาต่อไปนะ จะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน หรือกระตุ้นตัณหาว่า เธอตั้งใจเรียนเพียรศึกษาเข้านะ ต่อไปจะได้มีเงินทองมากร่ำรวยเป็นเศรษฐี แรงจูงใจนั้นก็ทำให้เพียรพยายามเรียนได้เหมือนกัน

ลักษณะอาการที่ปรากฏออกมา ก็เป็นความเพียรพยามเหมือนกัน แต่คนหนึ่งเพียรพยายามด้วยตัณหามานะ ต้องการที่จะไปหาผลประโยชน์ส่วนตัว ที่จะไปเป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน ส่วนอีกคนหนึ่งเรียนด้วยแรงจูงใจคือฉันทะ เพื่อจะพัฒนาชีวิตของตนเองให้เป็นชีวิตที่ดีงาม เพื่อจะพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมที่ดีงามมีความสงบสุข ให้คนอยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสะอาด มีความเรียบร้อยอะไรต่างๆ ทั้งนี้ก็อยู่ที่ว่าเราจะใช้แรงจูงใจอย่างไหน

ถ้าจะให้เป็นแรงจูงใจในการศึกษาที่แท้จริง ซึ่งถูกต้องตามจริยธรรม ก็ต้องเปลี่ยนจากการใช้ตัณหา มานะ มาเป็นฉันทะ

ถ้าเราจับหลักนี้ไม่ถูก ไปเข้าใจเป็นว่า คนจะพัฒนาประเทศได้ต้องมีความอยากได้สิ่งบริโภคมากๆ ก็จะไปกระตุ้นตัณหาขึ้นมา แล้วก็ได้ผลคือคนจำใจทำงานเพราะเป็นเงื่อนไข เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนมาหาซื้อสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอตัวเอง ผลที่สุดเป็นอย่างไร ก็เกิดการหลีกเลี่ยงงาน และหาผลประโยชน์ทางลัดขึ้นมา เช่นด้วยการกู้หนี้ยืมสิน ชาวบ้านมีสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ทันสมัย บริโภคฟุ่มเฟือย แต่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น กลับเป็นหนี้เป็นสินมากขึ้น ประเทศชาติมีปัญหารุงรัง สังคมเสื่อมโทรมลง ความยากจนมากยิ่งขึ้น

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ถ้าสำรวจตัวเองด้วยใจเป็นกลาง เราอาจจะพบว่า สังคมไทยของเรานี้ สมัยก่อนชอบใช้แรงจูงใจแบบมานะ เป็นตัวกระตุ้นผลักดันคนให้เพียรพยายามสร้างสรรค์ ครั้นมาถึงปัจจุบันแทนที่จะเปลี่ยนจากมานะ หันไปใช้ฉันทะ ก็กลับไปใช้แรงจูงใจแบบตัณหา เป็นตัวผลักดันจะให้คนทำการพัฒนา เลยวนอยู่ในวงจรของอวิชชานั่นเอง

ประสบการณ์ที่ผ่านมา แสดงถึงการแก้ปัญหาผิดและพัฒนาพลาด เพราะไปใช้แรงจูงใจแบบตัณหาและมานะ แทนที่จะกระตุ้นฉันทะนี้ขึ้น เป็นอันว่า จะต้องเปลี่ยนจากแรงจูงใจแบบตัณหามานะ ให้มาเป็นแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่ดีที่เรียกว่าฉันทะ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง