การพัฒนาจริยธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ปัญหาจริยธรรมในสังคมไทย

ทีนี้ รายละเอียดของปัญหาในทางจริยธรรมนั้น เราสามารถพูดกันได้มากมาย อย่างที่ได้บอกเมื่อกี้นี้แล้วว่า เบื้องต้นนี้เราจะต้องเข้าใจสภาพของสังคมของเรา ต้องรู้ปัญหาที่เราประสบหรือพบก่อน แต่ก็ได้ย้ำไว้ว่า ถ้าเราจะพิจารณารายละเอียดของปัญหาเหล่านั้น เป็นเฉพาะเรื่องเฉพาะอย่างไป มันก็เลื่อนลอย เราจะต้องจับเอามาโยงกับสังคมทั้งหมด โดยสัมพันธ์กับความต้องการของสังคม เพราะว่าถ้าเราจะพูดกันแต่ในแง่ของรายละเอียดของปัญหาทางจริยธรรมของสังคมนี้ ก็เป็นเรื่องไม่รู้จักจบสิ้น

เราอาจจะพรรณนาได้ว่า สังคมของไทยเราปัจจุบันนี้มีปัญหามากมายเหลือเกิน เช่น ยกตัวอย่างว่า มีอาชญากรรมมาก อาชญากรรมอย่างง่ายที่สุดก็คือ ฆาตกรรมหรือการฆ่ากันตาย เมืองไทยนี้มีชื่อเสียงมากในเรื่องการฆ่ากันตาย มากขนาดเข้าสถิติโลก

การที่จะพูดว่า มีการฆ่ากันตายมากขนาดไหน ก็ต้องเทียบตามอัตราส่วนของประชากร เมื่อคิดตามอัตราส่วนของประชากรแล้ว ดูเหมือนว่าประเทศไทยนี้จะมีการฆ่ากันตายเป็นอันดับสองของโลก เท่าที่ได้ยินมานี้ เป็นที่น่าสงสัย เคยมีคนพูดว่า เอ! สังคมพุทธนี่ เป็นสังคมแห่งความเมตตากรุณา คนไทยส่วนใหญ่ก็นับถือพุทธศาสนา แต่ว่าทำไมสังคมไทยจึงเป็นสังคมที่ฆ่ากันตายมากเหลือเกิน เหมือนกับว่าเป็นสังคมที่มีความโหดร้ายมาก อันนี้เป็นข้อสงสัยที่ได้ตั้งขึ้น ก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา

อีกตัวอย่างหนึ่ง สังคมไทยปัจจุบันนี้เป็นสังคมที่มีความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยมาก มีลักษณะนิสัยหรือค่านิยมอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก ซึ่งพูดกันบ่อยมากเหมือนกันว่า ค่านิยมชอบบริโภค ไม่ชอบผลิต การที่ชอบบริโภคไม่ชอบผลิตนี้ก็เป็นการไปสนับสนุนนิสัยฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่แน่นอน เพราะว่าคนที่ชอบบริโภคก็ย่อมแสวงหาแต่สิ่งที่จะบริโภค ใช้จ่ายมากมาย เพื่อให้มีสิ่งที่จะบำรุงบำเรอปรนเปรอตัวให้มากที่สุด ไม่รู้จักสิ้นสุด

ทีนี้ เมื่อมุ่งมั่นไปในทางที่จะบริโภคก็ไม่ทำการผลิต เมื่อไม่ทำการผลิต การพัฒนาประเทศก็ไม่สำเร็จ เพราะว่าในการพัฒนาประเทศนี้ ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการที่จะต้องผลิต และการที่จะผลิตนั้นก็คือต้องมีการทำงาน เมื่อทำงานจึงจะเกิดผลผลิตขึ้นมาได้ เมื่อคนของเราไม่ชอบผลิต ก็ไม่ชอบทำงาน แต่ชอบบริโภค ชอบฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย แล้วก็ตามมาด้วยปัญหาอื่นๆ เช่นหนี้สินในระดับบุคคล ในระดับครอบครัว จนกระทั่งในระดับประเทศ เดี๋ยวนี้ประเทศไทยของเรา ก็เป็นประเทศที่มีหนี้สินมากมายเหลือเกิน ท่วมท้นตัวจนกระทั่งว่า ต่อไปลูกหลานจะใช้กันไหวหรือไม่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

ถ้าจะพรรณนาต่อไปอีก ก็อย่างที่ท่านรองอธิบดีพูดในตอนต้นว่า ปัญหาของเราอย่างหนึ่งก็คือว่า คนของเรานี้ไม่ค่อยจะสนใจประโยชน์ส่วนรวม ไม่ค่อยรักประเทศชาติ ความรักประเทศชาตินั้น แสดงออกมาอย่างหนึ่งก็คือ การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม แต่คนของเรายังมีความเห็นแก่ตัวมาก

นอกจากนี้ ลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่เข้ามาพัวพันก็คือว่า คนของเรานี้มีนิสัยที่ทำงานรวมกันเป็นทีมไม่ได้ ทำงานรวมกันเป็นหมู่เป็นคณะไม่ค่อยสำเร็จ ต้องทำงานเอาตัวคนเดียว การเอาเด่นเอาหน้าเป็นลักษณะที่ปรากฏชัดมาก

เรื่องที่ว่านี้ ไม่ใช่เฉพาะเป็นปัญหาที่ปรากฏออกมาภายนอกเท่านั้น แต่มันเป็นทั้งปัญหาและเป็นเหตุของปัญหาไปด้วยในตัว สิ่งที่พูดมานี้ เช่นว่าการชอบบริโภค ไม่ชอบผลิตนี่ มันเป็นทั้งปัญหาและก็เป็นทั้งตัวเหตุของปัญหา เป็นตัวเหตุซึ่งสำคัญ เช่นเดียวกับเรื่องการทำงานรวมกันเป็นทีมไม่ได้

อันนี้ก็เป็นเหตุของปัญหาต่อๆ ไป อีกมากมายหลายประการ แล้วก็สัมพันธ์โยงกันไปโยงกันมา เช่นว่า เมื่อชอบเอาดีเอาเด่นคนเดียว มันก็ไปสอดคล้องกับค่านิยมในสังคมของเราที่คนชอบโก้เก๋ ทำอะไรก็ต้องการความโก้เก๋ จะมีอะไรมีวัตถุสิ่งของไว้ ก็เพื่ออวดโก้ อวดมั่งอวดมี อวดฐานะกัน เมื่อแข่งขันกันในเรื่องการอวดโก้ มันก็ไปสนับสนุนนิสัยฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเข้ามาอีก ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เมื่อฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยมุ่งไปในทางนี้ มันก็ไปสนับสนุนค่านิยมในการบริโภค และการชอบฟุ้งเฟ้อนั้น ก็ไปสัมพันธ์กับลักษณะนิสัยชอบสนุกสนานรื่นเริง คนไทยจะมีอะไร ก็มุ่งการสนุกสนานรื่นเริง การที่ชอบสนุกสนานรื่นเริงนั้น ก็ย่อมไม่สนับสนุนให้คนทำงาน ทำให้ไม่อยากทำงาน แต่ชอบสนุก ก็ย่อมชอบบริโภค เมื่อชอบบริโภค ก็ชอบฟุ้งเฟ้อ ฯลฯ

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ปรากฏออกมาชัด ก็คือเรื่องการขาดระเบียบวินัย ซึ่งก็พูดกันมาก ขาดระเบียบวินัยตั้งแต่ในท้องถนนไปเลย ชีวิตประจำวันของเราไม่ค่อยจะมีระเบียบวินัย นอกจากนั้น การรักษาความสะอาด ก็มาสัมพันธ์กับเรื่องระเบียบวินัย เพราะเมื่อไม่มีระเบียบวินัย ชอบทิ้งๆ ขว้างๆ สิ่งของเศษขยะอะไรกันอย่างไม่เป็นที่เป็นทาง ก็ทำให้เกิดความสกปรก ลักษณะที่ขาดระเบียบวินัยนี้ก็มีทั่วไป แพร่หลายกว้างขวาง

ต่อไปก็คือการขาดความรับผิดชอบ เรื่องนี้ก็เป็นลักษณะที่พูดกันมากเหมือนกัน ว่าเด็กของเราไม่ค่อยมีความรับผิดชอบในชีวิต ในการงาน และต่อสังคม

ต่อไปอีกก็คือปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่น ซึ่งก็อาจไปสัมพันธ์กับเรื่องชอบบริโภคไม่ชอบผลิตด้วย เพราะว่าเมื่อชอบบริโภคมากก็ฟุ่มเฟือยมาก ฟุ่มเฟือยมากก็ต้องหาทรัพย์สินเงินทองมาก เมื่อไม่ได้โดยทางที่ถูกต้อง ก็ต้องได้มาในทางไม่สุจริต

สุดท้ายก็คือ ประเทศไทยปัจจุบันนี้มีอบายมุขมาก อบายมุขมาก ก็ไปสัมพันธ์กับเรื่องฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยอีกนั่นแหละ ก็รวมๆ คลุมๆ กันอยู่นี่ พันกันไปหมด ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอบายมุขแพร่หลายในด้านต่างๆ มากเหลือเกิน การติดยาเสพติดก็ระบาดทั่วไป โดยเฉพาะการที่เด็กวัยรุ่นมีปัญหาในเรื่องเหล่านี้ จะทำให้สังคมทรุดโทรมมาก

ถ้าจับเอามาพิจารณา ตามหลักทางศีลธรรม โดยเอาศีลห้าเป็นเกณฑ์วัด ก็จะเห็นว่า ประเทศไทยของเรานี่ เป็นประเทศที่ปัจจุบันขาดศีลห้ามาก จนแทบจะพูดได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ไร้ศีล ถ้าพูดออกมาอย่างนี้ก็แย่หน่อย แต่ก็เถียงเขายาก เพราะว่า ตั้งแต่ข้อที่หนึ่ง เว้นปาณาติบาต ก็บอกได้ว่าประเทศไทยฆ่ากันตายมากแทบจะที่สุดในโลก ศีลข้อเว้นปาณาก็ไปแล้ว

ในข้อปาณานี่ต้องพูดถึงสัตว์มนุษย์ก่อน คำว่าสัตว์ในภาษาบาลีมีความหมายกว้าง คือมิใช่หมายถึงเฉพาะสัตว์เดรัจฉาน ความจริงคำว่า “สัตว์” ในภาษาบาลี พอพูดขึ้นมาก็หมายถึง “มนุษย์” ก่อนอื่นเลย แล้วจึงจะไปถึงสัตว์อย่างอื่น มนุษย์เป็นสัตว์ลำดับที่หนึ่ง อันดับแรก แต่เป็นสัตว์ที่ต่อมาได้เรียกกันว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ว่ากันไปตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าประเสริฐหรือไม่ประเสริฐ เพราะไม่ค่อยจะมีศีลเสียแล้ว

เป็นอันว่า ศีลข้อที่หนึ่งก็แล้งไปแล้วจากสังคมไทย ข้อที่สอง “อทินนา” อาชญากรรมด้านที่เกี่ยวกับการลักขโมยอะไรต่างๆ ตลอดจนกระทั่งการคอร์รัปชั่น ก็แพร่หลาย ส่วนสามข้อท้าย คือ “กาเม, มุสา, สุรา” ก็ระบาดทั่วไปหมด แปลว่า ปัญหาสังคมของเรานี่พรรณนากันไปได้ไม่รู้จักจบสิ้น ถ้ามัวมาพูดเรื่องรายละเอียดปัญหาจริยธรรมก็คงไม่ต้องทำอะไรอื่น ก็ได้แต่พูดถึงปัญหากันอยู่นี่เอง

ทีนี้ ทำอย่างไรจะให้มีผลในทางปฏิบัติขึ้นมาได้ ก็อย่างที่บอกแล้วเมื่อกี้ว่า ต้องจับหลักให้ได้แล้วก็โยงเข้ามาสู่การแก้ปัญหา อันนี้จะทำให้แคบเข้ามา กล่าวคือ จะต้องมองปัญหาศีลธรรมโดยสัมพันธ์กับสภาพสังคมทั้งหมด แล้วจึงจะเห็นทางแก้ไขได้ดีขึ้น

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง