การพัฒนาจริยธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การศึกษาต้องตลอดสาย จึงจะพาคนให้พึ่งตนเองได้

ประการที่สามก็คือ ตัวที่เรียกว่าความรู้จักคิด คิดเป็น คิดแยบคาย หรือโยนิโสมนสิการ อันนี้ก็เป็นหลักสำคัญ ความรู้จักคิด หรือคิดเป็นนี่ เป็นตัวที่ช่วยคนในทุกกรณี คนที่จะพึ่งตัวเองได้ในการศึกษาที่แท้จริง จะต้องมีความรู้จักคิด หรือคิดเป็น มิฉะนั้นก็จะต้องอาศัยคนอื่นเรื่อยไป เพราะคนที่ไม่มีโยนิโสมนสิการ ไม่รู้จักคิดเอง ก็ต้องอาศัยศรัทธา ซึ่งจะต้องให้คนอื่นคอยบอกว่าจะต้องทำอะไรอย่างไร ทีนี้ถ้าขาดศรัทธาปุ๊บ ก็กลายเป็นคนเลื่อนลอยไปเลย

ตามหลักพุทธศาสนานั้น ท่านให้มีศรัทธาต่อสิ่งที่ดี เพื่อชักนำให้คิดถูกต้อง รู้จักคิด และเพื่อเชื่อมโยงให้ได้ความรู้คือปัญญา ในการที่จะได้ปัญญานั้น ตนเองต้องรู้จักคิด หรือคิดเองเป็นด้วย

การที่คิดเป็นนั้น ก็กลับไปเชื่อมโยงกับจิตสำนึกในการศึกษาและความใฝ่รู้อีก เพราะการที่จะมองสิ่งต่างๆ เป็นการเรียนรู้นั้น ก็ต้องมีความรู้จักคิด หรือคิดเป็น จะมองอะไร ก็ต้องมองเป็น คนเราจะเรียนรู้อะไรได้ก็ต้องมองเป็นคิดเป็น

คนสองคนมองเห็นประสบการณ์อันหนึ่ง หรือประสบสถานการณ์อันเดียวกัน คนหนึ่งมองไปแล้วคิดไปอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งมองแล้วคิดไปอีกอย่างหนึ่ง คนหนึ่งมองแล้วคิดไปเกิดปัญหา ก่อความยุ่งยากเดือดร้อนแก่ตนและผู้อื่น อีกคนหนึ่งมองไปแล้วได้ปัญญา เอามาใช้สร้างสรรค์ชีวิตและพัฒนาสังคมได้

เหมือนอย่างนิทานในธรรมบทที่ว่า คนใช้ของเศรษฐีไปเจอหนูตายตัวหนึ่ง เจ้าคนรับใช้คนนี้มีโยนิโสมนสิการ คิดได้ว่า หนูตัวนี้ ถ้าเอาไปทำอย่างนั้นๆ แล้วก็คงจะได้เงินขึ้นมา ปรากฏว่า คนรับใช้เศรษฐีคนนี้ แกเอาหนูตายตัวนั้นไปทำตามวิธีการที่คิดไว้ จนกระทั่งตนเองกลายเป็นเศรษฐีในที่สุด แต่อีกคนหนึ่งมามองเห็นหนูตายนี้ เป็นเพียงสิ่งที่จะเน่าเหม็น น่าเกลียด ชิงชัง มีจิตใจขุ่นมัวเศร้าหมองในตอนนั้น แล้วก็จบกัน ไม่มีโยนิโสมนสิการ มีแต่ความขุ่นเคืองขัดใจไม่สบาย

การศึกษาสอนคนให้รู้จักคิด ให้คิดเป็นในทุกสิ่งทุกอย่าง ให้คิดได้มองเห็นความหมายกว้างขวาง คิดเรื่องเดียวกันแต่ได้หลายแง่หลายมุม คิดในทางที่ให้เกิดประโยชน์ขึ้น รู้จักคิดศึกษาหาเหตุปัจจัยของสิ่งต่างๆ ของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากภาพที่มองเห็น แยกแยะออกไป สืบสาวหาเหตุปัจจัยได้ รู้ว่าความเสื่อมความเจริญที่เกิดขึ้น จนกระทั่งปรากฏผลอย่างนี้ มีเหตุปัจจัยเป็นมาอย่างไร แล้วเอาเหตุปัจจัยที่รู้นั้นไปใช้ประโยชน์ แก้ปัญหาได้ ทำการสร้างสรรค์ และจัดสรรสิ่งทั้งหลายหรือกิจการต่างๆ ได้ ความคิดอย่างนี้เรียกว่าโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีมากมายหลายอย่าง เป็นสิ่งซึ่งจะต้องฝึกฝนสร้างขึ้นในคน

โยนิโสมนสิการนี้ เมื่อใช้ในทางจริยธรรม ก็มีประโยชน์มากมาย อย่างที่ว่าไปเห็นสิ่งของอย่างเดียวกัน คนหนึ่งโกรธ คนหนึ่งสงสาร ไปเห็นคนคนหนึ่งหน้าบึ้งมา คนที่ไม่มีโยนิโสมนสิการก็คิดปรุงแต่งเอาว่า ไอ้นี่มันเป็นปฏิปักษ์ต่อเราแล้ว ก็โกรธทันที แกบึ้งได้ฉันก็บึ้งได้ โมโหกลับไปก็จบ หรือไม่ก็เกิดการขัดแย้งอาจจะเกิดปัญหารุนแรงยิ่งกว่านั้น

แต่อีกคนหนึ่งมีโยนิโสมนสิการ พิจารณาได้หลายแง่หลายมุม แง่หนึ่งก็คือ พิจารณาว่าตาคนนี้คงมีปัญหา มีอารมณ์ค้างจากบ้าน มีปัญหาครอบครัว หรือถูกพ่อแม่ดุมา เอ ไม่ได้แล้ว เราจะต้องช่วย เกิดความกรุณา เห็นคนหน้าบึ้งแล้วสงสาร จิตใจตัวเองก็ดี สบาย แจ่มใส แล้วก็แก้ปัญหาสังคมได้ด้วย นี้เรียกว่าโยนิโสมนสิการ

สามอย่างนี้ เป็นตัวแกนองค์ประกอบภายในของการศึกษาที่สำคัญ การศึกษา การปลูกฝังจริยธรรม จะต้องจับตัวแกน หรือตัวหลักเหล่านี้ให้ได้ ถ้าจับไม่ได้ การปลูกฝังจริยธรรมทำไม่ถูกเรื่อง ก็ยากที่จะสำเร็จผล

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.