การพัฒนาจริยธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ตัวอย่างที่ ๓: ปลงอนิจจังได้ สบายใจ

ทีนี้ อีกตัวอย่างหนึ่ง ของจริยธรรมที่ครบวงจร คือ คนไทยนี้มีลักษณะจิตใจอย่างหนึ่งที่ดี ซึ่งชาวต่างประเทศมาแล้วจะสังเกตเห็นได้ง่าย คือ เป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส วางใจปลงใจกับสิ่งต่างๆ ได้ง่าย เคยมีฝรั่งเข้ามาแล้ว เขามาตั้งข้อสังเกตกับอาตมาว่า งานศพในประเทศของเขานั้นเศร้าจริงๆ ฝรั่งไปงานศพแล้วเศร้าสลดหดหู่ เครียดมาก จิตใจไม่สบายเลย แต่มาถึงเมืองไทยนี่ โอ้โฮ งานศพสนุกสนาน มีลิเก ละคร หนัง และคนที่มาในงานก็สนุก หน้าตาเบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ต้องตีหน้าเศร้าอย่างฝรั่ง ฝรั่งไปงานศพแล้วเครียด ทำให้ไม่มีความสุข จะเศร้าจริงหรือเศร้าไม่จริง ก็ต้องทำเศร้าไว้ก่อน แต่คนไทยเราไม่เป็นไร ยิ้มแย้มแจ่มใสได้ เขาก็เลยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องแปลก

ไม่เฉพาะเรื่องนี้ แม้ในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป คนไทยของเราก็มีลักษณะจิตใจที่ร่าเริงเบิกบาน หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ยึดติดถือมั่นอะไรมากมาย มีความสุขได้ง่าย

การที่เป็นเช่นนี้ก็มาจากหลักธรรมข้อหนึ่ง คือ “อนิจจัง” คนไทยนี้สอนกันให้รู้จักอนิจจัง ให้รู้เท่าทันคติธรรมดา มองเห็นความไม่เที่ยงแท้ของสิ่งทั้งหลาย เมื่อเกิดความพินาศแตกสลาย ความพลัดพรากจากกัน เป็นต้น ก็ทำใจได้ง่าย สามารถปลงใจได้ว่านี้เป็นอนิจจัง เป็นธรรมดาของสังขารทั้งหลาย ที่มีความไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป คนไทยเราพอรู้เท่าทันแล้วก็ปลงอนิจจัง เมื่อปลงอนิจจังได้ก็มีความสุขอย่างหนึ่ง จิตใจก็สบาย อย่างน้อยก็สร่างโศก คลายเศร้า หายทุกข์หรือทุกข์น้อยลง

การปลงอนิจจังได้นี้ ก็เป็นลักษณะที่ดีอย่างหนึ่ง แต่ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็อาจจะเกิดผลเสีย คือ สำหรับคนเราทั่วๆ ไป ที่เป็นมนุษย์ธรรมดานี่ การที่จะดิ้นรนขวนขวายทำอะไรต่างๆ มันมักจะต้องมาจากการที่มีอะไรบีบคั้น เช่นว่ามีทุกข์มีภัย โดยมากก็ทุกข์กับภัย เมื่อมีทุกข์หรือภัยอันตรายเกิดขึ้น ก็ต้องดิ้นรนขวนขวายพยายามต่อสู้หรือตระเตรียมการต่างๆ เพื่อจะป้องกันหรือแก้ไขตัวให้พ้นจากภัยอันตราย

บางทีภัยมาถึงตัวแล้วจึงดิ้นรนก็มี ภัยยังไม่มาก็ไม่ดิ้น เอาไว้เมื่อมีทุกข์เกิดขึ้นบีบคั้นแล้วจึงดิ้นรน เช่นจะไม่มีกินอยู่แล้ว จึงพยายามออกไปหากิน ที่จริงภัยก็ทุกข์นั่นแหละ เพราะฉะนั้น รวมแล้วทุกข์นี่แหละเป็นตัวบีบคั้นทำให้ดิ้นรน

คนธรรมดานี้ ถ้าไม่มีจริยธรรม ก็จะต้องใช้สิ่งบีบคั้นคือภัยหรือทุกข์ มาขับดันให้ดิ้นรนขวนขวายภัยอันตรายนี้รวมไปถึงความกลัวด้วย คือ การบังคับกัน ทำให้เกิดความกลัว ความกลัวต่อเจ้านาย ความกลัวต่อการเสียยศอำนาจตำแหน่งอะไรต่างๆ เป็นตัวบีบ ทำให้คนต้องดิ้นรนขวนขวายเพียรพยายามทำการต่างๆ นี่เป็นวิสัยของมนุษย์ธรรมดา ต้องถูกทุกข์ภัย เช่นความเดือดร้อน ความกลัวเข้ามาบีบคั้น แล้วจึงทำการต่างๆ

แต่ทีนี้พอมีความสุขสบาย คนเราจะเป็นอย่างไร ก็มีความโน้มเอียงไปในทางที่จะหยุดเฉยนิ่ง ไม่ต้องทำอะไร ก็สบายแล้ว จะไปทำทำไม

ทีนี้ในท่ามกลางภัยอันตรายที่ไม่รุนแรง ถ้าคนคิดปลงอนิจจังได้ว่าสิ่งทั้งหลาย ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มันก็เป็นอย่างนี้แหละ เป็นธรรมดา ก็ปลงใจได้ เสร็จแล้วสบายใจ ก็หยุดนิ่งเฉย ปล่อย แล้วแต่มันจะเป็นไป ไม่ทำอะไรเลย

เพราะเหตุนี้ คนไทยจึงถูกติเตียนอย่างหนึ่ง แล้วก็เลยลามปามต่อว่าพระพุทธศาสนาด้วยว่า พุทธศาสนานี่สอนเรื่องอนิจจัง เป็นต้น ทำให้คนไทยเป็นคนเฉื่อยชาไม่กระตือรือร้นขวนขวาย เพราะได้แต่ปลงใจว่า สิ่งทั้งหลายมันก็เป็นเช่นนี้แหละ มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน แล้วก็ปล่อยมันไปตามเรื่องของมัน ปัญหาที่ควรแก้ไขก็ไม่แก้ สิ่งที่ควรเร่งรัดจัดทำก็ไม่ทำ ปล่อยชีวิตเรื่อยเปื่อยไป ชีวิตของตนเองก็ปล่อย สังคมก็ปล่อย ปัญหาอะไรต่างๆ เกิดขึ้นก็ปล่อย สาเหตุก็คือการที่ปลงอนิจจังได้ ก็สบายเสียแล้ว ก็เลยพอใจในความสุขสบายนั้น เข้ากับธรรมดาของมนุษย์ที่ว่า สบายแล้ว ไม่ถูกทุกข์ภัยบีบคั้น ก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย ถ้าทำอย่างนี้ เรียกว่าไม่ครบวงจร

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.