การรู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ดีเพราะเป็นปัญญา ก็ดีในตัวอยู่แล้ว เป็นประการที่หนึ่ง ประการที่สอง ทำให้จิตใจสบาย ก็ดี แต่ประการที่สามทำให้อยู่นิ่งเฉยหรือเฉื่อยชา ข้อนี้ไม่ดีแล้ว จะต้องมาทำความเข้าใจกันให้ถูกต้อง
หลักการเปลี่ยนแปลง หรือความเป็นอนิจจังที่ไม่เที่ยง สอนว่าสิ่งทั้งหลายเกิดมาแล้วก็เปลี่ยนแปลงไป เกิดแล้วก็ดับ มีความเสื่อมความเจริญแล้วก็แตกสลายไปตามธรรมดาของมัน
แต่ที่ว่ามันไม่เที่ยง มีความเสื่อมความเจริญ และความเกิดความสลายไป ตามธรรมดาของมันน่ะ ธรรมดาคืออะไร ธรรมดานั้นก็คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หมายความว่า ที่ไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงไปนั้น ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงอย่างเลื่อนลอย แต่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ที่มันเสื่อมก็เสื่อมตามเหตุปัจจัย เพราะเหตุปัจจัยทำให้มันเสื่อม แล้วมันจะเจริญได้ ก็เพราะแก้ไขไม่ให้มีเหตุปัจจัยของความเสื่อม แต่ให้มีเหตุปัจจัยของความเจริญเข้ามาแทน
เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนต่อไปว่า เมื่อสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดาของเหตุปัจจัย ถ้าเราต้องการหลีกเลี่ยงความเสื่อม เราก็ต้องป้องกันแก้ไขเหตุปัจจัยของความเสื่อม ถ้าเราต้องการความเจริญ ก็ต้องสร้างเหตุปัจจัยของความเจริญขึ้นมา
โดยนัยนี้ หลักอนิจจังก็จะทำให้เราก้าวขึ้นมาสู่พัฒนาการขั้นที่สอง คือ ขั้นที่ทำการด้วยความรู้ ไม่ใช่ทำด้วยอารมณ์ คือไม่ใช่ว่า เพราะถูกทุกข์บีบคั้นแล้วฉันจึงทำ แต่ให้เปลี่ยนเป็นว่า แม้ไม่ได้ถูกทุกข์ภัย ความกลัว หรือความเดือดร้อนบีบบังคับ ก็ทำ และเป็นการทำด้วยความรู้ ความเข้าใจ คือรู้เข้าใจเหตุปัจจัย รู้ว่าเมื่อต้องการความเจริญอย่างนี้ และหลีกเลี่ยงความเสื่อมอย่างนั้น จะต้องหลีกเลี่ยงละเลิกเหตุปัจจัยอย่างนั้น จะต้องเสริมสร้างเหตุปัจจัยอย่างนี้ แล้วแก้ไขเหตุปัจจัยของความเสื่อม และสร้างเหตุปัจจัยของความเจริญขึ้นมา ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรื่องอนิจจังพร้อมไปกับความไม่ประมาท
ขอให้ดูพุทธพจน์เมื่อจะปรินิพพาน เป็นพุทธโอวาทที่เรียกว่าปัจฉิมโอวาท หรือปัจฉิมวาจา คือพระดำรัสครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ซึ่งพุทธศาสนิกชนน่าจะถือเป็นสำคัญที่สุด แต่มักจะมองข้ามไป
เมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานนั้น ได้ตรัสปัจฉิมวาจาว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” นี่พุทธพจน์สุดท้าย พุทธศาสนิกชนควรจะถือเป็นสำคัญอย่างยิ่ง การปฏิบัติตามหลักอนิจจัง มาครบวงจรที่นี่ ตามพุทธพจน์นี้ ที่มี ๒ ตอน คือ
ตอนที่หนึ่งว่า “วยธมฺมา สงฺขารา” สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา นี้คือหลักอนิจจังสอนว่า สิ่งทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ถ้าจับเอาแค่นี้ก็อาจจะสบายปลงได้ว่า เออ มันเป็นธรรมดาอย่างนั้น ก็มีความสุข
แต่พระพุทธเจ้ายังตรัสตอนที่ ๒ ต่อไปอีกว่า “อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลว่า (เพราะฉะนั้น) จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม หมายความว่าจงรีบเว้นการที่ควรเว้น และเร่งทำการที่ควรทำ ตามเหตุปัจจัย หรือท่านแปลแบบขยายความว่า จงยังประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท
เมื่อสิ่งทั้งหลายมันไม่เที่ยงแท้แน่นอน ถ้าเราประมาท เหตุปัจจัยของความเสื่อมหรือสิ่งที่เป็นโทษก็จะเข้ามาหรือได้โอกาส แล้วเราก็จะเสื่อมหรือประสบโทษ เพราะฉะนั้น เราจะต้องระมัดระวังไม่ให้เหตุปัจจัยของความเสื่อมเข้ามา
พร้อมกันนั้น เมื่อเราต้องการประโยชน์หรือความเจริญ เราก็ต้องสร้างเหตุปัจจัยของความเจริญหรือประโยชน์โดยไม่ประมาท จะปล่อยปละละเลยเพิกเฉยอยู่ไม่ได้ อยู่นิ่งไม่ได้
ความไม่ประมาท คือ ความไม่อยู่นิ่งเฉย แต่กระตือรือร้นเร่งรัดทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ควรทำ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสื่อม เพื่อสร้างสรรค์ความเจริญ
พร้อมกันกับหลักนี้ ความรู้เท่าทันและปลงใจได้ที่พูดแล้วข้างต้น ก็เข้ามาประสาน ทำให้เรากำจัดแก้ไขป้องกันความเสื่อม และสร้างสรรค์ความเจริญได้ด้วยจิตใจที่มีความสุข อย่างพร้อมกันไป นี้คือการปฏิบัติที่ครบวงจร
เมื่อมองตามหลักนี้ จะเห็นการดำเนินชีวิตของคนในโลกนี้เป็น ๓ พวก คือ
- พวกหนึ่งปลงใจได้ ก็สบาย เสื่อมก็ช่างมัน ปล่อยตามเรื่อง ก็มีความสุข แต่เสื่อม
- อีกพวกหนึ่ง ถูกภัยอันตราย ถูกความกลัวบีบคั้นจึงทำ พวกนี้ก็ทำด้วยความทุกข์ หรือเจริญแต่ทุกข์
- แต่ทางพุทธศาสนานั้น ให้ทำไปด้วย และมีความสุขด้วย เป็นพวกที่สาม ซึ่งมีการปฏิบัติที่ครบวงจร เพราะรู้อนิจจัง และปฏิบัติต่ออนิจจังในทางที่ถูกต้อง คือรู้อนิจจังตามธรรมดาสังขารแล้ว มีความไม่ประมาท
เมื่อทำให้ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติจริยธรรมในเรื่องอนิจจัง ก็ครบวงจร ถ้าจะแยกเป็นส่วนๆ ตอนๆ ก็คือ
ประการที่หนึ่ง รู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลายว่าเป็นอนิจจัง (ปัญญา)
ประการที่สอง ปลงใจได้ จิตไม่หวั่นไหว มีความสุข (จิตใจเป็นอิสระ หรือวิมุตติ)
ประการที่สาม รู้ว่าความไม่เที่ยงแล้วเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงศึกษาสืบสาวเหตุปัจจัยที่จะทำให้เสื่อม และเหตุปัจจัยที่จะทำให้เจริญ (โยนิโสมนสิการ) แล้วเร่งขวนขวาย ทำการต่างๆ ที่จะหลีกเลี่ยงละกำจัดเหตุปัจจัยของความเสื่อม และสร้างเสริมทำเหตุปัจจัยของความเจริญ (ไม่ประมาท = อัปปมาท) แก้ไขปัญหา และทำการสร้างสรรค์ให้สำเร็จ
นี่เป็นตัวอย่าง การปฏิบัติจริยธรรมต้องครบวงจร ต้องรู้ความสัมพันธ์ระหว่างข้อธรรมว่า ข้อธรรมทั้งหลายรับช่วงส่งต่อกัน ให้ข้อไหนสืบทอดไปข้อไหนๆ และนำไปสู่ผลอย่างไร เป้าหมายเป็นอย่างไร ถ้าทำอย่างนี้ไม่มีปัญหา