การพัฒนาจริยธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สร้างจริยธรรมตัวนำขึ้นข้อเดียว
จริยธรรมอื่นพ่วงมาเป็นพรวน

คราวนี้ ประการที่สอง เป็นด้านบวก เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงสาเหตุของปัญหา ซึ่งเป็นการหนักไปในด้านลบหรือด้านสิ่งที่ต้องกำจัด คราวนี้ก็ถึงด้านเสริมสร้างเป็นด้านบวก

ในด้านบวกนี้ สิ่งสำคัญคือจะต้องจับให้ถูกที่ เพราะว่า หัวข้อจริยธรรมหรือองค์ประกอบของจริยธรรมและคุณธรรมต่างๆ นั้นมีมากมายเหลือเกิน แจกแจงกันไปได้ไม่รู้จักสิ้นสุด พูดกันไม่หวาดไม่ไหว เรามักจะบอกว่า คนไทยจะต้องมีจริยธรรมข้อนั้นข้อนี้ การส่งเสริมจริยธรรมข้อนี้จะทำอย่างไร เรามักจะระบุชี้กันเป็นข้อๆ วิธีแก้ปัญหาแบบนี้ นอกจากจะไม่สัมพันธ์กับปัญหาแล้ว แม้แต่ในแง่การเสริมสร้างก็เป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง

การที่จะคิดเสริมสร้างจริยธรรมกันทีละข้อ แต่ละข้อเป็นบัญชีเหมือนอย่างรายการสินค้าว่า จริยธรรมข้อหนึ่ง เรื่องนั้น มีวิธีการที่จะส่งเสริมอย่างไร สอง จริยธรรมข้อนี้ มีวิธีการสร้างและส่งเสริมอย่างไร ว่ากันเป็นข้อๆ แล้วก็หาทางส่งเสริมกันเป็นข้อๆ นั้น เป็นการกระทำที่ผิดธรรมชาติ

ชีวิตมนุษย์นั้นเกิดจากองค์ประกอบ ที่ประสานรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสัมพันธ์โยงถึงกันหมด การพูดแยกเป็นรายข้อนั้นควรทำเพียงเพื่อความสะดวก เพราะการที่จะเข้าใจองค์รวมให้ชัดเจน ก็ต้องรู้จักองค์ประกอบทั้งหลายว่ามีอะไรบ้าง แต่ในเวลาปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาเป็นต้น จะต้องมองเห็นองค์ประกอบเหล่านั้น โยงสัมพันธ์กันเป็นอันหนึ่งอันเดียว ไม่ใช่ไปแยกเป็นรายข้อ แล้วสร้างเสริมขึ้นทีละอย่างๆ ซึ่งก็ย่อมได้ผลบ้าง แต่นิดๆ หน่อยๆ ฉาบฉวยผิวเผิน

ไม่ว่าในการแก้ปัญหา หรือในการสร้างเสริมก็เช่นเดียวกัน จะต้องจับจุดให้ถูก คือ จับจริยธรรมตัวแกนหรือจริยธรรมตัวนำของเรื่องนั้นให้ได้ เมื่อจับตัวนำหรือตัวแกนอันเดียวถูกต้องแล้ว ก็ส่งเสริมอันนั้นอันเดียว แล้วโยงทั่วไปหมด ก็จะแก้ปัญหาทีเดียวได้หลายอย่าง

เป็นอันว่า ในการแก้ปัญหาจริยธรรมนั้น จะต้องจับหาจุดประสานของมันให้ได้ คือจับตัวแกนหรือตัวนำแล้วอันอื่นก็พ่วงมาด้วย ไม่ใช่ว่ามาเองด้วยทันที แต่จะต้องรู้เข้าใจว่า ถ้าเราทำอย่างนั้น อะไรจะพ่วงมาบ้าง แล้วตั้งใจชักนำให้มันพ่วงมาด้วย

ตัวอย่างง่ายๆ สมมุติว่ามีนิสัยรักงานตัวเดียว เมื่อทำงานอะไรก็มีความรักในงานนั้น อยากจะทำพอเราอยากจะทำขึ้นมานี่ จะมีอะไรตามมาบ้าง ความขยันหมั่นเพียรจะตามมาเอง

นอกจากความขยัน ความมีระเบียบวินัยจะตามมา มีระเบียบวินัยเพราะว่าการงานนั้นมีระเบียบมีขั้นมีตอนของมัน เมื่อทำงานแล้ว การทำงานจะฝึกตัวเขาให้มีระเบียบวินัยไปเอง ระเบียบวินัยก็จะเกิดขึ้น

ความอดทนก็จะตามมาด้วย เพราะขั้นตอนของการทำงานนั้นแหละจะฝึกเขาว่า เมื่อทำขั้นนี้เสร็จแล้ว จะต้องรอถึงขั้นนั้นจึงจะทำอย่างนั้นได้ ถ้าทำอันนั้นตรงนั้นแล้วจะต้องรออีกเท่านั้นจึงจะมีผลสำเร็จ จึงเป็นการฝึกความอดทนไปด้วยพร้อมในตัวเลย

การรู้จักขั้นตอนของงาน ความฉลาดจัดเจนในการจัดการ และความตรงต่อเวลาเป็นต้น ก็ตามมาด้วย บางทีมาก่อนเวลาด้วยซ้ำ เพราะรักงาน อยากจะทำงาน ทำให้กระตือรือร้น ตั้งหน้าตั้งตาคอยจะทำงาน จะยิ่งกว่าตรงเวลาเสียอีก จะทำจนเกินเวลาด้วยซ้ำ

แม้แต่จิตใจก็มีความสบาย วิ่งแล่น ไม่ขัดไม่ขืน ไม่ฝืนใจทำ สมาธิก็เกิดขึ้น จิตใจมั่นคงเข้มแข็ง สงบ อยู่กับงาน มีความแน่วแน่ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นอันว่า สมาธิเกิดขึ้นเพราะความรักงาน แล้วทำงานไปเพราะความรักงานนั้น มีความสุขอยู่กับงาน ก็ไม่ไปวุ่นวายกับเรื่องอื่นๆ อารมณ์ที่เข้ามากระทบกระแทกก็ไม่คำนึงมากนัก มีสุขภาพจิตดี แม้แต่ปัญหาเรื่องจิตใจก็สร่างซา พลอยดีขึ้นมาหมด

ตกลงว่า ถ้าจับจุดอันเดียวได้ถูกแล้ว ฝึกในเรื่องนั้นขึ้น ตัวอื่นก็พ่วงมาด้วย คือหาตัวนำหรือแกนของจริยธรรมในเรื่องนั้นๆ ให้ได้ แล้วใช้ตัวนั้นในการฝึกให้จริยธรรมข้ออื่นพ่วงมาด้วยกัน ข้อสำคัญก็คือ จะต้องจับให้ถูกนั่นเอง นี้เป็นด้านเสริมสร้าง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.