การพัฒนาจริยธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

กิเลสใหญ่ชุดสำคัญ ที่บงการบทบาทของคน

มานะนี้เป็นกิเลสใหญ่ตามหลักพุทธศาสนา อยู่ในกลุ่มที่มีจำนวน ๓ คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

ในพระพุทธศาสนานี้ เรามักจัดอะไรๆ เป็นชุดๆ กิเลสอีกชุดหนึ่งก็คือรากเหง้าของอกุศล หรือรากเหง้าของความชั่ว ซึ่งมี ๓ เหมือนกัน คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ โลภ โกรธ หลง เรียกว่าเป็นอกุศลมูล เรามักมองกันแต่กิเลสชุดรากเหง้านี้ ไม่ค่อยมองไปถึงกิเลสชุดที่เป็นตัวกำกับบทบาทของคน ซึ่งก็มี ๓ เหมือนกัน กิเลสตัวกำกับบทบาทของคนชุดที่ว่าก็คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

๑. ตัณหา คือ ความอยาก ความเห็นแก่ตัว ความอยากจะได้ อยากจะเอาเพื่อตัว

๒. มานะ คือ ความต้องการให้ตัวเด่น อยากยิ่งใหญ่ ความสำคัญตน หรือถือตนสำคัญ

๓. ทิฏฐิ คือ ความถือรั้นในความเห็นของตน ยึดติดในความเห็น เอาความเห็นเป็นความจริง

พอเถียงกันไป เวลาหาความรู้หาความจริงก็ไปติดตัวทิฏฐิเสีย ทิฏฐิก็มากั้นความจริง ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้ เพราะแต่ละคนมาติดทิฏฐิ ยึดในทิฏฐิของตัวเองว่า ทิฏฐิของฉันจะต้องถูก เพราะฉะนั้น การแสวงหาความจริงก็เดินหน้าไปไม่ได้

ในการพากเพียรพยายาม ในการศึกษาเล่าเรียนค้นคว้าหาความรู้ของมนุษย์ และแม้แต่ในการทำงานทำการนี้ เราต้องการที่จะเข้าถึงความจริง แต่คนเราจะไปติดปัญหาก็คือว่า เมื่อค้นคว้าหาความจริงไปถึงตอนหนึ่ง มันจะมีทิฏฐิ มีความคิดเห็นของตัวเกิดขึ้น แล้วคนเราก็มักจะติดในความคิดเห็นนั้น

พอติดทิฏฐิปั๊บ และมีมานะเข้ามาหนุนอีก การค้นคว้าความจริงก็จะหยุด จะต้องให้คนอื่นยอมรับทิฏฐิความคิดเห็นของตัวเอง แล้วต่อจากนั้นไป ตัวความจริงหรือสัจจธรรมก็ไม่สำคัญเท่าทิฏฐิของฉันเสียแล้ว จะต้องให้ทิฏฐิของฉันนี้มันถูก ตัวความจริงจะเป็นอย่างไรก็ช่าง

ตอนแรกนั้นมุ่งหาความจริง แต่ตอนหลังนี่มาติดในทิฏฐิ ติดในความเห็นของตัวเอง กลายเป็นเอาทิฏฐิของตัวเองนี่ มาขัดขวางการเข้าถึงความจริงไปเลย กระบวนการค้นหาความจริงก็เลยสะดุดหยุดลงแค่นั้น

ตกลงว่า กิเลส ๓ อย่างนี้เป็นตัวกำกับบทบาทของมนุษย์ที่สำคัญมาก ทำให้มนุษย์ไม่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้ดี ไม่สามารถที่จะบรรลุถึงความสุขที่แท้จริง และไม่สามารถเข้าถึงสัจจธรรมได้ เพราะตัณหา มานะ ทิฏฐินี้ เข้ามาครอบงำกำกับบังคับบัญชาการแสดงเสีย ในทางพระท่านเรียกว่าเป็น ปปัญจธรรม แปลว่าสิ่งที่เป็นเครื่องทำให้เนิ่นช้า คือทำให้วกวนวุ่นวาย นัวเนียนุงนังอยู่กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง

ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ทั้งสามอย่างเป็นเรื่องตัวตนทั้งนั้น ตัณหา ก็เห็นแก่ตัว เอาเพื่อตัว มานะ ก็ถือตัว มุ่งให้ตัวเด่น เอาตัวเป็นสำคัญ ทิฏฐิ ก็เอาแต่ความเห็นของตัว ถือรั้น ไม่รับพิจารณาใคร ในเมื่อจะเอาแต่ตัว มุ่งผลประโยชน์ ต้องการให้ตัวเด่นเป็นสำคัญ ติดในทิฏฐิ ก็เลยไปไม่รอด แก้ปัญหาไม่สำเร็จ ติดคาวนเวียนอยู่นี่เอง

ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ๓ อย่างนี้ที่จริงสำคัญมาก คนไทยเรามักพูดเน้นกันแต่โลภะ โทสะ โมหะ ควรจะหันมาเอาใจใส่ต่อตัณหา มานะ ทิฏฐิ ให้มากขึ้น

มานะนี้ ในเมืองไทยได้ใช้ในความหมายที่เพี้ยนไปจนกระทั่งว่าดึงหรือกู่แทบไม่กลับแล้ว เวลานี้ถ้าพูดว่ามานะ คนไทยเข้าใจเป็นว่าพากเพียรพยายามหมด คู่กับอดทน แต่ที่จริงแล้วมันเป็นตัวกระตุ้นให้พากเพียรพยายามและอดทนต่างหาก

เดี๋ยวนี้เวลาเราพูดถึงเรื่องตัวตน ความเอาตัวเป็นใหญ่นี้ เราไม่พูดถึงมานะ เราต้องไปใช้คำว่า “อัตตา” แทนเสียแล้ว

ที่จริงอัตตานั้นมันเป็นเรื่องสำหรับรู้ คือ เรารู้เข้าใจว่าความจริงไม่มีตัวตน ไม่มีอัตตา เป็นอนัตตา เป็นเรื่องสำหรับรู้ ถ้าเทียบกับปรัชญาปัจจุบัน เขาแยกเป็นด้านเมตาฟิสิกซ์ หรืออภิปรัชญา กับด้านเอธิกซ์ หรือ จริยธรรม อัตตาเป็นเรื่องทางด้านเมตาฟิสิกซ์ (อภิปรัชญา) คือด้านที่แสวงหาสัจจธรรมว่า ความจริงเป็นอย่างไร

ในการศึกษาว่าความจริงเป็นอย่างไร เราจะพูดถึงเรื่อง อัตตา-อนัตตา ให้รู้ว่าความจริงนั้นไม่มีอัตตาชีวิตเกิดจากส่วนประกอบเข้ามาประชุมกัน มันเป็นอนัตตา เป็นเรื่องของความรู้ คือ รู้จักอัตตาว่า โดยแท้จริงแล้ว อัตตาไม่มี เป็นแต่อนัตตา ส่วนด้านของจริยธรรมนี่เป็นเรื่องของมานะ การถือตัวสำคัญตนต่างๆ ถือเกี่ยวกับตัวตนที่เป็นกิเลส นี้เป็นเรื่องของมานะ

ปัจจุบันนี้เราเอามานะไปใช้เพี้ยนแล้ว เราเลยต้องเอาคำว่าอัตตา ซึ่งเป็นเรื่องด้านสัจจธรรม มาใช้ในทางจริยธรรม เป็นการนำไปใช้ผิดทาง เสร็จแล้ว ก็เลยต้องยอมรับกันเลยตามเลยไป เช่นที่ชอบพูดกันว่า คนนี้อัตตาใหญ่ อัตตาแรง ที่จริงนั่นคือมานะแรง ไม่ใช่อัตตาแรง อัตตาเป็นเรื่องสำหรับรู้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของจริยธรรม อัตตาไม่มี แล้วจะมาใหญ่ มาแรงได้อย่างไร

จุดมุ่งหมายที่พูดเรื่องนี้ ก็เพื่อให้เราแก้ปัญหาจริยธรรมโดยสืบสาวหาสาเหตุ และสาเหตุที่สำคัญก็มีมาในพื้นเพของเรานี้เอง คือพื้นเพวัฒนธรรมในสังคมของเรา และลักษณะจิตใจของเรา หรือคนของเรา ซึ่งจะต้องเข้าใจตามความเป็นจริง ถ้าเราแก้ปัญหาเรื่องมานะไม่สำเร็จ การแก้ปัญหาในเรื่องที่ว่ามาเมื่อกี้ เช่นการขาดระเบียบวินัยก็แก้ยาก ถ้าเด็กรู้สึกว่าถ้าฉันฝืนระเบียบได้นี่ฉันเก่ง แล้วท่านจะไปแก้ปัญหาทำให้เด็กมีระเบียบวินัยได้อย่างไร

ในทางตรงข้าม คนอีกพวกหนึ่งเขารู้สึกอีกอย่างหนึ่ง เขารู้สึกว่า ถ้าฉันฝืนระเบียบวินัยนี่เป็นเรื่องที่น่าละอาย ทุกคนจะไม่ให้เกียรติเลย และในบางประเทศ ถ้าใครฝืนระเบียบวินัย สังคมจะประณาม คนทั่วไปจะรู้สึกดูหมิ่นเหยียดหยาม เห็นเป็นคนไม่มีเกียรติ

แต่คนไทยของเรานี่ นอกจากตัวเองจะรู้สึกโก้แล้ว สังคมยังยอมรับด้วย รู้สึกว่าเพื่อนๆ จะชื่นชมยกย่องว่า แหม หมอนี่มันเก่งจริงๆ มันแน่ มันฝืนระเบียบได้ มันไม่ต้องทำตามขั้นตอนก็ได้ มันเก่งจริง เรารู้สึกกันอย่างนั้นจริงๆ ด้วย สังคมของเราเป็นอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้ก็แก้ปัญหาระเบียบวินัยไม่ได้

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเรานิยมความโก้แล้วมีค่านิยมชอบบริโภค มันก็เป็นธรรมดา จะไปแก้ได้อย่างไร เรื่องทำงานรวมกันเป็นทีมไม่ได้ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อไม่แก้ที่มานะ มันก็แก้ไม่ได้ เพราะไม่ได้แก้ปัญหาที่ตัวสาเหตุ อันนี้เป็นด้านกำจัดหรือด้านลบ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.