ก้าวไปในบุญ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

บุญที่แท้แผ่ความสุขออกไป
ให้ความงอกงามทั้งแก่ชีวิตของเราและทั่วสังคม

ข้อที่ขยายเพิ่มขึ้นนั้น อปจายนมัย ก็ดี ไวยาวัจจมัย ก็ดี อยู่ในหมวดศีล คือ การที่มีความสุภาพ อ่อนโยน นบไหว้ ให้เกียรติแก่กัน และการช่วยเหลือรับใช้บริการ ก็เป็นเรื่องด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม จึงเป็นเรื่องของศีล จัดอยู่ในหมวดศีล

ตอนนี้เรียกว่า "สงเคราะห์" คือจัดประเภท

ต่อไป ปัตติทานมัย การให้ส่วนบุญแก่ผู้อื่น หรือให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมบุญ นี่จัดอยู่ในทาน

จะเห็นว่า ทานมีความหมายกว้าง ไม่ใช่เฉพาะให้ของเท่านั้น แต่การให้ความมีส่วนร่วมในการทำความดี หรือให้โอกาสผู้อื่นทำความดี ก็เป็นบุญ เป็นการให้ทานชนิดหนึ่งเหมือนกัน รวมทั้ง ปัตตานุโมทนา อนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำ คือให้ความร่วมใจในการที่ผู้อื่นร่วมทําความดี ก็เป็นบุญในการให้ชนิดหนึ่งเหมือนกัน จึงอยู่ในหมวดทานด้วย

ต่อไป ข้อ ๘. ธรรมสวนมัย ฟังธรรม ก็ดี ข้อ ๙. ธรรมเทศนามัย แสดงธรรมแก่ผู้อื่น ก็ดี รวมอยู่ในข้อ ๓ คือ ภาวนามัย เพราะเป็นการพัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา โดยเฉพาะปัญญา ซึ่งจะไปส่งผลแก่ข้อสุดท้ายด้วย

ข้อสุดท้าย คือ ทิฏฐุชุกรรม ท่านบอกว่าเข้ากับทุกข้อ เวลาทำบุญทุกอย่าง ให้มีทิฏฐุชุกรรมประกอบ คือมีความเห็นที่ถูกต้องด้วย มิฉะนั้นบุญของเราก็จะบกพร่อง

บกพร่องเพราะอะไร เพราะบางทีเวลาทำบุญนั้น ใจของเราซีกหนึ่งได้บุญ แต่อีกซีกหนึ่งมีโลภะเป็นต้นปนอยู่ นึกถึงบุญ แต่ใจมีความโลภดึงไว้ พะวงอยากได้ผลตอบแทนโน่นนี่ อย่างนี้ บุญก็ได้ แต่บาปก็พ่วงมาด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องระวังเหมือนกัน

แต่ถ้าเรามี ทิฏฐุชุกรรม ประกอบอยู่ คอยทำความเห็นให้ตรง ก็จะแก้ปัญหานี้ได้ คือทำบุญด้วยความเข้าใจที่ตรงชัดว่า ทานนี้ทำเพื่ออะไร เมื่อรู้เข้าใจได้ความเห็นถูกต้อง บุญของเราก็สมบูรณ์ แล้วบุญนั้นจะมีความหมายที่ครบ กาย วาจา จิต ปัญญา

กายก็ทำ ชัดอยู่แล้ว วาจาก็เปล่ง เช่น ชักชวนกัน ปรึกษากัน จิตก็สงบผ่องใส มีเจตนาประกอบด้วยศรัทธาเป็นต้น ปัญญาก็มีความรู้เข้าใจ ว่าสิ่งที่ตนทำนี้ ทำเพื่ออะไร ควรทำอย่างไร ยิ่งถ้ามองเห็นความหมาย ความมุ่งหมายที่แท้ และคุณประโยชน์ชัดเจนแล้ว ก็จะยิ่งมีจิตใจกว้างขวาง และบุญกุศลก็ยิ่งเพิ่ม

อย่างเวลาทำทานนี่ เรารู้เข้าใจมองเห็นว่า ที่เราถวายภัตตาหาร และถวายทุนการศึกษาแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์ท่านมีหน้าที่อะไร โยมลองถามตัวเอง แล้วก็มองเห็นว่า พระสงฆ์ท่านมีหน้าที่เล่าเรียนพระธรรมวินัย มีหน้าที่ที่จะปฏิบัติตามหลักธรรมวินัยที่ได้เล่าเรียนนั้น แล้วก็มีหน้าที่ที่จะเผยแพร่-สั่งสอนธรรม อ้อ..ท่านมีหน้าที่ใหญ่ ๓ อย่างนี้

การที่เราถวายปัจจัยแก่พระสงฆ์นี้ ก็เพื่อให้ท่านมีกำลังไปทำศาสนกิจ คือหน้าที่ ๓ อย่างนั้น เมื่อท่านทำหน้าที่สามอย่างนั้น ตัวท่านเองก็เจริญงอกงามในไตรสิกขาด้วย ธรรมะที่ท่านได้รู้ได้เรียนมาก็จะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนกว้างขวางออกไปด้วย

แล้วเป็นอย่างไร พระศาสนาของเราก็อยู่ได้ โดยเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชนอย่างแท้จริง การที่เราทำบุญนี้ จึงเป็นการช่วยดำรงพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคง

ถึงตอนนี้โยมก็รู้ว่า บุญของเราไม่ได้อยู่เฉพาะแค่พระองค์ที่เราถวายเท่านั้น แต่บุญไปถึงพระศาสนาทั้งหมด

เมื่อพระศาสนาอยู่ได้ ธรรมก็อยู่ได้ แล้วธรรมก็เผยแพร่ออกไป ก็เกิดเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เมื่อประชาชนได้รู้เข้าใจประพฤติปฏิบัติธรรม สังคมก็ร่มเย็นเป็นสุข

สังคมที่อยู่ได้นี่ ก็เพราะยังมีคนประพฤติปฏิบัติธรรม รู้ธรรมกันอยู่บ้าง อย่างน้อยก็ยังพอประคับประคองกันไป

เมื่อโยมนึกว่า ทานที่เราถวายนี้ ให้แก่พระองค์เดียวนี้ มีผลไปถึงพระพุทธศาสนาและประชาชนทั่วสังคมทั้งหมดด้วย

เมื่อมองด้วยความเข้าใจอย่างนี้ ใจก็ยิ่งปลอดโปร่งกว้างขวาง มีปีติอิ่มใจ นึกขึ้นมาเมื่อไร ก็ยิ่งมีความสุข นี่แหละที่เรียกว่าทิฏฐุชุกรรม เกิดจากมีปัญญาประกอบเข้ามา บุญก็ยิ่งกว้างขวาง

ยิ่งกว่านั้น ต่อไปมันจะเป็นปัจจัยให้เราเห็นทางทำบุญที่ถูกต้องยิ่งขึ้น ว่าทำบุญอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์เกิดคุณค่ากว้างขวาง โยมก็จะได้ วิไจยทาน คือทานที่เกิดจากการวิจัยขึ้นมาด้วย คือพิจารณาไตร่ตรองแล้วจึงให้ทาน

ทั้งหมดนี้ก็ขอนำมากล่าวให้โยมได้ฟัง ในเรื่องวิธีทำบุญ ซึ่งที่จริงไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมีเรื่องที่ควรทราบอีกมาก แต่เราฟังกันไปทีละน้อยๆ ก็จะเห็นแนวทางปฏิบัติในการทำบุญมากขึ้นทุกทีๆ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง