ได้บอกเมื่อกี้ว่าบุญนั้นมีมาก การทำบุญไม่ใช่เฉพาะทานเท่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้โดยสรุปอย่างสั้นที่สุดว่ามี ๓ คือ บุญกิริยาวัตถุ ๓ ได้แก่
อย่างที่พูดไว้ตอนต้นแล้ว
ทีนี้ ต่อมา พระอรรถกถาจารย์1 คงอยากจะให้ญาติโยมเห็นตัวอย่างมากๆ ท่านจึงขยายความให้กว้างออกไปอีก เพื่อเห็นช่องทางในการทำบุญเพิ่มขึ้น ท่านจึงเพิ่มเข้าไปอีก ๗ ข้อ รวมเป็น บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ซึ่งขอนำเอามาทบทวนกับญาติโยม ในฐานะที่เป็นผู้ทำบุญอยู่เสมอ ต่อจากบุญ ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา
๔. อปจายนมัย ทำบุญด้วยการให้ความเคารพ มีความอ่อนโยน สุภาพอ่อนน้อม ให้เกียรติแก่กัน เคารพยกย่องท่านผู้มีความเป็นผู้ใหญ่ ผู้สูงด้วยคุณธรรมความดี เป็นต้น หรือที่นิยมกันในสังคมของเรา เคารพกันโดยวัยวุฒิ ชาติวุฒิ และคุณวุฒิ แต่ในทางพระศาสนาถือว่า คุณวุฒิสำคัญที่สุด
อปจายนมัยนี้ก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง เพราะเป็นโน้มใจไปในทางที่จะฝึกตน และเป็นการช่วยกันรักษาสังคมนี้ ให้เราอยู่กันด้วยรู้สึกที่จะเอื้อเฟื้อ ทำให้มีความสงบร่มเย็น
ถ้าในสังคมไม่มีการให้เกียรติ ไม่มีความเคารพกัน ก็จะวุ่นวายมาก จิตใจก็จะแข็งกระด้าง โน้มไปในทางที่จะกดจะข่มกัน คอยจะก้าวร้าว กระทบกระทั่งกันเรื่อย
แต่พอเรามีความเคารพ ให้เกียรติแก่กัน มีความสุภาพอ่อนโยน จิตใจของเราก็นุ่มนวล โน้มเข้าไปในทางของการฝึกตน การเป็นอยู่ร่วมกันก็ดี บรรยากาศก็ดี งดงาม เป็นสุข บุญก็เกิดขึ้น
๕. ไวยาวัจจมัย ทำบุญด้วยการช่วยเหลือ รับใช้ บริการ คนไม่มีเงิน ก็ไม่ใช่ว่าทำบุญไม่ได้ ไวยาวัจจมัยกุศลนี้ ทำได้ทุกคน
อย่างสมัยก่อนนี้ ก็นิยมมาลงแรงช่วยกันในเวลามีงานส่วนรวม โดยเฉพาะสังคมไทยสมัยก่อน มีศูนย์กลางอยู่ที่วัด เวลามีงานวัด ชาวบ้านก็มาลงแรง ช่วยเหลือ รับใช้ ทำอะไรต่ออะไรคนละอย่างสองอย่าง ให้กิจกรรมส่วนรวมที่วัดนั้นสำเร็จด้วยดี
วันนี้ก็เป็นตัวอย่าง หลายท่านมาทำบุญด้วยไวยาวัจจมัยกุศล ชนิดพรรณนาได้ไม่มีที่สิ้นสุด คือมาช่วยเหลือรับใช้บริการ บำเพ็ญประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหารเรือ ทหารทั้งหลาย หรือว่าเด็กๆ นักเรียน ตลอดจนญาติโยมก็มาทำกันทั้งนั้น
ย้อนหลังไปก่อนวันนี้ ก็มาช่วยกันปลูกต้นไม้ มาทำความสะอาด มาทำถนน ฯลฯ ตลอดจนมาช่วยถ่ายรูปเก็บไว้ ทั้งหมดนี้ก็เป็นไวยาวัจจมัยกุศล
พูดสั้นๆ ว่ามาช่วยกัน คือเจตนาที่จะมาบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยเหลือ รับใช้ บริการ ทำกิจส่วนรวมให้สำเร็จ เป็นบุญอีกแบบหนึ่ง
๖. ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการให้ส่วนบุญ หมายความว่า ให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในบุญ หรือในการทำบุญด้วย
เวลาเราทำความดีอะไรสักอย่าง ก็ไม่หวงแหนไว้ เราเปิดโอกาสให้คนอื่นได้มีส่วนร่วมบุญ ด้วยการทำความดีด้วยกัน ทั้งผู้มาร่วม และผู้ให้โอกาส ก็ได้บุญเพิ่มทั้งสองฝ่าย
คนที่ให้เขาร่วม ตัวเองบุญก็ไม่ได้ลดลง เดี๋ยวจะนึกว่าคนอื่นมาแย่งบุญ เปล่า กลับยิ่งได้มากขึ้น
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า คนที่ทำบุญด้วยตน กับคนที่ทำบุญด้วยตนแล้วยังชวนคนอื่นมาทำด้วยนั้น คนหลังได้บุญมากกว่า เมื่อให้ส่วนร่วมแก่ผู้อื่นมาทำความดีด้วยกัน บุญกุศลก็ยิ่งเพิ่มมาก
๗. ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ คือพลอยชื่นชมยินดี หรือแสดงความยินดี ยอมรับ เห็นชอบในการทำความดี คือในการทำบุญของผู้อื่น เมื่อเขาทำบุญ ทำความดี เราก็พลอยชื่นใจอนุโมทนาด้วย
อย่างสมัยก่อนนี้ เวลาญาติโยมไปทำบุญที่วัด ก็อาจจะเดินผ่านบ้านโน้นบ้านนี้ พอเดินผ่านบ้านนี้ เห็นคนที่รู้จักกัน ก็บอกว่า ฉันไปทำบุญมานะ แบ่งบุญให้ด้วย บ้านที่ได้ฟังก็บอกว่า ขอโมทนาด้วยนะ นี่คือคติปัตตานุโมทนา
การอนุโมทนาบุญนี้ เป็นการฝึกนิสัยจิตใจ ให้เราพลอยยินดีในการทำความดีของคนอื่น ไม่ขึ้งเคียดริษยาหรือหมั่นไส้ แต่ให้มีจิตใจชื่นบานด้วยการเห็นคนอื่นทำความดี
เมื่อเราพลอยชื่นบานกับการทำความดีของคนอื่น อนุโมทนาด้วย เราก็ได้บุญด้วย นี้คือบุญที่เกิดจากการอนุโมทนา