ถึงตอนนี้ ก็เลยถือโอกาสเล่าความหมายของ “บุญ” นิดหน่อย คำว่า “บุญ” นั้นมาจากศัพท์ภาษาบาลีว่า “ปุญฺญ”
ปุญญะ นี้แปลว่าอะไรบ้าง
๑. บุญ แปลว่า ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด ใจของเรากำลังเศร้าหมอง ขุ่นมัวมา พอทำบุญ อย่างเช่นถวายทาน เพียงเริ่มตั้งใจ จิตใจของเราก็สะอาด บริสุทธิ์ผ่องใสขึ้น
การชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ก็คือ กำจัดสิ่งเศร้าหมองที่เรียกว่ากิเลสทั้งหลายออกไป
เริ่มตั้งแต่ทาน ก็กำจัดความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความมีใจคับแคบตระหนี่หวงแหน ความยึดติดลุ่มหลงในวัตถุสิ่งของ ทำให้จิตใจเป็นอิสระ พร้อมที่จะก้าวต่อขึ้นไปในคุณความดีอย่างอื่น หรือเปิดช่องให้นำเอาคุณสมบัติอื่นๆ มาใส่เพิ่มแก่ชีวิตได้ ทำให้ชีวิตจิตใจเฟื่องฟูขึ้น
คนที่ทำบุญ คือทำความดี จิตใจก็จะเฟื่องฟูขึ้นในคุณงามความดี เพิ่มพูนคุณสมบัติที่ดีๆ ให้แก่ชีวิตจิตใจของตน
บุญนั้น มีมากมาย เดี๋ยวจะพูดต่อไป ยิ่งเราทำบุญมาก เราก็เพิ่มคุณสมบัติที่ดีให้แก่ชีวิตของเรามาก
ภาษาสมัยนี้มีคำหนึ่งว่า “คุณภาพชีวิต” คนสมัยโบราณเขาไม่ต้องมีคำนี้ เพราะเขามีคำว่า “บุญ” อยู่แล้ว
คำว่า "บุญ" นี่ครอบคลุมหมด ทำบุญทีหนึ่ง ก็เพิ่มคุณสมบัติให้กับชีวิตของเราทีหนึ่ง ทั้งคุณสมบัติในกาย ในวาจา และในใจ กายของเราก็ประณีตขึ้น วาจาของเราก็ประณีตขึ้น จิตใจของเราก็ประณีตขึ้น ปัญญาของเราก็ประณีตขึ้น ดีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
๒. บุญ แปลว่า ทำให้เกิดภาวะน่าบูชา บุญนั้นทำให้น่าบูชา คนที่มีบุญก็เป็นคนที่น่าบูชา เพราะเป็นคนที่มีคุณธรรม มีความดี ถ้าไม่มีคุณความดีก็ไม่น่าบูชา
ที่ว่าบูชา ก็คือ ยกย่อง หรือเชิดชู คนที่ทำบุญทำกุศลจิตใจดีงาม มีคุณธรรมมาก ก็เป็นคนที่น่าเชิดชู น่ายกย่อง แล้วก็ทำให้เกิดผลที่น่าเชิดชูบูชาด้วย
ไปๆ มาๆ เดี๋ยวจะพูดความหมายของบุญมากไป ขอพูดเพียงเป็นตัวอย่าง ให้เห็นว่า ที่จริงศัพท์เหล่านี้มีความหมายมากหลายประการ
ความหมายอีกอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ บุญนั้นเป็นชื่อของความสุข พอทำบุญแล้ว จิตใจก็สุข เอิบอิ่ม เป็นความสุขที่ประณีตลึกซึ้ง
การทำบุญเป็นความสุขที่มีผลระยะยาว ไม่เหมือนอาหารที่รับประทาน หรือสิ่งภายนอกที่บำรุงบำเรอกาย พอผ่านไปแล้ว ก็หมด ก็หาย ความสุขก็สิ้นไป บางที พอนึกใหม่ กลายเป็นทุกข์เพราะมันไม่มีเสียแล้ว มันขาดไป ต้องหาใหม่
แต่บุญเป็นสุขที่เข้าไปถึงเนื้อตัวของจิตใจ เป็นความสุขที่เต็มอิ่ม ทำให้เกิดปีติในบุญ และเมื่อเราทำไปแล้ว มันก็ไม่หมด นึกถึงเมื่อไรก็ใจเอิบอิ่มผ่องใสเรื่อยไป เป็นความสุขที่ยั่งยืนยาวนาน
อีกประการหนึ่ง บุญ เป็นสิ่งที่พึงศึกษา พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ศึกษาบุญ
พุทธพจน์มีอยู่ชัดว่า (ขุ.อิติ.๒๕/๒๐๐/๒๔๑) “ปุญฺญเมว โส สิกฺเขยฺย” แปลว่า คนนั้น “พึงศึกษาบุญ”
คำว่า “ศึกษา” ก็คือ ให้ฝึกขึ้นมา ทำให้ได้ให้เป็น ให้ก้าวหน้า เจริญงอกงามขึ้นไปในความดีและในคุณสมบัติทั้งหลายนั่นเอง หมายความว่า บุญนี้เราต้องทำให้เพิ่มขึ้นและประณีตขึ้นเรื่อยๆ
อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า บุญเป็นคุณสมบัติ เป็นความดี ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง รวมไปถึงทางปัญญา เราต้องเพิ่มโดยฝึกขึ้นมา
เมื่อฝึกกายวาจา ฝึกจิตใจ ฝึกปัญญา ชีวิตของเราก็พัฒนาประณีตงอกงามขึ้นเรื่อย เรียกว่าเป็นการพัฒนาชีวิตหรือพัฒนาตนเอง นี่แหละ พูดสั้นๆ คําเดียวว่า “บุญ”
เพราะฉะนั้น บุญนี้ อย่าไปยุติหรือหยุดอยู่ เราต้องศึกษาบุญ มีบุญอะไร มีคุณสมบัติความดีอะไรที่เราควรจะทำเพิ่ม เพื่อให้ชีวิตของเราดีขึ้น และทำให้เกิดประโยชน์กว้างขวางออกไป ก็ก้าวต่อไป มิฉะนั้นเราจะติดอยู่ จมอยู่ หรือว่าชะงักตันอยู่กับที่เท่าเดิม
คนที่ทำบุญ ไม่ควรจะติดอยู่เท่าเดิม แต่ควรจะก้าวหน้าไปในบุญ
นี้เป็นความหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบุญ นำมาพูดพอให้เห็นแนวทาง ความจริงนั้น แต่ละอย่างยังสามารถขยายออกไปได้มาก แต่ให้เห็นเค้าว่าตั้งต้นอย่างนี้