บุญกุศลนี้ มีทางทำให้เกิดขึ้นได้มากมาย แต่ข้อสำคัญอยู่ที่จิตใจของโยมเอง แต่เมื่อเราต้องการให้จิตใจผ่องใส อะไรจะมาช่วยทำให้ผ่องใสได้ ตอนนี้เราอาศัยพระประธาน แต่พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า มีวิธีปฏิบัติหลายอย่างที่จะทำให้เกิดบุญกุศล
วันนี้จึงขอพูดเรื่องบุญนิดๆ หน่อยๆ เพราะคำว่าบุญเป็นคำสำคัญในพระพุทธศาสนา และเวลานี้ความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “บุญ” ก็แคบมาก หรือบางทีก็ถึงกับเพี้ยนไป
แง่ที่ ๑ ยกตัวอย่าง ที่ว่าบุญมีความหมายแคบลงหรือเพี้ยนไปนี่ เช่น เมื่อเราพูดว่าไปทำบุญทำทาน โยมก็นึกว่าทำบุญ คือถวายข้าวของแก่พระสงฆ์ บุญก็เลยมักจะจำกัดอยู่แค่ทาน คือการให้ แล้วก็ต้องถวายแก่พระเท่านั้นจึงเรียกว่า บุญ ถ้าไปให้แก่ชาวบ้าน เช่นให้แก่คนยากจน คนตกทุกข์ยากไร้ เราเรียกว่าให้ทาน ภาษาไทยตอนหลังนี้จึงเหมือนกับแยกกันระหว่างทำบุญกับให้ทาน ทำบุญ คือถวายแก่พระ ให้ทาน คือให้แก่คฤหัสถ์ชาวบ้าน โดยเฉพาะคนตกทุกข์ได้ยาก
เมื่อเพี้ยนไปอย่างนี้นานๆ คงต้องมาทบทวนกันดู เพราะความหมายที่เพี้ยนไปนี้กลายเป็นความหมายในภาษาไทยที่บางทียอมรับกันไปจนคิดว่าถูกต้องด้วยซํ้า แต่พอตรวจสอบด้วยหลักพระศาสนาแล้ว ก็ไม่จริง เพราะว่าทานนั้นเป็นคำกลางๆ
การถวายของแก่พระ ที่เราเรียกว่าทำบุญนั้น เมื่อว่าเป็นภาษาบาลี จะเห็นชัดว่าท่านเรียกว่าทานทั้งนั้น แม้แต่ทำบุญอย่างใหญ่ที่มีการถวายของแก่พระมากๆ เช่นถวายแก่สงฆ์ ก็เรียกว่าสังฆทาน ทำบุญทอดกฐิน ก็เรียกว่ากฐินทาน ทำบุญทอดผ้าป่าก็เป็น บังสุกุลจีวรทาน
ไม่ว่าถวายอะไรก็เป็นทานทั้งนั้น ถวายสิ่งก่อสร้างในวัด จนถวายทั้งวัด ก็เรียกเสนาสนทาน หรือวิหารทาน ทานทั้งนั้น
ในแง่นี้ จะต้องจำไว้ว่า ทานนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำบุญ เมื่อเราพูดว่าทำบุญ คือ ถวายของพระ บุญก็เลยแคบลงมาเหลือแค่ทานอย่างเดียว ลืมนึกไปว่ายังมีวิธีทำบุญอื่นๆ อีกหลายอย่าง นี้ก็เป็นแง่หนึ่งละ
แง่ที่ ๒ ก็คือความแคบในแง่ที่เมื่อคิดว่า ถ้าให้แก่คนตกทุกข์ได้ยากหรือแก่ชาวบ้านก็เป็นทานแล้ว ถ้าเข้าใจเลยไปว่า ไม่เป็นบุญ ก็จะยุ่งกันใหญ่ ที่จริง ไม่ว่าให้แก่ใครก็เป็นบุญทั้งนั้น จะต่างกันก็เพียงว่าบุญมากบุญน้อยเท่านั้นเอง
การวัดว่าบุญมากบุญน้อย เช่นในเรื่องทานนี้ ท่านมีเกณฑ์หรือมีหลักสำหรับวัดอยู่แล้วว่า
ถ้าปฏิคาหก คือผู้รับ เป็นผู้มีศีล มีคุณธรรมความดี ก็เป็นบุญมากขึ้น
ถ้าปฏิคาหกเป็นคนไม่มีศีล เช่นเป็นโจรผู้ร้าย เราก็ได้บุญน้อย เพราะดีไม่ดี ให้ไปแล้ว เขากลับอาศัยผลจากของที่เราให้ เช่นได้อาหารไปกินแล้ว ร่างกายแข็งแรง ก็ยิ่งไปทำการร้ายได้มากขึ้น กลับเกิดโทษ
วัตถุสิ่งของที่ถวาย ถ้าบริสุทธิ์ ได้มาโดยสุจริต เป็นของที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่าแก่ผู้ที่รับไป สมควรหรือเหมาะสมแก่ผู้รับนั้น เช่น ถวายจีวรแก่พระสงฆ์ แต่ให้เสื้อแก่คฤหัสถ์ เป็นต้น ก็เป็นบุญมาก
ส่วนตัวผู้ให้ ก็ต้องมีเจตนาที่เป็นบุญเป็นกุศล ตั้งใจดี ยิ่งถ้าเจตนานั้นประกอบด้วยปัญญา ก็มีคุณสมบัติดีประกอบมากขึ้น ก็ยิ่งได้บุญมาก
เป็นอันว่า การให้เป็นทานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะถวายแก่พระหรือจะให้แก่คฤหัสถ์ชาวบ้าน จึงต้องมาทบทวนความหมายกันใหม่ ว่า