ก้าวไปในบุญ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ศึกษาบุญไป ให้ปัญญาพาปุญญังถึงจุดหมาย
กลายเป็นบุญอย่างสูงสุด

พูดมายืดยาวแล้ว ควรจะจบได้ ขอย้ำข้อสุดท้ายที่ว่า ทิฏฐุชุกรรม ควรให้มีประกอบกับการทำบุญทุกครั้ง เพราะมันเข้าได้ทุกข้อ

เริ่มแต่ทำบุญข้อทาน เราก็มีทิฏฐุชุกรรม เช่น ถามตัวเองว่า เรามีความเห็นถูกต้องไหมในการทำบุญ เราเข้าใจถูกต้องไหม อย่างน้อยรู้ว่าการทำทานมีความมุ่งหมายเพื่ออะไร

พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ว่า ถ้าเราจะถวายสังฆทาน คุณค่าประโยชน์จุดมุ่งหมายของมันอยู่ที่ไหน เมื่อพิจารณาอย่างนี้

  1. ใจของเราจะกว้างสว่างสดใสขึ้น และบุญก็ได้เพิ่มขึ้น
  2. เราจะพัฒนาก้าวสูงขึ้นไป จะไม่จมติดอยู่แค่เท่าเดิม

เป็นอันว่า ทิฏฐุชุกรรม นี้ เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง วันนี้นำมาพูดเป็นเค้าไว้ให้โยมทราบว่า ต้องพยายามให้ประกอบกับการทำบุญทุกอย่าง ให้เป็นการกระทำที่มีความเข้าใจรู้เห็นถูกต้อง แล้วก็ปรับทิฐิของเราอยู่เสมอ

การที่จะปรับทิฐิได้ถูกต้อง ก็คือ ต้องเรียนรู้อยู่เสมอ ต้องฟังต้องอ่านธรรมอยู่เสมอ

ขอพูดเพิ่มอีกนิดหนึ่งสั้นๆ ว่า บุญนี้ท่านยังแบ่งอีกว่า มี ๒ ประเภท คือ โอปธิกบุญ กับ นิรูปธิบุญ หรือ อโนปธิกบุญ

โอปธิกบุญ แปลว่า บุญที่ยังมีอุปธิ ยังก่อให้เกิดขันธ์ หมายความว่า เป็นบุญของคนที่อยู่ในโลก ซึ่งจิตใจยังหวังผลอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ ยังเป็นบุญที่ระคนด้วยกิเลส ท่านยอมให้สำหรับญาติโยม

แต่ท่านเตือนไว้ อย่าลืมว่า เราจะต้องเดินหน้าต่อ เพื่อไปให้ถึงนิรูปธิกุศล ซึ่งเป็นอโนปธิกบุญ

นั่นคือบุญที่ไม่ประกอบด้วยอุปธิ อันเป็นบุญที่บริสุทธิ์ เกิดจากเจตนาที่ไม่มีกิเลส มีความผ่องใส ทำด้วยจิตใจบริสุทธิ์จริงๆ ตรงตามความมุ่งหมาย คือทำเพื่อความมุ่งหมายของบุญนั้นแท้ๆ ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เข้ามาครอบงำ หรือแอบแฝง

แต่การที่จะฝึกให้ไม่มีโมหะนี้ ต้องทำไปเรื่อยๆ อย่าหยุดก็แล้วกัน ขอให้เดินหน้าไป แล้วก็จะถึงบุญที่จะทำให้เราหมดอุปธินี้แน่นอน

บุญตัวสำคัญ ก็คือปัญญา

"บุญ" คือ ปุญญะ แปลว่า ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ แต่บุญจะชำระจิตใจได้จริง ก็ต้องมาถึงขั้นปัญญา จึงจะชำระด้วยวิปัสสนาให้สะอาดได้จริง ฉะนั้น บุญจึงรวมคำว่าปัญญาอยู่ด้วย และบุญขั้นสูงสุดก็จึงมาถึงปัญญา มาเป็นปัญญา

ในที่สุด ปุญญะ กับ ปัญญา ก็เลยมาบรรจบกัน

ถ้าโยมทำอะไรแล้ว ได้ทั้งปุญญะ ได้ทั้งปัญญา พระพุทธศาสนาก็เดินหน้าในตัวโยม และโยมก็เดินหน้าในพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้น เมื่อทำบุญไป ก็อย่าให้ได้เฉพาะปุญญะ แต่ให้ได้ปัญญาด้วย ให้ปุญญะกับปัญญามาบรรจบกัน

แล้วสุดท้าย ปัญญาก็จะมาเป็นตัวทำให้บุญของเรานี้มีผลสมบูรณ์อย่างแท้จริง จนกระทั่งกลายเป็นบุญที่สูงสุด  ที่เป็นนิรูปธิ

วันนี้ ก็เลยพูดมายืดยาวพอสมควร ในเรื่องบุญ เพื่อให้เห็นตัวอย่างว่า เรื่องของถ้อยคำ และกิจกรรมที่เราทำในพระพุทธศาสนานี้ ยังมีอะไรที่ควรจะศึกษาอีกมาก

ท่านจึงบอกให้ศึกษาบุญ ดังที่ตรัสไว้ในพระสูตรวซึ่งแสดงบุญกิริยาวัตถุว่า บุญกิริยาวัตถุ มีอยู่ ๓ อย่าง คือ

  1. ทานมัย บุญกิริยาวัตถุ
  2. ศีลมัย บุญกิริยาวัตถุ
  3. ภาวนามัย บุญกิริยาวัตถุ

แล้วพระองค์ก็ตรัสเป็นคาถาสรุปท้ายยาวหน่อย เริ่มด้วยท่อนต้นที่บอกว่า ปุญฺญเมว โส สิกฺเขยฺย บุคคลนั้นพึงศึกษาบุญ คือเรียนรู้ฝึกทำให้ก้าวหน้างอกงามเพิ่มพูนต่อไป อย่าหยุดอยู่แค่บุญที่เราทำอยู่เป็นทุนเท่านั้น บุญจึงจะเกิดผลสมบูรณ์อย่างที่กล่าวมา

ได้แสดงธรรมกถาเรื่องบุญมา พอสมควรแก่เวลา ขออนุโมทนาคุณโยมทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง ในการที่ได้มาปรารภเหตุการณ์หนึ่งซึ่งจะเรียกว่ากรณีตุ๊กตาแป้ง หรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วมาร่วมกันทำบุญขึ้น

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง