เมื่อพูดถึงธรรมในแง่ของสัจจธรรมแล้ว ก็มาสัมพันธ์กับแง่ที่ว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ ในระยะที่ผ่านมา เศรษฐศาสตร์ได้มีความภูมิใจว่า ตนเป็นสังคมศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด และเศรษฐศาสตร์ก็ได้พยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะแสดงตน หรือทำตนให้เป็นวิทยาศาสตร์ ในการพยายามที่จะเป็นวิทยาศาสตร์นั้น เศรษฐศาสตร์ก็พยายามที่จะไม่เกี่ยวข้องกับคุณค่าต่างๆ โดยทำตนให้เป็นศาสตร์ที่ปลอดจากคุณค่า อย่างที่เรียกว่า value-free ซึ่งเป็นการนำเอาคุณค่าทางจิตใจทิ้งไป ตัดออกไปเลย การคิดพิจารณาทางเศรษฐศาสตร์ จะยอมรับเอาแต่สิ่งที่คิดคำนวณได้เป็นตัวเลขที่ชัดเจนเท่านั้น ฉะนั้น เศรษฐศาสตร์เท่าที่เป็นมานี้ จึงมีลักษณะที่เรานิยมชมชื่นกันว่า เป็นวิทยาศาสตร์อย่างมาก แต่ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์จริง ก็ต้องเข้ากับความหมายของธรรมในแง่ที่สองนี้ด้วย เพราะวิทยาศาสตร์นั้นก็คือเรื่องของการพยายามที่จะเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ และการเข้าถึงความจริงของธรรมชาติก็คือเข้าถึงตัวธรรมนั่นเอง ข้อจำกัดมีเพียงว่า วิทยาศาสตร์นั้น เท่าที่เป็นมา ยังเป็นเพียงวิทยาศาสตร์ด้านวัตถุ เป็นการพยายามเข้าถึงความจริงในด้านวัตถุ แต่อย่างไรก็ตาม ตัวความจริงที่เป็นแก่นของวิทยาศาสตร์ก็คือ ธรรม นั่นเอง
ในเมื่อเศรษฐศาสตร์ พยายามจะเป็นวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ก็ไปนิยมตามวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์แบบปัจจุบันนั้นก็เจริญมาในยุค specialization มุ่งเอาแต่ด้านวัตถุ เศรษฐศาสตร์ที่พยายามจะเป็นวิทยาศาสตร์ ก็จึงพยายามที่จะเอาแต่ทางด้านวัตถุ ไม่เกี่ยวข้องกับคุณค่าทางด้านจิตใจ จนกระทั่งกลายเป็นอย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือ เศรษฐศาสตร์ได้พยายามที่จะทำให้การพิจารณาปัญหาของตนเองเป็นเรื่อง value-free หรือปลอดจากเรื่องคุณค่า แต่ปัจจุบันนี้ ก็มีนักวิจารณ์เศรษฐศาสตร์และแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์เองหลายคนบอกว่า เศรษฐศาสตร์ไม่สามารถจะเป็น value-free ได้ ไม่สามารถที่จะเป็นศาสตร์ที่ปลอดจาก value หรือคุณค่า แต่โดยทางตรงข้าม เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ value-dependent มากที่สุด คือเป็นศาสตร์ที่อิงอาศัยคุณค่ามากที่สุด เพราะอะไร เพราะว่าเศรษฐศาสตร์นี้ขึ้นต้นด้วยความต้องการ ซึ่งเป็นคุณค่าทางจิตใจ แล้วก็ไปลงท้ายด้วยความพึงพอใจ ซึ่งก็เป็นคุณค่าทางจิตใจเช่นเดียวกัน นอกจากนั้น ในกระบวนการทางเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญคือการตัดสินใจ การตัดสินใจทางเศรษฐกิจ ก็เป็นเรื่องที่ต้องอิงอาศัยคุณค่าต่างๆ ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของเศรษฐศาสตร์ จึงเป็นเรื่องของคุณค่าทั้งสิ้น เศรษฐศาสตร์จะไม่สามารถเป็นศาสตร์ที่เป็น value-free ได้เลย อันนี้ก็เป็นการพูดเสริมเข้ากับทรรศนะของนักเศรษฐศาสตร์เองบางคน เป็นอันว่าในแง่นี้ คุณค่าทางจิตใจนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด และมีอิทธิพลในกระบวนการเศรษฐกิจโดยตลอด
ความจริงนั้น เศรษฐศาสตร์ไม่ควรจะไปเป็นห่วงกับการที่จะต้องเป็นวิทยาศาสตร์ จะต้องเป็น value-free แล้วก็พยายามที่จะตัดความคิดการพิจารณาด้าน value ออกไป ซึ่งจะทำให้ขัดกับความเป็นจริงตามธรรมชาติ แล้วก็จะทำให้การพิจารณาปัญหาของเศรษฐศาสตร์นี้ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง นั่นก็คือการที่จะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะเราไปไว้ใจวิทยาศาสตร์เกินไป ดังได้กล่าวแล้วว่า วิทยาศาสตร์เองนั้นเป็นการค้นคว้าพยายามเข้าถึงความจริงของธรรมชาติที่เน้นไปในทางวัตถุด้านเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าเศรษฐศาสตร์ไปมัวตามอย่าง หรือพยายามทำตัวให้เป็นวิทยาศาสตร์แล้ว ตัวเองก็จะมีปัญหาในด้านอื่นตามมาอีกหลายอย่าง ซึ่งสืบเนื่องมาจากการเกี่ยวข้องกับความจริงเพียงด้านเดียว อันเป็นความบกพร่องขาดความสมบูรณ์ในแง่ของสัจจธรรมนั้น ดังนั้น จึงควรยอมรับความจริงกันก่อนทีเดียวว่า ไหนๆ เศรษฐศาสตร์ก็ต้องเกี่ยวข้องกับ value หรือคุณค่าต่างๆ แล้ว ทางที่ดีที่จะให้ถูกต้องก็คือ จะต้องศึกษาเรื่อง value ต่างๆ นั้นให้เข้าใจให้ตลอด เช่น เข้าใจเรื่องธรรมชาติของความต้องการของมนุษย์ ธรรมชาติของความพึงพอใจ เป็นต้น จะต้องเข้าใจให้ตลอด