ทางออกจากระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ธรรมชาติของมนุษย์ตามทรรศนะของพุทธศาสตร์

ว่าโดยรวบรัด พุทธศาสตร์มองว่า มนุษย์เกิดมามีอวิชชา อวิชชา คือ ความไม่รู้และยังไม่รู้ ทำให้มนุษย์มีความจำกัดขัดข้องในการที่จะดำเนินชีวิตให้อยู่รอดด้วยดี ซึ่งเราจะเห็นได้ง่ายๆ พอมนุษย์เกิดมาก็มีความไม่รู้ และประสบปัญหาจากความไม่รู้ คือ เกิดความขัดข้องในการที่จะดำรงชีวิตอยู่ในทันที แม้แต่จะเดินก็ไม่เป็น หาอาหารก็ไม่เป็น ขับถ่ายก็ไม่เป็น การที่ไม่รู้นั้นเป็นข้อจำกัดขัดข้อง ทำให้ไม่สามารถที่จะปฏิบัติต่อชีวิตของตน และต่อสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง จึงกลายเป็นสิ่งที่บีบคั้นมนุษย์ ทำให้เกิดปัญหา สิ่งบีบคั้นขัดข้องหรือปัญหานี้ในภาษาพระเรียกว่า ทุกข์ ในเมื่อมนุษย์เกิดมาพร้อมด้วยตัวอวิชชา คือการที่ยังไม่รู้จักอะไรเลย ไม่รู้ที่จะทำตัวหรือดำเนินชีวิตอย่างไรเพื่อจะให้อยู่รอดได้ด้วยดี แล้วมนุษย์จะเป็นอยู่ได้อย่างไร ย้ำอีกทีว่า เมื่อไม่มีความรู้ที่จะช่วยให้เป็นอยู่ หรือเมื่อไม่สามารถเป็นอยู่ด้วยความรู้ แล้วมนุษย์จะเป็นอยู่ด้วยอะไร คำตอบก็คือ เมื่อไม่มีความรู้ที่จะช่วยให้เป็นอยู่ หรือไม่สามารถเป็นอยู่ด้วยความรู้ ก็เป็นอยู่ไปตามความอยาก หรืออยู่ด้วยความอยาก ให้ความอยากที่จะมีชีวิตอยู่นั้นแหละชักจูงให้ดิ้นรนไป ดังนั้น จากการที่มนุษย์มีความไม่รู้หรืออวิชชานี้ สิ่งที่พ่วงมาก็คือความดิ้นรนทะยานอยากอย่างมืดบอด คือเมื่อไม่รู้ก็ต้องดิ้นรนทะยานไปเพื่อจะให้ชีวิตอยู่รอด ความทะยานอยากไปอย่างมืดบอดนี้เรียกว่า ตัณหา ตัณหาหรือความทะยานอยากที่เห็นกันทั่วไปก็คือ ความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน

เมื่อมนุษย์ดิ้นรนทะยานไปเพื่อสนองความต้องการแบบมืดบอดนี้ ก็ไม่รู้ชัดว่าอะไรเป็นคุณประโยชน์แก่ชีวิตของตน อะไรเป็นโทษ สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตนี้ในสมัยปัจจุบันเรียกว่า คุณภาพชีวิต ถ้าใช้ภาษาสมัยนี้ ก็คงจะต้องพูดว่า ไม่รู้ว่าอะไรเป็นคุณภาพชีวิตหรือไม่ อะไรช่วยให้เกิดคุณภาพชีวิตหรือไม่ มนุษย์ผู้ไม่รู้ก็ได้แต่พยายามดิ้นรนสนองความทะยานอยากอย่างมืดบอดนี้เรื่อยไป และในการสนองนั้น มนุษย์ก็จะได้ทั้งสิ่งที่ทำให้เกิดคุณภาพชีวิต ทั้งสิ่งที่ทำลายทำให้เสียคุณภาพชีวิต แต่ถ้าจะได้สิ่งที่เป็นคุณภาพชีวิตบ้าง ก็ได้เพียงอย่างเป็นผลพลอยได้ หรือโดยบังเอิญ แต่มีทางที่จะได้สิ่งที่ทำลายคุณภาพชีวิตหรือทำให้เกิดโทษมากกว่า ยกตัวอย่างง่ายๆ ในขั้นพื้นฐานของมนุษย์ก็คือการกินอาหาร หรือการบริโภคอาหาร มนุษย์มีความทะยานอยากต้องการกินอาหาร แต่ในความต้องการที่จะกินอาหารนั้น มนุษย์โดยทั่วไปจะนึกคิดแต่เพียงว่าเอามากินแล้วก็ได้เสพรสอร่อย เราก็กินเข้าไปกินเข้าไปจนอิ่ม แต่ไม่รู้ตระหนักว่า ความต้องการที่แท้จริงนั้นอยู่ที่การได้คุณภาพของชีวิต คุณภาพชีวิตที่เกิดจากอาหารก็คือ การที่มันได้ไปบำรุงเลี้ยงร่างกาย ซ่อมแซมส่วนสึกหรอ ให้ชีวิตเป็นอยู่แข็งแรงเจริญเติบโตต่อไปได้ เมื่อเรากินอาหารเข้าไปเพื่อเสพรสอร่อย แม้จะไม่ตระหนักถึงความต้องการที่แท้จริง แต่ในด้านหนึ่งร่างกายก็พลอยได้คุณภาพชีวิตนี้ไปด้วย แต่ถ้าเราพัฒนาจิตนิสัยที่ต้องการสนองความอยากเสพรสอย่างเดียวนี้มากขึ้นๆ มันก็จะทำให้เกิดโทษแก่ร่างกาย มีผลเป็นการทำลายคุณภาพชีวิตมากขึ้นๆ เพราะว่าความต้องการเสพรสนั้น ไม่มีจุดมุ่งหมายที่มาบรรจบกับการได้คุณภาพชีวิต ซึ่งมีขอบเขตอยู่ที่ความเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย แต่การได้เสพรสนั้นเป็นจุดหมายที่วนอยู่ในตัวของมันเอง คือการได้เสพรส เสพรสอร่อยไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบ จนกว่าจะเบื่อไปเองหรือกินไม่เข้า เมื่อเสพรสไปไม่รู้จักจบ ก็เกิดปัญหา เกิดโทษแก่ชีวิต กลายเป็นการทำลายคุณภาพชีวิต อย่างที่ว่าเมื่อกี้ คืออาจจะกินอร่อย แต่เกิดปัญหาแก่ท้อง ทำให้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ทำให้ท้องเสีย หรือทำให้อ้วนเกินไป แล้วพาลเกิดโรคอย่างอื่นๆ ต่อไปอีก

ยิ่งกว่านั้น เมื่อมนุษย์เจริญในด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น การสนองความต้องการแบบนี้ ก็นำไปสู่การพัฒนาวิธีปรุงแต่งอาหารให้มีสีสันและกลิ่นรสที่ชวนให้เอร็ดอร่อย สนองความอยากเสพรสมากยิ่งขึ้น ทำให้กระบวนการผลิตซับซ้อนยิ่งขึ้น และราคาแพงยิ่งขึ้น แต่รับประทานเข้าไปแล้ว นอกจากไม่ได้คุณภาพชีวิตแล้ว ยังกลับยิ่งทำลายคุณภาพชีวิต ทำให้เกิดพิษภัยแก่ร่างกาย เป็นทางมาของโรค สิ้นเปลืองทั้งในราคาที่แพง และในการที่จะต้องแก้ไขปัญหาสุขภาพ ก่อปัญหาทางเศรษฐกิจยิ่งๆ ขึ้นไป นี้เป็นตัวอย่างเพียงด้านหนึ่งคือเรื่องอาหาร แม้กิจกรรมด้านอื่นๆ ของมนุษย์ก็มีปัญหาทำนองนี้เช่นเดียวกัน เมื่อมนุษย์ดำเนินชีวิตไปอย่างนี้ มันก็วนเวียนอยู่ในวงจรของการที่ว่า มีความไม่รู้แล้วก็ดิ้นรนสนองความทะยานอยากที่มืดบอด ไม่รู้ชัดในเรื่องคุณภาพของชีวิตนี้ แล้วก็เกิดโทษแก่ชีวิต เกิดปัญหาแก่สังคมเรื่อยไป เป็นวงจรไม่รู้จักจบสิ้น ถ้าธรรมชาติของมนุษย์มีเพียงเท่านี้ และทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความหมาย เพียงเท่านี้ มนุษย์ก็จะไม่มีอะไรพิเศษไปกว่าสัตว์ประเภทอื่น บางทีจะเลวร้ายกว่าเสียด้วย เพราะมีความสามารถพิเศษในการปรุงแต่งกิจกรรมที่นำไปสู่การทำลายคุณภาพชีวิตอย่างได้ผลยิ่ง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.