ทางออกจากระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ความสำคัญของจริยธรรมต่อเศรษฐกิจ

ขอวกมายังเรื่องเกี่ยวกับความเข้าใจของคนทั่วไป ที่ว่าเมื่อพูดถึงธรรม ก็มักจะนึกถึงจริยธรรม จึงจะพูดถึงเศรษฐศาสตร์กับจริยธรรมเสียก่อน จริยธรรมมีความสัมพันธ์และความสำคัญต่อเศรษฐกิจอย่างไร อาตมาว่าเป็นเรื่องที่เห็นไม่ยาก จริยธรรมที่เราพูดถึงในที่นี้มีความหมายรวมไปถึงคุณธรรม และคุณค่าทางจิตใจด้วย คุณธรรม คุณค่าทางจิตใจ ตลอดจนความประพฤติดี ประพฤติชั่วที่ออกมาจากคุณธรรมหรือความขาดคุณธรรมนั้น พร้อมทั้งสภาพจิตใจที่เป็นไปต่างๆ ย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งเราไม่จำเป็นจะต้องพรรณนาให้มาก ขอยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าหากว่าในสังคมของเรานี้มีโจรผู้ร้ายมาก ไม่มีความปลอดภัยในด้านชีวิตและทรัพย์สิน สภาพเช่นนี้ก็จะต้องกระทบต่ออุตสาหกรรมหรือการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจด้วย เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ก็จะถูกกระทบกระเทือน ทำให้คนที่ได้ยินข่าวแล้วรู้สึกว่ามาเมืองไทยไม่ปลอดภัย ก็ไม่อยากจะมา จริยธรรมก็มีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ในการผลิตที่เป็นหัวใจของอุตสาหกรรม เรื่องนิสัยใจคอของคน คุณธรรมความประพฤติที่เราเห็นกันง่ายๆ เช่น ความขยัน ความซื่อสัตย์ ความรักงาน ความตรงต่อเวลา เป็นต้น ย่อมมีผลต่อคุณภาพของผลผลิต และมีผลต่อการเพิ่มผลผลิตเป็นอย่างมาก หมายความว่า ถ้าคนงานมีความรักงาน มีความขยันหมั่นเพียร ก็ทำให้การผลิตได้ผลดี แต่ในทางตรงข้าม ถ้ามีความคดโกงทุจริต ในใจมีความรู้สึกเบื่อหน่าย แปลกแยกท้อถอย กลุ้มใจกังวล ก็ย่อมมีผลลบต่อคุณภาพของผลผลิตและการเพิ่มผลผลิตนั้นด้วย

ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ที่สืบเนื่องมาจากคุณค่าทางจริยธรรม ก็เช่นเรื่องค่านิยม ค่านิยมก็เป็นเรื่องของจริยธรรมเช่นเดียวกัน ในสังคมที่คนชอบโก้ ชอบฟุ้งเฟ้อ สินค้าที่หรูหราโอ่อ่าก็อาจจะขายดีกว่าสินค้าที่มีคุณภาพดี มั่นคงทนทาน แต่มีลักษณะทั่วไปที่ไม่ให้ความรู้สึกในเรื่องโก้เก๋หรูหรา ถึงแม้จะมีคุณภาพดี คนก็อาจจะไม่ค่อยซื้อ ฉะนั้น สินค้าที่จะสนองความต้องการของคนในสังคมที่มีค่านิยมแบบนี้ ก็เป็นสินค้าแบบหนึ่ง แต่ตรงข้าม ในอีกสังคมหนึ่ง คนมีค่านิยมในทางชอบโก้ฟุ้งเฟ้อน้อย มุ่งในแง่คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่แท้จริง ก็จะซื้อสินค้าโดยมองถึงคุณภาพ มีความมั่นคงทนทาน เป็นต้น คนจะไม่ให้ความสำคัญมากกับเรื่องของความหรูหราโอ่อ่า ฉะนั้น สินค้าที่ขายในสังคมสองประเภทนี้ ก็จะมีผลการขายในตลาดต่างกัน หรืออย่างเรื่องชาตินิยม ชาตินิยมก็เป็นเรื่องจริยธรรมเหมือนกัน ถ้าคนมีชาตินิยมจัด อย่างในบางประเทศ มีสินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตในประเทศกับนอกประเทศ แม้ว่าสินค้าต่างประเทศอาจจะมีคุณภาพดีกว่า แต่คนที่มีชาตินิยมสูงก็จะยอมซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ ในทางตรงข้าม ในประเทศที่มีชาตินิยมอ่อน และยิ่งประชาชนมีค่านิยมในทางชอบโก้โอ่อ่าหรูหราด้วย ถ้ามีสินค้าประเภทเดียวกัน แต่อย่างหนึ่งผลิตขึ้นภายในประเทศและอีกอย่างหนึ่งผลิตจากนอกประเทศ มีคุณภาพเท่ากัน คนในสังคมนี้ก็จะหันไปซื้อของที่ผลิตจากต่างประเทศ ไม่ซื้อของที่ผลิตในประเทศ ทั้งๆ ที่มีคุณภาพพอๆ กัน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เห็นได้ชัด ซึ่งเป็นผลจากจริยธรรม ทำให้มีการตัดสินใจทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไป ถ้าเราสามารถยั่วยุคนให้เกิดความเกลียดชังหรือเกิดความรู้สึกไม่ดีขึ้นมาต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง คนก็อาจจะเคียดแค้นไม่ยอมซื้อสินค้าที่มาจากประเทศนั้น อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของการที่จริยธรรมมีผลต่อเศรษฐกิจ

ในชนบทบางแห่ง ชาวบ้านมีลักษณะนิสัยแบบที่ว่า เมื่อไม่มีเงินก็มาทำงาน เมื่อได้เงินมาก็จะหยุดทำงาน เมื่อเงินนั้นหมดไปก็จึงจะมาทำงานต่อ อุตสาหกรรมของบางประเทศต้องการที่จะไปตั้งในชนบท เพื่อจะช่วยเหลือชาวชนบทให้มีงานทำด้วย แต่เมื่อไปประสบภาวะเช่นนี้เข้า ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะว่าคนเข้ามาทำงานเมื่อไม่มีเงินใช้ พอทำไปสักพักหนึ่ง ได้เงินเดือนหรือค่าจ้างที่จ่ายในสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ จ่ายเงินไปแล้ว มีเงินใช้ก็หยุด ไปเล่นการพนัน ไปดื่มสุรากัน เงินหมดแล้วจึงกลับมาทำงานใหม่ อะไรทำนองนี้ ในที่สุดโรงงานอุตสาหกรรมนั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ โรงงานอีกแห่งหนึ่งมีนโยบายในการที่จะสงเคราะห์คน มีการให้ยืมอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ไป ชาวบ้านยืมไปแล้วไม่เอามาส่ง เมื่อไม่มีความซื่อสัตย์ ในที่สุดก็ทำให้กิจการในด้านนั้น หรือการสงเคราะห์ในด้านนั้นต้องล้มเหลวไป อยู่ไม่ได้ มีตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง เคยได้ยินว่า ที่ด่านเกวียน จังหวัดโคราชหรือนครราชสีมานี้ มีชื่อในเรื่องการปั้นเครื่องดินเผาฝีมือดี ต่อมาคราวหนึ่งก็มีข่าวว่า มีคนไปจ้างให้ทำจำนวนมาก ปรากฏว่า ชาวบ้านที่ทำเครื่องปั้นดินเผานี้กลับคิดราคาแพงขึ้น เหตุผลที่เขาอ้างก็คือ เขาบอกว่า เขามีพอกินแล้ว เมื่อมาจ้างให้เขาทำมาก ก็ทำให้เขาลำบากมากขึ้น เขาไม่อยากจะยุ่ง จะวุ่นวายไปทำไม เขาพอกินอยู่แล้ว มาจ้างเขาทำมากๆ เขาก็เหนื่อยมาก เพราะฉะนั้น เมื่อให้เขาผลิตสินค้าปริมาณมากขึ้น เขาก็เลยคิดราคาแพงขึ้น เรื่องนี้ในแง่หนึ่ง ก็คล้ายๆ ว่าไปสวนทางกับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ขึ้นมา

ในสังคมที่คนชอบโก้หรูหราฟุ้งเฟ้อ คนอาจจะรีบซื้อของทั้งๆ ที่ยังไม่มีเงิน ก็ไปกู้หนี้ยืมสินเขามา แล้วก็ไปซื้อของที่แสดงถึงฐานะหรือความโก้ เอามาอวดแข่งฐานะกัน ในสภาพเช่นนี้ การที่จะฟื้นฟูพัฒนาเศรษฐกิจก็เป็นไปได้ยาก นี้ก็เป็นเรื่องของค่านิยมต่างๆ ที่มีความหมายต่อเรื่องเศรษฐกิจทั้งสิ้น และปัจจุบันนี้เราก็ประสบปัญหาประเภทนี้กันมาก

อีกเรื่องหนึ่งในปัจจุบันที่เราเห็นกันชัดก็คือ เราใช้การโฆษณาเป็นวิธีการสำคัญในการที่จะจูงใจคนให้ซื้อสินค้า กิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ใช้วิธีการนี้กันมาก แต่การโฆษณานั้นเป็นไปในรูปของการเร้าให้มีความต้องการให้มากแล้วซื้อมาก ในเมื่อความต้องการเป็นสิ่งที่เร้าให้เพิ่มขึ้นได้ เมื่อมองในทางตรงข้าม ความต้องการนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำให้ลดลงได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถโฆษณาเร้าความสนใจ เร้าความต้องการให้มากขึ้นได้แล้ว เราก็น่าจะสามารถสอนคนแนะนำคนให้ลดความต้องการได้เช่นเดียวกัน อันนี้ก็เป็นหลักธรรมดาๆ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.