ทางออกจากระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ไม่ถูกต้องตามธรรม จึงไม่เป็นวิทยาศาสตร์

ต่อไปประการที่สี่ ในกระบวนการของธรรมชาติที่ว่า มีความเป็นเหตุเป็นผลเป็นปัจจัยต่อกัน ซึ่งซับซ้อนอย่างมากนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการจับเหตุและผลให้ตรงกัน ว่าผลอันนี้เกิดจากเหตุอันไหน ถ้าจับไม่ตรงก็จะทำให้การคิดคำนวณและการคาดหมายอะไรต่างๆ รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมในทางเศรษฐศาสตร์นี้ผิดพลาดไปได้ เป็นความจริงว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ก็มีปัญหานี้ด้วย คือการจับเหตุกับผลในกระบวนการนั้นไม่ตรงกัน จับผลไม่ตรงเหตุ และจากเหตุคำนวณไปไม่ตรงผล จะขอยกตัวอย่าง ในกระบวนการของความเป็นเหตุเป็นผลกันนี้ ในที่สุดขั้นสุดท้าย เราไม่สามารถแยกแม้แต่วัตถุกับจิตได้ ขณะนี้มนุษย์ได้เริ่มตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น แต่ในระยะที่ผ่านมาที่ว่าเป็นยุคของ specialization คือความชำนาญพิเศษเฉพาะทางนั้น วิทยาการแต่ละสาขาก็ศึกษาในด้านของตนไป วิทยาศาสตร์ก็พยายามศึกษากระบวนการของเหตุปัจจัยในทางวัตถุให้ถึงที่สุด จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้ ทางการแพทย์ก็ได้มองเห็นชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับจิตใจว่า ความเป็นไปทางจิตใจมีผลกระทบต่อร่างกาย ทำให้เกิดผลทางร่างกายออกมาในรูปลักษณะต่างๆ แม้แต่วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ในระยะนี้ก็เริ่มมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับจิตใจมากขึ้น ทีนี้ในเรื่องของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนี้ในขั้นสุดท้ายแล้ว ปัจจัยทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจ จะต้องถูกนำเอามาคำนึงพิจารณาให้หมด จึงจะมองเห็นเหตุปัจจัยได้ทั่วตลอด และการจับเหตุกับผลให้ตรงกันจึงจะเป็นไปได้อย่างแท้จริง

ในทางเศรษฐศาสตร์ที่ผ่านมานี้ ได้มีปัญหาอย่างที่กล่าวนี้ด้วย คือเรื่องการจับตัวเหตุกับผลไม่ตรงกัน ในทางจริยธรรมก็มีตัวอย่าง เช่น นักเศรษฐศาสตร์อาจจะเข้าใจว่า เมื่อเร้าความต้องการของคนให้มากแล้ว คนก็จะทำงานมากขึ้น เมื่อเร้าความต้องการให้คนอยากได้สินค้ามากขึ้นแล้ว คนก็จะต้องทำงานเพื่อจะให้ได้สินค้านั้นมา จากการพิจารณาตามเหตุผลนี้ นักเศรษฐศาสตร์ก็คิดว่า ด้วยการเร้าความต้องการของคนให้มาก คนก็จะทำงานมากขึ้นและการพัฒนาประเทศชาติก็จะสำเร็จ แต่ในทางความเป็นจริง ความต้องการนั้นคือต้องการอะไร อันนี้ต้องพูดว่าเศรษฐศาสตร์ไม่มีความชัดเจน ที่ว่าต้องการนั้นคือต้องการอะไร การที่เราเร้าความต้องการ ก็คือเร้าความต้องการสินค้า เพื่อจะได้เอามาเสพ ก็หมายความว่าเร้าความต้องการที่จะเสพสินค้า หรือเร้าความต้องการที่จะได้สินค้านั้นมาเสพ นี้เป็นการมองที่ตัวคนผู้ต้องการ กล่าวคือความต้องการของคนนั้น ได้แก่ต้องการสินค้ามาเสพ แต่ทีนี้มามองที่นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักเศรษฐศาสตร์การเมืองบ้าง ความต้องการของนักเศรษฐศาสตร์ที่ไปเร้าความต้องการของคนนั้นต้องการอะไร นักเศรษฐศาสตร์ต้องการให้คนทำงาน ทีนี้ตัวเหตุกับตัวผลมันตรงกันไหม คนจะทำงานเพราะอะไร ถ้าจะให้ตรงก็คือ เพราะต้องการทำงานหรือต้องการผลของการทำงานนั้น อันนี้พูดไม่เป็นรูปธรรมก็อาจจะไม่ชัด จึงจะขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราต้องการให้คนรักษาความสะอาด ต้องการให้คนกวาดบ้าน เช็ดพื้นให้สะอาด นี่เป็นความต้องการของนักเศรษฐศาสตร์ และผู้ปกครองบ้านเมือง เพราะการทำความสะอาดก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการพัฒนาประเทศ หรือพัฒนาสังคม เราต้องการให้เขาทำงานคือทำความสะอาดนั้น แต่จะให้เขาทำได้อย่างไร นักเศรษฐศาสตร์ก็คิดว่าต้องเร้าความต้องการของเขา เราก็ไปบอกเขาว่า ถ้าคุณกวาดบ้าน ทำความสะอาดนี้ ฉันจะให้เงินคุณหนึ่งร้อยบาท สิ่งที่คนนั้นต้องการคืออะไร สิ่งที่เขาต้องการคือ เงินร้อยบาท แต่สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องการคือความสะอาด แทนที่จะเร้าให้ต้องการความสะอาด หรือให้ต้องการทำความสะอาด เรากลับไปเร้าให้ต้องการเงิน ทีนี้คนที่ต้องการเงินนั้นเขาไม่ได้ต้องการความสะอาด และเขาก็ไม่ได้อยากจะทำงานที่จะทำให้เกิดความสะอาด เมื่อไม่มีทางอื่น เราก็ต้องตั้งเงื่อนไขขึ้นมาว่า คุณต้องไปกวาดบ้าน หรือคุณต้องทำความสะอาดนี้แล้วจึงจะได้เงิน ด้วยวิธีนี้ เมื่อต้องการเงินเขาก็ต้องไปทำงาน แต่ในทางปฏิบัติไม่จำเป็นที่เขาจะต้องทำงานเสมอไป ในเมื่อเขาไม่ต้องการทำงาน เขาก็อาจจะหาทางเลี่ยง เลี่ยงที่จะไม่ทำงาน แต่ก็จะให้ได้เงินนั้นมา เมื่อเขาถูกเร้าความต้องการที่จะได้เงินมากเข้า เขาก็อาจจะหาทางที่จะได้เงินในทางทุจริต อาจจะไปลักเงินเขามาก็ได้ หรืออาจจะไปกู้หนี้ยืมสินเขามาก็ได้ หรืออาจจะทำงาน แต่ไม่ตั้งใจทำให้มีคุณภาพดีเพราะจำใจทำ ไม่ได้ต้องการทำงานก็ได้

ในทางที่ถูกต้อง การที่จะเร้าเหตุให้ตรงกับผลก็คือ เมื่อผลที่ต้องการคือความสะอาด ก็ต้องให้คนต้องการความสะอาด เมื่อคนต้องการความสะอาด เขาก็จะต้องทำงานคือการกวาด การเช็ดถูพื้น แล้วก็ให้เกิดความสะอาดขึ้น แต่นักเศรษฐศาสตร์กลับไปเร้าโดยใช้วิธีการที่เรียกว่า สร้างเงื่อนไขขึ้นมา ในการพัฒนาประเทศที่ผ่านมานี้ ก็มีการเร้าในลักษณะของการสร้างเงื่อนไขอย่างนี้ คือเร้าความต้องการเสพสินค้าต่างๆ เรียกสั้นๆ ว่า เร้าตัณหาขึ้นมา เมื่อเร้าตัณหาแล้วคนก็ต้องการความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย และสิ่งเสพต่างๆ แล้วคนก็ไม่ได้รักการทำงาน ไม่ได้รักผลที่แท้จริงของการพัฒนาประเทศ ก็เลยทำให้เกิดการหาทางลัดในการที่จะได้มาซึ่งสินค้าที่จะเสพ มีการกู้หนี้ยืมสิน การทุจริต การลักขโมย และอาชญากรรมต่างๆ มากมาย แทนที่จะเกิดการพัฒนา ก็กลายเป็นการขัดขวางต่อกระบวนการพัฒนา นี้ก็เป็นเรื่องของการจับเหตุไม่ตรงกับผล แต่เป็นตัวอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับจริยธรรมมากสักหน่อย

เป็นอันว่า ในการปฏิบัติที่ผ่านมานี้ เศรษฐศาสตร์ได้นำเอาปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ ในธรรมชาติ มาคิดคำนวณในวงจำกัด เลือกเอาเฉพาะที่คิดว่าตัวเองจะใช้ แล้วก็คิดว่าเพียงพอ แต่ก็ปรากฏว่าไม่ครบถ้วนลงตัวกับความเป็นจริง นอกจากนั้น ยังมองความเป็นไปในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยไม่ตลอดสาย และไม่มองถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ภายนอก ที่สัมพันธ์อิงอาศัยกันอยู่เชื่อมโยงกันออกไป อีกทั้งจับเหตุไม่ตรงกับผล การคิดและการปฏิบัติตามวิธีการของเศรษฐศาสตร์นั้น จึงไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ ที่ว่ามาสี่ข้อนี้ก็เป็นเรื่องของกระบวนการธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องของความเป็นจริง และเพราะฉะนั้น ก็จึงเป็นตัวตัดสินที่จะทำให้เศรษฐศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่ด้วย และความเป็นวิทยาศาสตร์ที่ว่านี้ก็ได้แก่ธรรมในความหมายที่สอง คือสัจจธรรม เมื่อเศรษฐศาสตร์ขาดธรรมในแง่ต่างๆ สี่ข้อ ที่ว่ามานี้ ก็จึงเป็นจุดอ่อนของเศรษฐศาสตร์ ที่ทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกับกระบวนการของความจริงในธรรมชาติ เศรษฐศาสตร์ก็เลยไม่ถูกต้องตามธรรม แล้วก็ไม่สามารถเป็นวิทยาศาสตร์ได้จริง พุทธศาสตร์พิจารณาเรื่องเหล่านี้ตามหลักของกระบวนการปัจจัยสัมพันธ์ตามธรรมดาของธรรมชาติ และเรียกหลักการและกระบวนการทั้งหมดนี้ด้วยคำคำเดียวว่า ธรรม เพราะฉะนั้น เศรษฐศาสตร์ที่ถูกต้องเป็นวิทยาศาสตร์ จะต้องเป็นเศรษฐศาสตร์ที่ถูกต้องตามธรรม แล้วทีนี้เราก็จะหวนกลับมาพิจารณาเรื่องเหล่านี้กันใหม่อีกครั้งหนึ่งในแง่ของพุทธศาสตร์

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.