ทางออกจากระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ธรรมชาติของมนุษย์เอื้อต่อการพัฒนาสู่ความสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของมนุษย์ไม่จบเพียงเท่านี้ พุทธศาสตร์บอกต่อไปว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้ ในเมื่อปัญหาเกิดจากความไม่รู้ แล้วเป็นอยู่ด้วยอวิชชาและตัณหา เมื่อจะแก้ปัญหา ก็ต้องทำให้มีความรู้ แล้วเป็นอยู่หรือดำเนินชีวิตด้วยความรู้ เพราะฉะนั้น การที่จะพัฒนาตนเอง ก็คือพัฒนาให้มีความรู้ ความรู้นี้เรียกว่า ปัญญา ดังนั้นสาระของการที่จะพัฒนาศักยภาพนี้ก็คือ การพัฒนาปัญญา ปัญญาก็คือตัวความรู้ที่ตรงข้ามกับอวิชชา เมื่อมนุษย์มีความรู้ขึ้นมาทำลายอวิชชา ปัญญาก็ทำให้เขารู้จักว่าอะไรเป็นประโยชน์ อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดคุณภาพชีวิต อะไรทำให้เกิดโทษ เมื่อเขาเกิดความรู้ว่าอะไรเป็นคุณภาพชีวิตหรือเป็นคุณแก่ชีวิตแล้ว เขาก็จะมีความต้องการในสิ่งที่เป็นคุณภาพชีวิต หรือมีความต้องการตรงไปที่สิ่งที่ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตนั้น ความต้องการในสิ่งที่เป็นคุณภาพชีวิตนี้ เรียกชื่อว่า ฉันทะ หรือ ธรรมฉันทะ บางที่ก็เรียกว่า กุศลฉันทะ แต่เรียกง่ายๆ ว่า ฉันทะ เมื่อมนุษย์มีปัญญาทำลายอวิชชาลงไปเรื่อยๆ มีความรู้เข้าใจในสิ่งที่เป็นคุณค่า เป็นคุณภาพชีวิตมากขึ้น ความต้องการคุณภาพชีวิตที่เรียกว่า ฉันทะ นี้ ก็จะปรากฏตัวชัดเจนมากขึ้น และความทะยานอยากอย่างมืดบอดแบบตัณหา ก็ถูกแทนที่ไป หรืออ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ คนที่พัฒนาหรือมีการศึกษาแล้วมีความรู้ถูกต้องมากขึ้น ก็เป็นอยู่ด้วยอวิชชาและตัณหาน้อยลง และดำเนินชีวิตด้วยปัญญาและฉันทะมากขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตได้ถูกต้องยิ่งขึ้น ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องได้ผลดียิ่งขึ้น การดำเนินชีวิตอย่างเปะปะเสี่ยงสุ่มสี่สุ่มห้า ได้อันตรายได้ปัญหาบ้าง ได้คุณได้ประโยชน์บ้าง ก็จะน้อยลงไปตามลำดับ การที่ได้แต่สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ มีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องนี้ ก็เป็นการพัฒนาตนของมนุษย์ เพราะฉะนั้น ในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มนุษย์ก็จะมีการพัฒนาตนหรือพัฒนาปัญญายิ่งขึ้นเรื่อยไป ในเมื่อมนุษย์ดำเนินชีวิตเป็นอยู่อย่างถูกต้อง เขาก็จะมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนองฉันทะซึ่งเกิดจากปัญญา และฉันทะที่มาคู่กับปัญญานี้ก็จะทำให้เขาได้รับสิ่งที่เป็นคุณภาพชีวิตโดยตรง เพราะปัญญาก็คือ ความรู้ว่าอะไรเป็นคุณภาพชีวิต และฉันทะก็คือความต้องการในสิ่งที่เป็นคุณภาพชีวิตนั้น เมื่อเขาได้รับสิ่งที่เป็นคุณภาพชีวิตแล้ว เขาก็ไม่ต้องไปว่ายวนอยู่ในความเปะปะ ที่เสี่ยงกับการได้รับผลเสียผลร้ายหรือโทษภัยต่างๆ และเขาก็สามารถใช้คุณภาพชีวิตซึ่งเขาสร้างขึ้น โดยตรงนั้นเป็นพื้นฐานในการพัฒนาศักยภาพทางจิตปัญญาให้ก้าวหน้าต่อไปสู่ชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น ให้ประสบอิสรภาพและสันติสุข กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความหมายสัมพันธ์กับธรรมชาติของมนุษย์อย่างนี้ พุทธศาสนามีความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์อย่างนี้

เท่าที่กล่าวมานี้ ก็จะมองเห็นถึงธรรมชาติของความต้องการว่าเป็นอย่างไร ในที่นี้จะเห็นว่า พุทธศาสนาแบ่งความต้องการเป็น ๒ อย่าง คือ

๑. ความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน เรียกว่า ตัณหา และ

๒. ความต้องการสิ่งที่อำนวยคุณภาพชีวิต เรียกว่า ฉันทะ

ความต้องการอย่างนี้ก็ไปสัมพันธ์กับพื้นฐาน ซึ่งเป็นที่มาของมัน คือ ความต้องการด้านหนึ่งไปสัมพันธ์กับอวิชชา ซึ่งอยู่ในกระบวนการก่อปัญหา ส่วนความต้องการอีกด้านหนึ่งก็ไปสัมพันธ์กับปัญญา ซึ่งอยู่ในระบบการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหา จากความต้องการที่ต่างกันนี้ ก็จะมีผลต่อความพึงพอใจของมนุษย์ ทำให้ธรรมชาติของความพึงพอใจนั้น ต่างกันไปตามตัวกำหนดนี้ด้วย เช่น ในการบริโภคอาหารอย่างที่ว่าเมื่อกี้ เหล่ามนุษย์ที่ยังมีอวิชชามาก ก็ดิ้นรนสนองความทะยานอยากอันมืดบอดที่เรียกว่าตัณหา ซึ่งแสดงออกในรูปของการเสพรสเพื่อความเอร็ดอร่อย ในการสนองตัณหาอย่างนี้ เมื่อกินอาหาร เขาได้รับความพึงพอใจเมื่อไร จุดของความพึงพอใจอยู่ที่ไหน การสนองความต้องการแบบตัณหาก็คือ การได้เสพรส ความพึงพอใจก็อยู่ที่การได้เสพรสนั้น แต่ทีนี้เมื่อเขามีปัญญาขึ้น รู้ว่าเขาควรจะต้องการคุณภาพชีวิต และเขาก็ต้องการคุณภาพชีวิต ตอนนี้ความพึงพอใจของเขาอยู่ที่จุดไหน ความพึงพอใจก็อยู่ที่การสนองฉันทะ คือการที่ได้เกิดคุณภาพชีวิตขึ้น ในความต้องการแบบที่หนึ่ง ความพึงพอใจอยู่ที่การได้เสพรส แต่ในความต้องการแบบที่สอง ความพึงพอใจอยู่ที่การได้คุณภาพชีวิต

ในการบริโภคอาหาร ถ้าคนมีความต้องการต่างกันเป็นสองอย่างเช่นนี้ พฤติกรรมในการบริโภคก็ย่อมต่างกัน ผลในการบริโภคก็ต่างกัน และกิจกรรมต่างๆ ในทางเศรษฐกิจก็จะพลอยต่างกัน ทยอยกว้างออกไปตามลำดับ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่คิดว่าน่าจะชัดเจนทีเดียว แต่ตามปกติ สำหรับคนทั่วไป จะมีความต้องการสองอย่างนี้ปนกัน คือ ธรรมดาปุถุชนย่อมจะมีความต้องการเสพรสแบบตัณหาอยู่ด้วย แต่ในกระบวนการการศึกษา เมื่อเขาพัฒนาตัวขึ้นมา เขาก็จะมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วความต้องการสนองฉันทะ หรือความต้องการคุณภาพชีวิตก็จะเพิ่มขึ้น ตอนแรกผลก็อาจจะออกมาในรูปของการประนีประนอม คือมีการบริโภคโดยให้เกิดความพึงพอใจที่สมดุลกันระหว่างการสนองความต้องการ ๒ แบบนั้น ซึ่งก็จะทำให้ความเป็นอยู่และกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีลักษณะที่ประณีตขึ้น เช่น มีการยับยั้งชั่งใจหรือควบคุมตนเองมากขึ้น ในการบริโภคเพื่อสนองความต้องการแบบเสพรส เพราะกลัวเสื่อมเสียคุณภาพชีวิต หรือมีการพยายามจัดสรรปรุงอาหารให้มีคุณค่าที่เสริมคุณภาพชีวิตมากขึ้น หรือบางคนก็อาจจะถึงกับบริโภคอาหาร เพื่อสนองความต้องการคุณภาพชีวิตอย่างเดียวเลย โดยไม่คำนึงว่าความต้องการเสพรสจะได้รับการสนองหรือไม่ แต่พูดอย่างกว้างๆ เมื่อคนมีความรู้เข้าใจมากขึ้น ปัญญาพัฒนามากขึ้น หรือความเจริญทางจิตปัญญามากขึ้น ความต้องการก็มาอยู่ที่ตัวคุณภาพชีวิตมากขึ้น และความพึงพอใจก็มาอยู่ที่การได้มาซึ่งคุณภาพชีวิตนั้น คือการที่ได้สนองฉันทะนั่นเอง เพราะฉะนั้น ธรรมชาติของมนุษย์จึงเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม และกิจกรรมในทางเศรษฐกิจ

รวมความ ในเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ก็เป็นอันว่า มนุษย์มีศักยภาพที่ต้องการการพัฒนา หลักพระพุทธศาสนาที่เราสอนกันต่างๆ ก็เพื่อให้มนุษย์พัฒนาตน พัฒนาศักยภาพยิ่งๆ ขึ้นไป ในการพัฒนาศักยภาพนั้นสาระสำคัญก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าอยู่ที่ตัวปัญญา และกิจกรรมที่ทำให้เกิดการพัฒนาปัญญา ก็คือสิ่งที่เราเรียกว่าการเรียนรู้ เมื่อมนุษย์เรียนรู้ รู้เข้าใจความจริง รู้เข้าใจว่าอะไรเป็นคุณภาพชีวิตของตนมากขึ้นแล้ว เขาก็จะมีความพึงพอใจที่เพิ่มเข้ามาอีกด้านหนึ่ง คือ นอกจากความพึงพอใจจากการสนองความต้องการทางด้านตัณหา ก็จะมีความพึงพอใจจากการสนองความต้องการคุณภาพชีวิต หรือสนองฉันทะมากขึ้น เมื่อการสนองฉันทะมากขึ้น มันก็จะควบคุมการสนองตัณหาให้อยู่ในขอบเขตที่ไม่เป็นโทษ คือแม้จะยังมีอยู่ แต่ไม่ให้เป็นโทษ แล้วก็จะเป็นฐานในการที่จะพัฒนาคนเข้าสู่ชีวิตที่ดีงาม หรือสิ่งที่ดีงามที่มนุษย์พึงได้จากชีวิตของตนนี้ยิ่งขึ้นไป โดยไม่ต้องมาเสียเวลาว่ายวนเปะปะอยู่ในความทะยานอยาก ดิ้นรนไปอย่างมืดบอดของอวิชชาตัณหา เพราะฉะนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพระพุทธศาสนา จึงเป็นการทำให้ได้มาซึ่งคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งเป็นการพัฒนาศักยภาพไปด้วยในตัว โดยที่ว่าผลได้ทางเศรษฐกิจจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์นั้น และทำให้เกิดความพร้อมที่จะประสบผลดีของชีวิตยิ่งๆ ขึ้นไป

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.