แง่คิดข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ปฏิรูปการศึกษาที่แท้ต้องถึงขั้นปฏิรูปอารยธรรม

ต่อไปขอฝากไว้เป็นข้อสุดท้ายคือ อารยธรรมทั้งหมดของเราที่ผ่านมานี้ เป็นกระแสที่อยู่ใต้อิทธิพลของอารยธรรมตะวันตก และอารยธรรมตะวันตกนั้นตั้งอยู่บนฐานความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ หรือเอาชนะธรรมชาติ ชาวตะวันตกมีความภูมิใจที่มีชัยชนะเหนือธรรมชาติ เขาสืบกันว่าเป็นเวลา ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว ที่แนวความคิดนี้ได้เป็นอิทธิพลอยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติที่มาจากสายตะวันตก และมนุษย์ก็ภูมิใจตั้งใจพยายามเอาชนะธรรมชาติ และได้พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นมา จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งยังไม่ทันได้ชัยชนะจริง ก็เกิดเห็นพิษเห็นภัยว่า แนวความคิดนี้กลับเป็นตัวร้ายที่ก่อปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสีย

ถึงตอนนี้ก็จะมีแนวความคิดที่คู่ตรงข้าม คือต้องปล่อยตามธรรมชาติ ตะวันตกก็จะไปเอียงสุด คือเมื่อไม่เอาชนะธรรมชาติก็ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ นี้เป็นความคิดที่เอียงสุด สุดโต่งสองอย่าง มนุษย์นั้นมีความโน้มเอียงที่จะไปสุดโต่ง สุดโต่งหนึ่งคือจะเอาชนะธรรมชาติ อีกสุดโต่งหนึ่งคือจะปล่อยตามธรรมชาติ ผิดทั้งคู่ แล้วบางคนเข้าใจว่า นี้คือพระพุทธศาสนา นั่นไม่ใช่เลย พระพุทธศาสนาไม่ใช่อย่างนั้นเป็นอันขาด

อะไรคือท่าทีที่ถูกต้อง อารยธรรมยุคต่อไปจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ถูกต้อง มนุษย์บอกว่าถ้ามนุษย์เอาชนะธรรมชาติได้ นั่นคือความสามารถสูงสุด แต่ตามหลักพุทธศาสนาบอกว่าไม่ใช่ มนุษย์มีความสามารถมากกว่านั้น คืออะไร มันย่อมไม่ใช่การปล่อยตามธรรมชาติแน่นอน เวลานี้ตะวันตกบอกว่า เมื่อไม่เอาชนะธรรมชาติก็ต้องปล่อยตามธรรมชาติ และยังเข้าใจว่าสิ่งนี้คือพระพุทธศาสนา ซึ่งผิด

พุทธศาสนาถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ หรือเป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้ ความพิเศษอยู่ที่ฝึกได้เรียนรู้ได้หรือพัฒนาได้ ทีนี้ระบบความเป็นอยู่ของโลกนี้ทั้งหมดที่เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นระบบที่ยังมีการเบียดเบียนกันมาก เมื่อมนุษย์ยังไม่พัฒนาก็อยู่ร่วมในระบบนี้ ถ้ามนุษย์ไม่พัฒนาโดยปล่อยให้ระบบความสัมพันธ์อยู่ร่วมกันในโลกเป็นไปอย่างนี้ ก็จะยังมีการเบียดเบียนกันมาก ในฐานะที่มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษ ฝึกได้ พัฒนาได้ เราจึงใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์โดยการพัฒนาคุณภาพของตนเองให้มาช่วยปรับปรุงระบบความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันในโลกให้ดีขึ้น คือให้มีการเบียดเบียนกันน้อยลง และมีความเกื้อกูลต่อกันยิ่งขึ้น นี่ต่างหากที่เป็นความสามารถที่แท้จริงของมนุษย์

การที่คิดจะเอาชนะธรรมชาติ หรือพิชิตมันนั้นเป็นความรู้สึกและท่าทีแบบศัตรู หรือคู่ปรปักษ์ ที่จะจัดการกับมัน แต่เรามีท่าทีอีกแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนอย่างนั้น ก็คือในฐานะเป็นองค์ประกอบที่อยู่ร่วมกันในระบบทั้งหมดของโลกแห่งธรรมชาตินี้ทำอย่างไร ในฐานะที่เราเป็นผู้มีความสามารถพิเศษ จะช่วยให้ทุกอย่างทุกส่วนอยู่ร่วมกันด้วยดียิ่งขึ้น ให้เป็นโลกที่มีการเบียดเบียนกันน้อยลง

เพราะฉะนั้น จุดหมายของพระพุทธศาสนาท่านจึงใช้คำว่า อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลกํ แปลว่า “เข้าถึงโลกที่เป็นสุขไร้การเบียดเบียน” มนุษย์จะต้องทำเพื่อจุดหมายนี้ คือ หาทางทำให้โลกมีความสุขยิ่งขึ้น ไร้การเบียดเบียนยิ่งขึ้น อยู่ร่วมกันด้วยความเกื้อกูลกันยิ่งขึ้น

สิ่งไหนจะเป็นความสามารถมากกว่ากัน ระหว่างการเอาชนะธรรมชาติ กับการที่สามารถปรับระบบความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกัน ให้อยู่ดีด้วยกัน และมีความสุขมากยิ่งขึ้น สิ่งไหนเป็นความสามารถมากกว่า เราคงต้องบอกว่าอย่างหลัง คือความสามารถที่จะปรับหรือปฏิรูประบบการอยู่ร่วมกันให้เอื้อเกื้อกูลต่อกันยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นแนวคิดพื้นฐานของอารยธรรมยุคต่อไป ไม่ใช่การยอมตามธรรมชาติ แต่ก็ไม่ใช่การพิชิตธรรมชาติ เพราะมนุษย์มีความสามารถมากกว่านั้น

สรุปก็คือ การศึกษาในยุคที่ผ่านมาสนองแนวคิดนี้ทั้งหมด คือการเอาชนะธรรมชาติ แล้วเราก็ได้สร้างอารยธรรมอย่างที่เป็นอยู่นี้ขึ้นมา จนกระทั่งมาถึงจุดนี้ที่มนุษย์เริ่มรู้ตัวว่าไม่ถูกต้อง จะต้องแก้ไขใหม่ แล้วจะเอาแนวคิดอะไรมาเป็นฐานของการพัฒนาต่อไปที่จะทำให้มีการศึกษาที่ยั่งยืน คือการศึกษาที่ถูกต้อง สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ แล้วทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน แล้วก็นำมาซึ่งอารยธรรมที่ยั่งยืนด้วย ก็คิดว่าจะต้องหันกลับมาสู่แนวความคิดที่ว่านี้ กล่าวคือ การพัฒนาความสามารถพิเศษของมนุษย์ที่จะมาช่วยปรับระบบความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันในโลกทั้งหมดนี้ให้เป็นไปในทางประสานเกื้อกูลแก่กันและกัน เป็นสุข ไร้การเบียดเบียน หรืออย่างน้อยเบียดเบียนกันน้อยลง

การศึกษาอย่างที่ว่านี้ จะช่วยให้มีการการพัฒนาที่ยั่งยืน และทำให้มนุษย์สามารถสร้างสรรค์อารยธรรมที่ยั่งยืน เป็นการศึกษาที่ถูกต้องสอดคล้องกับความรู้เข้าใจในความเป็นจริงของระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติ จึงเป็นการศึกษาที่ยั่งยืน และถ้าทำได้ ก็จะเป็น การปฏิรูปการศึกษา ที่ถึงโคนถึงรากของอารยธรรม

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.