แง่คิดข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การศึกษาไม่เดินหน้า ทั้งชีวิตและสังคมไม่พัฒนา เพราะมัวหาความสุขจากสิ่งกล่อม

สิ่งที่จะทำให้คนอ่อนแออีกอย่างหนึ่งคือ สิ่งกล่อม อย่างเทคโนโลยี ถ้าใช้ผิดก็เป็นสิ่งกล่อม สิ่งกล่อมช่วยให้คนเพลินสบายหลบปัญหาหายทุกข์อะไรต่ออะไรชั่วคราว เพราะฉะนั้นในชีวิตของมนุษย์จึงอาศัยสิ่งกล่อมกันมาก ในทางกาย เช่น นอนไม่หลับ ไม่สบาย มีความทุกข์ เราก็อาจจะต้องอาศัยยากล่อมประสาท แต่คนเราถ้าอยู่ด้วยยากล่อมประสาทตลอดไป เห็นจะไม่ดีแน่ ฉะนั้น เราไม่ควรจะติด ไม่ควรจะเป็นทาสของมัน แต่จะใช้เฉพาะเมื่อจำเป็นเพื่อแก้ปัญหาชั่วคราว เช่น ทำให้เราสามารถหลับได้แล้ว เราก็จะต้องลุกขึ้นมาทำงานอย่างกระชุ่มกระชวย มีความสดชื่นที่จะทำงานต่อไป

สิ่งกล่อมทั้งหลายก็เหมือนกัน สิ่งกล่อมจะมีประโยชน์เมื่อรู้จักใช้ เช่น ทำให้เราได้พักผ่อน แล้วมีกำลังสดชื่นขึ้นมาเพื่อจะเดินหน้าต่อไป แต่ถ้าใช้ผิดโดยอยู่กับสิ่งกล่อมก็จบ เพราะนั่นคือความประมาทและอ่อนแอ สิ่งกล่อมนี้มีมากในสังคมไทย และมีอยู่หลายระดับ ตั้งแต่ระดับที่หยาบและเลวร้าย จนถึงระดับที่ประณีต จนกระทั่งสิ่งที่ดีแต่คนเข้าใจผิด เอาสิ่งที่ดีมาใช้ในทางที่ผิดกลายเป็นสิ่งกล่อมไปก็มี

จะยกตัวอย่างสิ่งกล่อมระดับร้าย เช่น สุรา สิ่งเสพติด การพนัน พวกนี้เป็นสิ่งกล่อมทั้งนั้น คนบางคนมีทุกข์เดือดร้อน แก้ปัญหาไม่ได้ก็เอาสุรามากล่อมใจ ก็หลบปัญหาไปได้ชั่วคราว สบาย สิ่งเสพติดทั้งหลายก็เหมือนกัน เด็กสมัยนี้มีทุกข์มาก ใช้ยาเสพติดเป็นสิ่งกล่อม ก็หายทุกข์ สบายไปชั่วคราว แต่ข้างหน้าไม่ต้องคิดอีกพวกหนึ่งก็คือการพนัน ซึ่งเป็นสิ่งกล่อมใจให้อยู่ด้วยความหวัง แต่ทำให้คนไม่เพียรพยายามทำการด้วยตนเอง แล้วก็จม ถ้าติดหลงเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ ก็จะไม่พัฒนา แต่จะอ่อนแอและไม่ก้าวหน้าต่อไป นี้หนึ่งละคือระดับที่ร้าย

สิ่งกล่อมระดับกลางก็เช่น สิ่งบันเทิง แม้แต่ดนตรี กีฬา ซึ่งถ้ารู้จักใช้พอดีก็ทำให้คนสดชื่นกระชุ่มกระชวยมีแรง แต่อย่าอยู่กับมันตลอด ใครอยู่กับมันตลอดก็จบเหมือนกัน ฉะนั้นจะต้องรู้จักใช้สิ่งบันเทิง ดนตรี กีฬา ฯลฯ ให้เป็นสิ่งกล่อมในขอบเขต ต่อไปยังมีสิ่งกล่อมที่ประณีตมากยิ่งขึ้นไปอีกจนกระทั่งถึงสมาธิ

สมาธิ นั้นคนจำนวนมากเอามาใช้เป็นสิ่งกล่อม คือ มันช่วยให้สบาย พอเข้าสมาธิได้ก็นั่งเพลินอยู่นั่นแหละ สบา ยสงบจิตใจ มีความสุข หายฟุ้งซ่าน ความกลุ้มความเครียดก็หายไป ที่ว่านี้ก็ดีเหลือเกิน สบาย แต่เมื่อติดสมาธิ มัวนั่งสมาธิ ไม่เอาแล้วปัญหามีไม่แก้ ก็กลายเป็นติดสิ่งกล่อมเหมือนกัน

ในกระบวนการปฏิบัติของพระพุทธศาสนา สมาธิเป็นองค์ประกอบหนึ่งในไตรสิกขา หมายความว่าเป็นองค์ประกอบในกระบวนการพัฒนาคน ถ้าใช้ผิดสมาธิกลับเป็นตัวหยุดยั้งคนไม่ให้พัฒนา ทำให้คนหยุดนิ่ง อะไรก็ตามที่เรานำมาใช้แม้เป็นสิ่งที่ดีแต่ถ้าใช้แล้วทำให้เราหยุด จมอยู่กับที่ก็ผิดทันที เราต้องจับให้ชัดว่าสมาธิก็ดี วิปัสสนาหรือข้อปฏิบัติอะไรต่างๆ มากมายก็ดี เป็นองค์ประกอบอยู่ในกระบวนการของไตรสิกขา ซึ่งหมายถึงการพัฒนาเดินหน้าต่อไป ถ้าทำให้หยุด ก็ผิด

การใช้สมาธิเป็นตัวกล่อม ก็พลาด แต่ไม่ใช่หมายความว่าไม่ให้ใช้เลย ถ้าเขากลุ้มใจมาก นอนไม่หลับจะแย่แล้ว ระหว่างการเอาสมาธิมาเป็นตัวกล่อม กับใช้ยากล่อมประสาท อันไหนดีกว่า สมาธิก็ย่อมดีกว่า เพราะพึ่งตนได้เป็นอิสระมากกว่า และเมื่อเขามีทุกข์เดือดร้อน สมาธิช่วยให้สงบได้ชั่วคราวก็ยังดี แต่จะต้องระวังเพราะนี่เป็นการเอามาใช้เป็นตัวกล่อม นั่นคือเป็นตัวที่จะนำไปสู่ความประมาท เพราะฉะนั้นทางพลาดจึงมีได้ทุกระดับ

วิปัสสนาแบบปลงอนิจจัง บางคนพอเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเสื่อมไป เกิดความพลัดพราก ก็ว่า โอ้ ไม่เที่ยงหนอ สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นก็ย่อมจะต้องดับไปเป็นธรรมดา เจริญแล้วก็ต้องมีเสื่อม จะทำอะไรได้ หรือจะไปเอาอะไรกับมัน ก็ต้องปล่อยมันไป ปลงอนิจจังได้ก็ใจสบาย พอใจสบายก็ไม่เอาแล้ว ปัญหาต่างๆ ไม่แก้ เรื่อยเปื่อยเฉื่อยชาประมาท นี่ก็เป็นตัวกล่อมเหมือนกัน

ฉะนั้นถ้าใช้ไม่เป็นแล้วผิดหมด จะต้องตรวจสอบพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของตนด้วยหลักการสำคัญ คือ

  1. ต้องทำการด้วยความเพียร
  2. ต้องเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาคือต้องเดินหน้าในไตรสิกขา
  3. ต้องพึ่งตนได้ มีอิสรภาพ
  4. ต้องอยู่ด้วยความไม่ประมาท

อะไรก็ตาม แม้จะดี ถ้าทำให้เกิดความประมาท ก็ผิด เช่น เมตตากรุณา ถ้าใช้ผิด ขาดปัญญา ไม่มีอุเบกขา ก็อาจทำให้เกิดความประมาทได้ สรุปว่าคนจะอ่อนแอไม่พัฒนาและเสียผลต่อการศึกษา เนื่องจาก

  1. การรอคอยหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอก
  2. การเห็นแก่ความสะดวกสบาย หลงติดในสิ่งกล่อม
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.