แง่คิดข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เมื่อใฝ่เสพ คนก็อ่อนแอลง ทุกข์ง่ายแต่สุขได้ยาก
เมื่อใฝ่สร้างสรรค์ คนก็เข้มแข็งขึ้น สุขได้ง่ายและทุกข์ได้ยาก

ผลสืบเนื่องก็คือว่า ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนมองวัตถุด้วยความสัมพันธ์เชิงเสพแล้ว จะเกิดปัญหาที่เรียกว่าสภาพทุกข์ง่ายและสุขได้ยาก จะขอยกตัวอย่าง แต่ก่อนนี้เราสร้างที่อยู่ขึ้นมา จะเป็นถ้ำหรือเป็นบ้านก็ตาม เทคโนโลยียังไม่เจริญ เวลาจะปิดประตูป้องกันสัตว์ร้ายเป็นต้น หรือไม่ให้ใครเข้ามา เราไม่มีเครื่องมือ เราก็ไปยกเอาหินมาปิด เวลาจะปิดทีหนึ่งก็ต้องช่วยกันยก อาจจะต้องหลายคน ต่อมาอาจใช้ท่อนไม้ใหญ่ๆ ก็ยังต้องแบกหามหนัก วันหนึ่งๆ เช้ายกออกเพื่อเปิด เย็นค่ำยกเข้ามาเพื่อปิด แสนจะลำบากยากเย็น

ต่อมาเจริญขึ้น ทำเป็นบานประตูและมีเดือย ตอนนี้ผลักคนเดียวและใช้กำลังน้อยลง แต่ก็ยังเหนื่อย บางทีมันฝืดเพราะประตูมันหนักมาก กว่าจะผลักได้ก็ลำบาก แต่ตอนที่พัฒนาจากการที่ต้องยกเอาแผ่นหินหรือแผ่นไม้ใหญ่ๆ มาปิด เปลี่ยนมาเป็นผลักประตูนี้ รู้สึกว่าสะดวกสบาย มีความสุขขึ้นมาก

ทีนี้ต่อมา ประดิษฐ์บานพับได้ ปิดง่าย ตอนนี้ใช้แรงนิดเดียว ในตอนที่เปลี่ยนจากการที่ต้องใช้ประตูมีเดือยมาเป็นบานพับ สุขมาก ทีนี้ต่อมาไม่ต้องใช้บานพับแล้ว มาถึงก็กดปุ่มเลย พอกดปุ่มประตูก็เปิดเลย ต่อมายิ่งกว่านั้นอีก ไม่ต้องกดปุ่ม เดินมาถึงประตูเปิดเองเลย ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์

ขอให้ดูตอนที่ใช้ประตูบานพับก็สบายขึ้นมาแล้ว แต่คนที่เกิดมาในยุคที่ใช้ประตูบานพับ จะรู้สึกเฉยๆ พอมาถึงยุคที่กดปุ่ ก็สบายขึ้นอีก จนกระทั่งในที่สุด เดินมาถึงแล้วประตูเปิดเอง แสนสบาย แต่ถ้าคนดำเนินชีวิตอยู่อย่างนั้นเป็นประจำเขาจะรู้สึกเฉยๆ แต่ตอนนี้ถ้าวันไหนจะต้องกดปุ่ม เด็กจะเริ่มรำคาญและอาจจะถึงกับมีความทุกข์ในการที่ต้องไปกดปุ่ม แม้แต่เป็นประตูบานพับแต่ก่อนก็แสนจะสะดวกสบาย เมื่อเทียบกับยุคที่ต้องยกก้อนหิน แต่เด็กในยุคเดินไปถึงประตูก็เปิดเองนี้ ถ้าต้องไปเปิดประตูจะกลายเป็นทุกข์ยาก นี่จะเห็นว่าเด็กที่ต้องออกแรงเปิดประตูเกิดความทุกข์ขึ้น ได้กลายเป็นคนที่ทุกข์ได้ง่าย และสุขได้ยากขึ้น

เรื่องที่พูดมานี้มีความหมายอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง นี่เป็นเพียงตัวอย่างง่ายๆ แต่คล้ายๆ เป็นหลักการอย่างหนึ่งว่า คนเราเกิดในสภาพชีวิตอย่างไร ก็จะเห็นสภาพอย่างนั้นเป็นปกติแล้วจะชินชา เมื่อชินชาก็กลายเป็นสภาพที่รู้สึกเฉยๆ ด้วยเหตุนี้เด็กที่เกิดขึ้นสมัยนี้ ท่ามกลางความพรั่งพร้อมทางเทคโนโลยีเหล่านี้ ความสะดวก ความพรั่งพร้อมต่างๆ เหล่านี้จะไม่ได้ให้คุณค่าพิเศษอะไรมากมาย เขาจะรู้สึกเฉยๆ และชินชา แล้วถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าหากว่า ความพรั่งพร้อม หรือความสะดวกเหล่านี้ขาดไปแม้นิดหน่อย เขาจะมีความทุกข์ทันที หรือถ้ามันไม่เป็นไปตามชอบใจ ไม่ได้อย่างใจ เขาจะทุกข์ทันที แปลว่า ขาดนิดขาดหน่อยทุกข์ ไม่ได้อย่างใจก็ทุกข์ จะต้องทำอะไรนิดก็ทุกข์

ไม่เหมือนอย่างเด็กสมัยก่อนที่อยู่ในสภาพที่ในสมัยนี้ถือว่าลำบาก ต้องทำอะไรที่เหน็ดเหนื่อย แต่สภาพชีวิตนั้นเป็นธรรมดาของเขา เหมือนอย่างที่ยกตัวอย่างบ่อยๆ ว่า เด็กสมัยก่อนนี้ ตื่นเช้าขึ้นมาอาจจะต้องช่วยพ่อแม่หุงข้าว ต้องติดไฟ ต้องผ่าฟืน ต้องซาวข้าว ต้องยกหม้อข้าว ต้องไปตักน้ำมา เขาดำเนินชีวิตอยู่อย่างนั้นเป็นธรรมดา แต่เด็กสมัยนี้ที่เกิดมาในยุคที่ใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้านี้ ถ้าต้องไปทำอย่างเด็กสมัยนั้นจะเป็นอย่างไร เขาจะมีความทุกข์อย่างยิ่ง ทีนี้เด็กสมัยนั้นที่เขาดำเนินชีวิตในสมัยก่อนอย่างที่เรารู้สึกว่ายากลำบาก แต่เขารู้สึกปกติ ถ้าเขาได้อะไรที่สะดวกขึ้นนิดหนึ่งเขาจะสุขมาก

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเด็กสมัยก่อนนั้นไปเจออะไรที่ต้องทำ สิ่งที่เขาต้องทำใหม่นั้นก็อาจจะไม่ยากเท่ากับสิ่งที่เขาต้องทำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ทำให้เขาเกิดความทุกข์แต่อย่างไรเลย ด้วยเหตุนี้เมื่อเทียบกัน เด็กสมัยนั้นในสภาพแวดล้อมอย่างนั้นจะทุกข์ได้ยากและสุขได้ง่ายกว่าเด็กสมัยนี้ แต่เด็กสมัยนี้ ถ้าขาดการศึกษา (ที่แท้) จะกลายเป็นคนที่สุขได้ยาก และทุกข์ได้ง่าย หมายความว่าทุกอย่างสะดวกพรั่งพร้อมจนเคยชินแล้ว จะเติมให้สุขกว่านี้มันแสนยาก เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าทำให้สุขได้ยาก แต่ทุกข์ได้ง่าย เพราะขาดนิดเดียวจะทุกข์ทันที

นี่เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ถ้าเราไม่พัฒนาคนให้ทัน เขาจะไม่ได้รับประโยชน์จากความเจริญของสิ่งสร้างสรรค์เหล่านี้เลย แต่ถ้าเราพัฒนาคนให้ถูกต้อง เขาจะได้ประโยชน์เต็มที่จากสิ่งเหล่านั้นทั้งในแง่การดำเนินชีวิต ในแง่การทำกิจการงาน และในแง่ของความสุขด้วย นี่ก็คือเราจะต้องพัฒนาคนขึ้นมาให้ได้ดุลยภาพ ทันกับการพัฒนาวัตถุ

เมื่อวัตถุเจริญขึ้นอย่างนี้ คนก็ต้องเจริญขึ้น ในแง่ที่ว่ามีคุณภาพมากขึ้นด้วย เช่น มีความเข้มแข็งด้วยจิตสำนึกในการศึกษา เป็นต้น เพราะเมื่อเขาต้องการจะทำเขาก็มีเทคโนโลยีมาช่วย เทคโนโลยีช่วยให้เขาทำได้สะดวกยิ่งขึ้น ทุ่นแรงทุ่นเวลาขยายวิสัยของอินทรีย์ ทำให้ทำได้ผลมากยิ่งขึ้น แล้วเขาก็ทำต่อไป เขาก็สร้างสรรค์ได้กว้างไกลยิ่งขึ้น เขาก็มีความสุขในการทำหรือการสร้างสรรค์นั้น แต่ถ้าเขาไม่มีคุณสมบัตินี้ เขาจะมองวัตถุแค่เป็นสิ่งเสพ ที่จะช่วยให้เขาไม่ต้องทำอะไร ได้แต่เสวยความสุข เสร็จแล้วมันก็จะเป็นวงจรที่วนอยู่กับที่ ไม่มีการพัฒนา แล้วเขาก็จะทุกข์ไปหมด เพราะว่าหันไปเจออะไรที่ต้องทำก็ทุกข์ เพราะฉะนั้นจะต้องทำให้เขามีความสุขจากการทำ หรือจากการสร้างสรรค์ขึ้นมาให้ได้

เป็นอันว่าความสุขจากการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ถ้าเราหันมาพัฒนาคนให้ถูกต้อง เมื่อการศึกษาที่แท้เริ่มขึ้นแล้ว ต่อจากนั้นเขาจะยิ่งมีความสุขมากขึ้น เขาสามารถมีความสุขจากการเอาเทคโนโลยีและวัตถุเหล่านั้นไปใช้ทำงานสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงขอให้มองวัตถุรวมทั้งเทคโนโลยีเหล่านี้ในเชิงเป็นปัจจัย ถ้ามองเป็นปัจจัยแล้ว ความสุขทางการศึกษาก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.