แง่คิดข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คนใฝ่เสพ มองเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย
คนใฝ่สร้างสรรค์ มองเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเป็นปัจจัย

เวลานี้ปัญหาแห่งอารยธรรมได้เกิดขึ้น ซึ่งพวกเราก็คงทราบ ยกตัวอย่าง เช่น เรื่องของประเทศอเมริกาที่ว่า พอเจริญมากขึ้นทำไมคนฆ่าตัวตายมากขึ้น เพราะว่า ในขณะที่มีความเจริญทางเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวกสบายมีมากมายเหลือเกิน แต่คนมองสิ่งเหล่านั้นในเชิงเสพ และยิ่งสังคมปัจจุบันนี้ คนชื่นชมตัวเองว่าเป็นสังคมบริโภค มีความพอใจในการบริโภค ชอบบริโภค มีความสุขกับการบริโภค ก็มองวัตถุในความหมายสัมพันธ์เชิงเสพ ที่มีความหมายว่าทำให้ตัวเองยิ่งไม่ต้องทำอะไรยิ่งขึ้น มุ่งจะมีความสุขอยู่กับการที่ได้เสพเท่านั้น เมื่อจะต้องทำอะไรก็ทุกข์ ไม่ได้พัฒนาจิตสำนึกในการศึกษาที่จะมาช่วยให้ต้องสนองความต้องการที่จะทำ คือคนไม่ได้พัฒนานั่นเอง จึงต้องเกิดปัญหา

เวลานี้อเมริกาที่เป็นประเทศที่พัฒนาสูงสุดนั้นมีสถิติคนฆ่าตัวตายมากกว่าประเทศเม็กซิโกซึ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและยากจนแร้นแค้นซึ่งบางสถิติว่าถึง ๗.๔ เท่า และในประเทศอเมริกาเองถ้าเทียบสถิติระหว่างอดีตกับปัจจุบันก็มีปัญหาอีกว่า คนฆ่าตัวตาย นอกจากมากขึ้นแล้วยังกลายเป็นว่าเด็กหนุ่มสาววัยรุ่นฆ่าตัวตายมากขึ้นถึง ๓๐๐ เปอร์เซนต์ การที่คนฆ่าตัวตายมาก ก็เนื่องจากภาวะที่ทุกข์ได้ง่ายแต่สุขได้ยาก ยิ่งเทคโนโยลีเจริญคนก็ยิ่งทุกข์ได้ง่ายและสุขได้ยากขึ้น และคนก็อ่อนแอลง เรียกว่าใจเสาะเปราะบาง

เมื่อเราสนองความต้องการปรนเปรอตน คนไม่อยากทำอะไร มีชีวิตที่เห็นแก่สะดวกสบาย คนก็ยิ่งอ่อนแอลง พออ่อนแอลงก็ยิ่งทุกข์ง่ายลง เพราะมันเป็นวงจร แต่ถ้าเขาเข้มแข็งขึ้นก็ทุกข์ได้ยากแต่สุขได้ง่ายขึ้น พอทุกข์ได้ยากขึ้นก็ยิ่งเข้มแข็งขึ้น ที่ว่านี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องการทำให้เขาทุกข์ แต่หมายความว่าให้เกิดสุขจากคุณภาพในใจของเขาเอง จนเกิดผลอย่างที่บอกว่า ถ้าเด็กมีความใฝ่รู้สู้สิ่งยากจริงๆ โดยมีจิตสำนึกในการศึกษา เขาจะกลายเป็นคนที่มีความสุขยิ่งขึ้น ยิ่งเทคโนโลยีมาช่วยเสริมเขาก็ยิ่งสุขมากขึ้น เขาสุขจากเทคโนโลยีที่ช่วยเขาแล้ว เขายังสุขจากการได้ทำการสร้างสรรค์ยิ่งๆ ขึ้นไปอีกด้วย จึงได้ ๒ ชั้นทีเดียว

ฉะนั้น การมองความสัมพันธ์กับวัตถุจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก จะเห็นว่าท่าทีต่อวัตถุ เวลานี้คนแทนที่จะมองวัตถุและเทคโนโลยีอย่างเป็นปัจจัย เรากลับมองอย่างเป็นจุดหมายเสีย เราศึกษาเล่าเรียนทำงานทำการอะไรต่างๆ เพื่อจะได้มีวัตถุพรั่งพร้อม นั่นคือมองปัจจัยเป็นจุดหมาย ปัจจัยเป็นฐานคือเป็นตัวเกื้อหนุนให้เราจะได้เดินหน้า เราจะได้ดำรงชีวิตที่ดีงาม เป็นโอกาสที่จะทำการสร้างสรรค์ยิ่งๆ ขึ้นไป แต่คนมองปัจจัยคือวัตถุหรือเทคโนโยลีเป็นจุดยอด เป็นจุดหมายเสียแล้ว คือเป็นตัวเป้าหมายที่ต้องการ ถ้าอย่างนี้ก็กลับหัวลงแล้ว อารยธรรมมนุษย์พลาดแน่ๆ กลับฐานเป็นยอด กลับยอดเป็นฐาน

สังคมปัจจุบันที่กลายมาเป็นสังคมบริโภคนิยม และเป็นสังคมในระบบผลประโยชน์ คนมุ่งแต่จะหาผลประโยชน์อย่างเดียว เอาผลประโยชน์เป็นจุดหมาย ตรงข้ามกับศัพท์ทางพระพุทธศาสนาที่บอกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น ถ้าขาดมันเราจะเดินหน้าไม่ได้ในชีวิตที่ดีงามหรือชีวิตแห่งการสร้างสรรค์ แต่เมื่อได้สิ่งเหล่านี้มาเป็นปัจจัย มันก็เป็นตัวเกื้อหนุนให้เราก้าวหน้าต่อไปในชีวิตที่ดีงามและการสร้างสรรค์ ศัพท์ของพระชัดเจนอยู่แล้วให้เป็นปัจจัย แต่เราไม่ยอมมองเป็นปัจจัย เรากลับเอาปัจจัยไปเป็นจุดหมายทั้งๆ ที่ตัวศัพท์ยังเป็นปัจจัยอยู่ อันนี้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเรื่องของวัตถุและเทคโนโลยีอย่างที่ว่ามาแล้ว ซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องจุดหมายของการศึกษาด้วย

ถ้าเราพัฒนาคนให้มองวัตถุเป็นปัจจัย และมีความสุขจากการทำหรือจากการสร้างสรรค์อย่างนี้ การที่จะประสบความสำเร็จในการต่อสู้เพื่อชัยชนะในระบบแข่งขันก็เป็นเรื่องง่ายๆ เด็กของเราจะมีความเข้มแข็ง ไม่อ่อนแอ ไม่ใจเสาะเปราะบาง การที่เป็นคนไม่อ่อนแอใจเสาะเปราะบางจึงจะสู้และมีชัยชนะในระบบแข่งขันได้ แต่จุดหมายที่แท้ของเราไม่ใช่แค่นี้ เราจะต้องมีชัยชนะที่จะขึ้นไปเหนือระบบแข่งขันนั้นอีก แต่อย่างน้อยเราจะอยู่ดีได้ โดยได้ประโยชน์จากความเจริญของเทคโนโลยี เป็นต้น ที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมา และนี่ก็คือบุคคลแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง คือเป็นนักเรียนที่แท้จริง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.