แง่คิดข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การศึกษาที่ดีช่วยให้คนมีวิธีที่จะรักษาอิสรภาพทางด้านความสุข

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ยังมีอีกมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ควรพูดไว้ด้วย ก็คือ เราควรมีวิธีรักษาอิสรภาพในการที่จะมีความสุข เพราะว่าโดยทั่วไป คนเราย่อมมีแนวโน้มที่ว่า เมื่อเราสร้างหรือแสวงหาวัตถุเสพได้มากขึ้น เราก็มีความโน้มเอียงที่จะฝากความสุขไว้กับวัตถุมากขึ้น ทำให้ความสุขของเราไปขึ้นกับวัตถุ เราก็ค่อยๆ สูญเสียอิสรภาพไปโดยไม่รู้ตัว เรานึกว่าเราเก่ง แต่ที่จริงเราสูญเสียอิสรภาพ เพราะเราต้องพึ่งพาหรือขึ้นต่อวัตถุมากขึ้น ไม่สามารถเป็นสุขด้วยตนเอง

ถ้าเราพัฒนาคนถูกต้อง เราจะให้คนรักษาอิสรภาพในทางความสุขไว้ได้ด้วย เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราพัฒนาตัวเองด้วยหลักการต่างๆ เช่น ในด้านพฤติกรรมคือศีล จากศีลห้าไม่ให้คนเบียดเบียนกันในสังคม พระพุทธเจ้าก็เพิ่มศีลแปดขึ้นมา

ศีลแปดคืออะไร ในศีลแปดนั้นจะเห็นว่าส่วนที่เพิ่มจะเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลทั้งนั้น ไม่เกี่ยวกับสังคม ต่างจากศีลห้าที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมทั้งหมดที่จะให้ไม่เบียดเบียนกัน แต่ในศีลแปด ข้อที่เพิ่มเข้ามาเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวบุคคลทั้งนั้น ไม่ให้กินอาหารในเวลาวิกาล ไม่ให้วุ่นวายกับการหาความสุขจากการบำรุงบำเรอด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ดนตรี สิ่งบันเทิง ไม่หาความสุขจากที่นั่งที่นอนที่หรูหราต่างๆ ๓ ข้อนี้ เพิ่มเข้ามาเพื่อเตรียมคนให้พร้อมในการที่จะพัฒนาทางด้านจิตใจต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสุขด้วย ด้วยเหตุผลที่กล่าวแล้วว่า ในการแสวงหา มีและเสพวัตถุนั้น ถ้าเราปล่อยตัว เราจะลืม และเราจะเพลิน สติจะหมดไป แล้วเราก็จะเอาความสุขของเราไปขึ้นกับการเสพวัตถุ

ถ้าไม่มีของเสพกินอร่อยอย่างนี้แล้วจะไม่มีความสุข ก็เลยต้องหาวัตถุเสพอยู่เรื่อยไปและยิ่งขึ้นไป ทีนี้ท่านก็บอกว่า ๗-๘ วัน ก็มาฝึกกันเสียทีหนึ่ง คือว่า คุณตามใจลิ้นมา ๗ วัน แล้ว มาวันที่ ๘ คุณลองกินเพื่อคุณภาพชีวิตดูบ้าง กินเพียงเพื่อว่าให้ร่างกายอยู่ดีมีสุขภาพ แค่เที่ยงพอแล้ว เดี๋ยวนี้หมอบอกว่า ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้กินแค่กลางวัน แค่เที่ยง ถูกที่สุดเลย เพราะว่ามื้อเย็นนี้ไม่จำเป็นและอาจเป็นโทษมากด้วย เดี๋ยวนี้หมอพากันพูดอย่างนี้ กลับไปยอมรับหลักการเก่า แต่ท่านขอเพียง ๘ วันครั้งหนึ่งให้ฝึก

ใน ๘ วันนั้น เฉพาะวันที่ ๘ กินเพื่อสุขภาพสักวันหนึ่ง คือ กินเพื่อคุณภาพชีวิต ไม่ตามใจลิ้น ไม่เห็นแก่ความสุขจากการบำเรอลิ้น กินเพียงเพื่อสุขภาพชีวิตอย่างที่ว่า ทีนี้ลองดูซิว่าเราจะสามารถมีชีวิตที่ดีงามมีความสุขได้ด้วยอาหารเพียงเท่านั้นได้ไหม ลองซิว่าไม่ต้องบำเรอตาหู ด้วยการดูฟ้อนรำขับร้องดนตรีบันเทิงต่างๆ และก็ไม่ต้องตามใจนอนบนฟูกที่สบายสักวันหนึ่ง เราจะอยู่ดีมีความสุขด้วยตัวของเราเองสักวันหนึ่งได้ไหม ด้วยการฝึกเพียงวันหนึ่งนี้ เราจะสามารถอยู่ได้ด้วยชีวิตของเราเองดีขึ้น

พอปฏิบัติไปอย่างนี้ เราจะมีลักษณะที่เรียกว่ามีอิสรภาพของชีวิตมากขึ้น คนที่ตามใจตนเองในการบำเรอความสุขทางวัตถุมาก มีเทคโนโลยีก็มาบำเรอความสุขของตัวเองในการเสพ เขาจะกลายเป็นคนชนิดที่ว่า ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านั้นแล้ว จะทุรนทุราย จะมีแต่ความทุกข์ ไม่มีความสุข แต่คนที่ฝึกหัดรักษาอิสรภาพอย่างนี้นั้น ต่อไปเขาจะเป็นคนชนิดที่เรียกว่า สิ่งบำเรอความสุขทางวัตถุ และเทคโนโลยีเหล่านั้น “มีก็ดี ไม่มีก็ได้

วิธีพิสูจน์อิสรภาพอย่างหนึ่งก็คือ สามารถพูดได้ว่าสิ่งบำเรอเหล่านั้นมีก็ดี ไม่มีก็ได้ ถ้าใครพูดอย่างนี้ได้แสดงว่ายังมีอิสรภาพ แต่ถ้าคนไหนพูดไม่ได้ ต้องมีฉันจึงจะอยู่ได้ ถ้าไม่มีมันฉันจะต้องตาย แสดงว่าเป็นคนหมดอิสรภาพแล้ว ความสุขต้องไปขึ้นกับวัตถุทั้งหมด

คนเราต้องมีชีวิตที่อยู่ได้ด้วยตนเองบ้าง ทั้งเพื่ออยู่ดีมีสุขได้ในตนเอง และลดการเบียดเบียนรู้อื่นและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแง่ที่ว่า ต่อไปข้างหน้าชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไป ภายนอกบ้าง ภายในบ้าง อินทรีย์ของเรา ร่างกายของเราอ่อนแอลง แก่ตัวลง เราไม่สามารถหาความสุขจากสิ่งเสพภายนอกได้ตามชอบใจ เราจะต้องอยู่กับความสุขภายในมากขึ้น ถ้าเราไม่ฝึกไว้เลยจะลำบากมาก จะมีชีวิตที่ทุรนทุรายมาก เพราะฉะนั้นจะต้องปฏิบัติเรื่องนี้ให้ได้ แล้วเราจะเป็นคนที่เป็นอิสระมาก คือต้องพูดได้ว่า “มีก็ดี ไม่มีก็ได้”

นี่คือความหมายขั้นต้นของการรักษาอุโบสถ หรือศีล ๘ และต่อไปในเรื่องเทคโนโลยีและวัตถุบางชนิด เราจะพูดได้ถึงขนาดที่ว่า “มีก็ได้ ไม่มีก็ดี” ปัจจุบันคนมีปัญหามากจากการบำรุงบำเรอชีวิตของตน อย่างที่พูดบ่อยๆ ว่า เวลานี้ปัญหาเกิดขึ้นคือ “มาตรฐานการครองชีพสูง แต่คุณภาพชีวิตเสีย” คือคนมีฐานะดีเศรษฐกิจดี กินมาก แต่สุขภาพเสื่อมคือคุณภาพชีวิตเสีย มาตรฐานการครองชีพเลยไม่เป็นหลักประกันของคุณภาพชีวิต คนนอนฟูกนอนอะไรต่ออะไรเกิดปวดหลัง จนกระทั่งหมอบอกว่าต้องนอนพื้น นอนกระดาน กลายเป็นว่า โดนบังคับ ทีนี้ถ้าเราฝึกตัวเองไว้จะไม่เป็นปัญหาเลย มีแต่ความสุขสบายและเป็นอิสระคล่องตัว จะไปไหนมาไหนก็ง่าย ยังมีอีกมาก แต่ยกมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.