พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

วิธีเข้าถึงความจริง: จุดเน้นและการใช้ต่าง ที่ทำให้ห่างไกลกัน

นี่เป็นเรื่องของวิธีหาความรู้ เพื่อให้ได้ความจริง ๓ ประการด้วยกัน ทีนี้ต่อไปก็จะมองจุดแตกต่างในการหาความจริงระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์

ก็อย่างที่พูดมาแล้ว

ประการที่หนึ่ง วิทยาศาสตร์ใช้วิธีการหาความจริงนี้เพื่อได้ความจริง หรือได้ตัวความรู้มาเฉยๆ เป็นกิจกรรมต่างหากจากการดำเนินชีวิต ส่วนในพุทธศาสนา วิธีการเข้าถึงความจริงนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตที่ดีงามและการพัฒนาตนด้วย

ไม่ใช่เพียงต่างในเป้าหมายเท่านั้น แม้แต่ในลักษณะการกระทำก็ต่างกัน คือ วิทยาศาสตร์นั้นไม่มีส่วนในการดำเนินชีวิตของเราเลย วิทยาศาสตร์หาความจริงก็เพื่อรู้ตัวความจริงเท่านั้น แต่ในพุทธศาสนาการหาความจริงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต มันเป็นตัวกิจกรรมการดำเนินชีวิต ที่เป็นผลดีต่อชีวิตในขณะนั้น เป็นปัจจุบันทันที เช่น การรับประสบการณ์ตรงโดยไม่มีความยินดียินร้ายจะมีผลต่อจิตใจอย่างไร เป็นต้น คุณค่าต่อสภาพชีวิตในขณะนั้นเกิดขึ้นมาทันที เพราะฉะนั้น การแสวงหาและรู้ความจริงจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแม้แต่โดยไม่ได้ตั้งเป้าหมาย

อีกประการหนึ่ง วิทยาศาสตร์นั้นเอาประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทางอินทรีย์ ๕ หรือประสาททั้ง ๕ เท่านั้น แต่พุทธศาสนาเอาอินทรีย์ที่ ๖ คือใจด้วย ทางวิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับอินทรีย์ที่ ๖ แต่พุทธศาสนาถือว่าอินทรีย์ที่ ๖ ก็พิสูจน์ความจริงได้ แต่การพิสูจน์ความจริงของแต่ละอินทรีย์นั้น พิสูจน์ได้ด้วยอินทรีย์ที่ตรงกัน หมายความว่า เราจะพิสูจน์รสก็ต้องพิสูจน์ด้วยลิ้น ถ้าเราต้องการพิสูจน์เสียงดัง เสียงเบา ก็ต้องพิสูจน์ด้วยหู เราจะเอาตาไปพิสูจน์ไม่ได้ หรือเราต้องการพิสูจน์สีดำ สีแดง เราจะเอาหูไปพิสูจน์ ก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น อินทรีย์ที่ใช้พิสูจน์ต้องตรงกับสิ่งที่ถูกพิสูจน์ ด้วย

ถ้าเราไม่ยอมรับอินทรีย์ที่ ๖ เราจะขาดความรู้ต่อประสบการณ์ไปมากมาย เพราะประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นในจิตใจนั้นมีมาก ยกตัวอย่าง ทางจิตใจก็มีประสบการณ์ตรงที่พิสูจน์ได้ทันที เช่น ความรัก ความโกรธ ความกลัว ซึ่งไม่อาจพิสูจน์ได้ด้วยอินทรีย์อื่น เวลาคนเรามีความรัก เราก็รู้แก่ใจของเราเอง พิสูจน์ได้ เวลามีความกลัว มีความรู้สึกโกรธ มันก็รู้สึกได้โดยตรง ตลอดจนความสุขสบาย ความปลาบปลื้มอิ่มใจ ผ่อนคลายในใจ พิสูจน์ได้ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนาจึงถือว่า อินทรีย์ที่ ๖ คือจิต รวมทั้งเรื่องความคิดนี้ มีบทบาทสำคัญมากในการหาความรู้ หรือหา​ความจริงนั้น แต่ในทางวิทยาศาสตร์เมื่อไม่ยอมรับอินทรีย์ที่ ๖ นี้ ก็เลยจะต้องหาทางพิสูจน์ปรากฏการณ์ทางจิตหรือประสบการณ์ทางจิตด้วยวิธีการใช้เครื่องมือเครื่องวัดที่แสดงผลออกมา เป็นประสบการณ์ที่รับรู้ได้ด้วยอินทรีย์ ๕ อย่างอื่น โดยเฉพาะ ตา หู และกายสัมผัส เช่น ต้องการจะรู้ความคิดในใจ ก็พยายามประดิษฐ์เครื่องวัดคลื่นสมอง

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ต่อไปนะ ฉันจะใช้เครื่องวัดคลื่นสมอง แล้วจะบอกได้เลยว่าคนนี้กำลังคิดอะไร วิทยาศาสตร์ก็หวังไปสิ คิดไปว่าต่อไปเราจะรู้ได้อย่างนี้ๆ หรือมิฉะนั้นก็ดูจากสารที่สมองหลั่งออกมา ตอนนี้มีความรู้สึก หรือมีอารมณ์อะไรในใจ ดูสารที่สมองหลั่งออกมาก็คงจะรู้ได้ ซึ่งก็มีความเป็นจริงอยู่บ้าง แต่มันจะตรงกับที่ Sir Arthur Eddington บอกว่านั่นแหละคือ shadow มันคือเงาของความจริง ไม่ใช่ตัวความจริง และเป็นเครื่องแสดงว่า ความจริงทางวิทยาศาสตร์มีความบกพร่อง และวิธีการหาความจริงของวิทยาศาสตร์ก็บกพร่อง เพราะทำผิดหลักการพิสูจน์ความจริง คือ พิสูจน์ประสบการณ์ของอินทรีย์หนึ่งด้วยอินทรีย์อื่น ผิดอินทรีย์กัน ถ้าอยู่ในลักษณะนี้ วิทยาศาสตร์ก็จะพิสูจน์เงาของความจริงเรื่อยไป คือจะเป็นอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำพูดไว้ว่า วิทยาศาสตร์ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้โดยตรง เข้าถึงได้แต่เงาของความจริง เรื่องนี้เราจะพูดกันอีก

ทีนี้ บทบาทของอินทรีย์ที่ ๖ คือจิต ที่พุทธศาสนาถือว่ามีความสำคัญมากในการหาความรู้ หรือเข้าถึงความจริงนี้ ที่จริงก็มีความสำคัญต่อวิทยาศาสตร์มากด้วย เพราะแม้แต่วิทยาศาสตร์เองก็เจริญพัฒนามาได้ด้วยอินทรีย์ที่ ๖ นี้ ทั้งขั้นต้น ขั้นปฏิบัติการ และขั้นตามผลสุดท้าย

ขั้นต้น ก่อนที่จะพิสูจน์ด้วยอินทรีย์อื่น นักวิทยาศาสตร์ที่ได้ความรู้ความเข้าใจ ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมาได้นั้น ก็ต้องมีการคิดก่อน เช่น คิดวางแผน คิดวางกระบวนการพิสูจน์ คิดตั้งสมมติฐาน เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการทางความคิด ซึ่งต้องอาศัยอินทรีย์ที่ ๖ คือ จิตใจ และแม้แต่ในเวลาปฏิบัติการ ก็ต้องมีจิตเป็นตัวที่คอยรับรู้ ทำการบันทึกตลอดเวลา คือก่อนที่จะบันทึกลงกระดาษ บันทึกลงคอมพิวเตอร์ หรืออะไรก็ตาม ก็บันทึกในใจก่อน แล้วจิตใจนั้นก็เป็นผู้ที่จะตัดสินว่าจะยอมรับหรือไม่ คือตัดสินข้อมูลที่ผ่านมาทางอินทรีย์ทั้ง ๕ ดังนั้น จิตใจจึงมีบทบาทอยู่ตลอดเวลา

จนกระทั่งในขั้นสุดท้าย การประมวลสรุปความคิดเป็นระบบ วางเป็นทฤษฎี อะไรต่างๆ นี้ ก็เป็นกระบวนการของความคิด พูดได้ว่า ทฤษฎีวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของความคิด เป็นผลงานของอินทรีย์ที่ ๖ คือ จิตใจ ซึ่งเป็นศูนย์รวมประสานงานอินทรีย์ทั้ง ๕ อย่างแรก

เพราะฉะนั้น ในทางพุทธศาสนาจึงยอมรับความสำคัญของอินทรีย์ที่ ๖ ถือว่าเป็นทางเข้าถึงประสบการณ์ตรงได้ ข้อสำคัญก็คือ การรับรู้จะต้องให้ตรงอินทรีย์กัน หมายความว่า สิ่งที่ถูกรับรู้กับอินทรีย์ที่รับรู้ต้องตรงกัน สิ่งที่จะรับรู้ด้วยตาก็ต้องใช้ตา สิ่งที่จะรับรู้ด้วยลิ้นก็ต้องใช้ลิ้น สิ่งที่ต้องรับรู้ด้วยหูก็ต้องใช้หู เพราะฉะนั้น สิ่งที่รับรู้ด้วยใจจะไม่สามารถรับ⁠รู้ด้วย ตา หรือ หู เป็นต้น ต้องให้อินทรีย์ตรงกัน

ทีนี้ความจริงระดับจิตใจที่ท่านบอกว่าพิสูจน์ทำนายได้ตามกระ­บวนการของเหตุปัจจัยนั้น ก็เพราะว่ามันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ แม้ว่ามันจะมีความซับซ้อนและยากสักหน่อย แต่พุทธศาสนาถือว่ามันก็เป็นไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัย

ในลกของวัตถุหรือในโลกของฟิสิกส์ ก็ยอมรับว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัย แต่ในกรณีที่ปัจจัยซับซ้อนมากเกินไป ก็ทำให้ทำนายหรือตามดูยาก ยกตัวอย่างเช่นการพยากรณ์อากาศ ซึ่งถือว่ายากมาก เพราะมีปัจจัยซับซ้อนและมีการแปรง่ายไว แม้แต่ปัจจัยที่ร่วมแปรนิดเดียวสภาพอากาศก็เปลี่ยน

ทีนี้ กระบวนการของเหตุปัจจัยในทางจิตนี้ ต้องถือว่าซับซ้อนยิ่งกว่ากระบวนการของเหตุปัจจัยในอากาศ เพราะฉะนั้น การทำนายปรากฏการณ์ทางจิต จึงยากกว่าการพยากรณ์อากาศ ถ้ามองในแง่นี้แล้วก็จะได้ไม่ท้อใจ อย่างน้อยก็จะมีหลักว่า เรื่องของความเป็นไปทางจิตใจก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งเหตุปัจจัย เช่นเดียวกัน

มองแง่หนึ่ง เรื่องอาจจะเป็นไปในทำนองนี้ว่า มนุษย์เป็นธรรมชาติชนิดที่มีธรรมชาติทั้งหมดรวมอยู่แล้วในตัว เมื่อมนุษย์เบิกตาปัญญามองดูให้ชัด ก็สามารถเข้าถึงความจริงของธรรมชาติโดยตรงได้ทันที การใช้อุปกรณ์ต่างๆ ผ่านทางอินทรีย์ ๕ เป็นวิธีอ้อมๆ หรือผิวเผิน ที่พิสูจน์ความจริงได้แค่ขั้นตื้นๆ เอาแค่พอใช้พิชิตธรรมชาติภายนอกในระดับหนึ่ง แต่จะเข้าถึงแก่นแท้ของธรรมชาติที่รวมทั้งนามธรรมทั้งหมดไม่ได้

รวมความว่า พุทธศาสนาเอาวิธีหาความรู้หาความจริงนี้มาใช้กับตัวมนุษย์หรือมนุษยภาวะเป็นสำคัญ และใช้เพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ในการพัฒนาแก้ปัญหาของมนุษย์ ส่วนวิทยาศาสตร์นั้นใช้วิธีการหาความรู้หาความจริงนี้กับโลกแห่งวัตถุ และก็เป็นการหาความรู้เพื่อพิชิตธรรมชาติอย่างที่ว่ามาแล้ว

ที่พูดมานี้ก็เป็นอันว่าได้บอกแล้วถึงความกว้าง แคบ ต่างกัน และเหมือนกัน ระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ ในแง่ของสภาพเนื้อหาของความจริงที่ต้องการจะรู้ ในแง่ของวิธีรู้ความจริง และในแง่ของการนำความรู้ในความจริงนั้นมาใช้ หรือจุดมุ่งหมายของการรู้ความจริงนั้น อย่างที่ว่า

ฝ่ายหนึ่งคือวิทยาศาสตร์ ตอนต้นเป็นความรู้ล้วนๆ บริสุทธิ์ ลอยออกไปเรื่อยๆ ข้างนอกตัว ส่วนทางฝ่ายพุทธศาสนาเป็นความรู้ที่สัมพันธ์กันหมดโยงมาถึงตัวมนุษย์เอง ต่อมาวิทยาศาสตร์บอกว่ารู้โดยมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ คือเพื่อพิชิตธรรมชาติหรือเพื่อหาประโยชน์จากธรรมชาติ ส่วนพุทธศาสนาบอกว่ารู้เพื่อจะได้เอามาพัฒนามนุษย์ ใช้แก้ปัญหาให้แก่มนุษย์

ถึงแม้ว่าวิธีหาความจริงโดยทั่วไปจะใกล้เคียงกันหรือตรงกัน แต่ช่องทางที่ใช้หาก็มากกว่ากันและเน้นต่างกัน เพราะเนื้อหาของตัวความจริงที่ค้นหาและพิสูจน์ มีความกว้างแคบต่างกัน

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง