พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์1

ท่านพระเถรานุเถระ ที่เคารพนับถือ และท่านสพรหมจารีทุกท่าน ขอเจริญพร ท่านคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกรรมการจัดงาน ท่านอาจารย์ นักศึกษา พร้อมทั้งท่านผู้สนใจทุกท่าน

 

ปรับท่าทีและทำความเข้าใจกันก่อน

วันนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มช. ได้กรุณาให้ความสำคัญนิมนต์อาตม­ภาพมาแสดงปาฐกถาในงานใหญ่ของคณะ ได้ยินข่าวว่าหลายท่านฟังดูชื่อปาฐกถานี้ พอได้ยินชื่อเรื่องและชื่อผู้แสดงก็รู้สึกแปลกใจว่า มีการนิมนต์พระมาพูดในเรื่องวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องที่เหมือนกับว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ และบางท่านก็มีความรู้สึกทำนองว่า เอ๊ะ! ทำไมเอานักศาสนามาพูดเรื่องวิทยาศาสตร์ อาตมาก็มามีความรู้สึกว่า เอ! ถ้ามีความรู้สึกอย่างนี้ก็จะไม่ค่อยถูกต้อง น่าจะต้องทำความเข้าใจกันเล็กน้อยก่อน เพื่อเตรียมใจในการฟังปาฐกถา คือเพื่อการวางท่าทีที่ถูกต้อง

การที่มีความรู้สึกว่า พระเป็นนักศาสนาแล้วมาพูดในเรื่องของนักวิทยาศาสตร์นี้ อาจจะเป็นความเคยชินของยุคสมัย คือสมัยนี้เป็นยุคของความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เวลาได้ยินเรื่องราวก็มีการแบ่งกันไปว่า นี่เป็นนักศาสนา นี่เป็นนักวิทยาศาสตร์ นั่นเป็นนักเศรษฐศาสตร์ นั่นเป็นนักรัฐศาสตร์ เป็นต้น แต่ละคนก็มีความเชี่ยวชาญในสาขาของตน แต่อาตมานี้ไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นนักศาสนา และก็ไม่อยากจะยอมรับให้เรียกว่าเป็นนักศาสนา เพราะอาตมาก็เป็นพระภิกษุเท่านั้นเอง

พระภิกษุกับนักศาสนาไม่เหมือนกัน พระภิกษุเป็นเรื่องของวิถีชีวิต เราอาจจะใช้คำพูดเลียนแบบ คือเติมคำว่า เฉพาะอย่าง ก็เป็นวิถีชีวิตเฉพาะอย่าง ส่วนการเป็นนักศาสนานั้นเป็นเรื่องของวิชาการเฉพาะอย่าง

วิถีชีวิตเฉพาะอย่าง กับวิชาการเฉพาะอย่างนี้ ไม่เหมือนกัน ผู้ที่มีวิถีชีวิตเฉพาะอย่างนั้น ก็มีบทบาทมีหน้าที่ตามแบบแผนของตนเอง ที่จะดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมในสังคมด้วยดี อันนี้เป็นข้อที่สำคัญ คือเขาจะมีวิถีชีวิตอย่างไรก็เป็นแบบของเขา แต่วิถีชีวิตแบบนั้นจะทำให้เขามีบทบาทเฉพาะอย่าง ที่ทำให้เขาดำเนินชีวิตไปได้อย่างเกื้อกูลและกลมกลืน สามารถอยู่ร่วมในโลกนี้ หรือในสังคมนี้ ได้ด้วยดี

แต่นักวิชาการเฉพาะอย่าง เป็นเรื่องของการแบ่งซอยในตัววิชาการว่าใครเป็นผู้เชี่ยวชาญในวงวิชาการนั้นๆ ซึ่งอาจจะไม่คำนึงถึงว่าท่านผู้นั้นจะดำเนินชีวิตอย่างไร อยู่ในสังคมอย่างไร เรียกว่าเป็นเรื่องของวิชาการล้วนๆ เพราะฉะนั้น พระภิกษุในกรณีอย่างนี้คงจะไม่เรียกว่าเป็นนักศาสนา

นอกจากนั้น อาตมาก็ไม่ได้สนใจศึกษาเรื่องศาสนาอะไรต่างๆ มากมาย คำว่าศาสนาในกรณีนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นธรรมะ ในกรณีนี้ศาสนาเป็นคำที่เราใช้ในความหมายสมัยใหม่ เป็นเรื่องวิชาการ ส่วนธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นหน้าที่ของพระจะต้องศึกษา เป็นเรื่องของวิถีชีวิตของท่าน เพราะฉะนั้น เราคงต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้กันไว้ก่อน

เพราะฉะนั้น การที่จัดปาฐกถาครั้งนี้ขึ้น และมีชื่อปาฐกถาว่าเป็นเรื่อง พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ นั้น ไม่ควรให้มองว่าเป็นการมาพบกันของผู้เชี่ยวชาญในวิชาการสองฝ่าย มิฉะนั้นจะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า แหม คราวนี้น่าสนใจ เพราะว่ามีการมาพบกันของบุคคลที่ไม่น่าจะมาพบกัน ๒ พวก หรือ ๒ ฝ่าย คือฝ่ายศาสนากับฝ่ายวิทยาศาสตร์ ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยนึกว่าเป็นคนละเรื่องกันเลย

ถ้าตั้งท่าทีให้ถูกต้องเราก็จะมองว่า มีแต่เรื่องวิทยาศาสตร์นี่แหละที่เรากำลังจะพูดถึง วิทยาศาสตร์เป็นศูนย์กลาง โดยมีนักวิทยาศาสตร์เป็นเจ้าของเรื่อง เป็นผู้ชำนาญพิเศษในวิชาการนี้ และตอนนี้เรากำลังเปิดโอกาส หรือเชิญให้บุคคลภายนอกวงวิชาการวิทยาศาสตร์ เป็นพระบ้าง เป็นคนอื่นบ้าง มาดูมามอง และมาให้ความคิดเห็น ถ้าตั้งท่าทีกันอย่างนี้แล้ว ก็จะฟังเรื่องนี้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว ผู้ที่จะมาพูดนั้นซึ่งเป็นคนนอกวงการ ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีความรู้วิทยาศาสตร์มากมาย อาจจะรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง รู้ผิดรู้ถูก พูดผิดพูดถูก แต่เมื่อตั้งท่าทีถูกแล้ว ผู้ที่จะได้ประโยชน์ก็คือวงการวิทยาศาสตร์เอง ซึ่งได้ดูว่าคนนอกเขามองตนอย่างไร

การที่ตั้งท่าทีอย่างนี้จะมีประโยชน์อย่างไร หรือมีเหตุผลอย่างไร ก็มีเหตุผลว่า บุคคลก็ตาม กิจการต่างๆ ของมนุษย์ก็ตาม เมื่อเข้าสู่ชีวิตและโลกที่เป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ว่าจะดำเนินชีวิตหรือกิจการของตนไปโดยโดดเดี่ยวลำพังให้สำเร็จได้ มันจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับความคิดจิตใจ เรื่องราว และความเป็นไปต่างๆ รอบด้าน ที่มาจากทิศทางต่างๆ และมีลักษณะต่างๆ กัน จึงต้องมีการประสานสัมพันธ์กับบุคคลประเภทอื่น และวิชาการสายอื่นด้วย ถ้าการประสานสัมพันธ์นั้นประสบผลสำเร็จ ก็จะทำให้การทำหน้าที่เฉพาะด้านของตนสำเร็จด้วย หากไม่สามารถไปประสานสัมพันธ์ได้ดีแล้ว การทำหน้าที่ของตนหรือของวิชาการของตนก็จะไม่สำเร็จประโยชน์ตามวัตถุประสงค์

เพราะฉะนั้น การที่เราให้บุคคลภายนอกมาพูดมามองบ้างนี้ ย่อมเป็นการดี ทำให้เราเห็นแง่มุมในการที่จะเข้าไปประสานสัมพันธ์กับโลกภายนอก หรือวงวิชาการต่างๆ ในวงกว้างให้ได้ผลดียิ่งขึ้น เรียกว่าเป็นการทำให้เกิดความรอบคอบ และรอบด้านยิ่งขึ้น

เป็นอันว่าจะให้มองเรื่องของปาฐกถาครั้งนี้ ว่าเป็นเรื่องของวิทยา­ศาสตร์เองที่ให้บุคคลภายนอกมามอง คราวนี้ให้พระมามอง พระจะมองอย่างไรก็ค่อยมาดูกันต่อไป

ประการที่สองที่อยากจะทำความเข้าใจกันไว้ก่อนก็คือ ชื่อเรื่องปาฐกถา บางท่านก็อาจจะมองอย่างเมื่อกี้นี้อีก คือ ให้นักศาสนามาพูดและยังแถมอวดอ้างด้วยว่า พระพุทธศาสนานี้เป็นรากฐานของวิทยา­ศาสตร์ อันนี้อาตมาจะยังไม่อธิบาย แต่จะบอกว่าชื่อปาฐกถานี้ถือได้ว่าเป็นคำพูดของนักวิทยาศาสตร์เอง และก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่บอกว่าเป็นใคร ท่านผู้นี้ไม่ได้พูดไว้ตรงๆ อย่างนี้หรอก อาตมาถือเอานัยมาตั้งเป็นชื่อ ถือว่าชื่อปาฐกถานี้เข้ากันได้กับคำพูดของท่าน แต่ไม่ได้ถือเป็นเรื่องจริงจังนักหนา และเราก็จะได้อธิบายกันต่อๆ ไป ไม่ต้องใส่ใจนักว่าเป็นรากฐานจริงหรือไม่ แต่เอาเป็นว่า ในสิ่งที่พูดต่อไปนี้ จะได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา และจะเป็นรากฐานจริงหรือไม่ ก็วินิจฉัยกันได้เองด้วยสติปัญญาพิจารณาของแต่ละท่าน

นอกจากนี้ก็คงจะต้องทำความเข้าใจกัน เกี่ยวกับเรื่องถ้อยคำบางอย่าง คือตัวคำว่าพระพุทธศาสนาเอง กับคำว่าวิทยาศาสตร์

คำว่า พุทธศาสนา ในที่นี้ ต้องเข้าใจว่าไม่ได้หมายถึงรูปแบบหรือสถาบันอะไรที่เป็นรูปธรรม แต่หมายถึงตัวสาระที่เป็นนามธรรมที่เป็นเนื้อหาหรือหลักการของพระพุทธศาสนา

ส่วน วิทยาศาสตร์ ก็มีปัญหา คือ นักวิทยาศาสตร์เองอาจจะบอกว่า ต้องพูดให้ชัดว่า ในที่นี้ ฉันจะเอาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นะ วิทยาศาสตร์​ประยุกต์ไม่เกี่ยว เทคโนโลยีไม่เกี่ยว แต่ในสายตาของชาวบ้าน เวลาได้ยินคำว่าวิทยาศาสตร์นี่เขามองรวมไปหมด เขาไม่ได้แยก อาตมานี่ มาแบบชาวบ้าน หมายความว่าอยู่พวกเดียวกับชาวบ้าน ในฐานะที่เป็นพระ ก็อยู่ฝ่ายชาวบ้าน คืออยู่ในวงคนทั่วไป เพราะฉะนั้นก็จึงมาพูดในความหมายแบบคลุมๆ เครือๆ คือเอาวิทยาศาสตร์ที่หมายถึงวิทยาศาสตร์ประยุกต์ด้วยก็ได้ เทคโนโลยีก็ได้ แต่ในบางตอนอาจจะแยก ตอนไหนที่แยกก็คงจะได้อธิบายเฉพาะตอนนั้นต่อไป

1ปาฐกถาพิเศษ วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๔
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง