พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

วิทยาศาสตร์เดียว ศาสนาเดียว
หรือศาสนากับวิทยาศาสตร์ที่เป็นหนึ่งเดียว

วิทยาศาสตร์ช่วยประชาชนโดยตรงได้น้อยมาก หน้าที่ที่วิทยา­ศาสตร์จะต้องช่วยประชาชนที่แท้นั้นควรจะเป็นการช่วยเหลือทางปัญญา แต่บทบาทในการช่วยประชาชนโดยมากกลายเป็นบทบาทของเทคโนโลยี ซึ่งโดยมากไม่ได้ช่วยทางปัญญา เทคโนโลยีไปช่วยทางไหน โดยมากจะไปช่วยทางการบริโภค บางทีก็ไปเสริมโลภะ บางครั้งก็เร้าโทสะ ดีไม่ดีก็ไปเสริมโมหะ

ทำทีวีขึ้นมาให้ดู เสร็จแล้วไปดูทีวี พอชมรายการก็ไม่ได้เลือกดูรายการที่ให้สติปัญญา แต่กลับไปดูเรื่องที่ทำให้หลงเพลิดเพลินมัวเมาหนักเข้าไปอีก มีเทคโนโลยีประเภทสื่อสาร ใช้ดูใช้ฟัง แต่แทนที่จะได้ความรู้ กลับได้ความหลง เลยกลายเป็นว่าวิทยาศาสตร์นี่ไม่รับผิดชอบเท่าที่ควร ละเลยบทบาท ปล่อยให้เทคโนโลยีไปช่วย เทคโนโลยีก็ไปช่วยประชาชน แต่ช่วยไม่ดี บางทีก็กลายเป็นเสียไปเลย อย่างที่ว่า แทนที่จะเป็นเครื่องมือทำประโยชน์ กลับกลายไปเป็นเครื่องมือหาประโยชน์ กลายเป็นว่าวิทยาศาสตร์ทิ้งประชาชนไว้กับศาสนา เพราะฉะนั้นจะไปว่าใคร เวลานี้ถ้าจะบอกว่าศาสนาทำไมไปทำให้ประชาชนหลงใหลงมงายไขว้เขวอะไรต่างๆ ก็ต้องถือว่าเป็นเพราะวิทยาศาสตร์ได้ทิ้งประชาชนไว้กับศาสนา

วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องที่คนน้อยคนจะเข้าถึงได้ ประชาชนได้แต่เชื่อวิทยาศาสตร์แต่ไม่รู้วิทยาศาสตร์ เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องของความเชื่อไปแล้วโดยส่วนมาก ไม่ใช่เป็นเรื่องของความรู้ ฉะนั้น อย่าไปนึกภูมิใจในเรื่องภูมิปัญญา ว่าไปแล้วมันก็จะเข้าแนวเดียว​กันกับศาสนา วิทยาศาสตร์สำหรับชาวบ้านทั่วๆ ไปก็อยู่ด้วยความเชื่อเหมือนกัน

แม้แต่คนในประเทศที่พัฒนาแล้ว บางพวกก็เชื่อวิทยาศาสตร์ไปไกลจนกลายเป็น scientism คือลัทธินิยมวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจแปลให้แรงหน่อยว่าความคลั่งวิทยาศาสตร์ หรือความงมงายในวิทยาศาสตร์ เอ! วิทยาศาสตร์จะเป็นความงมงายได้อย่างไร วิทยาศาสตร์มันตรงข้ามกับความงมงาย มันเป็นเรื่องของความรู้ และการพิสูจน์ความจริงอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ แต่คนมางมงายในวิทยาศาสตร์ ทั้งที่วิทยาศาสตร์ทำหน้าที่ให้ปัญญาแก่มนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความรู้คิด รู้เหตุรู้ผลมากขึ้น แต่คนมาเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ด้วยความเชื่อ จนกระทั่งบางทีกลายเป็นความเชื่อแบบงมงายคลั่งไคล้ จะเกณฑ์ให้อะไรๆ ต้องเป็นไปตามกฎของวิทยาศาสตร์ ในความหมายที่จำกัดแค่ที่ตัวรู้ตัวเชื่อตามกันไป ไปๆ มาๆ เลยกลายเป็นว่า วิทยาศาสตร์อาจจะกลายเป็นศาสนาหนึ่งไปก็ได้

ก่อนจะผ่านตอนนี้ไป ขอติงสักหน่อยสำหรับคำพูดที่ว่า “ศาสนามีหลายศาสนา แต่วิทยาศาสตร์มีวิทยาศาสตร์เดียว” คำพูดนี้ถ้าพูดด้วยอารมณ์ขำสำหรับยิ้มแย้มกัน โดยมีความรู้เท่าทันในธรรมชาติของโลกและชีวิต ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ถ้าพูดด้วยความรู้สึกที่มีทัศนคติแบบแยกส่วน แบ่งซอย มองศาสนากับวิทยาศาสตร์เป็นคนละเรื่องคนละพวก หรือมีทัศนคติแบบลำพองเย้ยหยัน ก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี ควรจะปรับทัศนคติ และความรู้ความเข้าใจกันใหม่

ประการที่หนึ่ง การที่มีหลายศาสนา แต่มีวิทยาศาสตร์เดียว ในเวลาหนึ่งนั้น เป็นเรื่องของธรรมดาธรรมชาติ ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เกิดมีขึ้นตามเหตุปัจจัย เนื่องด้วยธรรมชาติของมนุษย์ตามระดับของพัฒนา­การทางจิตปัญญา ความรู้ความเข้าใจต่อธรรมชาติ ที่เป็นอย่างนี้ก็เป็นวิทยาศาสตร์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า วิทยาศาสตร์ก็หมายรวมถึงการรู้เข้าใจสภาพของธรรมชาติที่เป็นไปตามธรรมดานี้ด้วย ผู้ที่รู้วิทยาศาสตร์จริงย่อมจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดี

ประการที่สอง การที่มนุษย์ยังมีศาสนาหลายศาสนาอยู่คู่เคียงกับวิทยาศาสตร์ได้นี้ เป็นเครื่องฟ้องหรือเป็นหลักฐานยืนยันอยู่ในตัวว่าวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถแสดงความจริงพื้นฐานหรือความจริงรวบยอดที่ครอบคลุมของธรรมชาติทั้งหมดได้ ยังไม่สามารถสนองความต้องการสูงสุดของมนุษย์ได้ คือ วิทยาศาสตร์ยังไม่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์ ศาสนาเหล่านั้นจึงมีโอกาสที่จะเสนอคำตอบชนิดที่อาจจะเป็นความจริงแบบพลางก่อนให้แก่มนุษย์ และมนุษย์จึงยังต้องพึ่งพาอาศัยศาสนาเหล่านั้น โดยที่ว่าวิทยาศาสตร์ไม่อาจสนองความต้องการเช่นนั้นแก่เขาได้

ประการที่สาม ถ้าเมื่อใดวิทยาศาสตร์เข้าถึงความจริงแท้ สามารถให้คำตอบรวบยอดที่ครอบคลุมสัจจภาวะของธรรมชาติทั้งหมดแก่มนุษย์ คือเป็นวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์ ศาสนาต่างๆ หลากหลายก็ย่อมหมดความหมายหายไปเอง หรือหากจะมีศาสนาหนึ่งใดก็ตาม ที่แสดงความจริงแท้ นำมนุษย์ให้เข้าถึงสัจจธรรมได้จริง วิทยาศาสตร์กับศาสนานั้นก็ย่อมเป็นวิทยาหรือความรู้อันเดียวกัน และก็จะกลมกลืนเข้าด้วยกันกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียว เมื่อนั้นศาสนากับวิทยาศาสตร์ก็จะถึงจุดบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง เป็นการบรรจบประสานขั้นสุดท้าย ที่ว่าศาสนาก็คือวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ก็คือศาสนา ไม่มีการแบ่งแยกอีกต่อไป

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง