พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

แยกแล้วทิ้ง กับแยกไปเอาความจริง

ได้กล่าวแล้วว่าศาสนาทั้งหลายทั่วไปตั้งแต่โบราณ มองความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายว่ามีเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เบื้องหลังคอยดลบันดาล ถ้ามนุษย์หวาดกลัวอันตรายไม่ต้องการให้เหตุการณ์อย่างใดเกิดขึ้น หรือปรารถนาผลดีต้องการให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างไร ก็ต้องทำการแสดงออกให้เทพเจ้าเห็นถึงการที่ตนอ้อนวอนหรือเอาอกเอาใจ แล้วมนุษย์ก็ได้คิดประดิษฐ์วิธีการอ้อนวอนเอาอกเอาใจเทพเจ้าขึ้นมามากมาย เป็นการบวงสรวงสังเวย ตลอดจนการบูชายัญต่างๆ เพื่อให้เทพเจ้าคลายพิโรธหรือโปรดปราน

ไม่เฉพาะเหตุการณ์และปรากฏการณ์ในโลกหรือธรรมชาติภาย​​นอกเท่านั้น แม้แต่ชีวิตของมนุษย์เอง ก็อยู่ภายใต้อำนาจดลบันดาลของเทพเจ้า โดยเทพเจ้าเป็นผู้สร้างโลกสร้างชีวิตและบันดาลสุขทุกข์โชคเคราะห์และความเป็นไปทุกอย่าง อีกทั้งยังคอยตามดูตลอดเวลาด้วยว่า มนุษย์ประพฤติปฏิบัติหรือทำการใดๆ ให้เป็นที่พอพระทัยหรือไม่ ดังนั้น มนุษย์จึงต้องคอยระวังตัวที่จะปฏิบัติตนให้ไม่เป็นที่ขัดเคืองพระทัย โดยเฉพาะในทางตรงข้ามจะต้องพยายามปฏิบัติให้ถูกพระทัยอยู่เสมอ เพื่อจะได้สามารถหลีกเลี่ยงผลร้าย และได้ประสบผลดีแก่ชีวิตของตน ตามหลักการลงโทษและการประทานรางวัล

ตามมาตรฐานนี้ การประพฤติปฏิบัติและการกระทำทั้งปวงของมนุษย์ก็แบ่งออกไปเป็น ๒ ประเภท คือ การกระทำที่ถูกใจเทพเจ้า ซึ่งจะได้รับการโปรดปรานประทานรางวัลเรียกว่า ความดี และการกระทำที่ขัดเคืองพระทัยของเทพเจ้า เป็นการทำผิดต่อเทพเจ้า ซึ่งจะได้รับผลร้ายคือการลงโทษ เรียกว่า ความชั่ว บางทีก็เป็นคำสั่งของเทพเจ้าหรือเป็นเทวบัญชาทีเดียว คือสิ่งใดที่เทพเจ้าสั่งให้ทำ ก็เป็นความดี สิ่งใดที่เทพเจ้าห้ามไม่ให้ทำ ก็เป็นความชั่ว แล้วเจ้าหน้าที่หรือองค์กรทางศาสนาก็เป็นผู้บอกให้ทราบว่า การกระทำอะไรบ้าง เป็นความดี การกระทำอะไรบ้าง เป็นความชั่ว ตามความหมายและมาตรฐานที่วัดด้วยความพอพระทัยหรือเทวบัญชาของเทพเจ้านั้น หลักความดีความชั่วอย่างนี้แหละที่เรียกว่า ศีลธรรม หรือบางทีเรียกว่า จริยธรรม

นี่เป็นเรื่องสำคัญด้านหนึ่งของศาสนา คือเรื่องศีลธรรม ที่ภาษาไทยสมัยใหม่บัญญัติคำศัพท์ขึ้นมาใช้ใหม่อีกคำหนึ่งว่า จริยธรรม เพื่อเรียกตามคำภาษาอังกฤษว่า ethic ศีลธรรมหรือจริยธรรมนี้ เป็นเรื่องสำคัญมาก ถือว่าเป็นเนื้อเป็นตัวของศาสนาทีเดียว เรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรมได้เจริญขึ้นในประเทศตะวันตกตามความหมายอย่างที่ว่ามานี้

ทางฝ่ายวิทยาศาสตร์นั้น ตั้งแต่แยกกับศาสนา ก็สนใจเฉพาะธรรมชาติภายนอกแห่งโลกวัตถุ ไม่สนใจเรื่องนามธรรมในตัวมนุษย์อยู่แล้ว จึงไม่เอาใจใส่ที่จะศึกษาเรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรมนี้ ยิ่งเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทพเจ้า ไม่มีเหตุผล ก็แทบจะหันหลังให้เลย

ฝ่ายประชาชนทั่วไปในประเทศตะวันตก หรือในประเทศที่เรียกกันว่าพัฒนา ในยุคที่ผ่านมาได้พากันตื่นเต้นกับความก้าวหน้าทางวิทยา­ศาสตร์ เกิดความตื่นวิทยาศาสตร์ ก็เห็นกันไปว่าศาสนาสอนเรื่องเทพเจ้าและอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีเหตุผล แล้วก็พากันหันหลังละทิ้งศาสนาออกมา พร้อมกันนั้นศีลธรรมและจริยธรรมก็พลอยหมดความหมายไปด้วย ผู้คนพากันไม่เห็นความสำคัญ เมื่อเทพเจ้าหมดความสำคัญ ศีลธรรมหรือจริยธรรมที่เป็นคำบัญชาของเทพเจ้าก็หมดความหมายไปด้วย คนสมัยใหม่มากมาย รวมทั้งคนในวงการวิทยาศาสตร์ด้วย พากันมองว่าศีลธรรมหรือจริยธรรมนี้ เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์บางคนบางกลุ่มเช่นพวกนักบวช กำหนดขึ้นมาเอง อย่างดีก็เป็นเรื่องของสังคมที่กลุ่มชนนั้นบัญญัติวางกันขึ้นมา เพื่อควบคุมรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในชุมชนหรือสังคมของตน ไม่มีความจริงอยู่ในตัวของมันเอง

ฝ่ายวิทยาการต่างๆ ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ความเป็นไปของมนุษย์ และสังคมมนุษย์ ซึ่งเดิมก็อยู่ในจำพวกปรัชญา เมื่อวิทยาศาสตร์เฟื่องฟูก็อยากจะให้ศาสตร์ของตนมีลักษณะและมีฐานะอย่างวิทยาศาสตร์ด้วย แล้วก็พยายามเอามาตรฐานความจริง ตลอดจนวิธีศึกษาตามแบบวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในศาสตร์ของตน เกิดเป็นกลุ่มวิชาใหม่ เรียกว่า สังคมศาสตร์ ศาสตร์เหล่านี้ เห็นว่าศีลธรรมหรือจริยธรรม เป็นเรื่องของคุณค่าซึ่งไม่เป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ ก็พากันพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องศีลธรรม หรือจริยธรรม พยายามแสดงตัวว่าเป็นศาสตร์ที่ปราศจากคุณค่า ถ้าจะศึกษาเรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรมบ้าง ก็มองเอาเฉพาะในแง่ที่เป็นพฤติกรรมทางสังคมหรือเป็นการแสดงออกทางรูปธรรมที่สังเกตได้ตามวิธีวิทยาศาสตร์เท่านั้น

ถ้าพูดด้วยภาษาทางวิชาการก็สรุปได้ว่า วิทยาศาสตร์ สังคม­ศาสตร์ และคนสมัยใหม่เหล่านี้ มองเห็นเรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรมเป็นบัญญัติธรรมไปเสีย เอาศีลธรรมหรือจริยธรรมไปสับสนปนเปกับบัญญัติ­ธรรม ไม่สามารถแยกออกจากบัญญัติธรรมได้ นับว่าเป็นก้าวที่ผิดพลาดอย่างมากในการแสวงหาความรู้เพื่อเข้าถึงความจริง พูดเป็นสำนวนว่า จะหลบเลี่ยงความเท็จ แต่กลายเป็นหลีกหนีความจริง

หันมามองดูทางด้านพระพุทธศาสนาบ้าง ในเรื่องนี้ ทั้งวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนาต่างก็แยกตัวออกจากศาสนาทั่วไป คือ ไม่เห็นด้วยกับความเชื่อถือหรือหลักการแบบที่ว่ามานั้น แต่ในขณะที่วิทยาศาสตร์แยกตัวออกมาแล้ว ก็ละทิ้งมองข้ามเรื่องศีลธรรม จริยธรรม หรือเรื่องคุณ​ค่าต่างๆ ไปเลยนั้น พุทธศาสนากลับศึกษาและแสดงความจริงของเรื่องศีลธรรม จริยธรรม หรือเรื่องคุณค่าต่างๆ นั้น รวมอยู่ในกระบวน​การของธรรมชาติด้วย

ในขณะที่ศาสนาทั่วไปมองความเป็นไปทุกอย่างในธรรมชาติ ทั้งภายนอกและตัวมนุษย์เอง หรือโลกและชีวิต ว่าเป็นไปตามอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้า พุทธศาสนามองความเป็นไปทุกอย่างนั้นว่าเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย เรื่องของมนุษย์ คือธรรมชาติด้านนามธรรม หรือเรื่องคุณค่าทั้งปวง ก็เช่นเดียวกับธรรมชาติภายนอกแห่งโลกวัตถุ ที่เป็นเรื่องของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย อยู่ภายในครอบคลุมของกฎธรรมชาติ ความแตกต่างอยู่ที่องค์ประกอบและปัจจัยในกระบวนการนั้นที่มีคุณสมบัติต่างๆ กัน

เพื่อความสะดวกในการศึกษาและทำความเข้าใจ บางครั้งพุทธ­ศาสนาจำแนกกฎธรรมชาติออกเป็น ๕ อย่าง เรียกว่า นิยาม (ความเป็นไปอันแน่นอน, กฎ) ๕ คือ1

  1. อุตุนิยาม (physical laws) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับปรากฏ­การณ์ในธรรมชาติแวดล้อม หรือโลกแห่งวัตถุ เช่น ลมฟ้าอากาศ ฤดูกาล
  2. พีชนิยาม (biological laws) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพืชพันธุ์ โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าพันธุกรรม
  3. จิตตนิยาม (psychic laws) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต กระบวนการของความคิด
  4. กรรมนิยาม (karmic laws) กฎแห่งกรรม หรือกฎธรรมชาติเกี่ยวกับการกระทำหรือพฤติกรรมของมนุษย์ ได้แก่ กระบวนการแห่งเจตจำนงหรือความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ต่างๆ
  5. ธรรมนิยาม (the general laws of cause and effect) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์และอาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันของสิ่งทั้งหลาย อย่างที่เรียกว่า ความเป็นไปตามธรรมดา หรือกฎทั่วไปแห่งเหตุและผล

ถ้าดูตามการจำแนกกฎธรรมชาติแบบนี้ จะเห็นว่าวิทยาศาสตร์เท่าที่เป็นมา เชื่อมั่นในธรรมนิยาม โดยจำกัดตัวศึกษาอยู่เฉพาะในขอบเขตของอุตุนิยามกับพีชนิยามเท่านั้น ส่วนในทางพระพุทธศาสนา เชิงปฏิบัติ ให้ความสำคัญแก่กรรมนิยามมาก แม้ว่าด้านหนึ่งที่เรียกว่าอภิธรรมจะเน้นการศึกษาในเรื่องจิตตนิยาม เพื่อเอามาโยงกับกรรมนิยาม และธรรมนิยาม

การเข้าใจความจริงของธรรมชาติ ที่จะเข้าถึงสัจจภาวะอย่างสมบูรณ์แท้จริง ย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่รู้เข้าใจกฎธรรมชาติทั้งหลายอย่างครอบคลุม จนมองเห็นความโยงสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียว โดยเฉพาะถ้าไม่เข้าใจตัวมนุษย์อันเป็นธรรมชาติด้านนามธรรม รวมทั้งเรื่องคุณค่าต่างๆ ในฐานะที่มนุษย์เป็นผู้ศึกษากฎธรรมชาติเหล่านั้น นักวิทยาศาสตร์ศึกษาอุตุนิยาม แต่ถ้านักวิทยาศาสตร์ไม่รู้ความจริงของตัวมนุษย์คือตนเองผู้ศึกษาอุตุนิยามนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็จะเข้าถึงความจริงแม้แต่ของอุตุนิยามนั้นอย่างสมบูรณ์ไม่ได้

ในขั้นพื้นฐาน มนุษย์อยู่ในโลกแห่งธรรมชาติแวดล้อมที่เป็นวัตถุ แต่ซ้อนกับโลกธรรมชาติภายนอกนั้นก็มีโลกของมนุษย์อีกชั้นหนึ่ง ว่าโดยจิตสำนึก มนุษย์อยู่ในโลกของมนุษย์ และโลกมนุษย์มีความหมายสำคัญ มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เด่นชัดยิ่งกว่าโลกแห่งธรรมชาติแวดล้อม การดำเนินชีวิตส่วนตัว ความคิดนึก พฤติกรรม กิจกรรมต่างๆ การสื่อสารสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน สิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ วัฒนธรรม ตลอดจนสถาบันสังคมทั้งหลาย ล้วนเกิดขึ้นมาจากเจตจำนงของมนุษย์ ที่พุทธศาสนาเรียกสั้นๆ ว่า กรรม เจตจำนงเป็นสมบัติพิเศษและเป็นอำนาจของมนุษย์ ที่ทำให้มนุษย์มีความเป็นไปดังที่ปรากฏอยู่นี้ โลกของมนุษย์จึงเป็นโลกของเจตจำนง เป็นไปตามเจตจำนง หรือเจตจำนงสร้างสรรค์บันดาลให้เป็นไป ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่าโลกแห่งกรรม ดังพุทธพจน์ที่ตรัสว่า “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก2 (โลกเป็นไปตามกรรม คือเจตจำนงที่ปรุงแต่งสร้างสรรค์) การที่จะเข้าใจโลกของมนุษย์ หรือเข้าใจเรื่องของมนุษย์ จึงจะต้องเข้าใจกฎธรรมชาติที่เรียกว่า กรรมนิยาม

เรื่องเจตจำนง เรื่องกรรม เรื่องพฤติกรรม เรื่องจริยธรรม เรื่องนามธรรม เรื่องคุณค่า เรื่องธรรมชาติภายใน เรื่องจิตใจของมนุษย์ ล้วนเป็นเรื่องของธรรมชาติ มีความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นต่อกฎธรรมชาติ มิใช่เป็นเรื่องของเทพเจ้า หรือเป็นเรื่องที่เลื่อนลอยแต่อย่างใด เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ด้วยปัญญาของมนุษย์ที่สามารถพัฒนาให้รู้เข้าใจได้

พึงสังเกตว่า พุทธศาสนาจัดจิตตนิยามกับกรรมนิยามเป็นคนละกฎต่างหากกัน แสดงว่าเรื่องจิตกับเรื่องเจตจำนงของมนุษย์ เป็นกฎธรรมชาติคนละด้านที่ศึกษาแยกกันได้ แม้ว่ากฎทั้งสองนั้นจะทำงานสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดยิ่ง อุปมาง่ายๆ เหมือนกัปตันที่ขับเรือยนต์ จิตเป็นเหมือนเรือพร้อมทั้งเครื่องจักรเครื่องยนต์ทั้งหมด เจตจำนงหรือกรรมเป็นเหมือนกัปตันที่จะชักนำพาเรือไปทำอะไรๆ ที่ไหนๆ และอย่างไร

ปรากฏการณ์อย่างเดียวกันอาจจะเกิดจากเหตุปัจจัยในกฎธรรม­ชาติคนละอย่าง และปรากฏการณ์บางอย่างเกิดจากเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติหลายอย่างทำงานอิงอาศัยกัน บุคคลหนึ่งน้ำตาไหล อาจเกิดจากถูกควันไฟรม (อุตุนิยาม) อาจเกิดจากความดีใจหรือเสียใจมาก (จิตต­นิยาม) หรืออาจเป็นเพราะปรุงแต่งความคิดในทางหวนละห้อยบีบคั้นใจตนเอง (กรรมนิยาม) บุคคลหนึ่งปวดศีรษะมาก อาจเกิดจากเนื้องอกในสมอง (พีชนิยาม) อาจเนื่องจากอยู่ในที่อากาศไม่พอ หรือร้อนเกินไป (อุตุนิยาม) หรืออาจเป็นเพราะกลุ้มใจกังวล (กรรมนิยาม) ฯลฯ

เมื่อชาวตะวันตกมาศึกษาเรื่องกรรม หรือเรื่องของเจตจำนง ก็มักจะต้องมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่อง free will (เจตจำนงเสรี) ว่า free will นั้น มีหรือไม่ ถ้ามองตามกฎธรรมชาติน่าจะต้องพูดว่า ความคิดเรื่อง free will นั้น เป็นความคิดสุดโต่ง หรือเอียงสุด ที่จริงไม่มี will ที่ absolutely free เพราะเจตจำนงก็อยู่ในกระบวนการของเหตุปัจจัย แต่ will นั้นก็นับว่า free เหมือนกัน อาจใช้คำว่า relatively free เพราะมันก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั้น ดังที่มีศัพท์ทางพุทธ­ศาสนาเรียกว่า ปุริสการ ซึ่งแต่ละบุคคลมีอำนาจคิดริเริ่ม หรือคิดเริ่มการ ให้เป็นตัวกระตุ้นในกระบวนความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่เรียกว่า กรรมนิยามนั้น ซึ่งทำให้เราถือว่าเขาจะต้องรับผิดชอบต่อผลการกระทำของตน

ความเข้าใจผิด หรือความไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง free will และเรื่องทำนองนี้ เกิดจากความเข้าใจผิดที่เนื่องกันซึ่งซ้อนลึกลงไปอีก โดยเฉพาะความหลงผิดเกี่ยวกับอัตตา หรือเรื่องตัวตน ทำให้เกิดความสับสน โดยในขณะที่กำลังพิจารณาความจริงแท้ตามสภาวะ (ปรมัตถ์) แต่ติดในความคิดเชิงบัญญัติ (สมมติ) เอาไปปนกัน ให้มีผู้ทำกับผู้รับผลการกระทำ หรือในขณะที่ความจริงมีแต่ความรู้สึก แต่ผู้พิจารณาเรื่องนี้เอาความคิดเกี่ยวกับผู้รู้สึกเข้าไปใส่ (สำนวนทางธรรมว่า มีแต่การเสวยเวทนา ผู้เสวยไม่มี) ทั้งนี้เป็นเพราะหยั่งไม่ถึงลักษณะที่เป็นอนัตตา จึงไม่สามารถมองเห็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยชัดเจนได้

ข้อพิเศษในเรื่องนี้ก็คือ พระพุทธศาสนาไม่ได้หยุดอยู่แค่ free will แต่ยังก้าวไปสู่ขั้นที่จะเป็นผู้ free of will คือ เสรีเหนือเจตจำนงด้วย ซึ่งสำเร็จด้วยการพัฒนาตนของมนุษย์ ให้ถึงขั้นชีวิตแห่งปัญญา

พึงสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ในกระบวนการพัฒนามนุษย์นั้น พุทธ­ศาสนาแยกแดนแห่งจิต กับแดนแห่งปัญญาออกจากกัน โดยที่ปัญญาที่พัฒนาแล้วจะเป็นตัวปลดปล่อยจิต ให้บรรลุอิสรภาพ เราจึงมีจิตกับเจตน์ และจิตกับปัญญา แต่นี่เป็นเรื่องของกระบวนการพัฒนามนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรพูดต่างหากในที่อื่น เดี๋ยวจะออกนอกขอบเขตไป ควรยุติเท่านี้

ความประสงค์ในที่นี้ มุ่งเพียงให้มองเห็นขอบเขตของการรู้เข้าใจธรรมชาติที่จะเข้าถึงความจริงที่แท้ หรือสัจจธรรมโดยสมบูรณ์ว่าจะต้องรู้เข้าใจเรื่องตัวมนุษย์อันเป็นธรรมชาติภายในด้านนามธรรม รวมทั้งเรื่องคุณค่าต่างๆ ให้ถึงกฎธรรมชาติของเรื่องนี้ด้วย

1อรรถกถามหาปทานสูตร, ที.อ. ๒/๓๔; วิปากุทธารกถา, สงฺคณี อ. ๔๐๘
2วาเสฏฐสูตร, ขุ.สุ. ๒๕/๓๘๒/๔๕๗
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง