พัฒนาปัญญา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

หลักการพัฒนาปัญญา1

เจริญพร รายการเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ ก็ยังอยู่ภายในหัวข้อธรรมเรื่องปัญญา

เรื่องปัญญานี้ ได้พูดมาหลายครั้งแล้ว ได้พูดถึงปัญญาในระดับของการใช้งานในชีวิตประจำวัน ในธุรกิจการงานต่างๆ และในการแก้ปัญหาทั่วๆ ไป ให้เห็นว่า ปัญญามีคุณประโยชน์อย่างไร และจะใช้อย่างไร แต่ยังมีปัญหาว่า จะสร้างปัญญา หรือทำปัญญาให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ดังนั้น ในวันนี้ ก็จะเข้ามาสู่การปฏิบัติที่เป็นเนื้อหาสาระทางธรรมมากขึ้น โดยอยากจะพูดเรื่องการเจริญปัญญา วิธีเจริญปัญญา หรือใช้ภาษาปัจจุบันก็เรียกว่า วิธีพัฒนาปัญญา

พระพุทธเจ้าตรัสหมวดธรรมไว้หมวดหนึ่ง เรียกว่า ปัญญาวุฒิธรรม แปลว่า ธรรมะเครื่องเจริญปัญญา มี ๔ หัวข้อด้วยกัน ถ้าจะเรียกง่ายๆ โดยแปลว่า หลักการพัฒนาปัญญา ก็ได้ หัวข้อทั้ง ๔ นั้น มีดังนี้

๑. การคบหาสัตบุรุษ หรือการคบคนดี เสวนาคนดี เรียกเป็นศัพท์ทางพระว่า สัปปุริสสังเสวะ (สัปปุริสะ  = สัปบุรุษ และ สังเสวะ = การเสวนา การคบหา)

๒. การฟังคำแนะนำสั่งสอนของสัตบุรุษนั้น หรือเรียกง่ายๆ ว่า ฟังธรรม ทางพระเรียกว่า สัทธัมมัสสวนะ

๓. การพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคาย หรือรู้จักคิดให้ถูกวิธี เรียกว่า โยนิโสมนสิการ

๔. การนำไปปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลัก ตามความมุ่งหมาย ตามความสัมพันธ์ที่โยงกัน ส่งผลต่อกันเป็นระบบ เรียกเป็นศัพท์ว่า ธัมมานุธัมมปฏิบัติ

ทั้งหมดนี้มี ๔ หัวข้อด้วยกัน ทบทวนหัวข้ออีกครั้งหนึ่ง

๑. สัปปุริสสังเสวะ การเสวนาสัตบุรุษ คือการคบหาคนดี

๒. สัทธัมมัสสวนะ การฟังธรรมคำสั่งสอน

๓. โยนิโสมนสิการ การพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคาย

๔. ธัมมานุธัมมปฏิบัติ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หรือการปฏิบัติธรรมให้ถูกหลัก ถูกความมุ่งหมาย ถูกระบบ

(เทียบในหลักการพัฒนาปัญญา: เสวนาสุตะจินตาภาวนา)

อาตมภาพจะอธิบายหลักทั้ง ๔ ข้อนี้โดยย่อ

ข้อ ๑ สัปปุริสสังเสวะ การคบหาคนดี หรือคบหาเสวนาสัตบุรุษ อันนี้เป็นหลักธรรมสำคัญ ที่เรามักจะเรียกว่า การคบหากัลยาณมิตร หรือการมีมิตรดี

การคบหาคนนั้น เป็นพื้นฐานเบื้องต้น ที่จะนำไปสู่ความเจริญหรือความเสื่อม ถ้าคบหาคนไม่ดี ก็พาให้ห่างไกลจากความเจริญงอกงาม ในทางตรงข้าม ก็จะนำไปสู่ความเสื่อม แทนที่จะได้ความดี ก็ได้ความชั่ว อย่างที่ท่านกล่าวว่า คบหาคนเช่นใด ก็เป็นคนเช่นนั้น

ดังที่ท่านเปรียบเทียบว่า เหมือนกับเอาใบไม้ไปห่อของ ถ้าเอาใบไม้ไปห่อของเหม็น ใบไม้นั้นก็พลอยมีกลิ่นเหม็นไปด้วย ถ้าเอาใบไม้นั้นไปห่อของหอมอย่างเช่นไม้กฤษณา ใบไม้นั้นก็พลอยมีกลิ่นหอมไปด้วย

ถ้าคบหาคนชั่ว ก็นำไปสู่ความชั่ว ความเสื่อมเสียหาย ถ้าคบหาคนดี ก็นำไปสู่ความดีงาม ความเจริญก้าวหน้า

ในทางธรรม การที่จะเจริญก้าวหน้าได้ ก็ต้องคบหาบุคคลที่ดีก่อน คนดีที่ควรคบหาเรียกว่า สัตบุรุษ ซึ่งท่านยกตัวอย่างไว้ ยอดของสัตบุรุษก็ได้แก่พระพุทธเจ้า รองลงมาก็ได้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย ตลอดจนกระทั่งพระสาวก ท่านผู้รู้ธรรม ผู้มีความรู้ ผู้ทรงคุณธรรม หรือผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ถ้าผู้ใดประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ก็เรียกว่า เป็นสัตบุรุษ (คนเก่าๆ มักเรียกว่า สัปบุรุษ)

สัปปุริสธรรม ๗ ประการนั้น ว่ากันแต่โดยหัวข้อว่า รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักบุคคล รู้จักชุมชน แต่ในโอกาสนี้ไม่มีเวลาที่จะอธิบายยาว ก็เอาแต่เพียงความหมายในที่นี้ว่า คือคบหาคนดี คนที่มีความรู้ คนที่ทรงคุณธรรม

อันนี้จะเป็นพื้นฐานเบื้องต้น ที่จะให้ได้ฟังคำแนะนำสั่งสอน และได้แบบอย่างที่ดี เพราะว่าท่านที่มีความรู้ ก็สามารถให้ความรู้ เมื่อมีการให้ความรู้ ได้รับการเล่าเรียนศึกษา ก็สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติให้สำเร็จผล ในทางพระพุทธศาสนาถือการคบหานี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ท่านเล่าเป็นนิทานชาดกก็มี

อิทธิพลของเสวนา

อย่างเรื่องลูกนกแขกเต้า ที่ท่านเล่าว่า ลูกนกแขกเต้า ๒ ตัว ตอนแรกก็อยู่ในรังเดียวกัน พอดีวันหนึ่งมีพายุใหญ่มา พัดเอารังกระจัดกระจาย ลูกนกแขกเต้า ๒ ตัว ก็พลัดกันไป ตัวหนึ่งไปตกที่อาศรมพระฤษี อีกตัวหนึ่งไปตกที่ซ่องโจร นก ๒ ตัวนี้ก็เจริญเติบโตมาในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน

ตัวที่ไปอยู่ในอาศรมของพระฤษี พระฤษีก็เลี้ยงไว้ ก็ได้อยู่ในบรรยากาศของสิ่งแวดล้อมที่ดีงาม ได้เห็นสิ่งที่ดีงาม ได้ฟังสิ่งที่ดีงาม พระฤษีท่านเกี่ยวข้องติดต่อกับใคร ใครมาหาท่าน ท่านก็ต้อนรับตามแบบของผู้ที่มีคุณธรรม มีการปฏิสันถารต้อนรับด้วยความอ่อนหวานสุภาพ นกแขกเต้าก็จำเอาคำที่ท่านกล่าวไว้ เวลาใครมาหา ก็ต้อนรับทักทายด้วยคำที่สุภาพอ่อนหวาน

ตรงกันข้าม นกแขกเต้าที่ไปตกในซ่องโจร ก็ได้ยินถ้อยคำของโจรที่พูดแต่คำหยาบคาย พูดแสดงความโหดเหี้ยมดุร้าย ใครเข้ามาในเขต ก็จะทำร้าย ก็จำติดไว้ และพูดตามไปอย่างนั้น

ทีนี้ มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งหลงทางมา ตอนแรกก็มาถึงที่ซ่องโจรก่อน หลงเข้ามาในเขตของโจรโดยไม่รู้พระองค์ กำลังเหน็ดเหนื่อย

พอประทับนั่งพักเท่านั้น นกแขกเต้าตัวที่อยู่ในซ่องโจร ขณะนั้นโจรไม่อยู่ คงจะออกไปปล้นหรือไปอะไรข้างนอก นกแขกเต้าตัวนี้ก็ต้อนรับโดยการร้องคุกคาม พูดด้วยคำหยาบคายว่า “ไอ้นี่ เป็นใคร นี่พวกเรามาๆ มาช่วยกันจับเอาไปฆ่าเสีย” อะไรทำนองนี้ เป็นคำที่น่ากลัวทั้งนั้น

พระราชาทรงได้ยินอย่างนี้ ก็สะดุ้งตกพระทัย และเห็นว่าสถานที่นี้คงจะเป็นสถานที่ไม่ปลอดภัยเป็นแน่ ก็เลยเสด็จออกจากที่นั่นไป

พระราชาเสด็จต่อไป ก็ไปเข้าเขตอาศรมของพระฤษี พอเสด็จย่างเข้าเขตอาศรมพระฤษี ก็ทรงได้ยินเสียงของนกแขกเต้าตัวที่เติบโตมาในอาศรมของพระฤษีนั้นทักทายปราศรัยว่า “โอ้! ท่านผู้เจริญ เชิญเข้ามาในที่นี้เถิด ที่นี่เป็นสถานที่ร่มเย็น เชิญมาพักผ่อน ถ้าท่านต้องการอะไร ข้าพเจ้าจะเอามาต้อนรับ” อะไรต่างๆ ทำนองนี้

พระราชาทรงได้ยินแต่เสียงอ่อนหวาน ก็สบายพระทัย แล้วก็เลยเสด็จเข้าไป จนกระทั่งได้พบพระฤษี ก็ได้รับการต้อนรับปฏิสันถารเป็นอย่างดี

เรื่องนี้ท่านเล่าไว้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างของการคบหา หรือสิ่งแวดล้อม ว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เด็กเติบโตมาในสภาพแวดล้อมอย่างไร ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น การคบหาจึงเป็นฐานเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ความเจริญหรือความเสื่อม

คนดี หรือ คนชั่ว ที่จะคบหานั้น ไม่ใช่เฉพาะเป็นคนที่พบปะพูดคุยกันเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ยังมีคนที่พูดที่แสดงตัวออกมาให้เราคบทางหนังสือ และสิ่งตีพิมพ์ที่อ่าน วิทยุ เทปที่ฟัง ทีวี วีดิโอที่ชมที่ดู เป็นต้น อีกด้วย

เมื่อคบหาสัตบุรุษ คบหาคนดีแล้ว ต่อไปก็มาสู่หลักข้อที่ ๒ คือ สัทธัมมัสสวนะ ฟังคำแนะนำสั่งสอนของท่าน

บุคคลที่อยู่กับคนที่ดีมีความรู้ ก็มีโอกาสมากที่จะรับฟังคำสั่งสอน แต่ก็ไม่แน่เสมอไป ท่านบอกว่าเหมือนทัพพี กับ ลิ้น ที่ต่างกัน

ทัพพี นั้นอยู่ในหม้อแกง แต่ไม่เคยรู้รสแกงเลย เปรียบเหมือนกับคนที่มาอยู่ใกล้บัณฑิต ใกล้นักปราชญ์ แต่ไม่รู้จักสดับตรับฟังหรือสังเกต แม้จะได้ไปบ้าง ก็เป็นเพียงสิ่งแวดล้อมประดับตัว ถ้าไม่ได้ใส่ใจฟังคำแนะนำสั่งสอน ก็ไม่ได้รู้อะไรมาก เหมือนกับทัพพีที่ไม่รู้รสแกง

นี่ต่างกับลิ้น ลิ้นนั้น ถ้าตักแกงเพียงช้อนเดียวใส่เข้าไปในปาก ก็รู้รสแกง ว่ามีรสอร่อยหรือไม่อร่อย เผ็ดเค็มเปรี้ยวอย่างไร เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า ให้ทำตนเหมือนกับลิ้นที่รู้รสแกง ไม่ให้ทำตนเหมือนกับทัพพี

เมื่อทำตัวเหมือนกับลิ้นที่รู้รสแกงแล้ว ก็เป็นอันว่าเข้าหลักที่เรียกว่า สัทธัมมัสสวนะ คือฟังคำสอนของท่านผู้รู้ด้วย

เมื่อฟังธรรม สดับคำสอนของท่านแล้ว ก็มาสู่หลักที่สามข้อต่อไป คือ โยนิโสมนสิการ รู้จักไตร่ตรองพิจารณาด้วย คือฟังอย่างเดียวไม่พอ ฟังแล้วรู้จักคิดรู้จักพิจารณา จึงจะได้ประโยชน์

อันนี้ก็มีข้อเปรียบเทียบอีก ท่านเปรียบเทียบเหมือนกับเรื่องหู หูนั้นก็มีหูคน กับหูของ หูของ อย่างหูกา หูกระทะ ก็เรียกว่าหูเหมือนกัน แต่ว่าได้แค่คนจับ ดึงเอาไป เอาไปทำโน้น เอาไปทำนี่ แล้วแต่คนจะชักพาไป ไม่เหมือนหูคน หูคนนั้นฟัง ฟังแล้ว พินิจพิจารณาด้วย รู้จักคิดว่า อันนี้มีเหตุมีผลอย่างไร เป็นสิ่งที่น่าเชื่อ น่าฟังหรือไม่ ไม่ถูกชักพาไปในความหลง

หมายความว่าหูคนนั้น จะชักพาเอาไปเหมือนอย่างหูกาหูกระทะไม่ได้ แต่รู้จักคิดรู้จักพิจารณาด้วย

การรู้จักคิดรู้จักพิจารณานี้ ก็คือการใช้โยนิโสมนสิการ การไตร่ตรองพิจารณาโดยใช้ปัญญา ว่าที่ท่านพูดมาแสดงมานั้น มีเหตุมีผลหรือไม่อย่างไร จะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ก็จะได้สืบสาวราวเรื่อง คิดแก้ไขให้ถูกจุดถูกขั้นตอน รู้จักนำความรู้มาใช้ให้ถูกจุดถูกแง่ จึงจะได้ประโยชน์ ตลอดจนรู้จักพิจารณา เช่นว่าหลักธรรมข้อนี้ ท่านกล่าวไว้นั้น มีความมุ่งหมายอย่างไร นำไปใช้ในกรณีไหนจะถูกต้อง จึงจะเกิดผลเกิดประโยชน์

การพิจารณานี้ก็มีหลายอย่าง โยนิโสมนสิการนั้น พระพุทธเจ้าแสดงไว้หลายวิธีด้วยกัน ในโอกาสนี้ อาตมภาพพูดแต่เพียงหัวข้อให้เห็นว่า การไตร่ตรองพิจารณานั้น เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เกิดประโยชน์ได้ เมื่อพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคายแล้วมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี ก็นำไปปฏิบัติได้

หมายความว่า หลักธรรมแต่ละข้อๆ นี้ มีความต่อเนื่องกัน ตอนแรกก็คบหาคนดี คบหาแล้ว ก็สังเกต สดับรับฟังคำสอน เมื่อฟังคำสอน ก็พิจารณาไปด้วย เมื่อพิจารณาจับได้ถูกแง่ถูกมุมให้เข้ากับความมุ่งหมายที่จะใช้ แล้วก็นำไปปฏิบัติ

คราวนี้ก็มาถึงข้อที่ ๔ คือการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลัก ตามความมุ่งหมาย การปฏิบัตินี้ก็สำคัญเหมือนกัน ถ้าสักว่าปฏิบัติไป บางทีก็ไม่ได้ผล เช่น คุณธรรมต่างๆ นี้ มีอยู่มากมาย ท่านสอนไว้หลากหลาย เช่น ความเพียร หรือวิริยะ

ความเพียรเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรประพฤติ แต่ถ้าเอาไปใช้โดยไม่ถูกหลักถูกเกณฑ์ บางทีความเพียรก็กลับเป็นโทษได้ อย่างน้อยก็เสียเปล่า ก็เลยจะยกตัวอย่าง เล่าเรื่องชาดกอีกเรื่องหนึ่ง ให้เห็นว่าเอาความเพียรไปใช้ไม่ถูกเรื่องถูกราว ก็ไม่ได้ผล เหนื่อยเปล่า

กาวิดน้ำทะเล ต้องเพียรแค่ไหน

มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตกาลนานมาแล้ว ที่ริมทะเลแห่งหนึ่ง ชาวบ้านเขานำเครื่องเซ่นสรวงสังเวยมาบวงสรวงพญานาค อันเป็นประเพณีของคนอินเดียสมัยนั้น เหมือนอย่างที่คนไทยสมัยนี้บางทีก็ทำคล้ายอย่างนั้น ในเรื่องนี้เขาไปเซ่นสรวงบูชาพญานาค ก็เอาเครื่องเซ่นสรวงไปวางไว้ เมื่อบูชาเสร็จแล้ว ก็ทิ้งไว้ แล้วก็พากันไป

ทีนี้ มีกาคู่หนึ่ง เป็นสามีภรรยา บินมาเห็นเครื่องเซ่นเข้า ก็ลงมากินกัน กินปลา กินเนื้อ กินขนม แล้วก็เลยกินสุราเข้าไปด้วย

กาคู่นี้กินสุราเข้าไปมากมายจนเมาได้ที่ พอเมาและอิ่มดีแล้ว ก็บินไปจับที่ชายหาด ยืนอยู่ที่ชายหาด กะว่าเดี๋ยวเราจะเล่นน้ำทะเลกันให้สนุกเลย

ตอนนั้นก็พอดีมีคลื่นขนาดปานกลางลูกหนึ่งพัดเข้ามา พอดีมาตรงกับนางกา เลยซัดเอานางกาลงทะเลไป พอลงทะเลไปแล้ว ไปเจอปลาใหญ่เข้า ปลาใหญ่ก็เลยฮุบกินนางกาเสีย

ฝ่ายนายกาก็มีความเศร้าโศกเสียใจมาก ที่นางกาถูกพัดพาลงทะเลไป ร้องไห้เศร้าเสียใจ ไปๆ มาๆ ก็เจอเข้ากับฝูงกาจำนวนมาก นายกาก็แสดงความเศร้าโศกเสียใจ กาทั้งหลายก็ถามว่า “เอ้า! ท่านเศร้าโศกเสียใจเรื่องอะไรกัน”

นายกาก็เล่าให้ฟังว่า “นี่แน่ะท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ากับภรรยามายืนอยู่ที่ชายหาด กำลังจะเล่นน้ำทะเลให้สนุกสนาน ก็พอดีโจรทะเลมาพาเอาภรรยาของข้าพเจ้าไปเสีย”

โจรทะเลในที่นี้ไม่ใช่หมายความว่า โจรที่อยู่ในทะเล แต่หมายความว่า ทะเลนั้นแหละเป็นโจร ทะเลนี้มาเอาภรรยาของนายกาไป ก็ทำหน้าที่เท่ากับเป็นโจร โจรทะเลมาเอาภรรยาของข้าพเจ้าลงทะเลไปเสียแล้ว ข้าพเจ้าก็เศร้าเสียใจเป็นอันมาก

บรรดากาทั้งหลายก็บอกว่า “โอ้! เราจะต้องช่วยกัน ก็แค่นี้ พวกเราตั้งฝูงใหญ่ คงจะช่วยกันได้หรอก น้ำทะเลแค่นี้จะต้องช่วยกันวิดให้แห้ง แล้วจะได้เอาแม่กานั้นขึ้นมา” เรียกว่าจะค้นหานางกากันแหละ ก็เลยช่วยกันวิดน้ำทะเลเป็นการใหญ่

ฝูงกานั้นแต่ละตัว ต่างก็ใช้จะงอยปากวิดน้ำทะเล วิดบ้าง ดื่มแล้ว ก็เอาไปพ่น เอาไปคายออกที่อื่นบ้าง พากันทำอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งเหน็ดเหนื่อย จะงอยปากเมื่อยล้าไปตามๆ กัน ก็ไม่สำเร็จ เพราะว่าวิดไปเท่าไรๆ ทะเลก็ไม่ยุบ พอแหว่งลงไปนิดหน่อยมันก็กลับมาเต็มอย่างเดิม

เหล่ากาเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากันเป็นอันมาก ก็ได้แต่คร่ำครวญเศร้าเสียใจถึงนางกานั้น ร้องไห้กันระงม

จนกระทั่งในที่สุด เทวดาประจำมหาสมุทรคงจะรำคาญ แล้วก็อยากจะช่วยให้กาเหล่านี้พ้นจากการร้องไห้ทุกข์โศกคร่ำครวญเสียที ก็เลยมาเนรมิตเป็นรูปที่น่าสะพรึงกลัว ขับไล่ฝูงกานั้นกระจัดกระจายไปหมด ก็เลยหมดเรื่องหมดราวกันไป

มองให้ชัด ธัมมานุธัมมปฏิบัติ สำคัญเพียงใด

ที่เล่ามานี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นหลักที่ว่า แม้แต่คุณธรรมก็จะต้องใช้ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าใช้ไม่เป็นปฏิบัติไม่ถูก ก็ไม่เป็นธัมมานุธัมมปฏิบัติ ก็ไม่เกิดผล เหมือนอย่างฝูงกาที่ใช้ความเพียรพยายามเป็นอันมาก แต่ไร้ประโยชน์ จะเห็นว่ากาฝูงนี้ มีความเพียรอย่างมาก ไม่ได้ท้อถอยเลย พากันช่วยกันวิดน้ำทะเล แต่น้ำทะเลก็ไม่รู้จักแห้ง และถ้าขืนวิดต่อไป ก็ตายเปล่า เพราะฉะนั้น ความเพียรที่ใช้ไม่ถูกที่ถูกทาง ก็ไม่สำเร็จผล

หลักธรรมเรื่องอื่น ก็เช่นเดียวกัน อย่างเรื่องสันโดษ สันโดษนี้ก็ต้องใช้ให้มาสนับสนุนความเพียร ท่านให้สันโดษ ก็เพราะว่า จะได้ไม่มัวกังวลกับเรื่องการแสวงหาความสนุกสนานบันเทิงบำรุงบำเรอตนเอง จะได้เอาเวลาและแรงงาน ที่จะใช้ในการแสวงหาความสุขสำราญการบำรุงบำเรอนั้น มาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ทำความเพียรปฏิบัติธรรมได้เต็มที่

เมื่อใช้ถูกหลักตรงความมุ่งหมาย สันโดษก็เป็นตัวหนุนการเพียรพยายามทำหน้าที่การงานเจริญกุศลธรรมที่ท่านสอนให้ไม่สันโดษ และในเวลาที่ปฏิบัตินั้น ก็มีความสุขไปด้วย

แต่ถ้าใช้ไม่ถูก ไม่รู้ความมุ่งหมาย สันโดษก็อาจกลายเป็นความพอใจชนิดที่พาให้เกียจคร้าน แล้วก็สบายด้วย เมื่อเกียจคร้านติดสุขอยู่อย่างนั้น ก็กลายเป็นคนที่ไม่ทำอะไรให้ก้าวหน้า จะปฏิบัติธรรมก็ไม่มุ่งแน่วไป จะทำอะไรก็ไม่ทำ ก็มีความสุขแบบที่ว่าไม่ดิ้นรนขวนขวาย แต่ไปเกิดปัญหาทีหลัง เพราะว่าไม่ทำสิ่งที่ควรทำไว้ ถึงเวลามีเรื่องขึ้นมา ก็เดือดร้อนตัว กลายเป็นปัญหาบีบคั้น แก้ไขได้ยาก ทำให้เกิดทุกข์

หลัก ธัมมานุธัมมปฏิบัติ นี้ แปลตามศัพท์ว่า “ปฏิบัติธรรมน้อยคล้อยแก่ธรรมใหญ่” ซึ่งต้องอธิบายกันมาก จึงจะมองความหมายออก และจะปฏิบัติได้ถูก ก็ต้องรู้เข้าใจความจริงของธรรม ที่เป็นเรื่องของธรรมดาในธรรมชาติ เช่นการที่สิ่งทั้งหลายสัมพันธ์ เป็นเหตุปัจจัยแก่กัน ข้อไหนโยงกับข้อไหน ถ้าจะให้เกิดผลอันนั้น จะต้องทำปัจจัยตัวไหนๆ บ้าง ให้พร้อมให้ครบและให้ถึงที่ ต้องจับความสัมพันธ์ให้ถูกและทำให้เต็มระบบครบกระบวน ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้เป็นหมวดๆ เป็นชุดๆ ต้องใช้ให้เต็มหมวดให้ครบชุด จึงจะออกผลที่เป็นวัตถุประสงค์

ขอพูดให้เห็นเค้าอีกนิดหนึ่ง อย่างมรรคมีองค์ ๘ จะออกผลที่หมายอันเดียว ก็เมื่อทำได้ครบทั้ง ๘ ข้อ ครบชุดเต็มหมวด ไม่ใช่ปฏิบัติข้อเดียวจะบรรลุผล โพชฌงค์ มี ๗ ข้อ ก็คือสำเร็จผลเมื่อปฏิบัติส่งผลต่อลำดับกันจนเต็มระบบครบทั้ง ๗ ข้อนั้น

บางทีที่เป็นหมวดเป็นชุดนั้น นอกจากเป็นระบบองค์รวมแล้ว ก็เป็นระบบสมดุลด้วย ถ้าขาดปัญญาแล้วปฏิบัติไม่เป็น ไม่ครบ ไม่ถูกสถานการณ์ ไม่สมดุล บางทีกลายเป็นเสียหายหรือเกิดผลร้าย เช่น ในหลักพรหมวิหาร ๔ ถึงสถานการณ์ที่พึงมีอุเบกขา ไพล่ไปมีกรุณา ก็เสีย หรือตรงข้าม ในสถานการณ์ที่พึงมีกรุณา กลับวางอุเบกขา ก็กลายเป็นร้าย ดังนี้เป็นต้น

เอาง่ายๆ ท่านให้สันโดษในวัตถุปรนเปรอ และให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม กลับไปสันโดษในกุศลธรรม ไปสันโดษในการบำเพ็ญความดีเสียด้วย แทนที่จะก้าวไปในธรรม ก็เลยเสื่อมจากธรรม แค่นี้ก็คงพอเข้าใจหลักธัมมานุธัมมปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น พึงตระหนักว่า หลักธรรมทุกข้อ มีขอบเขต มีความมุ่งหมายที่จะต้องใช้ปฏิบัติให้ถูก จนถึงเต็มระบบ ครบกระบวน อาตมภาพนำมาเล่าไว้พอเป็นตัวอย่าง

ถ้าปฏิบัติธรรมได้ถูกหลัก ถูกความมุ่งหมาย เช่น ความเพียรก็นำมาใช้ปฏิบัติ ทำสิ่งที่เราเห็นชัดว่าเป็นไปได้ ทำให้ถูกทาง หรือ สันโดษ ก็นำมาใช้เป็นเครื่องสนับสนุนความเพียรพยายามในการปฏิบัติกิจหน้าที่ของตน โดยมีจิตใจสุขสบายพร้อมไปด้วย ก็จะเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม

ว่าในแง่ของปัญญา เมื่อปฏิบัติตามหลักทั้ง ๔ ประการที่กล่าวมา เริ่มแต่การคบหาคนดีมีความรู้ ฟังคำแนะนำสั่งสอนจากท่าน นำมาพิจารณาไตร่ตรอง เลือกเฟ้นใช้ปฏิบัติให้ถูกหลัก ถูกความมุ่งหมาย ก็จะบรรลุประโยชน์สุข เป็นประโยชน์สุขส่วนตนเองเป็นเบื้องต้น และถ้านำไปใช้ในกิจการของส่วนรวม ก็จะเกิดประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมนั้นกว้างขวางยิ่งขึ้นไป แล้วก็ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในธรรมที่ตนปฏิบัติไปด้วย

ทั้งนี้เพราะว่า เมื่อนำธรรมมาปฏิบัติได้ถูกต้องแล้ว ก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจเห็นชัดขึ้นมาว่า ธรรมข้อนี้ปฏิบัติอย่างนี้แล้วจะเกิดผลอย่างนี้ๆ ปัญญาก็จะเห็นชัดผลปฏิบัติ รู้ประจักษ์ทางที่ถูกหรือผิดพลาด แล้วก็เจริญเพิ่มพูนขึ้นไปโดยลำดับ ทำให้ปฏิบัติได้ครบถ้วน  ครบ เต็ม ได้ผลจริง เพราะฉะนั้น หลักธรรมหมวดนี้ จึงได้ชื่อว่า ปัญญาวุฒิธรรม ดังที่อาตมภาพได้แสดงมา

วันนี้ ก็คิดว่า แสดงธรรมเรื่องปัญญาวุฒิธรรมแต่เพียงย่นย่อ พอได้ใจความ ก็ขอจบลงเพียงเท่านี้ ขออนุโมทนาโยม เจริญพร

1เล่าเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๒๘
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง