เจริญพร อาตมภาพเคยพูดเรื่องปัญญาไว้ และได้เล่าเรื่องอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวกับปัญญาหลายครั้ง ต่อมาก็เล่าออกไปถึงเรื่องอื่นๆ หลายครั้งแล้วเหมือนกัน คิดว่าคราวนี้จะวกกลับมาหาเรื่องปัญญาอีกที
คราวนี้ จะเล่าเรื่องตัวอย่างประกอบเกี่ยวกับการใช้ปัญญา คือว่า ปัญญานั้นใช้งานได้หลายระดับ ทั้งในระดับความเป็นอยู่ประจำวัน การทำธุระการงาน และการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่น
คราวนี้ ก็จะเอาตัวอย่างที่เกี่ยวกับการใช้งานในชีวิตประจำวันมาเล่าอีก เป็นเรื่องประเภทนิทานชาดก แสดงถึงการใช้ปัญญาเพื่อจะเอาชีวิตให้รอด ด้วยการรู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
มีนิทานชาดกเรื่องหนึ่ง เล่าเรื่องนก ๒ ชนิด คือ นกเหยี่ยว กับ นกมูลไถ นกมูลไถ เป็นนกเล็กๆ ชนิดหนึ่ง ซึ่งหากินอยู่ตามท้องนา เป็นนกที่เป็นเหยื่อของเหยี่ยวของกาได้
เรื่องนั้นเล่าว่า วันหนึ่ง ขณะที่นกมูลไถหากินอยู่ในท้องนา เหยี่ยวตัวหนึ่งได้มาโฉบเฉี่ยวเอาไป นกมูลไถนั้นได้รับความทุกข์เป็นอันมาก ระหว่างที่อยู่ในกรงเล็บของเหยี่ยวที่กำลังบินไปอยู่นั้น ก็มองเห็นความตายอยู่ข้างหน้า
แต่เพราะความที่เป็นสัตว์มีปัญญา นกมูลไถก็คิดแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าเอาตัวรอดด้วยปฏิภาณไหวพริบ จึงแต่งเป็นอุบายขึ้นมา ทำเป็นร้องคร่ำครวญบ่นเพ้อว่า
“เอ้อ! นี่เราไม่น่าเลยนะ หากินอยู่ในถิ่นของตัวดีๆ ก็ไม่เอา ออกมาเที่ยวหากินนอกถิ่นนอกแดน ก็เลยถูกเหยี่ยวมาเฉี่ยวเอาไปได้ นี่ถ้าเรายังอยู่ในถิ่นของเราละก็ อย่าว่าแต่เหยี่ยวอย่างนี้เลย ให้นกอะไรใหญ่กว่านี้ หรือเก่งกว่านี้ ก็ไม่มีทางจะทำอะไรเราได้” นกมูลไถพูดบ่นเพ้อทำนองนี้ไปเรื่อยๆ
ฝ่ายเหยี่ยว ได้ยินคำที่นกมูลไถว่ามากระทบตัวเอง คล้ายๆ ดูถูก ก็ชักฉุน จึงบอกว่า “เอ้! แกว่า ถ้าหากว่าแกอยู่ในถิ่นของแก ฉันจะทำอะไรแกไม่ได้ใช่มั้ย”
นกมูลไถ ก็บอกว่า “ฉันก็ว่าอย่างนั้นแหละท่าน”
เหยี่ยวก็เลยบอกว่า “เอ้า! ลองดูก็ได้ แกลองไปอยู่ในถิ่นของแกสิ ฉันจะเฉี่ยวให้ได้ ถ้าฉันเฉี่ยวไม่ได้ ก็ให้มันรู้ไป แกก็จะได้รอดชีวิต” นกมูลไถก็ตกลง
เหยี่ยวนั้น ด้วยความที่หยิ่งในความสามารถของตน จึงนึกไม่เท่าทันอุบายของนกมูลไถ ก็เอานกมูลไถกลับมาปล่อยที่ท้องนา และเอาไปปล่อยไว้ในที่ที่นกมูลไถบอกว่าเป็นถิ่นของตนด้วย
ธรรมดาสัตว์ที่หากินในถิ่นที่เขาเคยชิน ก็ย่อมชำนาญในที่นั้น สามารถหลบหลีกได้ดีกว่าที่จะไปหากินในถิ่นอื่น เมื่อนกมูลไถไปถึงถิ่นของตัวแล้ว ก็เตรียมพร้อมที่จะหลบหลีกเหยี่ยว ให้เหยี่ยวเฉี่ยวไม่ได้ จึงทำอุบายขึ้นไปเกาะบนก้อนดินใหญ่ๆ ก้อนหนึ่งที่สูงขึ้นมาเด่นเป็นพิเศษ เมื่อพร้อมแล้วเหยี่ยวก็โฉบลงมา
พอเหยี่ยวโฉบลงมาในกลางอากาศ ดิ่งใกล้เข้ามาจวนจะถึง นกมูลไถก็หลบลงไปในซอกดิน ฝ่ายเหยี่ยวตัวใหญ่นั้นโฉบลงมาด้วยกำลังแรงมาก แรงพุ่งทำให้ยั้งไม่ทัน เมื่อไม่มีตัวนกมูลไถอยู่บนก้อนดินใหญ่ ตัวของนกเหยี่ยวนั้นก็เลยลงมาปะทะที่ก้อนดินเต็มที่ ปรากฏว่าเหยี่ยวนั้นถึงแก่ความตายด้วยกำลังแรงโฉบพุ่งลงมาของตนเอง นกมูลไถจึงรอดชีวิต
นี้ก็เป็นนิทานชาดก ที่แสดงถึงคติธรรมในการใช้ปัญญา ถ้าหากว่ามีสติและใช้ปัญญา ก็อาจจะแก้ไขสถานการณ์ร้ายเฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นไปได้เหมือนกับนกมูลไถนี้
ในทางตรงข้าม เหยี่ยวนั้น ก็ด้วยกิเลสของตนเองที่มัวแต่นึกคิดด้วยมานะว่าเขาดูถูกเหยียดหยามตน จึงไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาว่าอาจจะเป็นอุบายของเขา รู้ไม่เท่าทัน ปล่อยให้กำลังโทสะครอบงำ ก็เลยพาตัวเองไปได้รับความทุกข์เดือดร้อนถึงแก่ความตาย นี้ก็เป็นนิทานเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงการใช้ปัญญาในระดับสามัญ
ดังที่อาตมภาพกล่าวมาแล้วว่า การใช้ปัญญานี้ ถ้าใช้ไปในทางที่ไม่ดี ก็กลายเป็นโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น แต่ถ้ารู้จักใช้ ก็คลี่คลายแก้ปัญหาให้สำเร็จได้
ดังจะเล่าตัวอย่างการใช้ปัญญาอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ใช้ปัญญานั้น ก็คงจะมีความสามารถไม่แพ้นกมูลไถเมื่อกี้ แต่จะเป็นคุณหรือโทษ ก็แล้วแต่ว่าจะใช้ถูกหรือไม่
จึงขอเล่าอีกเรื่องหนึ่ง:
มีเรื่องเล่ามาเกี่ยวกับพ่อค้าสองคน เป็นพ่อค้าบ้านนอกกับพ่อค้าชาวกรุง
พ่อค้าบ้านนอกคนหนึ่งเข้ามาค้าขายในกรุง นำเอาผาลไถมาฝากไว้ที่บ้านของพ่อค้าชาวกรุง จำนวน ๕๐๐ อัน เมื่อฝากไว้แล้วก็ไปทำธุระอย่างอื่น ต่อมาเป็นเวลานาน ก็กลับมาที่บ้านของพ่อค้าชาวกรุงนั้น เพื่อทวงเอาผาลไถกลับคืน จะได้เอาไปค้าขายต่อ
ฝ่ายพ่อค้าชาวกรุงนั้นได้นำเอาผาลไถ ๕๐๐ อัน ไปขายเอาเงินหมดแล้ว เมื่อเขามาทวง ตัวเองก็ไม่มีจะให้ นึกอะไรไม่ทันก็เลยบอกว่า “หนูมันกินหมดแล้ว หนูกินผาลไถหมด”
ฝ่ายพ่อค้าชาวบ้านนอก เมื่อเขาบอกว่าอย่างนั้น ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ของมันไม่มีจะให้แล้ว ก็หมดทาง แต่คิดแค้นอยู่ในใจว่าจะต้องหาทางแก้เผ็ด
วันหนึ่งจึงมาชวนลูกชายเล็กๆ ของพ่อค้าชาวกรุงไปเที่ยวเล่น บอกว่า จะพาไปอาบน้ำ ไปเล่นน้ำในแม่น้ำ พอไปแล้ว ก็กลับมาคนเดียว ฝ่ายพ่อค้าชาวกรุงก็ถามว่า “อ้าว! ลูกฉันไปไหนล่ะ ไม่เห็นกลับมาด้วย”
พ่อค้าบ้านนอกก็ตอบว่า “โอ้! ต้องเสียใจด้วย ระหว่างที่ผมไปอาบน้ำ เล่นน้ำอยู่นั้นน่ะ ลูกของคุณถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป” ว่างั้น
ฝ่ายพ่อค้าชาวกรุงก็ค้านขึ้นว่า “เป็นไปไม่ได้ ลูกฉันตัวแค่นี้ เหยี่ยวมันจะมาเฉี่ยวไปได้ยังไง เหยี่ยวมันตัวเล็กนิดเดียว”
พ่อค้าชาวบ้าน ก็ว่า “ไม่ทราบซิครับ เหยี่ยวมันเฉี่ยวไปแล้ว ผมก็ทำอะไรไม่ได้”
พ่อค้าชาวกรุงก็เลยไปฟ้องเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ที่สมัยนั้นเขาเรียกว่า มหาอำมาตย์ คือเจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมนั่นเอง ให้ช่วยตัดสินคดี โดยเล่าให้ฟังว่า นายคนนี้พาลูกของตนไปอาบน้ำ แล้วก็ทำให้ลูกของตนหายไป เขาบอกว่าเหยี่ยวเฉี่ยวเอาไป ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ขอให้ช่วยตัดสินด้วย
ฝ่ายพ่อค้าชาวบ้านก็เล่าให้ฟังบ้างว่า “ผมก็เคยได้นำเอาผาลไถ ๕๐๐ อัน มาฝากไว้ที่บ้านของพ่อค้าชาวกรุงคนนี้ เสร็จแล้วเขาก็ทำหายหมด ก็คงจะโกงเอาไปนั่นแหละ แล้วเขาก็บอกว่าถูกหนูกินหมด ผมก็ขอให้ท่านช่วยตัดสินคดีให้ด้วย”
ฝ่ายอำมาตย์นั้นก็รู้เท่าทันว่า อันนี้ต้องเป็นเรื่องโกงกันแน่ๆ ถ้าหากว่าพ่อค้าคนแรกโกงเขาไป โดยใช้อุบาย บอกในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ฝ่ายนี้เขาก็ทำโดยอ้างสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน ก็เลยบอกว่า
“เออ! ถ้าหากว่าหนูมันกินผาลไถได้ เหยี่ยวมันก็เฉี่ยวเด็กไปได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านจงเอาผาลไถมาคืนเขาเสียเถิด เขาก็จะเอาลูกมาคืนท่านเอง”
ถึงตอนนี้ พ่อค้าชาวกรุงก็เลยหมดทางไป ต้องยินยอม ต้องไปซื้อหาผาลไถเอากลับมาคืน หรือชดใช้ค่าเสียหาย แล้วพ่อค้าชาวบ้านนอกนั้นจึงนำเด็กมาคืนให้ เรื่องก็จบลงไป
นี้ก็เป็นเรื่องของการใช้ปัญญา การใช้ปัญญาที่สำคัญในกรณีนี้ก็คือผู้ตัดสินคดี ซึ่งจะต้องรู้เท่าทันว่าอะไรเป็นอะไร เพื่อจะตัดสินคดีให้ได้ผลโดยยุติธรรม
นี้ก็เป็นตัวอย่างต่างๆ ซึ่งในนิทานชาดกท่านเล่าไว้มากมายหลายเรื่อง เพื่อแสดงถึงการใช้ปัญญา พร้อมทั้งคติธรรมต่างๆ เพื่อสอนให้คนเราใช้ปัญญาในทางที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง เช่น ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นต้น และทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ในการช่วยเหลือสงเคราะห์ ไม่ใช้ไปในทางเสียหายเป็นโทษ หรือเบียดเบียนกัน
อาตมภาพคิดว่า วันนี้ ก็ได้เล่านิทานประกอบไว้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องคุณธรรมในหัวข้อว่าปัญญา พอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติเพียงเท่านี้ เจริญพร