พัฒนาปัญญา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ฉลาดไม่เข้าเรื่อง พาให้วอดวาย1

เจริญพร วันนี้อาตมภาพก็ว่าจะพูดเรื่องปัญญาต่อ ปัญญานั้นเป็นเรื่องกว้างขวางลึกซึ้งมาก มีหลายระดับด้วยกัน และก็ใช้งานได้ทุกระดับด้วย ตั้งแต่กิจธุระสามัญประจำวันไปจนกระทั่งการปฏิบัติธรรมถึงขั้นบรรลุมรรคผล

เป็นพระพุทธเจ้า ก็เป็นด้วยปัญญา เพราะคำว่า พุทธะ ก็แปลว่าผู้ตื่นแล้ว หมายถึงว่ามีปัญญา ตื่นจากโมหะ ตื่นจากความมืด หรือคำว่าโพธิ ก็หมายถึงปัญญาเหมือนกัน

นี่ก็เป็นเรื่องของปัญญา ซึ่งมีระดับต่างๆ มากมาย

สำหรับวันนี้ อาตมภาพคิดว่า จะเล่าแทรกเรื่องเบาๆ ให้เห็นว่าปัญญาที่นำมาใช้ในระดับต้นๆ ในกิจธุระธรรมดา แม้จนกระทั่งในการแข่งขันต่อสู้ ชิงไหวชิงพริบกันนั้น เป็นอย่างไรจะได้เอามาเทียบ แล้วทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องปัญญาโดยทั่วๆ ไป

สำหรับเรื่องที่จะเอามาเล่าแทรกวันนี้ ก็เอามาจากนิทานชาดก

ท่านเล่าให้ฟังว่า นานมาแล้ว มีคนสวนคนหนึ่งของพระราชา ทำหน้าที่รักษาพระราชอุทยาน อยู่มาวันหนึ่ง มีงานนักขัตฤกษ์ เขาก็อยากจะไปเที่ยวเล่นบ้าง แต่เขาจะละทิ้งสวนไปไม่มีคนดูแล ก็ไม่ได้

เขานึกขึ้นมาว่า ในสวนของเรานี่มีลิงอยู่ฝูงหนึ่ง พอจะช่วยงานได้ ในระหว่างที่เราไม่อยู่นี่ เราจะมอบภาระเรื่องการดูแลสวนให้ลิงช่วยจัดการ เพราะว่าการดูแลในที่นี้ก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่คอยรดน้ำต้นไม้เท่านั้นเอง

คนสวนคิดอย่างนั้นแล้ว ก็เรียกลิงจ่าฝูงมา แล้วก็บอกว่า “นี่นะ เธอทั้งหลาย บรรดาฝูงลิงก็ได้อาศัยสวนนี้เป็นที่อยู่สบายมานานแล้ว นี่ฉันจะให้ช่วยรับภาระดูแลสวนสักวันหนึ่งจะได้ไหม? ฉันจะเข้าไปธุระในเมืองไปดูการละเล่น ช่วยรดน้ำให้ที พาฝูงลิงทั้งหมดนี้ เอาน้ำมารดต้นไม้ในสวน”

ลิงจ่าฝูงก็บอกว่า “ได้จ้ะ” นายคนสวนก็เลยไปจัดการเอาพวกกระป๋องและถังน้ำมารวมไว้ให้

สั่งการเรียบร้อยดีแล้ว คนเฝ้าสวนของพระเจ้าแผ่นดินก็ไปเที่ยวเล่นในเมือง

ฝ่ายจ่าฝูงลิง ถึงเวลาที่จะรดน้ำต้นไม้ ก็บอกกับพวกลูกน้องลิงทั้งหลาย สั่งว่า “นี่พวกเราช่วยกันเอาถังน้ำเหล่านี้ไปตักน้ำในสระในแม่น้ำนั่นมารดต้นไม้”

บรรดาลิงทั้งหลายก็พากันฉวยเอาถังน้ำบ้างกระป๋องน้ำบ้าง และก็จะเริ่มไปตักน้ำมารดต้นไม้ตามคำสั่ง

แต่แล้วจ่าฝูงลิงก็บอกว่า “หยุด หยุด! หยุดก่อน หยุดก่อน! พวกเราต้องใช้น้ำอย่างประหยัด เราจะทำอย่างไรจึงจะใช้น้ำอย่างประหยัด เราก็ต้องดูว่า ต้นไม้ต้นไหนต้องการน้ำมาก ต้นไหนต้องการน้ำน้อย แล้วรดให้พอดี ต้นไหนต้องการน้ำมาก เราก็รดน้ำมาก ต้นไหนต้องการน้ำน้อย ก็รดน้ำน้อย

“แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ต้นไหนต้องการน้ำมาก ต้นไหนต้องการน้ำน้อย ก็ต้องรู้ว่าต้นไหนรากยาว ต้นไหนรากสั้น ต้นไหนรากยาว ก็แสดงว่าต้องการน้ำมาก ต้นไหนรากสั้น ก็ต้องการน้ำน้อย เพราะฉะนั้น เรามาแบ่งงานกันนะ ลิง ๒ ตัว ตัวหนึ่งก็ดูรากต้นไม้ ตัวหนึ่งก็ไปเอาน้ำมารด”

ว่าแล้วก็ให้ลิงแบ่งงานกันเป็นคู่ๆ ลิงทั้งหลายก็ทำตาม ลิงตัวหนึ่งก็รออยู่ที่ต้นไม้ ลิงอีกตัวหนึ่งก็ไปตักน้ำมา พอจะรด ลิงตัวที่อยู่ที่ต้นไม้ก็ถอนต้นไม้ขึ้นมาดูราก บอกว่า “ต้นนี้รากยาว” แล้วก็ใส่กลับลงไปในดิน ลิงอีกตัวหนึ่งก็รดน้ำมาก เสร็จแล้วก็ไปถอนต้นอื่นดู บอกว่า “อ้าว! ต้นนี้รากสั้น” แล้วก็รดน้ำน้อย

ทำอย่างนี้จนกระทั่งหมดสวน ปรากฏว่าต้นไม้ในพระราชอุทยานตายหมด

นี่ก็เป็นเรื่องของปัญญาลิง แสดงว่าลิงตัวนี้มีปัญญามาก แต่ว่าปัญญาไม่พอดี จะว่าปัญญาเกินไปหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ คิดไปข้างเดียว จะเห็นว่ามันฉลาดนะ มันเข้าใจคิด รู้จักคิดว่า ต้นไม้นี่ต้องการน้ำไม่เท่ากัน กินน้ำมากบ้าง กินน้ำน้อยบ้าง แล้วแต่รากยาว หรือรากสั้น อะไรอย่างนี้ ก็คิดเป็นเหตุเป็นผล

แต่เหตุผลของลิงนี่มันไม่พอดี ไม่เต็ม ไม่ครบแง่ด้าน ก็เลยกลายเป็นโทษ

ดังนั้น จึงได้มีพุทธภาษิตสอนว่า “คนฉลาดไม่เข้าเรื่อง หรือฉลาดไม่เป็นเรื่อง ก็เหมือนลิงเฝ้าสวน ตัวนึกว่าจะทำประโยชน์ แต่กลับทำให้เสียหาย ทำลายประโยชน์ ไม่ทำให้เกิดความสุข” คือทำให้เกิดโทษ กลายเป็นการทำลาย (ดูพุทธภาษิตที่ ขุ.ชา.๒๗/๔๖/๑๕)

เพราะฉะนั้น การใช้ปัญญาจึงต้องระมัดระวังเหมือนกัน อาจจะมีการผิดพลาด โดยเข้าใจว่า เรานี้ใช้ปัญญาหรือเรามีปัญญามากแล้ว แต่ปัญญาของเรานั้นอาจจะมีจุดบกพร่อง มีแง่ที่ไม่สมบูรณ์ หรือใช้ผิดพลาด ทำให้เกิดโทษเกิดความเสียหายขึ้นมามากมาย นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง

ขอเล่าอีกเรื่องหนึ่ง:

ฉลาดแก้กล พาให้พ้นอันตราย

คราวนี้ก็เป็นเรื่องลิงเหมือนกัน ลิงนั้นมีชื่อมากในบรรดาสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นสัตว์ที่ฉลาด ทีนี้ลองมาดูกันว่าลิงอีกตัวหนึ่งจะทำให้เกิดเรื่องเสียหายหรือไม่

มีเรื่องในชาดกอีกแหละ เล่าว่า ที่แม่น้ำสายหนึ่ง มีจระเข้ผัวเมียคู่หนึ่ง อยู่มาจระเข้ตัวเมียเกิดแพ้ท้อง ก็บอกแก่จระเข้ตัวผัวว่า “ฉันแพ้ท้อง อยากจะกินหัวใจลิง”

จระเข้ตัวผัวก็คิดว่า เอ! เราจะทำอย่างไรดี เราจะต้องหาทางช่วยให้จระเข้ตัวเมียนี้ได้กินหัวใจลิง ในที่สุดก็คิดอุบายขึ้นมาได้

พอคิดอุบายได้แล้ว จระเข้ก็โผล่ขึ้นมาจากพื้นน้ำ แล้วว่ายเข้าไปที่ริมตลิ่ง ไปคุยกับลิงตัวหนึ่ง บังเอิญไปเจอตัวที่ฉลาด จระเข้ก็ทักทายลิง บอกว่า “นี่ท่านอยู่ที่นี่คงจะสบายดีนะ หากินได้ดีไหม”

ลิงก็บอกว่า “ต้นไม้แถวนี้ ลิงมันมาก แย่งกันกิน จนผลไม้เหลือน้อย รู้สึกจะขาดแคลนมากสักหน่อย หากินยาก”

จระเข้บอกว่า “นี่นะ ข้าพเจ้าเที่ยวไปในน่านน้ำนี้ เดี๋ยวก็มาฝั่งนี้ เดี๋ยวก็ไปฝั่งโน้น ข้าพเจ้าได้เห็นที่ฝั่งโน้น ฝั่งตรงข้ามนะ ต้นไม้มีผลไม้ดกเหลือเกิน ถ้าท่านได้ไปอยู่ที่นั่น คงจะอุดมสมบูรณ์” จระเข้พรรณนาจนกระทั่งลิงอยากจะไป

ลิงก็บอก “เอ! ฉันอยากจะไปฝั่งโน้นบ้างละ แต่ฉันไปไม่ได้ มันมีแม่น้ำกั้นอยู่ ไม่รู้จะไปยังไง”

จระเข้บอกว่า “ไม่เป็นไร ถ้าท่านอยากจะไปจริงๆ ข้าพเจ้าจะอาสาช่วยให้ท่านขี่หลังไปเลย ข้าพเจ้าจะว่ายพาไปถึงฝั่งโน้น” ลิงก็ตกลง

เมื่อตกลงกันอย่างนั้นแล้ว จระเข้ก็เข้ามาที่ฝั่ง แล้วก็ให้ลิงขึ้นหลัง จระเข้ก็ว่ายน้ำไปจนกระทั่งถึงกลางแม่น้ำ พอเห็นว่าถึงกลางแม่น้ำแล้ว จระเข้ก็มั่นใจว่าคราวนี้ได้หัวใจลิงแน่ จะเอาหัวใจลิงไปให้เมียของตนกิน ก็เลยเยาะเย้ยลิงขึ้นมาว่า “นี่ท่านเสียรู้เราแล้ว รู้ไหม เราจะเอาหัวใจของท่านไปให้เมียกิน”

ลิงก็ตกใจพูดว่า “อ้าว! ทำไมล่ะ ทำไมไม่พาข้าพเจ้าไปฝั่งโน้น” จระเข้ก็บอกว่า “เราไม่ต้องการจะพาท่านไปหรอก เราต้องการจะฆ่าท่านเอาหัวใจต่างหากล่ะ” ลิงก็ตกใจมาก

ถึงแม้ลิงจะกลัวมากก็จริง แต่เพราะมีปัญญา ก็เลยคิดอุบายซ้อนขึ้นมาในบัดนั้น บอกว่า “เดี๋ยวก่อน เดี๋ยวก่อน นี่ท่านพาข้าพเจ้ามาโดยความเข้าใจผิด ข้าพเจ้าไม่ได้เอาหัวใจติดมาด้วยหรอก เวลาข้าพเจ้าจะมาอย่างนี้ ข้าพเจ้าเอาหัวใจออกไปเก็บไว้ที่อื่นแล้ว”

จระเข้สงสัยก็ถามว่า “ท่านเอาหัวใจไว้ที่ไหนล่ะ” ลิงก็ชี้กลับไปที่ฝั่งเดิมนั้น ชี้ไปที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง มีผลไม้สีแดงๆ ก็บอกว่า “นั่นแหละหัวใจของข้าพเจ้า แขวนไว้ที่ต้นไม้นั่น เห็นไหม”

จระเข้โง่ ก็เชื่อ คิดว่า เอ! ไม่รู้จะทำอย่างไรดี มีทางจะได้กินหัวใจลิงไหมหนอ ก็บอกลิงว่า “แกจะต้องเอาหัวใจมาให้ข้าฯ ไม่งั้นข้าฯ จะฆ่าแก”

ลิงก็บอกว่า “เอ้า! ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะเอามาให้ แต่จะทำอย่างไรล่ะ ก็ต้องพาข้าพเจ้ากลับไปที่ฝั่งเดิม แล้วจะขึ้นไปเอาหัวใจมาให้” จระเข้ก็คาดคั้นบอกว่า “ต้องไปเอามานะ ไม่งั้นฉันจะฆ่าแกให้ตาย” ลิงก็รับปากรับคำดี

จระเข้ก็หันหัวกลับ ว่ายน้ำมาเข้าฝั่ง พอเข้าถึงฝั่ง พอเอาหัวเกยตื้น ลิงก็กระโดดแผล็วขึ้นหัวจระเข้ไปข้ามขึ้นฝั่ง แล้วก็ขึ้นต้นไม้ไปเลย พอขึ้นต้นไม้ไปแล้ว ก็ไปขย่มต้นไม้ร้องเยาะเย้ยจระเข้ บอกว่า “จระเข้หน้าโง่ แกเสียรู้ข้าฯ แล้ว ข้าฯ เอาหัวใจไว้ที่ต้นไม้มีที่ไหน แกอดกินข้าฯ แล้ว”

จระเข้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เสียรู้เขาแล้วก็ไม่มีทางที่จะขึ้นไปจับลิงได้ ผลที่สุดก็เลยดำน้ำหายไป

เรื่องก็จบลง อันนี้ก็เป็นการใช้ปัญญา แต่เป็นปัญญาที่ใช้ในระดับกิจธุระธรรมดาสามัญ แม้จนกระทั่งเรื่องของกิเลส ที่มาต่อสู้ชิงไหวชิงพริบกัน อาตมภาพเอามาเล่าเพื่อให้เห็นเรื่องปัญญาที่ใช้ในแง่ในระดับต่างๆ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงนำมาตรัสไว้ในชาดก เพื่อเป็นการสอนคติธรรม

แม้จะเป็นเรื่องของการใช้ปัญญาก็จริง แต่ก็มีคติธรรมอื่นๆ แทรกอยู่ด้วย

เรื่องแรก เป็นการใช้ปัญญาไม่ถูกเรื่อง หรือฉลาดไม่เป็นเรื่อง ไม่เข้าเรื่อง ซึ่งทำให้เกิดโทษได้

ส่วนเรื่องที่ ๒ เป็นพฤติกรรมของจระเข้ที่ต้องการจะทำความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น โดยใช้อุบายหลอกลวงเขา แต่คนที่ลวงเขา ก็อาจจะถูกเขาลวงตอบได้ และก็กลับได้รับทุกข์แสนสาหัส เหมือนอย่างจระเข้ตัวนี้

ส่วนคนที่รู้จักใช้ปัญญา ก็สามารถแก้ไขสถานการณ์ ทำให้หมดปัญหา ทำให้ตนเองรอดพ้นจากความทุกข์ไปได้ เหมือนอย่างลิงในเรื่องที่สองนั้น

วันนี้ อาตมภาพก็เอาเรื่องเบาๆ มาเล่าให้โยมฟัง จะค่อยๆ เล่าเรื่องปัญญาที่อาจจะลึกซึ้งขึ้นไปตามลำดับเท่าที่มีโอกาส ให้เห็นปัญญาในระดับต่างๆ ในหลายระดับ สำหรับวันนี้ ก็ได้ทั้งเรื่องปัญญาด้วย ทั้งคติธรรมที่แฝงมากับเรื่องในชาดกนั้นด้วย ก็ขออนุโมทนาโยมแต่เพียงเท่านี้ เจริญพร

1เล่าเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๒๘ (ในชุดที่ ๒ ของ “เล่าเรื่องให้โยมฟัง” ซึ่งเป็นธรรมกถาในการอนุโมทนา คณะโยมผู้ถวายภัตประจำทุกเพล ระหว่างเขียนเพ่ิมเติม บทที่ ๓ ไตรลักษณ์ ในหนังสือ พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ ตั้งแต่เข้าพรรษา ถึงขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๙)
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง