พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยจิตวิทยาแบบยั่งยืน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จะตั้งปุถุชนหรืออริยชนว่าเป็นคนมาตรฐาน

ต่อไปอีกข้อหนึ่งคือ จิตวิทยาอย่างที่เป็นอยู่นี้ เป็นแบบที่เรียกว่า ยอมรับสภาพปุถุชน หรือยอมรับสภาพจิตปุถุชนว่าเป็นสภาพปกติ หรือเป็นสภาพจิตมาตรฐาน คือเรามองว่า ถ้าคนไหนแปลกจากคนปุถุชนก็เป็นคนผิดปกติ เช่นคนเป็นโรคประสาท คนเป็นโรคจิต คนเป็นบ้า จะใช้คำว่าต่ำกว่าปกติก็ได้ คือวิปริตข้างต่ำ ไม่เหมือนกับสภาพจิตของคนธรรมดาทั่วไป แต่คนทั่วไปที่เรายอมรับเป็นมาตรฐานก็คือ ปุถุชนที่มีกิเลส มีโลภะ โทสะ โมหะนี้แหละ จิตวิทยาสมัยใหม่ถือว่า เป็นคนมาตรฐาน เป็นจิตมาตรฐาน คล้ายๆ อย่างนั้น ส่วนคนที่แปรไปจากปกติก็คือคนบ้า หรือคนที่ต่ำกว่าเกณฑ์ แม้แต่คนเก่งดีพิเศษออกไป ก็ถือว่าเป็นคนผิดปกติอีกแบบหนึ่ง

เรื่องนี้จะมีปัญหาอย่างไร? ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อยอมรับกันอย่างนี้ก็กลายเป็นว่า จุดหมายในการแก้ปัญหาของจิตวิทยาก็จะมาอยู่ตรงที่ว่า เราจะทำให้คนทั้งหลายมีสภาพจิตแค่มาตรฐานนี่ โดยถือว่าแค่นี้พอแล้ว คือให้มีสภาพจิตปุถุชน คนที่มีกิเลสมีโลภะโทสะโมหะทั่วไปนี้เราถือว่าพอแล้วเอาแค่นี้ เราจึงจะแก้ไขเฉพาะคนที่เป็นโรคประสาท คนที่เป็นโรคจิต คนที่เป็นบ้า ให้ขึ้นมาสู่สภาพจิตที่เหมือนกับคนที่เป็นปุถุชนทั้งหลายเท่านั้น เพราะว่านี่เป็นสภาพจิตมาตรฐาน

ถ้ามองอีกที ว่ากันไป คนบ้าคนเป็นโรคประสาทนี้สร้างปัญหาสร้างความเดือดร้อนแก่สังคมและโลกมนุษย์นี้น้อย คนที่ทำให้เกิดปัญหาแก่โลกมนุษย์ ที่วุ่นวายรบกัน ขัดแย้งตีรันฟันแทงยกพวกข้ามประเทศมารบ มาทำสงครามกันอะไรต่างๆ เหล่านี้ ปัญหาในโลกนี้ เกิดจากคนซึ่งมีสภาพจิตในขั้นที่เราเรียกว่าปกติ ที่จิตวิทยายอมรับนี่แหละ

สภาพจิตมาตรฐานแบบนี้ ถ้าว่าทางพระแล้วถือว่ายังเป็นปัญหา พุทธศาสนาถือเอาสภาพจิตมาตรฐานของจิตวิทยาเป็นจุดตั้งต้น แล้วพัฒนาจากจุดนี้ขึ้นไป กลายเป็นว่าจิตวิทยาสมัยใหม่พัฒนาคนหรือแก้คนจากผิดปกติ เช่นคนบ้าเป็นต้นให้มาสู่สภาพมาตรฐานของปุถุชน แต่พุทธศาสนาเริ่มจากจุดของมนุษย์ปุถุชนนี้โดยถือว่าจะต้องพัฒนาขึ้นไป สภาพจิตปุถุชนนี้ถือเป็นจุดเริ่มเท่านั้น นี้ก็เป็นข้อแตกต่างกันอย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้น จุดที่พุทธศาสนาสนใจจึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะพัฒนาปุถุชนขึ้นไปให้เป็นอริยชนหรืออารยชน เราจึงต้องพัฒนาปุถุชนนี้ขึ้นไปอีก เพื่อไม่ให้มนุษย์ปุถุชนเหล่านี้มาสร้างปัญหา ไม่มาทำสงครามกัน ไม่ให้มาเอารัดเอาเปรียบข่มเหงรังแกอะไรต่างๆ สารพัด ที่มันเกิดเป็นปัญหาในสังคมปัจจุบัน นี้ก็เป็นแง่แตกต่าง

ถ้าจิตวิทยามีความหมายและสถานะอย่างนี้ เราจะยังไม่สามารถมั่นใจว่าจะมีความยั่งยืน ในความหมายที่ว่ามันจะคงทนต่อการพิสูจน์ว่าเป็นจริง และในแง่ที่ว่าจะช่วยให้มนุษย์ได้มีชีวิตและสังคมที่ดีงาม ที่จะอยู่รอดได้ด้วยดี เราจึงต้องมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขว่าทำอย่างไรจะให้มีจิตวิทยาแบบยั่งยืนขึ้นมา

จิตวิทยาแบบยั่งยืนควรจะมีลักษณะพิเศษ ซึ่งหลายอย่างอาจจะตรงข้ามกับที่พูดมาแล้ว ซึ่งขอทวนนิดหน่อยว่า จิตวิทยาแบบยั่งยืนในความหมายที่พูดไปแล้วนั้นเป็นจิตวิทยาที่แก้ปัญหาของมนุษย์ได้ และช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงามและมีความสุขได้จริง

การที่จะเป็นอย่างนี้ก็หมายความว่า จะต้องแสดงความรู้ที่เป็นจริง ตรงตามความเป็นจริงของจิตใจและของชีวิตที่เป็นธรรมชาติ คือรู้เรื่องจิตใจอย่างแท้จริง และเมื่อรู้จริงแล้วก็ใช้ได้สำเร็จประโยชน์จริงด้วย เพราะในขั้นใช้ได้จริงนี้แม้มีความรู้แล้วบางทีใช้ไม่เป็นก็ไม่สำเร็จประโยชน์ แต่ก่อนที่จะใช้ได้ประโยชน์สำเร็จจริงอย่างน้อยก็ต้องมีความรู้จริง ถ้าไม่รู้จริง ประโยชน์นั้นก็จะไม่ถึงที่สุด ไม่เต็มที่ ไม่สมบูรณ์ คือไม่เป็นประโยชน์แท้จริง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง