ต่อไปลองดูลักษณะที่ ๒ ของจิตวิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งของยุคปัจจุบันนี้ ลักษณะอย่างหนึ่งของศาสตร์ในยุคสมัยปัจจุบันก็คือ เป็นศาสตร์ที่ชำนาญเฉพาะทาง ที่เรียกว่าเป็น specialization จิตวิทยาก็อยู่ในวงการนี้เช่นเดียวกัน
ความเป็นศาสตร์ที่ชำนาญเฉพาะทางหรือ specialized นี้ก็มีข้อดี คือ ทำให้เราได้ศึกษาลึกละเอียด แต่ในแนวทางของศาสตร์ปัจจุบันนี้ เวลาเอาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็มักจะสุดโต่งไปทางนั้นอย่างเดียว
ความจริงแล้วเรื่องของชีวิตมนุษย์ นี่เราก็เห็นชัดๆ ว่ามันเป็นระบบ ที่นิยมเรียกกันปัจจุบันว่าเป็น “องค์รวม” ทุกอย่างในชีวิตของเรานี้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่สัมพันธ์ภายในชีวิตของเราเท่านั้น ยังสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไป เรามีความเกี่ยวข้องโยงถึงด้วยทั้งหมด
ข้อสำคัญก็คือ ถ้าเราศึกษาด้านที่มองออกไปข้างนอก เราจะต้องมองหาความสัมพันธ์โยงเข้ามา เช่น ระหว่างชีวิตกับสิ่งต่างๆ ภายนอกให้ชัดเจนด้วย นี้เป็นวิธีหนึ่ง ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือศึกษาเจาะลึกลงไป ถ้าเจาะลึกลงไปในแต่ละเรื่องให้เห็นรายละเอียดให้มาก ก็ต้องไม่มองข้ามความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบด้านที่เป็นไปอยู่ตลอดเวลา
ศาสตร์ต่างๆ ปัจจุบันนี้เน้นในแง่ที่ ๒ คือการเจาะลึกลงไปในแต่ละด้าน แต่มักมองข้ามระบบความสัมพันธ์ จิตวิทยาในฐานะที่เป็นศาสตร์แบบชำนาญพิเศษ ก็มีปัญหาในเรื่องนี้ด้วย คือ ลงลึกด้านเดียว ได้รายละเอียดเก่งไปในทางนั้น แต่ในเรื่องของการเชื่อมโยงสัมพันธ์กับด้านอื่นๆ ของชีวิต ตลอดจนสังคมมนุษย์นี่ บางทีอาจจะบกพร่องไป ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าแยกขาดตัดตอนจากระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย ถ้าเกิดภาวะอันนี้ขึ้นมาแล้ว การศึกษานั้นเองก็จะมองข้ามแง่มุมบางอย่างที่ควรจะรู้ไปเสีย
ยกตัวอย่าง เมื่อเราถือจิตวิทยาเป็นศาสตร์พิเศษ ตัดขาดแยกออกมา ผู้ที่ศึกษาก็จะศึกษาในแง่ที่ว่า จิตวิทยามี ๒ สาย สายหนึ่งเป็นตัวศาสตร์ที่ศึกษาหาความจริงเรื่องจิตใจไป ส่วนอีกพวกหนึ่งก็นำไปใช้ประโยชน์เป็นอาชีพ เป็นภาคปฏิบัติ เป็นพวกนักปฏิบัติการทางจิตวิทยา สองสายนี้เดี๋ยวนี้ก็มาทะเลาะกันและมีปัญหาระหว่างกัน
ในสายที่ศึกษาแบบเป็นศาสตร์เฉพาะที่ต้องการรู้ความจริง ก็เน้นเฉพาะจุด ซึ่งทำให้แยกออกไป เช่น บางทีก็แยกแม้แต่จาก จริยธรรม แต่เรื่องทางด้านจิตใจ ย่อมสัมพันธ์กับด้านอื่นๆ ด้วย แล้วความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยก็ส่งผลย้อนกลับมา จุดที่ไปสัมพันธ์กับสิ่งอื่นแล้วส่งผลย้อนกลับมานี้ บางทีเราก็มองข้าม เพราะเราไปแยกแต่ต้นแล้ว เพราะฉะนั้นในการมองเรื่องของจิตวิทยา อย่างเช่นเรื่องการรับรู้นี้ เราต้องการดูว่าคนรับรู้อย่างไร ในการใช้ตา หู จมูก ลิ้น กายรับรู้สิ่งภายนอกนั้น เราก็จะเน้นในแง่ของการรับรู้ข้อมูล เป็นต้น แล้วก็จะเจาะดูอยู่แต่ด้านนั้น
แต่ถ้ามองกว้างแบบเป็นระบบอย่างในทางพระพุทธศาสนา ในเรื่องการรับรู้ เช่น ตาดู หูฟัง ก็จะมองว่า เวลาเรารับรู้ทางอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก เป็นต้น จะมีการทำงานพร้อมกัน ๒ อย่าง คือ
๑. รับความรู้ คือการรับรู้ที่เป็นเรื่องของข้อมูลว่า เขียว ขาว ดำ แดง ดัง เบา หวาน เปรี้ยว เป็นต้น และพร้อมกันนั้น
๒. รับความรู้สึก คือมีความรู้สึก เช่นรู้สึกเป็นสุข สบาย หรือรู้สึกทุกข์ ไม่สบาย หรือเฉยๆ
เมื่อมีความรู้สึกสุขสบาย ก็จะมีปฏิกิริยาเป็นความชอบใจ และถ้ามีความรู้สึกทุกข์ ไม่สบาย ก็จะมีปฏิกิริยาไม่ชอบใจ และเมื่อมีปฏิกิริยา เป็นความชอบใจหรือไม่ชอบใจแล้ว ก็จะมีเรื่องจริยธรรมเกิดขึ้นทันที
เพราะฉะนั้น จริยธรรมในแง่นี้เราไม่สามารถแยกออกจากจิตวิทยา แต่ถ้าเราพยายามตัดพยายามแยกตัวออกไป เราก็อาจจะมองไม่เห็นความเป็นไปเหล่านี้
ยิ่งกว่านั้น ผลในทางจริยธรรมยังแตกออกไปเป็นรายละเอียดมากโดยปฏิสัมพันธ์ทั้ง ๒ ฝ่าย หมายความว่า กระบวนการรับรู้นี้ดำเนินคู่กันไปกับกระบวนการของจริยธรรม เรียกทางพระว่า ตอนนี้เป็นเรื่อง จิตนิยาม กับ กรรมนิยาม มาทำงานด้วยกันแล้ว จึงต้องดูทั้ง ๒ สาย ว่าทางด้านจิตนิยามไปแสดงตัวทำงานในกระบวนการของกรรมนิยามอย่างไร อันนี้ยกเป็นตัวอย่าง
อย่างเรื่องของเศรษฐศาสตร์ก็เหมือนกัน เราศึกษาจิตวิทยาโดยแยกขาดออกมา ทำให้จิตวิทยาเหมือนเป็นคนละพวกกับเรื่องเศรษฐกิจและเศรษฐศาสตร์
เมื่อต่างคนต่างศึกษา ก็จะมีปมปัญหาซ้อนขึ้นมาอย่างหนึ่งกล่าวคือ เวลาเริ่มต้นศึกษา เราจะศึกษาวิชาการของเราจากฐานความคิดหรือความเชื่ออันใดอันหนึ่งก่อน และเมื่อเราตั้งอยู่บนฐานความคิดอันนั้นแล้วเราจะไม่รู้ตัวว่า ต่อจากนั้นการศึกษา การค้นคว้า การวิเคราะห์ การทดลองต่างๆ ของเรา ก็จะมองจากฐานความคิดนี้ไปหมด
นอกจากนั้น เราก็ไม่มีโอกาสไปทบทวนฐานความคิดเดิมที่เราอาศัยมัน เพราะอะไร เพราะเราเป็นศาสตร์ที่แยกไปชำนาญพิเศษเสียแล้ว เราตั้งต้นจากจุดนั้น ต่อจากนั้นเราก็ศึกษาวิเคราะห์ลึกเรื่อยไป โดยไม่รู้ตัวด้วยว่าที่เราศึกษาทั้งหมดนั้นเราตั้งอยู่บนฐานความเชื่ออะไร เช่นในแง่จิตวิทยาก็จะมีฐานความเชื่ออันหนึ่งของผู้ศึกษา ซึ่งบางทีอาจจะไม่ได้ทบทวน ยกตัวอย่างเช่น ในความสัมพันธ์กับเศรษฐศาสตร์
เศรษฐศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับวัตถุที่เอามาใช้ในการบำรุงบำเรอชีวิตของมนุษย์ สมมติว่าเราตั้งจิตวิทยาขึ้นมาศึกษาเรื่องเศรษฐกิจบนฐานความเชื่อที่ว่ามนุษย์จะมีความสุขจากการได้เสพบริโภควัตถุ ถ้าเรามีความเชื่ออันนี้เป็นจุดเริ่ม เราก็ตั้งต้นการศึกษาจิตวิทยาของเราจากฐานความคิดอันนี้ แล้วเราก็จะไม่รู้ตัวและอาจจะไม่มีโอกาสได้ทบทวนเลย คือไม่ได้ย้อนไปวิเคราะห์ตัวฐานความคิดความเชื่อนี้ว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าอย่างนี้ก็จะเป็นอันตรายเหมือนกัน เพราะทำให้
๑) อาจจะแคบ
๒) อาจจะพลาด
นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง และภาวะอย่างนี้ก็จะทำให้การศึกษาวิชาการมีอาการที่เรียกว่าเป็น static คือไม่ dynamic ทั้งๆ ที่เรานึกว่าศาสตร์ในสมัยปัจจุบันนี้ dynamic แต่พอเอาเข้าจริงแล้วมันเป็น static เสียมาก เพราะเหตุที่วิชาการต่างๆ มาเป็นแบบ specialized ก็จึงทำให้เกิดภาวะอย่างนี้ แล้วก็จะมีผลต่อการที่จะเป็นจิตวิทยาที่ยั่งยืนหรือไม่ด้วย พร้อมทั้งจะมีผลในการพัฒนามนุษย์ไปได้แค่ไหน และทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่มนุษย์อย่างแท้จริงหรือไม่
เมื่อเราตั้งแนวคิดอยู่บนฐานความเชื่อนั้น ถ้าความเชื่อนั้นเกิดผิดล่ะ เราเชื่อว่าความสุขของมนุษย์อยู่ที่การได้บำเรออินทรีย์ หมายความว่ามีวัตถุมาสนองความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วทีนี้ถ้ามันไม่แค่นี้ เราก็อาจจะทำให้มนุษย์ไม่ได้พัฒนาความสุข และไม่ได้พบความสุขอย่างอื่นอีก ซึ่งทำให้เป็นความบกพร่อง แล้วมนุษย์ก็จะไม่สามารถมีชีวิตที่ดีงามได้อย่างแท้จริง เพราะมันอาจจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ซึ่งจะต้องพิจารณาเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นด้วย เรื่องในด้านดีของจิตวิทยาปัจจุบันนั้นก็มีมาก แต่ตอนนี้เราไม่พูด เพราะกำลังพูดถึงว่า ถ้ามันจะไม่ยั่งยืน จะเป็นเพราะอะไร