พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยจิตวิทยาแบบยั่งยืน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เมื่อการศึกษาพัฒนาคนถูกทาง คนก็สุขง่ายขึ้น
สุขมากขึ้น สุขได้หลายทางขึ้น และสุขด้วยกันโดยทั่ว

เรามาดู การพัฒนามนุษย์ที่ทำให้เกิดมีการพัฒนาความสุขไปด้วย ในที่นี้จะพูดถึงความสุขสัก ๕ แบบ หรือ ๕ ประเภท

ความสุขมีมาก และมนุษย์ก็มีสิทธิและมีศักยภาพที่จะได้ความสุขอีกมากมาย แต่ทำไมเขาไม่คิดหา ที่จริงไม่ใช่คิดหา ไม่ต้องไปหา แต่สร้างมันขึ้น โดยธรรมชาติความสุขไม่ใช่สิ่งที่จะหา แต่ความสุขเป็นสิ่งที่เราจะสร้างขึ้นและมีไว้เลย ถ้าไปหาเราก็ขาดอยู่เรื่อยไป

เราสามารถสร้างความสุขได้ โดยพัฒนาความสุขขึ้นมาอย่างน้อย ๕ แบบ

ความสุขแบบที่ ๑ คือความสุขแบบสามัญที่มนุษย์ทั้งหลายต้องการและรู้จักกันมาก พอมนุษย์เกิดมาก็มีตาหูจมูกลิ้นกายติดมาด้วย ตาหูจมูกลิ้นกาย หรืออินทรีย์ที่ติดมานั้น อย่างที่บอกแล้วว่า ทำงาน ๒ อย่าง คือ รับรู้ข้อมูล พร้อมกันนั้นก็รับความรู้สึกด้วย หมายความว่าทุกครั้งที่มีการรับรู้ จะมีความรู้สึกด้วย คือ ความรู้สึกสบาย หรือไม่สบาย สุข หรือทุกข์ หรือเฉยๆ อะไรเหล่านี้

ทีนี้ความรู้สึกสุขสบายและไม่สบายเป็นทุกข์นี่มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะในที่สุดแล้วเป้าหมายของชีวิตมนุษย์จะมารวมอยู่ที่นี่ จนกลายเป็นว่า การที่มนุษย์ดำเนินชีวิตมีพฤติกรรมอะไรต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวง ก็เพื่อแสวงหาเจ้าตัวสุขที่จะมาสนองความต้องการในการบำเรอตา หู จมูก ลิ้น และกายนี้เอง ตั้งแต่คิดว่าทำอย่างไรจะให้ตาได้เห็นรูปสวย หูได้ฟังเสียงไพเราะ ลิ้นได้ลิ้มรสอร่อย กายได้สัมผัสนิ่มนุ่มซู่ซ่าซาบซ่าน และหาทางหลีกเลี่ยงสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ เพราะฉะนั้น สุขทุกข์ของมนุษย์ในชั้นต้นจึงมาอยู่ที่สิ่งเสพบำเรอตาหูจมูกลิ้นและกายสัมผัส

สิ่งเสพเหล่านี้คืออะไร ก็คือวัตถุ หรือสิ่งภายนอก ซึ่งไม่มีอยู่กับตัว จึงเป็นความสุขจากการเสพวัตถุภายนอก ความสุขชนิดนี้จึงต้องหาอย่างที่พูดเมื่อกี้ เพราะว่าวัตถุนั้นอยู่ภายนอก ต้องเกิดจากการได้และเอา เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีความสัมพันธ์กับวัตถุในลักษณะของการได้และการเอา

ในสังคมที่ยังไม่พัฒนา มนุษย์จะมีแต่ความสัมพันธ์กับวัตถุในเชิงของการที่จะได้จะเอา เพื่อจะหาความสุข และความสุขของเขาก็จะจำกัดโดยวนเวียนอยู่กับการเสพ

ทีนี้ในการหาความสุขแบบนี้ เมื่อทุกคนต่างก็จะต้องได้ต้องเอา เขาก็จะต้องแย่งกัน และเมื่อความสุขอยู่ที่การเสพวัตถุภายนอก คนจะสุขมากที่สุดเมื่อเสพมากที่สุด เพราะฉะนั้นทุกคนก็ต้องหามาให้ได้มากที่สุด เมื่อทุกคนต้องเอาให้ได้มากที่สุด นอกจากต้องแข่งขันแย่งชิงกันแล้ว ก็ยังข่มเหงครอบงำ และหาทางเอารัดเอาเปรียบกันด้วย เป็นปัญหาหลักทั้งของชีวิตและสังคม ความสุขแบบนี้เรียกว่า สุขแบบแย่งชิง คือ ถ้าคนหนึ่งได้คนหนึ่งก็เสีย คนหนึ่งสุขคนหนึ่งก็ทุกข์ ถ้าเราสุขเขาก็ทุกข์ ถ้าเขาสุขเราก็ทุกข์

ลักษณะอีกอย่างหนึ่งของความสุขแบบนี้คือ เป็นความสุขแบบขึ้นต่อวัตถุ หรือสิ่งเสพภายนอก เรียกง่ายๆ ว่า สุขแบบพึ่งพา หมายความว่า เราต้องอาศัยสิ่งเสพภายนอกนั้น จึงจะมีความสุขได้ ความสุขของเราขึ้นต่อการเสพวัตถุนั้น ความสุขของเราอยู่ที่วัตถุนั้นหรือฝากไว้กับสิ่งเสพนั้น ไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา มนุษย์ที่มีความสุขแบบนี้ ต่อไปถ้าเขาไม่พัฒนาตัวเองให้มีความสุขที่สูงขึ้นไป ชีวิตและความสุขของเขาจะขึ้นต่อวัตถุภายนอกทั้งหมด

มนุษย์จำนวนมากในโลกเป็นอย่างนี้ คือเมื่ออยู่ไปๆ ชีวิตและความสุขของตนก็ไปขึ้นกับวัตถุภายนอกหมด ถ้าขาดวัตถุที่จะเสพแล้วอยู่ไม่ได้ กระวนกระวายทุรนทุราย หาความสุขไม่ได้

ความสุขแบบที่ ๑ ของมนุษย์ทั่วๆ ไปที่ยังไม่ได้พัฒนานี้ ในเมื่อชีวิตขึ้นต่อวัตถุ และความสุขขึ้นต่อสิ่งภายนอกอย่างนี้ ก็เป็นความสุขที่ไม่เป็นอิสระ ในแง่หนึ่งก็เป็นการสูญเสียอิสรภาพ แต่โดยไม่รู้ตัวบางทีคนกลับมองว่าตัวเองเก่ง มีความสามารถในการแสวงหาและเอาชนะจัดการกับธรรมชาติได้ตามชอบใจ คิดว่าเรามี freedom ไม่ต้องขึ้นกับธรรมชาติแล้ว เราเก่ง นี่คือ freedom ในความหมายของมนุษย์บางพวก ซึ่งทำให้อารยธรรมตะวันตกมองความหมายของ freedom ในแง่ที่เป็นความหลุดพ้นจากการครอบงำของสิ่งอื่น และมีอำนาจไปจัดการกับสิ่งอื่นได้ตามความต้องการของตน เพราะฉะนั้นจึงได้มีผู้วิเคราะห์อิสรภาพหรือ freedom ในความหมายของอารยธรรมตะวันตกว่ามีนัยเชิงบุกรุกเบียดเบียนและครอบงำผู้อื่น

ถ้าเรามองความหมายของอิสรภาพอย่างนี้เราจะไม่รู้ตัวเลยว่า ในขณะที่เราแสวงหาวัตถุได้มากขึ้น และความสุขของเราขึ้นต่อวัตถุมากขึ้นนั้น ก็คือเราสูญเสียอิสรภาพ เพราะเราไม่สามารถมีความสุขด้วยตนเอง และเรื่องนี้เมื่อมาโยงกับการศึกษาก็จะมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง คือการที่มนุษย์จะสูญเสียดุลยภาพอีกข้อหนึ่งด้วย

ดุลยภาพในด้านความสุขเริ่มต้นจากที่นี่ คือ เมื่อเราคิดว่าความสุขอยู่ที่การเสพวัตถุ เราก็จะต้องมีความสามารถในการหาวัตถุให้ได้มาก ต่อมาความหมายของการศึกษาก็อาจจะเอียงหรือเขวไปโดยไม่รู้ตัว ที่ว่าการศึกษาเป็นการพัฒนามนุษย์นั้น ถึงตอนนี้ความหมายของการศึกษาจะมีนัยซ่อนและซ้อนแฝงเป็นว่า การพัฒนามนุษย์ หมายถึงการพัฒนาความสามารถในการหาสิ่งเสพบำเรอความสุข แม้จะไม่ได้จำกัดความออกมาให้ชัด แต่ลึกๆ ลงไปแล้วเหมือนกับมีความหมายอย่างนี้ จริงไหม ขอให้ลองพิจารณาดู ย้ำอีกทีว่า การศึกษา คือการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพมาบำเรอความสุข

ยังมีศักยภาพ คือความสามารถแฝงที่อาจพัฒนาให้เป็นจริงขึ้นมาได้อีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความสุขนั้น ซึ่งมนุษย์มักมองข้ามไป คือ มนุษย์มีศักยภาพที่จะมีความสุข การพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขนี้ถูกมนุษย์ส่วนมากมองข้ามไป ทั้งที่มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพนี้อยู่และสามารถพัฒนาได้

ความสามารถที่จะมีความสุขนี้ เมื่อมนุษย์ไม่พัฒนาขึ้นมา มนุษย์ก็อาจจะสูญเสียมันไป เมื่อมนุษย์สูญเสียมันไปพร้อมกับการพัฒนาความสามารถในการหาสิ่งเสพบำเรอความสุข ผลจะเกิดขึ้นอย่างไร มนุษย์ก็จะต้องหาวัตถุเสพมากยิ่งขึ้นเพื่อจะมีความสุขเท่าเดิม เพราะเขาสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข คือเขาเป็นคนสุขยากขึ้นนั่นเอง

มนุษย์จำนวนมากอยู่ในโลกนี้โดยกลายเป็นคนที่สุขได้ยากขึ้นๆ เมื่อเกิดมาใหม่ๆ ยังสุขง่ายหน่อย แต่พออยู่ไปๆ ก็สุขยากขึ้นทุกที เพราะสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข

เมื่อเขาสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุขในตัวเอง ความสุขของเขาก็ยิ่งขึ้นต่อสิ่งเสพภายนอกมากขึ้น ถึงแม้เขาจะพัฒนาความสามารถในการหาสิ่งเสพบำเรอความสุข และหาสิ่งเสพได้มากขึ้น แต่ในเมื่อความสามารถที่จะมีความสุขลดน้อยลงไป เขาก็ไม่สุขสมปรารถนาสักที เขาก็จึงต้องหาอย่างไม่รู้จักสิ้นสุด และความสุขก็หาได้มากขึ้นไม่

แต่ก่อนเขาเคยมีความสุขได้ด้วยวัตถุปริมาณเท่านี้ และด้วยแรงกระตุ้นเร้าในขีดระดับนี้ แต่ต่อมาด้วยวัตถุเท่านั้น หรือด้วยแรงกระตุ้นเร้าเท่านั้น เขาชินชาหรือเบื่อหน่ายกลายเป็นทุกข์ ไม่เป็นสุข เขาก็ยิ่งต้องหามาเสพมากขึ้นๆ และแรงขึ้นๆ เป็นกันอย่างนี้ จนกระทั่งบางคนหมดความสามารถที่จะมีความสุข ไม่ว่าจะมีวัตถุเสพมากเท่าไร ด้วยแรงกระตุ้นเร้าขนาดไหน ก็ไม่สามารถมีความสุขได้เลย แถมความทุกข์ก็ยิ่งหนัก ทั้งมากและทั้งแรงยิ่งขึ้นด้วย นี้คือการพัฒนามนุษย์ที่ขาดดุลยภาพ ข้างหนึ่งได้ แต่อีกข้างหนึ่งเสีย

ทีนี้ถ้าเราพัฒนามนุษย์ให้ถูกต้อง เราก็พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขขึ้นด้วย ตรงนี้เป็นสาระสำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษาที่จะต้องทำให้ได้ และเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการศึกษาด้วย

เพราะฉะนั้น ในแง่ความสุข การศึกษาจึงต้องพัฒนามนุษย์ ๒ ด้านพร้อมกัน

ด้านหนึ่ง คือ พัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข เช่น ด้วยทักษะวิชาชีพและศิลปวิทยาการต่างๆ และพร้อมกันนั้น

อีกด้านหนึ่ง ก็ต้อง พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วย เมื่อเราเจริญเติบโตอยู่ไปๆ ในโลก ถ้าเก่งจริง เราจะต้องเป็นคนที่มีความสุขได้ง่ายขึ้น

การปฏิบัติตามหลักธรรมในพุทธศาสนามีความหมายหนึ่งว่าเป็นการทำให้คนเป็นคนสุขง่ายขึ้น โดยที่เราจะเป็นคนที่มีความสุขได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ สุขอย่างเป็นอิสระมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความสุขอยู่ในตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งความสุขกลายเป็นชีวิตของเรา หรือเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ภายในเป็นประจำตลอดเวลา

ถ้าเราเป็นคนที่สุขได้ง่ายขึ้น และพร้อมกันนั้นเราก็มีความสามารถที่จะหาสิ่งบำเรอความสุขได้มากขึ้นด้วย แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ตอนนี้เรามีทั้ง ๒ อย่าง ไม่ได้ละทิ้งสักอย่างเลย เราพัฒนาทั้ง ๒ ด้าน

ในเมื่อความสามารถที่จะมีความสุขก็มากขึ้น เป็นสุขง่ายขึ้น และความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุขก็เพิ่มมากขึ้น ถึงตอนนี้สิ่งที่เราหามาได้เหล่านั้นก็จะเกินความจำเป็นที่จะทำให้เรามีความสุข เมื่อสิ่งที่เราหามามันเกินจำเป็นสำหรับทำให้เรามีความสุข เราก็สามารถเอาสิ่งเหล่านั้นไปเผื่อแผ่เจือจานเพื่อทำให้เพื่อนมนุษย์คนอื่นมีความสุข จึงเป็นผลดีเกื้อกูลสังคม พร้อมกันนั้นเราไม่ต้องเสพบริโภคมากมายฟุ้งเฟ้อ ก็จึงไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย

การพัฒนามนุษย์ในเชิงความสุขอย่างถูกต้องนี้ ก็จะแก้ปัญหาทั้งของชีวิต ของสังคม และของธรรมชาติแวดล้อมไปพร้อมกันทีเดียว จึงเห็นได้ว่า การพัฒนาที่ถูกต้องนี้จะทำให้ดีขึ้นด้วยกัน ทั้งชีวิตมนุษย์ส่วนตัว ทั้งสังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากที่พูดมานี้เราตัดสินได้ว่า เมื่อพัฒนาไปแล้วผลที่เกิดขึ้นจะต้องทำให้ชีวิตเองก็ดีขึ้น สังคมก็ดีขึ้น สิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้น อย่างน้อยก็อยู่ดีได้ อันนี้ถือได้ว่าเป็นมาตรฐานวัดการพัฒนาที่ยั่งยืน

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง