พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยจิตวิทยาแบบยั่งยืน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พัฒนาคุณภาพชีวิต
ด้วยจิตวิทยาแบบยั่งยืน1

หัวข้อปาฐกถานี้เป็นเรื่องที่เรียกได้ว่าใหม่ เวลานี้เป็นยุคที่อะไรต่ออะไรก็พูดว่า “แบบยั่งยืน” เป็นคำที่นิยมกันมากคำหนึ่ง ใช้กันในหลายวิชา อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ แม้แต่ในทางวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นิมนต์ไปพูด เวลาแปลเป็นภาษาอังกฤษพิมพ์เป็นหนังสือก็ใช้คำว่า Toward Sustainable Science ซึ่งแปลว่า สู่วิทยาศาสตร์ที่ยั่งยืน อะไรต่ออะไรก็จะให้เป็นเรื่องยั่งยืนไปหมด

ตอนนี้มาถึงจิตวิทยาบ้าง ก็จะมีจิตวิทยาแบบยั่งยืน ก็คงจะต้องมาตั้งคำถามกันว่า คำว่า “ยั่งยืน” นี้หมายความว่าอย่างไร ที่ว่าจิตวิทยาแบบยั่งยืนนั้น ตัวจิตวิทยายั่งยืน หรือว่าจิตวิทยามีผลที่ยั่งยืน อันนี้เป็นคำถามที่น่าสนใจ ไม่ใช่ถามกันเพื่อสนุกเท่านั้น แต่เป็นคำถามที่จะต้องหาความหมายที่แท้จริงทางวิชาการ

- ๑ -
แสวงหาจิตวิทยาแบบยั่งยืน

จิตวิทยาอย่างไร จึงจะเป็นแบบที่ยั่งยืน

การที่จะหาความหมายของคำว่า “จิตวิทยาแบบยั่งยืน” ได้ เราคงจะต้องย้อนไปดูความหมายของคำที่เขาใช้มาก่อน ซึ่งก็คงจะได้แก่คำว่า “การพัฒนาแบบยั่งยืน” นั่นเอง คำนี้คล้ายว่าจะเป็นต้นแบบ หรือตัวอย่างที่ทำให้เกิดความนิยมที่จะมีคำว่า “แบบยั่งยืน” ขึ้นมา

การพัฒนาแบบยั่งยืนคืออะไร? เป็นการพัฒนาที่ตัวมันเองยั่งยืน หรือมันมีผลที่ยั่งยืน ซึ่งเราควรจะดูความหมายตามความต้องการของผู้ที่ใช้ศัพท์นี้ด้วย ลองวิเคราะห์ความหมายที่เขาว่ายั่งยืนนี้คืออะไร

เคยลองคิดดู และพยายามหาความหมายของศัพท์ภาษาอังกฤษที่ว่า sustainable ก็พอจะได้ความทำนองว่า เป็นการพัฒนาที่ปัจจัยต่างๆ พอจะรองรับได้ หรือเป็นการพัฒนาที่จะพากันไปรอดได้ และการที่จะพากันไปรอดหรือดำรงอยู่ได้ด้วยดีนี้ ก็มีความหมายซ้อนเข้ามา

สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน จุดเน้นจะไปอยู่ที่องค์ประกอบ ๒ อย่าง คือ เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่ง และเรื่องเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง หมายความว่า เป็นการพัฒนาที่จะทำให้ทั้งสิ่งแวดล้อมก็อยู่ได้ และเศรษฐกิจก็เป็นไปด้วยดี เพราะถ้าไม่มีครบ ๒ อย่างนี้ การพัฒนาก็จะก่อปัญหาแก่มนุษย์

ในแง่สิ่งแวดล้อมอยู่ได้นั้น ตัวมันเองไม่มีปัญหาหรอก แต่ที่เป็นปัญหาก็เกิดจากพวกเราในฐานะมนุษย์นี่ต้องกินอยู่ ต้องพัฒนาให้มีความเจริญซึ่งตามปกติก็มองกันที่วัตถุหรือด้านเศรษฐกิจ และโลกที่ผ่านมาก็มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ ให้เศรษฐกิจเจริญ มีทรัพย์สินเพิ่มพูน มีสิ่งเสพบริโภคต่างๆ มั่งคั่งพรั่งพร้อม

อย่างไรก็ตาม เมื่อพัฒนากันไปและเศรษฐกิจเจริญไปได้ด้วยดี ต่อมาก็ปรากฏว่าสิ่งแวดล้อมชักจะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นตัวการสำคัญที่จะเป็นเหตุให้ต้องลุกกันขึ้นมาหาทางแก้ไขหรือเป็นตัวปัญหาก็คือว่า เศรษฐกิจก็เจริญดีหรอก แต่มันทำให้สิ่งแวดล้อมจะอยู่ไม่ได้ เมื่อสิ่งแวดล้อมอยู่ไม่ได้มันก็จะมีผลตีกลับมาทำให้มนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้ด้วย เราก็เลยจะต้องหาทางทำให้สิ่งแวดล้อมก็อยู่ได้ด้วย

ถ้าเศรษฐกิจก็เป็นได้ด้วยดี และสิ่งแวดล้อมก็อยู่ได้ ก็ถือว่านี่แหละเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

ฉะนั้นในความหมายที่เขายอมรับกันมาจึงบอกว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนคือ การพัฒนาที่สิ่งแวดล้อมก็อยู่ได้ และเศรษฐกิจก็เป็นไปด้วยดี นี่คือความหมายที่เขาต้องการ

ในเมื่อความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นอย่างนี้ ความสำคัญก็ไปอยู่ที่ด้านวัตถุ สิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องของธรรมชาติภายนอก และเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องความเจริญทางวัตถุ

วันนี้เรามาพูดถึงจิตวิทยาว่าจะให้ยั่งยืน จิตวิทยาแบบยั่งยืนนี้คงจะมีความหมายไม่ตรงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่าไรนัก เพราะการพัฒนานั้นเป็นเรื่องที่เน้นทางวัตถุ แต่จิตวิทยาเป็นเรื่องของจิตใจ เพราะฉะนั้นเราคงจะต้องให้ความหมายอย่างใหม่ ที่ไม่เหมือนกับการพัฒนาแบบยั่งยืนทีเดียว แต่ก็ต้องให้ความหมายโยงกันไปได้ เพราะว่าในที่สุดจิตวิทยาเองก็เป็นองค์ประกอบหรือเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการพัฒนาของโลกเหมือนกัน หมายความว่าเรามีวิชาจิตวิทยาขึ้นมาก็เพื่อช่วยทำให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ ในระหว่างที่มนุษย์มีการพัฒนากันไป จิตวิทยาก็จะมาช่วยส่งเสริมสนับสนุน คือมาช่วยสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนให้สำเร็จ

ถ้ามองในแง่นี้ จิตวิทยาแบบยั่งยืนก็เป็นองค์ประกอบหรือปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการพัฒนาแบบยั่งยืนนั่นเอง ซึ่งจะส่งผลช่วยทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาไปแล้ว สิ่งแวดล้อมก็อยู่ได้ และเศรษฐกิจก็เป็นไปด้วยดี

ในแง่นี้ ถ้าจิตวิทยาทำได้ ก็ถือว่าเป็นจิตวิทยาแบบยั่งยืน ในความหมายอย่างหนึ่งที่ถือว่าจิตวิทยาเป็นองค์ประกอบหรือปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการพัฒนา

อย่างไรก็ตาม เราอาจจะพิจารณาแบบอิสระก็ได้ โดยถือว่าจิตวิทยาก็เป็นวิชาการที่มีความสำคัญต่อชีวิตและสังคมมนุษย์โดยตัวของมันเอง และที่จริงจิตวิทยานี้ว่าด้วยสิ่งที่เป็นแกนของชีวิตมนุษย์ คือจิตใจ หรือแม้จะพูดในแบบสมัยใหม่ที่เน้นเรื่องพฤติกรรมก็ตาม ก็เป็นเรื่องของชีวิตของมนุษย์ ที่เป็นแกนเป็นปัจจัยหลักของการพัฒนา

การพัฒนาเป็นไปได้ด้วยมนุษย์ และมนุษย์นี่แหละเป็นผู้ทำการพัฒนาหรือดำเนินการพัฒนา จิตวิทยานี้ว่าด้วยพฤติกรรมของมนุษย์หรือชีวิตจิตใจของมนุษย์ เพราะฉะนั้นจิตวิทยาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ทีนี้ เราก็มาดูว่า โดยตัวของมันเองนั้น จิตวิทยาแบบยั่งยืนก็มีได้ ซึ่งคงจะเป็นจิตวิทยาที่ช่วยให้มนุษย์แก้ปัญหาและมีชีวิตที่ดีได้จริง คือมนุษยชาติจะดำรงอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง พูดอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นจิตวิทยาแบบที่จะช่วยให้มนุษย์ ทั้งในแง่ชีวิตและสังคมสามารถอยู่ดีมีสุขได้ยั่งยืนสืบไป ไม่แตกสลายหรือเสื่อมโทรมไป

จิตวิทยาจะเป็นอย่างที่ว่านั้นได้ ก็จะต้องดีจริงและได้ผลจริง ทั้งด้านความรู้และการนำไปใช้ประโยชน์ คือ

๑.มีความรู้ที่ถูกต้องชัดเจนถึงความจริง

๒.นำมาใช้ได้ผลเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในการที่จะช่วยให้ชีวิตและสังคมมนุษย์ดำรงอยู่ได้ด้วยดี

ถ้าอย่างนี้ก็ถือได้ว่า เป็นจิตวิทยาแบบยั่งยืน

1ปาฐกถานำ ในงานสัปดาห์วิชาการ ของภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพิธีมุทิตาสักการะ เพื่อแสดงมุทิตาจิตแก่พระธรรมปิฏก (ป. อ. ปยุตฺโต) ในโอกาสที่ได้รับถวายรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก แสดง ณ วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๘
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง