โอกาสสองด้านนี้จะต้องมาบรรจบกัน คือ มีทั้งโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพของตน ให้ชีวิตเจริญงอกงาม บรรลุประโยชน์สูงสุด และพร้อมกันนั้น ก็มีโอกาสที่จะให้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของแต่ละคน ออกไปเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือร่วมสร้างสรรค์สังคมด้วย แต่การที่จะมีโอกาสครบทั้งสองอย่างนี้หาได้ยาก และเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามนี้ เราจึงต้องมีหลักการที่สำคัญของประชาธิปไตย คือ
๑. มีเสรีภาพ ที่ฝรั่งเรียกว่า liberty หรือบางทีก็ใช้ freedom เสรีภาพนั้นเป็นเครื่องมือ เพื่อจะสร้างและใช้โอกาส คนที่มีโอกาสคือคนที่ไม่ถูกปิดกั้น แต่ก่อนนี้โอกาสไม่มี คือไม่มีเสรีภาพ เพราะถูกปิดกั้น ศักยภาพที่มีอยู่ของแต่ละคนไม่สามารถออกมาเป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม แต่ตอนนี้เรามีเครื่องมือ คือเสรีภาพมาเป็นตัวช่วยเปิดโอกาส ให้ศักยภาพของเรามีช่องทางออกไปเป็นประโยชน์ได้จริง
๒. มีความเสมอภาค ที่เราแปลจากคำว่า equality ความเสมอภาคนี้เป็นขอบเขต และเป็นเครื่องสมาน การที่จะใช้เสรีภาพต้องมีขอบเขต คือ ความเสมอภาค ที่จะไม่ล่วงล้ำก้ำเกิน ไม่ละเมิดต่อผู้อื่น และมีโอกาสที่จะใช้เสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน
พร้อมกันนั้น ความเสมอภาคไม่ใช่เป็นเพียงขอบเขต แต่ที่สำคัญคือเป็นเครื่องสมานด้วย สมานอย่างไร ก็คือความสม่ำเสมอกันในการที่จะร่วมแก้ปัญหาและร่วมสร้างสรรค์ ตรงกับคำว่า เสมอในสุขและทุกข์ ในภาษาเก่าท่านใช้คำว่า มีสุขและทุกข์เสมอกัน แปลอย่างสมัยปัจจุบันว่า “ร่วมสุขร่วมทุกข์”
การร่วมสุขร่วมทุกข์นั้นเป็นความเสมอภาคที่สำคัญ และเป็นความเสมอภาคเชิงสมาน และความเสมอภาคในแง่นี้ก็คือ ความมีสมานฉันท์ ซึ่งขอย้ำว่าเป็นหลักการที่สำคัญมาก
ความเสมอภาคนี้ ถ้ามองไม่ดีก็ทำให้เกิดการแก่งแย่งช่วงชิงกันโดยคอยระแวงและจ้องกันว่า แกอย่าเหนือข้านะ ต้องเท่ากันนะ แกจะได้มากกว่าฉันไม่ได้นะ คนนั้นได้เท่าไร ทำไมฉันไม่ได้เท่านั้น อะไรทำนองนี้ ความเสมอภาคแบบนี้ เป็นความเสมอภาคแบบแบ่งแยกและแก่งแย่ง
แต่ความเสมอภาคเชิงสมานคือ เสมอในสุขและทุกข์ ร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมในการสร้างสรรค์และแก้ปัญหา เสมอโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เสมอโดยไม่ดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามกัน เสมอโดยไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เสมอแบบนี้เป็นการเสมอแบบสมาน
คำว่าเสมอ ภาษาบาลีเรียกว่า “สมาน” อ่านอย่างบาลีว่า สะมานะ อ่านอย่างไทยว่า สะหมาน น่าสังเกตว่าคนไทยสมัยก่อน ใช้คำว่าเสมอในความหมายที่มาประสานร่วมกัน แต่ก็น่าสังเกตเช่นเดียวกันว่า ปัจจุบันนี้ ความเสมอภาคดูชักจะมีความหมายหนักไปในแง่ของความแบ่งแยกและแก่งแย่งมากกว่า
บางทีถ้าเราเห็นว่า คำว่าเสมอภาคนี้ ชักจะใช้กันในความหมายที่ไม่ค่อยดี ก็อาจจะเปลี่ยนมาใช้คำที่ตรงแท้และเข้าชุดดีกว่า คือ “สมานภาพ” แทนก็ได้
๓. ข้อที่มักจะถูกมองข้าม ไม่ค่อยพูดถึงกัน ก็คือ ภราดรภาพ ที่ฝรั่งใช้คำว่า fraternity ภราดรภาพ คือความเป็นพี่เป็นน้อง ข้อนี้เราอาจจะใช้ศัพท์อื่น ไม่จำเป็นต้องใช้ศัพท์นี้
ความจริง ในสายวัฒนธรรมของเราก็มีถ้อยคำที่ใช้กันมา ในทางพระพุทธศาสนา ท่านใช้คำว่า สามัคคี และคำว่าเอกีภาพ ที่เราใช้เป็น เอกภาพ สามัคคีหรือเอกภาพนั่นแหละเป็นความหมายที่ต้องการของ ภราดรภาพ ดังนั้นเราจะไม่ใช้คำว่าภราดรภาพก็ได้ แต่ใช้คำว่า เอกภาพ หรือใช้คำว่า สามัคคี แทน หรืออีกคำหนึ่ง ที่ใช้ในภาษาบาลีว่า สังคหะ คือ ความประสานรวมเข้ากันได้ หรือการรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ภราดรภาพ สามัคคี หรือเอกีภาพนี้ เป็นฐานและเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้การใช้เสรีภาพและความเสมอภาค เกิดผลงอกงามและสัมฤทธิ์ผลได้จริง ถ้าไม่มีภราดรภาพหรือเอกภาพแล้ว เสรีภาพและความเสมอภาคจะโน้มเอียงไปในทางที่จะทำให้คนแบ่งแยกและแก่งแย่งกัน แล้วก็เกิดปัญหา
นอกจากเป็นสภาพเอื้อแล้ว ภราดรภาพนี้ จะเป็นตัวเพิ่มพลังด้วย คือ ทำให้เกิดกำลังมากขึ้น
ดังได้กล่าวแล้วว่า การใช้เสรีภาพ และสมานภาพ/ความเสมอภาค มีจุดหมายอยู่ที่ว่าจะนำเอาศักยภาพของทุกคนออกมาร่วมกันสร้างสรรค์สังคม การทำเช่นนั้นจะได้ผลมากขึ้น เมื่อมีการประสานร่วมมือและรวมกำลังกัน ซึ่งจะทำให้เราใช้โอกาสอย่างได้ผลมากที่สุด แต่ถ้ามัวเกี่ยงงอนแก่งแย่งกันอยู่ แทนที่จะมีโอกาสสร้างสรรค์ ก็กลับจะกลายเป็นการขัดขวางและปิดกั้นโอกาสไม่ให้บรรลุประโยชน์สุขไปด้วยกัน
จุดที่ต้องการเน้น คือคำว่า ภราดรภาพ หรือ สามัคคี หรือเอกีภาพนี้ เพราะเท่าที่ผ่านมาประชาธิปไตยของเรามัวแต่เน้นกันที่เสรีภาพและความเสมอภาค ความจริงภราดรภาพก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าปล่อยให้หลบๆ แฝงๆ อยู่ ดีไม่ดีก็จะหายไปเสียเลย