กระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ประชาธิปไตย จัดสรรสังคมให้มีโอกาสสูงสุด

ต่อไปอีกแง่หนึ่งคือ การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นระบบการจัดสรรสังคมเพื่อให้เกิดโอกาสดีที่สุดในการสร้างสรรค์ ที่จะทำให้ชีวิตและสังคมบรรลุประโยชน์สุขสูงสุด สิ่งสำคัญที่ประชาธิปไตยช่วยให้เกิดขึ้น ก็คือ โอกาส

การปกครองหลายแบบมีปัญหา เพราะกลายเป็นการตัดโอกาส หรือทำให้เสียโอกาส หรือทำให้ไม่เกิดโอกาส

โอกาสนั้นมองได้หลายอย่าง แต่โอกาสสำคัญซึ่งประชาธิปไตยที่ดีจะต้องอำนวยให้มี ๒ อย่าง คือ

๑. โอกาสพัฒนาตน หรือโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคคล คือประชาชนทุกคนจะมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตน ให้ชีวิตเจริญงอกงาม บรรลุประโยชน์สุขสูงสุด

ในขณะที่ศักยภาพไม่สามารถพัฒนาได้เพราะถูกปิดกั้น บั่นรอน หรือจำกัดด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ประชาธิปไตยก็มาเอื้อโอกาสนี้ ทำให้เราได้โอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง พัฒนาชีวิต และพัฒนาศักยภาพของตน (เช่นด้วยบริการทางการศึกษา)

๒. โอกาสร่วมสร้างสรรค์สังคม คือ การที่ประชาชนเหล่านั้นแต่ละคน มีโอกาสที่จะนำเอาศักยภาพของตนออกไปร่วมสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าและประโยชน์สุขให้แก่สังคม (เช่น ด้วยการมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้ง และสมัครรับเลือกตั้ง)

การปกครองหลายแบบมีปัญหาที่เป็นข้อบกพร่องอย่างสำคัญ คือ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ได้กลายเป็นการปิดกั้นโอกาส ทำให้ความรู้ ความสามารถ ความถนัดจัดเจน สติปัญญา ที่มีอยู่ในประชาชนมากมาย แต่ละคนๆ ไม่มีโอกาสนำออกมาใช้เป็นส่วนร่วมสร้างสรรค์พัฒนาสังคม เป็นความสูญเสียโอกาสของบุคคล และเป็นการสูญเปล่าของทรัพยากรสังคม ประชาธิปไตยมาแก้ไขจุดอ่อนข้อนี้ ทำให้ศักยภาพที่มีอยู่ของบุคคลทุกคนมีโอกาสนำออกมาใช้ในการร่วมสร้างสรรค์พัฒนาสังคม

แต่ถ้าที่ใดปกครองแบบประชาธิปไตยแล้วไม่เกิดโอกาสและไม่ได้ประโยชน์จากโอกาสทั้งสองนี้ ก็เป็นเครื่องฟ้องว่าประชาธิปไตยนั้นไม่สัมฤทธิ์ผล

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง