กระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

๒. กระบวนการเรียนรู้ในระบบสื่อสัมพันธ์กับโลกทางอินทรีย์ ๖

ก) จุดแยกจากกระบวนการเสพ สู่กระบวนการศึกษา

เนื่องจากเวลาหมด จึงขอเน้นนิดเดียวว่า ระบบที่ ๒ คือเรื่องของการสื่อสัมพันธ์กับโลกทางอินทรีย์ ๖ นี่สำคัญ

อย่างที่ได้บอกแล้วว่ามนุษย์เกิดมายังไม่มีความรู้ เมื่อยังไม่มีความรู้ เมื่อไปเจออะไร เราไม่รู้ว่าคืออะไร และจะปฏิบัติต่อมันอย่างไร ก็ย่อมเกิดปัญหา คือมีความคับข้อง เกิดทุกข์ ทางแก้ไขก็คือ เราจะต้องมีความรู้ว่ามันคืออะไร และจะทำต่อมันอย่างไร

แต่เราจะรู้ได้อย่างไร ตอบว่า เรามีเครื่องมือไว้แล้ว คือ พอเราเกิดมา ก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ติดมาด้วย

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นช่องทางที่เราจะติดต่อกับโลก ถ้าเราติดต่อกับโลกเป็น เราก็ได้ข้อมูล ได้ความรู้ และสามารถพัฒนาความรู้

การเรียนรู้และความรู้เกิดที่ไหน ก็เกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่แหละ แต่จะต้องใช้เป็นด้วย เพราะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เรียกรวมๆ ว่าอายตนะ หรือ อินทรีย์ นั้นทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ

๑. รู้สึก และ เสพ

๒. รู้ และ ศึกษา หรือ เรียน

เมื่อตา หู เป็นต้นของเราเจอเข้ากับประสบการณ์ หรือสิ่งเร้าต่างๆ เช่น พอเห็นอะไรปั๊บ ด้านหนึ่งก็มีความรู้สึก คือสบายหรือไม่สบาย

พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่งก็เกิดความรู้ คือได้รับรู้ว่า มันคืออะไร เขียว แดง ขาว เหลือง ใหญ่ เล็ก กลม แบน เสียงเบา เสียงดัง เป็นต้น

ตอนแรกเมื่อรู้ยังไม่พอ ความรู้สึกมาก่อน พอรู้สึกสบายก็จะเอา แต่พอรู้สึกไม่สบาย ก็ไม่เอา จะหลีก จะหนี ความรู้สึกนี้จะมาครอบงำวิถีชีวิต โดยมุ่งที่จะหาความสุขจากสิ่งที่ชอบใจและหลีกหนีสิ่งที่ไม่ชอบใจ แล้วก็วนเวียนอยู่กับความชอบใจ-ไม่ชอบใจ และสุข-ทุกข์จากความชอบใจและไม่ชอบใจนั้น นี่คือกระบวนการทำงานของอินทรีย์ ๖ ในบุคคลที่ไม่มีการศึกษา เรียกว่า กระบวนการเสพ หรือ กระบวนการสนองความใฝ่เสพ (ที่หาความสุขจากการเสพ)

แต่พอเราเริ่มใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อการเรียนรู้ คนก็จะพัฒนาขึ้น การศึกษาก็เริ่มต้น เมื่อรู้แล้วก็อยากรู้ต่อไป คนก็จะพัฒนาความต้องการใหม่

ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่สุด คือพัฒนาความต้องการใหม่ แต่ก่อนนี้มนุษย์มีความต้องการอย่างเดียว คือต้องการเสพ ต่อมา พอรู้จักเรียนรู้ ก็เกิดความต้องการความรู้ ซึ่งเรียกว่าใฝ่รู้

เมื่อมีความต้องการก็ต้องสนอง พอสนองความต้องการได้ก็เกิดความสุข เมื่อสนองความต้องการรู้ คือสนองความใฝ่รู้ ก็ได้ความรู้และเกิดความสุขจากการเรียนรู้ นี่คือ กระบวนการเรียนรู้ หรือ กระบวนการสนองความใฝ่ศึกษา (ที่มีความสุขจากการสนองความใฝ่รู้)

จะเห็นว่ากระบวนการของชีวิตดำเนินมาโดยไม่แยกจากกัน เมื่อมี พฤติกรรม ในการเรียนรู้ จิตใจ ก็มีความสุข พร้อมกับที่ ปัญญา ก็เกิดขึ้นด้วย เราจึงพูดถึงการเรียนรู้ด้วยความสุข ซึ่งเป็นกระบวนการของการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ถ้าการเรียนรู้ดำเนินไปอย่างถูกต้อง ความสุขก็จะต้องตามมาในตัวของมันเอง

ตอนแรก เมื่อบุคคลเกิดความใฝ่รู้แล้ว การใช้อายตนะหรืออินทรีย์เพื่อการเรียนรู้ ก็จะเป็นความสุข และเมื่อเกิดความรู้แล้ว ความรู้ก็จะทำให้เกิดการแยกออกได้ระหว่างดีกับไม่ดี แล้วก็เกิดความต้องการที่จะทำให้มันดี หรือความใฝ่ดีและใฝ่ทำให้มันดี ที่เรียกว่าใฝ่สร้างสรรค์

ใฝ่รู้ ใฝ่ดี และใฝ่ทำให้มันดีนี้ เรียกง่ายๆ ว่า ใฝ่ศึกษาและใฝ่สร้างสรรค์ พอสนองความต้องการใฝ่ศึกษาก็เกิดความสุขในการเรียนรู้ และพอสนองความต้องการใฝ่สร้างสรรค์ ก็เกิดความสุขจากการทำ

พอเกิดความสุขจากการทำ ก็คือมีความสุขชนิดใหม่แล้ว คนก็จะถอยห่างหรือบางเบาจากการหาความสุขจากการเสพ ความสุขจากการเสพก็มีอิทธิพลน้อยลง คนก็จะก้าวไปในการศึกษา

เมื่อมีความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ หรือใฝ่รู้ใฝ่ดีใฝ่ทำให้ดีแล้ว ตอนนี้การเรียนรู้ก็จะดำเนินไปเอง เพราะว่ามันเริ่มตั้งต้นอย่างถูกทางแล้ว ท่านว่า กระบวนการของเหตุปัจจัยนั้น เมื่อมันตั้งต้นแล้ว มันก็จะเป็นไปเองตามเหตุปัจจัยโดยไม่ต้องไปเรียกร้อง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง