กระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การศึกษาจะพัฒนาคนได้ผล ต้องช่วยให้คนพัฒนาความต้องการ

ได้พูดแล้วว่า คุณภาพของประชาธิปไตย ขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน เพราะฉะนั้นในสังคมประชาธิปไตย จึงต้องให้คนมีการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพของคน หรือเพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพที่ดี

การพัฒนาคนถือว่าสำเร็จผลขั้นพื้นฐาน เมื่อคนพัฒนาความต้องการของเขา

ที่ว่า “พัฒนาความต้องการ” นี้ มิใช่หมายความว่าเพิ่มขนาดหรือเพิ่มกำลังของความต้องการที่มีอยู่เดิมให้มาก หรือให้แรงขึ้น แต่หมายความว่าเปลี่ยนแปลงความต้องการ ให้เกิดความต้องการอย่างใหม่ที่เป็นความเจริญงอกงามของชีวิต และทำให้ชีวิตเจริญงอกงามยิ่งขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ ที่ว่าเปลี่ยนแปลงความต้องการนั้น ก็มิใช่หมายความว่าจะต้องละเลิกความต้องการอย่างเก่าหมดสิ้น แล้วมีความต้องการอย่างใหม่เข้ามาแทนที่เลยทีเดียว แต่ให้ความต้องการอย่างใหม่เกิดเพิ่มขึ้นมาถ่วงดุลกับความต้องการพื้นฐานอย่างเก่า แล้วค่อยๆ เพิ่มกำลังมากขึ้นๆ จนกระทั่งความต้องการพื้นฐานแบบเดิมหมดพิษภัย และความต้องการอย่างใหม่ทำหน้าที่ได้โดยสมบูรณ์

ถ้าเปลี่ยนความต้องการของคนได้ ก็เปลี่ยนตัวคนนั้นได้

ความเป็นสัตว์พิเศษของมนุษย์ก็อยู่ตรงนี้แหละ คือ ธรรมชาติของมนุษย์นั้นพัฒนาได้ หรือว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่สามารถพัฒนา คือแก้ไขเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของตนเองให้ดีงามขึ้นได้ ซึ่งทำให้มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ในหมู่มนุษย์ คนที่ฝึกแล้วประเสริฐสุด” (ขุ.ธ.๒๕/๓๓/๕๗) และว่า “ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรรยา เป็นผู้ประเสริฐสุด ทั้งในหมู่มนุษย์และมวลเทวา” (ที.ปา.๑๑/๗๒/๑๐๗)

มนุษย์มีความต้องการพื้นฐานอย่างหนึ่ง ที่ติดมาโดยสัญชาตญาณ ซึ่งมนุษย์ต้องพึ่งอาศัยเพื่อปกป้องตัวในขณะที่ยังไม่มีการศึกษาที่จะอยู่ได้ด้วยปัญญา ความต้องการพื้นฐานนี้ เมื่อมนุษย์เริ่มมีการศึกษา ขณะที่ปัญญาเริ่มพัฒนา ก็จะรู้จักควบคุม ขัดเกลา จัดการ หันเบนให้เป็นปัจจัยแก่แรงจูงใจหรือคุณสมบัติที่ดีงามอย่างอื่น จนกระทั่งเมื่อสามารถเป็นอยู่ด้วยปัญญาคนก็จะเป็นอิสระจากมัน

ความต้องการประเภทนี้ ได้แก่ ความอยากได้ อยากเสพ อยากปรนเปรอ อยากอยู่รอด-ยืนยง-ยิ่งใหญ่ อยาก (ให้เกิดการ) สูญสลาย อยากทำลาย พูดสั้นๆ ว่า ความอยากที่เป็นความเห็นแก่ตัวทั้งหลาย ที่ตั้งอยู่บนฐานของอวิชชา ความต้องการประเภทนี้เรียกสั้นๆ ว่า “ตัณหา”

ส่วนความต้องการฝ่ายบวก หรือฝ่ายกุศล ที่จะต้องพัฒนาให้มีกำลังมากขึ้นๆ ด้วยการศึกษา ซึ่งจะพ่วงมา และเพิ่มพูนไปด้วยกันกับปัญญา คือความอยากรู้เข้าใจ (ความจริงของสิ่งทั้งหลาย) และความอยากทำ (สิ่งทั้งหลายให้ดีให้งาม) ที่พูดเป็นสำนวนจำง่ายว่า “ใฝ่รู้-ใฝ่ดี-ใฝ่สร้างสรรค์” ความต้องการประเภทนี้มีชื่อเป็นทางการว่า “ฉันทะ”

ความต้องการประเภทที่สองนี้ ถ้าไม่มีการศึกษา ไม่มีการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา ก็จะไม่เกิดขึ้น แม้มีศักยภาพที่จะมีได้ แต่ก็ไม่พัฒนา ความต้องการประเภทนี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ที่จะมีชีวิตที่ดีที่เจริญงอกงามและสร้างสรรค์ให้เกิดความเจริญแก่สังคม รวมทั้งการที่จะมีวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย การที่ต้องพัฒนาความต้องการประเภทนี้ จึงทำให้จำเป็นต้องมีการศึกษา

ในทางพุทธศาสนาถือว่า เมื่อใดคนมีความต้องการหรือความอยากประเภทสอง ที่เรียกว่า “ฉันทะ” นี้ เมื่อนั้น ก็เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา หรือเป็นแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม ซึ่งทำให้แน่ใจได้ว่า คนผู้นั้นจะมีชีวิตที่เจริญงอกงาม ก้าวหน้าไปในวิถีชีวิตที่ประเสริฐ และพาสังคมให้ก้าวไปในอารยธรรมแท้ ที่มิใช่เป็นเพียงนาครธรรม (civilization)

ถ้าพูดอย่างสั้นๆ ความต้องการที่พึงพัฒนานี้ มีลักษณะสำคัญ ๒ ด้าน คือ

๑. ต้องการความจริง และอยากรู้ความจริง เป็นความต้องการที่ฉลาด ประกอบด้วยวิจารณญาณ เป็นไปพร้อมด้วยปัญญา พูดสั้นๆ ว่า มีปัญญา

๒. ต้องการความดีงาม และอยากทำสิ่งทั้งหลายให้ดีให้งาม เป็นความต้องการที่ประกอบด้วยคุณธรรม เป็นเจตจำนงในทางสร้างสรรค์ พูดสั้นๆ ว่า มีเจตนาดี

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง