จัดระเบียบสังคม ตามคตินิยมแห่งสังฆะ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ถ้าปุญญัง มีปัญญามาคุมและนำหน้า
บุญก็มาครบทั้งทาน ศีล และภาวนา

จะเห็นว่า หลักธรรมเรื่อง บุญ นี้จะทำให้ได้ครบหมด คือเป็นคุณสมบัติที่ทำให้เราช่วยกันจัดชีวิตสังคมให้ดีมีคุณภาพยิ่งขึ้น ได้ทั้งส่วนตน และส่วนรวม ได้ทั้งด้านวัตถุ และทางจิตใจ หรืออีกนัยหนึ่ง ทั้งทางวัตถุ สังคม จิตใจ และปัญญา

ข้อสุดท้ายคือเรื่องปัญญา ซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด สังคมใดมีจุดหมายทางปัญญา ก็จะก้าวหน้าไปได้เรื่อยๆ ไม่รู้จักจบ จนกระทั่งทำชีวิตนี้ให้หลุดพ้นจากปัญหา หลุดพ้นจากความทุกข์ การแก้ปัญหาทั้งหมดก็แก้ได้ด้วยปัญญานี้เอง

เครื่องหมายนำหน้าที่สื่อไปถึงปัญญา ก็คือ การรู้จักคิด หรือความคิดแยบคาย ที่เรียกทางธรรมว่า โยนิโสมนสิการ

ความคิดนั้นเป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างข้อมูลความรู้ กับความเห็นความเข้าใจ ความคิดแยบคายทำให้รู้จักหาความรู้ และทำให้สามารถนำความรู้มาใช้ประโยชน์

ความคิดสำคัญที่เป็นหลัก คือ การคิดหาความรู้ กับการคิดเพื่อเอาความรู้มาใช้ประโยชน์ หรือคิดให้ได้ความรู้ กับคิดใช้ความรู้

คนมีความรู้ แต่ไม่รู้จักคิด ก็ไม่สามารถทำความรู้ให้เป็นประโยชน์ แต่คนที่คิดโดยไม่มีความรู้และไม่หาความรู้ ก็จะเป็นเพียงความคิดที่เพ้อฝันเลื่อนลอย

เมื่อคิดเพ้อฝันเลื่อนลอยแล้วมาแสดงความเห็น ก็จะเป็นความเห็นที่เหลวไหล ไร้สาระ ว่าไปแค่ตามชอบใจ-ไม่ชอบใจของตัว

โดยนัยนี้ กระบวนการพัฒนาปัญญาจึงมีการใฝ่แสวงหาความรู้เป็นเบื้องต้น มีการฝึกคิดเป็นท่ามกลาง และมีการรู้จักแสดงความเห็นเป็นปริโยสาน (ในหลายกรณีที่สำคัญ ต้องมีการปฏิบัติ ทดสอบ หรือทดลองมาเป็นเครื่องยืนยัน)

ดังนั้น ความใฝ่รู้และการรู้จักแสวงหาความรู้จึงเป็นบุพนิมิตแห่งพัฒนาการทางปัญญา ในสังคมใด คนขาดความใฝ่รู้ ไม่รักการสืบค้นหาความรู้ จะหาความเจริญงอกงามทางปัญญาได้ยาก จะเต็มไปด้วยความคิดเพ้อฝันเลื่อนลอย และการแสดงความเห็นเพียงแค่สนองความชอบใจ-ไม่ชอบใจของตนเอง

เพื่อให้มีการพัฒนาปัญญา จึงต้องมีคติว่า การแสดงความเห็นต้องคู่กับการหาความรู้ และเมื่อมีความรู้ ต้องฝึกความคิดให้แยบคาย

เมื่อเป็นอย่างนี้ การจัดระเบียบสังคม จะลงลึกและได้ผลระยะยาว จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องจัดระบบการศึกษาให้เกิดปัญญาที่แท้จริง

เวลานี้ รัฐบาลเดินหน้าในนโยบายจัดระเบียบสังคม ประชาชนก็พากันแซ่ซ้องสาธุการ เพราะสังคมของเราถูกปล่อยให้จมลงในหลุมอบายมุข จนจะฟอนเฟะ มีแต่ความย่อหย่อนอ่อนแอมัวเมาประมาท เมื่อมีการจัดระเบียบสังคมอย่างแข็งขันจริงจัง ก็หวังว่าสังคมไทยจะฟื้นตัวขึ้นมาตั้งหลักได้ เพื่อจะเดินหน้าสู่ความงอกงามรุ่งเรืองต่อไป

อย่างไรก็ตาม ระเบียบสังคมจะยืนยงยั่งยืนได้ ย่อมต้องอาศัยประชาชนเป็นคนที่พัฒนา มีคุณภาพดี โดยมีการศึกษาที่ถูกต้อง และเมื่อสังคมร่มเย็นปลอดภัย พ่อแม่ก็อยากเห็นลูกหลานเป็นคนดี มีปัญญา อยู่เป็นสุข ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยมีการศึกษาที่จัดไว้อย่างถูกต้อง ดังนั้น การจัดระเบียบสังคม จึงต้องโยงไปถึงการจัดการศึกษา

บัดนี้ การจัดระเบียบสังคม กำลังมาเข้าคู่กับการปฏิรูปการศึกษา ทำให้เกิดความหวังว่า ถ้าสองอย่างนี้ประสานกันดี ก็จะพลิกฟื้นสังคมไทย ให้ตั้งตัวขึ้นมา และก้าวหน้าไปได้

สังคมใดคนไร้ปัญญาหรือเบาปัญญา สังคมนั้นก็จะเต็มไปด้วยปัญหา แก้ปัญหาไม่ได้ หรือยิ่งทำปัญหาให้ซับซ้อนสับสน ปัญหานั้นคู่กับปัญญา ปัญหามาเพราะปัญญาไม่มี เมื่อปัญญามาปัญหาก็หมดไป

ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงได้จัดปัญญาเป็นธรรมข้อสูงสุด และด้วยเหตุนี้ บุญทั้งหลายจึงไปจบที่ปัญญา

บุญนี้ ภาษาพระใช้คำว่า ปุญฺ และใน ปุญฺ นี้ ปุญฺ ที่สูงสุดเรียกว่าปัญญา เวลาพูดแยกกันก็กลายเป็นคำคู่ เรียกว่า ปุญฺํ กับ ปญฺา

ปุญญังที่ทำอย่างถูกต้อง จะช่วยให้เราพัฒนาปัญญา และปัญญาที่พัฒนาก็ยิ่งทำให้เราก้าวหน้าในการสร้างปุญญัง

ปุญญัง กับ ปัญญา สองอย่างนี้ต้องให้มีคู่กัน ถ้าเรามีปุญญัง คือความดี แล้วมีปัญญาด้วย อย่างน้อยก็จะทำความดีที่เป็นคุณประโยชน์แท้ ไม่ทำอย่างหลงใหลงมงาย จึงงอกงามแน่

แต่ที่จริงปัญญาก็คือส่วนหนึ่งของบุญนั่นแหละ แต่เป็นส่วนยอดของบุญ ที่คอยคุม ชี้นำ และบอกทางให้ทำบุญอย่างอื่นได้ถูกต้องและก้าวหน้าไป ก็เลยแยกเอามาพูดเป็นพิเศษ

เมื่อเรามาช่วยกันทำบุญต่างๆ ด้วยปัญญาที่เจริญยิ่งขึ้น ปัญญาก็ยิ่งช่วยให้เราทำบุญได้ก้าวหน้าพัฒนามากขึ้น ดังนั้น ก็จะได้พร้อมหมด ทั้งทาน ศีล และภาวนา

เฉพาะภาวนาก็ได้ทั้งจิตใจและได้ทั้งปัญญา คือจะทำความดีอะไร ก็ทำด้วยจิตใจที่อิ่มเอิบผ่องใส และทำด้วยความรู้ความเข้าใจ มองเห็นผลว่าจะเกิดคุณค่าเป็นประโยชน์อย่างไร ยิ่งมีปัญญาเห็นผลดีมากเท่าไร จิตใจก็ยิ่งอิ่มเอิบผ่องใสมากเท่านั้น

อย่างญาติโยมมาทำบุญนี่ พอมองเห็นว่า อ้อ ทานที่เราทำนี้ จะช่วยให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้ ช่วยให้พระสงฆ์มีกำลังปฏิบัติศาสนกิจ ท่านจะได้สามารถเล่าเรียนพระธรรมวินัย นำธรรมไปเผยแผ่สั่งสอนประชาชน ประชาชนได้ฟังธรรมแล้ว ตั้งตนอยู่ในธรรม สังคมก็จะมีความสงบสุข เมื่อมองอย่างนี้ ก็เห็นว่าทานที่ถวาย มีประโยชน์กว้างขวางเหลือเกิน จิตใจก็อิ่มเอิบผ่องใส ยิ่งได้บุญยิ่งใหญ่

เมื่อปฏิบัติถูกต้อง บุญ ๓ อย่าง ทั้งหมดนี้จึงไปด้วยกัน รวมความก็คือ เมื่อญาติโยมทำบุญ ก็ได้ทั้งทาน ศีล ภาวนา ไม่ใช่ถวายแต่ทานอย่างเดียว

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง