การถวายสังฆทานนั้น เป็นการทำบุญที่ชาวพุทธนิยมปฏิบัติกันมา ถือว่าได้บุญมาก และมีความสำคัญทั้งในแง่ของพระพุทธศาสนา และในแง่วัฒนธรรมประเพณี
ในแง่วัฒนธรรมประเพณีนั้น ก็เป็นเรื่องที่สืบต่อกันมาในสังคมของเรา โดยเกิดจากการนับถือพระพุทธศาสนานั่นเอง หมายความว่าเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ตั้งอยู่บนฐานของพระพุทธศาสนา
การที่เรานิยมกันว่า การถวายสังฆทานเป็นการทำบุญที่ได้ผลมาก ก็เพราะมีพุทธพจน์ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกว่า ทานที่ถวายแก่สงฆ์นั้น มีผลมากกว่าถวายแก่บุคคล
ตามหลักธรรม จำแนกทานเป็น ๒ อย่าง คือ
๑. ทานที่ถวายแก่สงฆ์ ซึ่งในพระไตรปิฎกแท้ๆ เรียกว่า “สังฆคตา ทักขิณา” แปลว่า ของถวายที่ไปในสงฆ์ หรือทานที่ถวายอุทิศสงฆ์ (สงฺฆํ อุทฺทิสฺส ทานํ) แต่เรามาเรียกกันสั้นๆ ภายหลังว่า สังฆทาน
๒. ทานที่ถวายจำเพาะบุคคล เช่นถวายแก่ภิกษุ ก ภิกษุ ข เรียกว่า ปาฏิปุคคลิกทาน หรือเรียกตามภาษาของพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสเองว่า ปาฏิปุคคลิกา ทักขิณา
พระพุทธเจ้าตรัสจำแนกไว้ว่า ทานที่ถวายแก่สงฆ์นั้นมีหลายอย่าง ตั้งต้นแต่ทานที่ถวายแก่สงฆ์ครบทั้งสองฝ่าย คือทั้งภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นี่เรียกว่าสังฆทานที่ครบถ้วนสมบูรณ์
รองลงมา คือ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เหลือแต่สงฆ์สองฝ่าย มีภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์
ต่อจากนั้นก็อาจจะเป็นภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว ภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายเดียว เป็นต้น จนกระทั่งแม้แต่ทานที่ญาติโยมแจ้งแก่สงฆ์ว่าขอให้จัดพระภิกษุจำนวนหนึ่งเป็นตัวแทนของสงฆ์มารับ ก็เป็นสังฆทาน
ส่วนทานที่ถวายเป็นปาฏิปุคคลิก คือจำเพาะบุคคลนั้น ก็ตั้งแต่ถวายแด่พระพุทธเจ้า ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ถวายแก่พระอรหันตสาวก ตลอดจนทานที่ให้แก่คนทั่วไป แม้แต่ให้แก่คนที่ไม่มีศีล จนกระทั่งให้แก่สัตว์เดรัจฉาน ก็เรียกว่าเป็นทานที่ให้จำเพาะบุคคล
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่มีทานจำเพาะบุคคลอันใดที่จะมีผลมากกว่าทานที่ถวายแก่สงฆ์ ไม่ว่าโดยปริยายใดๆ หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงยกย่องสรรเสริญทานที่ถวายแก่สงฆ์ คือส่วนรวม
คำว่า “สงฆ์” นั้นแปลว่า หมู่ หรือชุมชน หมู่หรือชุมชนที่จะเป็นสงฆ์ ก็คือหมู่หรือชุมชนที่มีการจัดตั้งวางระบบระเบียบเป็นอย่างดี มีอุดมคติ มีจุดมุ่งหมาย ว่าจะอยู่ร่วมกันด้วยความสงบ เพื่อประพฤติปฏิบัติกระทำสิ่งที่ดีงาม อย่างพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาก็คือชุมชนที่อยู่ร่วมกันเพื่อเจริญไตรสิกขา เพื่อจะได้ฝึกฝนตนให้เจริญงอกงามขึ้นในศีล สมาธิ ปัญญา
พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ทรงเคารพธรรม และเมื่อสงฆ์(ที่พระองค์ตั้งขึ้น) เจริญใหญ่ขึ้น ก็ทรงเคารพสงฆ์ด้วย (องฺ.จตุกฺก.๒๑/๒๑/๒๕) คือ ทรงให้ความสำคัญแก่ส่วนรวม ถือส่วนรวมเป็นใหญ่ มุ่งที่ประโยชน์ส่วนรวม
ชาวพุทธนับถือพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างที่นำเราให้เข้าถึงธรรม ชาวพุทธถือธรรมเป็นใหญ่เป็นมาตรฐานสูงสุด ชาวพุทธเคารพสงฆ์มุ่งทำนุบำรุงสงฆ์ส่วนรวมที่ดำรงรักษาหลักการและวิถีชีวิตแห่งธรรมวินัยสืบมา
พระพุทธศาสนานี้มิใช่ดำรงอยู่ได้ด้วยบุคคล แต่ต้องอาศัยสงฆ์ คือส่วนรวมทั้งหมด ชาวพุทธเราถือตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จึงนิยมถวายสังฆทานกันสืบมา